9 สิงหาคม ‘วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก’ ก้าวไกลประชุมสมัชชาเครือข่ายชาติพันธุ์พรรคก้าวไกล เน้นย้ำนโยบายที่ประกาศไว้-เดินหน้าทำตามคำสัญญา-พัฒนาให้พี่น้องชาติพันธุ์ก้าวไกลยิ่งขึ้น
ตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ มาจนถึงพรรคก้าวไกล เราเป็นพรรคที่ทุกคนร่วมกันสร้างซึ่งรวมถึงกลุ่มอัตลักษณ์ที่หลากหลาย เราจึงมีกลไกเครือข่ายชาติพันธุ์ที่ถูกรับรองอย่างเป็นทางการ ตามมติของกรรมการบริหารพรรค เพื่อให้มีชุมชนชาติพันธ์ุร่วมออกแบบนโยบาย และส่งตัวแทนชาวชาติพันธุ์เข้าไปเป็น ส.ส. เพื่อผลักดันการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
เนื่องในโอกาสวันที่ 9 สิงหาคมของทุกปี เป็น ‘วันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก’ (International Day Of the World’s Indigenous People) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวเปิดการประชุมสมัชชาชาติพันธุ์พรรคก้าวไกลที่ จ.เชียงใหม่ ว่าแนวโน้มเทรนด์ของโลกเปลี่ยนวิธีการมองชาติพันธุ์ไปแล้ว 3 เรื่อง
เรื่องแรกคือมองว่าพี่น้องชาติพันธุ์คือ ‘ผู้รักษา’ ไม่ใช่ ‘ผู้ทำลาย’ ต่างจากวิธีคิดของกรมป่าไม้แบบอาณานิคมที่มองว่าคนกับป่าต้องแยกกัน ทั้งที่งานวิจัยสมัยใหม่บอกเราแล้วว่าป่าที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า ป่าที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 1 ใน 4 ของโลก
เรื่องที่สอง ภูมิปัญญาของพี่น้องชาติพันธุ์เป็นเรื่อง ‘ล้ำสมัย’ ไม่ใช่ ‘ล้าสมัย’ ยกตัวอย่างเช่น ผลไม้พื้นเมืองของประเทศบราซิล ‘อาซาอิเบอร์รี่’ ที่เมื่อเราค้นพบศักยภาพของมันทุกวันนี้สามารถขายเป็นผลไม้ราคาแพงอยู่ในสยามพารากอน ส่วนของไทยเรามี ‘ข้าวดอย’ ที่มีวิตามินและแร่ธาตุสูงกว่าข้าวปกติถึง 20 เท่า กำลังเป็นที่ต้องการของผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพในยุคนี้
เรื่องที่สาม เศรษฐกิจชาติพันธุ์คือเครื่องยนต์เศรษฐกิจแห่งอนาคต ในประเทศชั้นนำหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแคแนดา นิวซีแลนด์ ต่างส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ทำสร้างธุรกิจบนพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์เอง เพราะมีความเชื่อว่าคนชาติพันธุ์จะเข้าใจธรรมชาติและสิทธิมนุษยชนมากกว่า ให้คนนอกพื้นที่เข้ามากอบโกยทรัพยากรในพื้นที่
“ความหลากหลายของพี่น้องชาติพันธุ์คือจุดแข็งไม่ใช่จุดอ่อน เราต้องเพิ่มความเป็นไทยในตัวพวกท่านโดยไม่ลดความเป็นชาติพันธุ์ในตัวพวกท่านเอง หน้าที่ของพวกผมคือการทำให้พวกท่านมีสิทธิในทางกฎหมาย ในการศึกษา ในการสร้างคุณภาพชีวิตเท่ากับคนอื่นในประเทศ ส่วนหน้าที่พวกท่านคือการผลักดันสิ่งที่พวกท่านสู้ต่อไปเพื่อให้พลังของชาติพันธุ์เป็นพลังในการพัฒนาประเทศ”
พิธากล่าว
ด้าน มานพ คีรีภูวดล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ชาวปกาเกอะญอ ประกาศยกระดับชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีความเท่าเทียมกับคนประชาชนคนอื่นๆ ในประเทศผ่าน 7 นโยบาย ได้แก่
- การสร้างรัฐสวัสดิการที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนทุกคน
- ปลดล็อกปัญหาที่ดิน
- ปลดล็อกสัญชาติและสถานะบุคคล
- เสนอ “เขตนิเวศวัฒนธรรมพิเศษ” ด้านชาติพันธุ์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- สร้าง Soft Power จากทุนทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์
- สนับสนุนการกระจายอำนาจ
- สนับสนุนให้กลุ่มชาติพันธุ์ในไทยเชื่อมโยงกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อื่นๆ ของโลก
อ่านนโยบายโดย Think Forward Center ได้ที่ https://www.facebook.com/ThinkForwardCenter/posts/pfbid0VEvmKx5KuD2jfMUn3W8Y3y9t6pKtefkva4r7uWZbs4dPvQNL8wtgtc3HjAtUsbzHl
