free geoip

ลัมปีสกิน วัวตายความล้ม



วัวจะตายกี่ร้อยตัว รัฐบาลก็จ่ายชดเชยให้แค่ 2 ตัว – ‘ก้าวไกล’ จี้รัฐเปิดเผยข้อมูลการระบาด ‘ลัมปี สกิน’ เร่งสืบหาแหล่งที่มาของโรค จัดสรรวัคซีน จ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรให้รวดเร็ว ครอบคลุม มากขึ้นกว่านี้ อย่าให้ซ้ำรอยการบริหารจัดการโควิดที่ผิดพลาด


ปลายเดือนมีนาคม 2564 จู่ ๆ โคกระบือทั่วประเทศก็มีตุ่มเนื้อขึ้นตามลำตัว โรคประหลาดชนิดนี้สร้างความแตกตื่นไม่น้อยในหมู่เกษตรกร เพราะโคกระบือในประเทศไทยไม่เคยมีอาการลักษณะแบบนี้มาก่อน

โรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นในเฉพาะโคและกระบือ ไม่ติดต่อสู่คน เป็นเชื้อไวรัสฝีดาษในตระกูล Capripoxvirus ที่แพร่กระจายเชื้อผ่านแมลงดูดเลือดและการสัมผัสโดยตรงระหว่างสัตว์ อาการของโรคคือทำให้สัตว์มีตุ่มเนื้อขึ้นตามตัว ก่อนจะกลายเป็นแผลตกสะเก็ด ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาก็ทำให้สัตว์เสียชีวิตได้

รับชมคลิปประกอบบทความได้ที่นี่ https://youtu.be/1dxK2X2Zxms



ส.ส.ทวีศักดิ์ ทักษิณ, ส.ส.อภิชาติ ศิริสุนทร และอดิศักดิ์ สมบัติคำ สมาชิกพรรคก้าวไกลในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ได้ร่วมลงสำรวจสถานการณ์ในพื้นที่ ต.ดอนงัว อ.บรบือ จ.มหาสารคาม พบชาวบ้านสะท้อนเสียงเป็นจำนวนมาก เรียกร้องขอให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการป้องกัน ช่วยเหลือ และเยียวยามากกว่าที่เป็นอยู่ โดยต้องไม่ปล่อยให้ประชาชนและเกษตรกรปศุสัตว์ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาไปตามยถากรรม

ส.ส. หมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา จาก จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ จนถึงตอนนี้ (15 มิถุนายน 2564) มีโคกระบือป่วยเป็นลัมปี สกินแล้วประมาณ 75,000 ตัว รักษาหายแล้ว 9,000 ตัว มีสัตว์ป่วยคงเหลือ 66,000 ตัว และมีสัตว์ตาย 9,000 ตัว จากเมื่อสัปดาห์ก่อนที่มียอดตายสะสมเพียง 344 ตัว ถือว่ายอดตายได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แสดงให้เห็นถึงความด้อยประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือในประเทศอย่างร้ายแรง

เมื่อลองศึกษาในเชิงลึก ก็จะพบถึงความไม่ชอบมาพากลของการระบาดของโรคอยู่หลายประการ จากข้อเท็จจริงที่ว่าลัมปี สกิน ไม่ใช่โรคพื้นถิ่นของประเทศไทย แต่เป็นโรคจากต่างประเทศ นั่นหมายความได้อย่างเดียวว่าจะต้องมีการนำเข้าโคกระบือ หรือชิ้นส่วนของโคกระบือที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการกักกันโรคตามปกติใช่หรือไม่?

อีกทั้ง ลัมปีสกินเป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดตามระยะทางของพาหะ คือแมลงดูดเลือด ซึ่งมีระยะการเดินทางไม่ไกลนัก แต่ในสภาพความเป็นจริงนั้นกลับเกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง ก็หมายความว่ามาตรการที่รัฐบาลประกาศควบคุมการเคลื่อนย้ายโคกระบือนั้นล้มเหลว โรคระบาดถึงได้กระจายไปทั่วประเทศในตอนนี้

