free geoip

แก่ก่อนรวย – ป่วยก่อนตาย ถึงเวลาไทยหันมาหนุนอุตสาหกรรมดูแลผู้สูงอายุ


หลายปีที่ผ่านมา ทุกคนพูดถึงปัญหาสังคมสูงวัยในไทย ซึ่งจะเลวร้ายรุนแรงกว่าประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหาไปก่อนหน้านี้ เพราะไทยเป็นประเทศที่จะเกิดสังคมสูงวัย โดยที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา หรือพูดง่ายๆ ว่า ไทยจะเป็นสังคม “แก่ก่อนรวย” แต่ดูเหมือนประเทศไทยเองก็ยังไม่มีมาตรการรับมือปัญหาออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

Think Forward Center – ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านวิจัยสังคม เศรษฐกิจ และนโยบายของพรรคก้าวไกล เพิ่งออกรายงานผลการศึกษา “Silver Economy เศรษฐกิจสีเงิน : จากวิกฤติแก่ก่อนรวย สู่เศรษฐกิจแบบดูแลกันและกัน” (อ่านรายงานฉบับเต็มในลิงก์ท้ายบทความ) ซึ่งเป็นการศึกษาปัญหาสังคมผู้สูงวัยของประเทศไทย พร้อมข้อเสนอด้านนโยบายเพื่อรองรับประชากรสูงวัยที่กำลังขยายตัวมากขึ้นในสังคมไทย ให้สามารถมีความมั่นคงในชีวิต


รายงานฉบับนี้ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประชากรวัยทำงานในไทยลดลงอย่างมาก เหลือเพียง 17.8 ล้านคนเท่านั้น ขณะที่รายได้เฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 8,400 บาท/คน/เดือน และมีเงินเก็บไม่เพียงพอสำหรับการเกษียณ และไม่เพียงพอสำหรับการจ่ายค่าบริโภคและค่ารักษา ต้องพึ่งพาสวัสดิการของรัฐ แต่รัฐบาลก็มีรายได้ภาษีไม่เพียงพอจะดูแลคนวัยเกษียณได้อย่างทั่วถึง ทำให้ผู้สูงอายุถึง 35.5% ยังจำเป็นต้องทำงานอยู่

ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ได้เสนอทางแก้ไขไว้ว่า ควรเพิ่มสวัสดิการผู้สูงอายุให้ถึง 3,000 บาทต่อเดือน รวมถึงสร้างบริการดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง แต่จะทำได้ก็ต้องอาศัยงบประมาณจำนวนมหาศาล ดังนั้น จึงควรพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสังคมสูงวัยควบคู่ไปด้วย เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างแรงงงานทักษะแบบใหม่ รวมถึงต่อยอดธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical tourism) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness tourism)

รายงานนี้ประเมินว่า อุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุ เป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าได้ถึง 2.9 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งรัฐควรใช้โอกาสนี้ในการแปลงปัญหาให้กลายเป็นการลงทุน แปลงความท้าทายเป็นเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาสังคม การจ้างงาน และวางรากฐานธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อรองรับความต้องการจากต่างชาติในอนาคตไปด้วย

“ถึงแม้การดูแลผู้สูงอายุจะใช้กลไกทางสังคมเป็นหลัก แต่ก็มีผู้สูงอายุจำนวน 1.7 แสนคน ที่อยู่ในภาวะเปราะบาง ที่ขาดทรัพยากรและสมาชิกครัวเรือนที่ช่วยดูแลได้อย่างเต็มที่ และยังอาจเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนคนภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี

รัฐสามารถดำเนินนโยบายเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางการเงินให้แก่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ และยังสามารถสร้างหลักประกันทางสังคมมาดูแลผู้สูงอายุเปราะบาง และผู้ที่อาจมีในอนาคต เพื่อสร้างอุตสาหกรรมการดูแลขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากทั้งสังคม และรัฐอาจใช้นโยบายอุตสาหกรรมระดับท้องถิ่น กระตุ้นให้ภาคเอกชนปรับตัวในพื้นที่นำร่องบางแห่งก่อน