ซึ่งหลายนโยบาย โดยเฉพาะประเด็นปัญหาที่พี่น้องชาติพันธุ์ได้ประสบพบเจอ พรรคก้าวไกลได้ดำเนินการแก้ไขสำเร็จในหลายกรณีแล้ว ทั้งในระดับสภาผู้แทนราษฎร ระดับคณะกรรมาธิการ รวมถึงการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมเพื่อช่วยเหลือ แก้ไข หรือบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาติพันธุ์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนตามที่เราเสนอไว้ รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้พี่น้องชาติพันธุ์ได้เจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ยิ่งขึ้น จึงเป็นโจทย์ที่พรรคก้าวไกลจะต้องเดินหน้ามุ่งมั่นทำงานต่อไปให้สำเร็จลุล่วง
ขณะเดียวกันก็มีกิจกรรมที่รัฐสภา “การผลักดันร่างกฎหมายวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง” มี ส.ส. จากพรรคก้าวไกล ได้แก่ ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนชาติพันธุ์ และณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เข้าร่วมกิจกรรม ภายในงานมีตัวแทนจากหลากหลายฝ่ายเข้าร่วมเสวนาและมีตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กว่า 40 กลุ่มเข้าร่วมด้วย และตัวแทนจาก UNDP และเอกอัครราชทูตประเทศนิวซีแลนด์ร่วมถ่ายทอดบทเรียนเรื่องชาติพันธุ์
ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธ์ุ (ฉบับพรรคก้าวไกล) ได้กล่าวกลางเวทีเสวนาว่า
“กว่าที่เราจะมาถึงวันนี้ และมีวันนี้ได้วันนี้เราอยู่ที่ใจกลางรัฐสภา ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการบริหารประเทศ ผมขออธิบายในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมาย หลายคนคงสงสัยว่าเราก็เป็นคนไทยมีกฎหมายคุ้มครอง แล้วทำไมต้องมี พ.ร.บ.ด้วย ก็เพราะความเป็นมนุษย์มันมีภาษาวัฒนธรรม เราเป็นพหุวัฒนธรรมหนึ่ง จึงเป็นที่มาของปัญหาการเข้าถึงสิทธิพลเมืองสิทธิการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน สิทธิในที่ดินที่อยู่อาศัยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิพอสิ้นสภาพความเป็นมนุษย์แล้วพื้นที่ของบิดาไม่มีกฎหมายใดมาคุ้มครอง ก็มีแต่กฎหมายกรมป่าไม้มากดทับ ลิดรอนสิทธิดังเดิม จึงเป็นที่มาของการแก้ไขสิทธิชาติพันธุ์ และเป็นที่มาของร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล”
“เราก็เอาข้อมูลของสภาชนเผ่ามาบวกกับปฏิญญาสากล บวกกับการศึกษาของกรรมาธิการสภา สรุปง่ายๆ ให้ทุกท่านเข้าใจของ พ.ร.บ. ฉบับนี้คือ 1.การเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ของพี่น้องทุกวัฒนธรรม ให้เท่าเทียมกับกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ในประเทศนี้ 2.สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุ้มครองของพรรคก้าวไกล การให้โอกาสในการเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ให้มีการดูถูกเหยียดหยาม และ 3.การเข้าถึงโอกาสของพี่น้องทุกกลุ่มชาติพันธุ์ การได้รับสวัสดิการต่างๆ ต้องเท่าเทียมทุกพื้นที่”
นอกจากนี้ ในฐานะ ส.ส. ชาติพันธุ์ ณัฐพล ยังได้ให้ความเห็นทิ้งท้ายกับผู้สื่อข่าวว่า
“ก้าวต่อไปที่เราอยากเห็นเรื่องของ พ.ร.บ. ที่เราผลักดันให้ได้รับสิทธิ ซึ่งมันเป็นสิทธิที่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์มีอยู่แล้ว อยากให้ทางภาครัฐเห็นความสำคัญตรงนี้ นอกจากนี้เราคือกลุ่มวัฒนธรรมที่เป็นทรัพย์สิน เป็นภูมิปัญญา เป็น soft power ของประเทศไทย รัฐไทยควรเห็นเราว่านี่เป็นวัฒนธรรมที่มีมูลค่า ต่างชาติเขาใช้เรื่องวัฒนธรรมในต่างประเทศได้มีนำรายได้สู่ประเทศได้ ประเทศไทยควรจะมองโอกาสตรงนี้ เห็นคุณค่าตรงนี้ที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ในส่วนของพี่น้องชาติพันธุ์เราก็คงจะไม่หยุดต่อสู้เพียงแค่นี้ เราก็จะร่วมผลักดันเพื่อสิทธิ ที่ปฏิญญาสากลรับรอง รวมทั้งกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่รับรองอยู่แล้ว สิทธิของพี่น้องชาติพันธุ์ก็ไม่ควรถูกกฎหมายลูกหรือระเบียบทางราชการมาลิดรอนอีกแล้ว”
ณัฐพลกล่าว