ในกรณีของวัคซีน กรมปศุสัตว์นำเข้าวัคซีนล็อตแรก 60,000 โดสในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ก่อนที่วัคซีนล็อตที่สองอีก 264,000 โดสจะมาถึงในวันที่ 14 มิถุนายน แต่ก็ต้องยอมรับว่าล่าช้ากว่าความต้องการ จนเกษตรกรจำเป็นต้องลงมือแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปก่อน ตั้งแต่นำน้ำส้มควันไม้มาฉีดไล่แมลง ให้โคกินยาเขียวเพื่อแก้อาการอักเสบ ไปจนถึงการลักลอบนำเข้าวัคซีนจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยแช่ขวดวัคซีนใส่กระติกน้ำแข็งส่งมากับรถทัวร์ ขณะที่ภาครัฐทำได้เพียงแค่บอกให้เกษตรกรอดทนรอการนำเข้าวัคซีนจากรัฐบาลเท่านั้น

นอกจากนี้ การชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกรก็ยังเป็นปัญหา เพราะเกณฑ์การชดเชยในปัจจุบันยึดตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 โดยอ้างอิงราคาตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ซึ่งตั้งชดเชยให้เฉพาะสัตว์ที่ตายและสูญหายจากภัยพิบัติ และช่วยเหลือไม่เกินรายละ 2 ตัว ราคาต่อตัวไม่เกิน 6,000-20,000 บาท

แม้ ประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเห็นด้วยกับแนวทางที่ ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอว่าควรปรับการชดเชยเป็น 40,000 บาท กรณีสัตว์ตาย และจะนำไปหารือต่อ แต่อัตราดังกล่าวก็ยังต่ำมากเมื่อเทียบกับราคาตลาด

ทั้งนี้ต้องย้ำว่าการเยียวยาตามระเบียบดังกล่าวจะเยียวยาเฉพาะวัวที่ตาย และเกษตรกรจะได้รับเงินเยียวยาไม่เกินรายละ 2 ตัว ซึ่งหมายความว่าหากเกษตรกรซื้อยาฆ่าแมลงมาฉีด ซื้อยามารักษาวัวตามอาการจนรอดตาย หรือดิ้นรนไปหาวัคซีนเถื่อนมาใช้ก่อน ก็จะไม่ได้รับเงินเยียวยาเลย ซึ่งในกรณีเหล่านี้ นายประภัตรตอบได้เพียง “เรากำลังคิดกันอยู่” ขณะที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ก็เชิญชวนว่า ถ้าเกษตรกรอยากได้เงินเยียวยามากกว่านี้ ก็ให้ไปสมัครเข้าร่วมโครงการประกันชีวิตโค

การแพร่ระบาดของลัมปีสกิน จึงเป็นภาพสะท้อนการทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ในยุคโควิด-19 ที่ทำให้เรามองเห็นปัญหาในระบบราชการหลายเรื่อง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด การควบคุมการแพร่ระบาดที่ล้มเหลว การนำเข้าวัคซีนที่ล่าช้า และการชดเชยเยียวยาที่ไม่สมน้ำสมเนื้อกับความเสียหายที่เกษตรกรได้รับจริง

พรรคก้าวไกลมีข้อคิดเห็นว่า หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะกรมปศุสัตว์จะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดในสัตว์ในประเทศไทยอย่างตรงไปตรงมา การปกปิดข้อมูลโดยอ้างว่าไม่ต้องการให้ส่งผลกระทบกับการส่งออกเนื้อสัตว์ จะยิ่งทำให้การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกินรุนแรงขึ้นกว่าเดิม และเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่อื่น ๆ ที่จะซ้ำเติมความลำบากของพี่น้องเกษตรกรให้มากขึ้นไปอีก

การเปิดเผยข้อมูลโรค และการสืบหาต้นตอของโรคลัมปี สกินในประเทศไทย ต้องทำควบคู่ไปกับการกักกันสัตว์อย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ คือหยุดการเคลื่อนย้ายสัตว์ เข้า-ออก ในพื้นที่ที่เกิดการระบาดทันที รวมไปถึงการแยกสัตว์ป่วยออกจากฝูง และกำจัดแมลงพาหะนำโรคโดยเร็ว

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องเร่งนำเข้าและกระจายวัคซีนให้เพียงพอกับจำนวนโคกระบือที่มีกว่า 7 ล้านตัวทั่วประเทศ โดยลดขั้นตอนทางเอกสารและระเบียบราชการที่ยุ่งยากซ้ำซ้อนเกินความจำเป็นในทันที และต้องมีการชดเชย เยียวยา และสนับสนุนเงินให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบให้เหมาะสม ครอบคลุมกับความเสียหายที่ได้รับ

การบริหารจัดการโรคระบาดที่ผิดพลาด เชื่องช้า หย่อนยานและอาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบของภาครัฐ จะนำมาซึ่งความสูญเสียของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือของไทยอย่างมหาศาล

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า