หากรัฐดำเนินนโยบายได้อย่างถูกต้อง จะสามารถแปลงความท้าทายนี้ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามากถึง 2.9 หมื่นล้านบาท/ปี พร้อมยกมาตรฐานและสร้างขีดความสามารถสำหรับการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นกำลังซื้อหลักของโลกในอนาคต”





สังคม “แก่ก่อนรวย ป่วยก่อนตาย” – รายได้ต่ำเกิน ผู้สูงอายุยังต้องทำงานหนัก

รายงานฉบับนี้ ระบุว่าประเทศไทยปัจจุบันมีประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) ลดลงอย่างมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จาก 67% เหลือเพียง 64% โดยแรงงานตอนต้น (15-34 ปี) ลดลงจาก 30% เหลือ 27% ของจำนวนประชากร หรือจาก 19.5 ล้านคน เหลือ 17.8 ล้านคนเท่านั้น

รายได้ของคนไทยมีค่าเฉลี่ยประมาณ 8,400 บาท/คน/เดือน ไม่มีเพียงพอสำหรับการทำให้ประชากรส่วนใหญ่มีเงินออมอย่างเพียงพอในวัยเกษียณ จึงต้องพึ่งพาสวัสดิการของรัฐในการดูแลรักษาในอนาคต โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านระบบสาธารณสุขเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12% ต่อปีในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา แต่ฐานภาษีแคบทำให้รัฐบาลมีรายได้ภาษีน้อย ไม่สามารถดูแลคนวัยเกษียณได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ

ปัจจุบัน อายุคาดการณ์ของคนไทยอยู่ที่ 75 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่กลับมีอายุคาดการณ์เฉลี่ยของการมีสุขภาพดี (Health-adjusted life expectancy) เพียง 67 ปีเท่านั้น แปลว่า ผู้สูงอายุโดยเฉลี่ยจะมีคุณภาพชีวิตแย่ลงในช่วง 8 ปีหลัง ขณะเดียวกัน รายจ่ายการบริโภคของผู้สูงอายุ มีค่าเฉลี่ยที่ 96,773 บาท/คน/ปี ส่วนค่าใช้จ่ายด้านการดูแลก็เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุมากถึง 35.5% ยังจำเป็นต้องทำงานอยู่ แม้จะมีถึงร้อยละ 8.7 ที่ไม่ต้องการทำงานแล้ว




คนแก่เกินครึ่ง มีเงินออมไม่พร้อมเกษียณ

จากการสำรวจ พบว่าผู้สูงอายุในกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางการเงิน มีมากถึง 17.3% ของทั้งหมด หรือราว 2 ล้านคน ขณะที่ 50.1% ของผู้สูงวัย หรือราว 5.7 ล้านคนมีความมั่งคั่งไม่เพียงพอสำหรับวัยเกษียณ

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นผู้ป่วยติดบ้านมากถึง 2.1% และมีโอกาสเป็นผู้ป่วยติดเตียงถึง 1.2% ซึ่งการดูแลที่มีคุณภาพมีต้นทุนค่อนข้างสูง คือ 120,000 บาท/ปีสำหรับผู้ป่วยติดบ้าน และ 230,000 บาท/ปี สำหรับผู้ป่วยติดเตียง แต่ผู้สูงอายุมากถึง 77.2-88.5% ไม่สามารถรับค่าใช้จ่ายไหว

ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่เปราะบาง ไม่สามารถดูแลตนเองหรือไม่มีลูกหลานดูแล มีอยู่มากถึง 167,827 คนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและหัวเมืองตามภูมิภาค เป็นผู้สูงอายุที่มีสภาวะพึ่งพิง ไม่มีความมั่นคงทางการเงินและมีทุนทางสังคมที่ไม่สูงนัก

นอกจากนี้ คนที่อายุ 50-59 ปีที่กำลังจะเกษียณ มีจำนวนมากถึง 9.8 ล้านคน มีถึง 2.7 ล้านคน ที่จะมีความมั่งคั่งไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ และในจำนวนนี้ มี 3.6 แสนคนที่ไม่มีบุตร จึงคาดได้ว่าในอนาคตอันใกล้ จะมีผู้สูงอายุอีกราว 1 แสนคน ที่จะกลายเป็นผู้เปราะบาง




เสนอ “เศรษฐกิจสีเงิน” หนุนเบี้ยยังชีพ 3,000 บาท – ตั้งกองทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านผู้สูงอายุ

รายงานของศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ได้ออกแบบข้อเสนอ เพื่อสร้างหลักประกันรองรับสถานการณ์สังคมผู้สูงวัยในอนาคต โดยเฉพาะการสร้าง “อุตสาหกรรมสีเงิน” Silver Economy และการรองรับจากภาครัฐให้ผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้

สิ่งที่รัฐสามารถทำได้ ประกอบไปด้วย 3 ด้าน ได้แก่

1) การเพิ่มสวัสดิการผู้สูงอายุ

รัฐควรเพิ่มเบี้ยยังชีพจาก 600 บาท/เดือน ให้ไปถึง 3,000 บาท/เดือน เพื่อเพิ่มความสามารถทางการเงินให้แก่ผู้สูงอายุ ให้มีกำลังซื้อสำหรับบริการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว แต่การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 5.6 หมื่นล้านบาท, 1.9 แสนล้านบาท และ 3.3 แสนล้านบาท ต่อปีตามลำดับ ซึ่งจะเพิ่มภาระทางการคลังด้านผู้สูงอายุอีกประมาณร้อยละ 40 ในเวลา 10 ปีข้างหน้า

ขณะเดียวกัน รัฐควรสร้างหลักประกัน สำหรับการใช้บริการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 167,827 คน และอาจจะเพิ่มเป็น 3 แสนคนในอนาคตอันใกล้ ผ่านกองทุนที่เรียกหักเงินจากทุกคน มาเป็นหลักประกันในการเข้าถึงการดูแลแบบหนึ่งได้ ควบคู่ไปกับการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

“เพื่อไม่ให้กระทบกับความสามารถในการจ่ายและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโดยทั่วไป รวมถึงเพื่อป้องกันมิให้ผู้ที่อยู่ในวัยแรงงาน ต้องปราศจากทางเลือกในการดูแล พ่อ แม่ ญาติผู้ใหญ่ของตน จนต้องเสียสละอาชีพ เวลา และทรัพย์สินของตนเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมต่อเนื่อง ทั้งต่อสมาชิกผู้นั้น ต่อครัวเรือน และต่อระบบเศรษฐกิจส่วนรวมด้วย”


2) การสร้างบริการดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง

รัฐสามารถดำเนินนโยบายได้ ทั้งการส่งเสริมระบบชุมชน การดำเนินการเอง หรือการส่งเสริมภาคเอกชนผ่านผ่านมาตรการด้านภาษี การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การเติมทุนโดยภาครัฐ เพื่อให้เอกชนเข้ามาให้บริการในราคาที่จับต้องได้ เช่น การมีผู้ดูแลในชุมชนเข้าไปดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิงตามบ้านเรือน ซึ่งจะมีต้นทุนในการให้การดูแลสูงถึงประมาณ 9,000 บาท/ คน/เดือน พร้อมกับการมีศูนย์ดูแลขนาดใหญ่ ที่มีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท/คน/เดือน เพื่อให้มีทางเลือกสำหรับคนที่มีความต้องการหลากหลาย และสามารถบริหารต้นทุนได้

3) การพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสังคมสูงวัย

รัฐสามารถเข้าไปพัฒนาส่งเสริมอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง ที่มีความเป็นแบบอารยสถาปัตย์ (Universal design) ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง มีความต้องการที่เห็นได้ชัดในอนาคต และสร้างขีดความสามารถในการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นราวจับกันล้ม กระเบื้องกันลื่น เตียงอัจฉริยะ เซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว สุขภัณฑ์รางระบายน้ำ รถเข็น แผ่นรองกันเปื้อน ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ชุดอุปกรณ์วัดความดันและเบาหวาน อุปกรณ์ตรวจวัดชีพ รองเท้าเพื่อสุขภาพ หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ เทคโนโลยีสมาร์ทโฮมสั่งการเครื่องใช้ในบ้าน ตลอดจนอาหารที่รับประทานง่ายและให้พลังงานแบบที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ

นอกจากการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวจะสร้างกลุ่มแรงงานทักษะแบบใหม่แล้ว ยังสามารถต่อยอดให้กับธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical tourism) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness tourism) ได้ด้วย



ติดตามรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://think.moveforwardparty.org/paper/silvereconomy/

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า