free geoip

เปิดนโยบาย “พร้อมชน” ปัญหาน้ำท่วมขัง

เมื่อวานที่ฝนตกหนัก คงเป็นอีกหนึ่งวันที่คนกรุงเทพต้องเผชิญกับปัญหาเดิมๆ อย่างน้ำท่วม “รอการระบาย” ที่รบกวนการใช้ชีวิตของคนกรุงเทพ

ก่อนอื่น ผมต้องเรียนว่าการจัดการปัญหาน้ำท่วมขังไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ แต่ต้องการคนที่ “ใส่ใจ” มองปัญหาอย่างเป็นระบบแล้วสามารถลงไปแก้ปัญหาขอขวดทีละจุดๆ เช่น จุดไหนท่อตันจากขยะก็ต้องไปเก็บ จุดไหนที่ศักยภาพท่อระบายน้ำไม่พอดีกับจำนวนฝนก็ต้องเพิ่มศักยภาพระบบระบายน้ำ

การแก้ปัญหาต้องใช้ความประณีตและใส่ใจ ต้องลงไปสำรวจ “ระบบท่อ” ทีละจุด จากท่อเล็ก ลงสู่ท่อใหญ่ ลงสู่คูคลองหรืออุโมงค์ยักษ์ แล้วลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาหรืออ่าวไทย

*** 5 ข้อเสนอ แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง ***

1. เปลี่ยนงบอุโมงยักษ์ 2,000 ล้านบาท/ปี มาเพิ่มการลงทุนการขยายศักยภาพท่อระบายน้ำ

สำนักระบายน้ำ กทม. ที่ได้งบประมาณเกือบ 8,000 ล้านบาท นั้น ผลผลิตจัดการระบบท่อระบายน้ําได้รับงบประมาณเพียงแค่ 580 ล้านบาท ถ้าหักงบบุคลากรและรายจ่ายใช้สอยต่างๆ ออกไป มีงบประมาณซ่อมบำรุงท่อระบายน้ำเพียงแค่ 117 ล้านบาท/ปี และแทบไม่มีโครงการก่อสร้าง-ขยายศักยภาพระบบระบายน้ำใหม่เลย

ในขณะที่งบประมาณที่ใช้ลงทุนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ อย่างโครงการอุโมงยักษ์ระบายน้ำกลับมีงบประมาณสูงถึงปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งเราพบปัญหาการเบิกจ่ายมาแล้วหลายปี เมื่อเทียบงบประมาณส่วนนี้ทำให้เราเห็นว่ากรุงเทพลงทุนกับโครงการขนาดเล็กน้อยเกินไปมาก

2. ระบุตำแหน่งปัญหาด้วยข้อร้องเรียนของประชาชน

ปัญหาการพัฒนาโครงการเล็กเป็นสิ่งที่ใครก็พูด แต่ทำได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะเรามีข้อมูลน้อยมากว่าจุดไหนกันแน่ที่เป็นคอขวดของปัญหา จากรายงานแผนป้องกันน้ำท่วมของ กทม. ได้ระบุพื้นที่เอาไว้กว้างๆ เป็น 14 จุดเสี่ยง และ 52 จุดเฝ้าระวัง แต่พื้นที่ที่บอกนั้นเป็นพื้นที่กว้างๆ

เพื่อแก้ปัญหานี้ กรุงเทพฯ จำเป็นต้องทำงานทั้ง 2 ส่วน คือ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้เราทำงานส่วนนี้ได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สำนักระบายน้ำแต่ละเขตก็ต้องลงไปสำรวจจุดที่เป็นปัญหาต่างๆ ด้วย

การมีส่วนร่วมของประชาชนในการระบุปัญหา ถือเป็นส่วนสำคัญในการเร่งแก้ปัญหาจุดที่เกิดน้ำท่วมขังบ่อย ข้อมูลนี้ควรถูกนำมาใช้ร่วมกับปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละพื้นที่ หากฝนตกไม่มาก (ต่ำกว่า Design Capacity; โดยทั่วไปคือ 60 มม./ชม.) ก็ต้องเร่งสำรวจหน้างานว่าเกิดจากอะไร เช่น ท่อตัน ท่อขนาดเล็กเกินไป etc. แล้วเร่งแก้ปัญหา เพื่อระเบิดคอขวดให้มวลน้ำไหลผ่านได้มากขึ้น ถ้าปริมาณน้ำมาเกินศักยภาพท่อก็ต้องพิจารณาการลงทุนในปีงบประมาณต่อไป

3. ศูนย์ Single Command จัดการน้ำท่วม

ศูนย์ Single Command จัดการน้ำท่วม ในการจัดการน้ำท่วม มีหัวใจสำคัญ 2 เรื่อง คือ
> “ข้อมูล” ว่าปริมาณน้ำฝน-น้ำขัง แต่ละจุดในช่วงเวลาวิกฤตเป็นเท่าไหร่ และ กทม. มีศักยภาพการระบายน้ำ-เครื่องสูบน้ำเท่าไหร่ เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างถูกต้อง

> “ภาวะผู้นำ” ของผู้บริหาร ในการจัดสินใจสั่งการต่างๆ ในห้วงเวลาที่ประชาชนเกิดปัญหา จุดไหนมีปัญหาอุปสรรค ต้องลงไปดูหน้างาน จัดการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ การสั่งการหลายอย่างเราสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ เช่น ระบบเครื่องสูบน้ำ ที่สามารถทำให้เป็น Internet of Thing ในการติดตั้งทุ่นลอยสั่งการให้เครื่องสูบน้ำทำงานโดยอัตโนมัติ แทนที่จะเป็นระบบใช้คนเดินเครื่องซึ่งมีปัญหา Human Error มากในปัจจุบัน

4. หน่วยเคลื่อนที่เร็ว แก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ในช่วงเวลาวิกฤตเฉพาะหน้า กทม. อาจจัดให้มีหน่วยรถเคลื่อนที่เร็วที่มีอุปกรณ์ทำความสะอาดท่อพร้อมเครื่องสูบน้ำขนาดเล็กประจำจุดเสี่ยงในช่วงเวลาเร่งด่วน ปัญหาน้ำขังรอระบายจนท่วมช่องจราจรอาจเกิดจากปัญหาเล็กๆ ที่มีสิ่งอุดตันท่อระบายน้ำ รถเคลื่อนที่เร็วจะช่วยติดตามพื้นที่การระบายน้ำจริงและแก้ปัญหาท่อได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบัน กทม. ก็มีหน่วยแบบนี้อยู่แล้ว แต่เราต้องเห็นการทำงานที่กระตือรือร้นมากกว่านี้

5. ผู้ว่า กทม. ต้อง “ใส่ใจ” ตรวจสอบความพร้อมท่อระบายน้ำ-เครื่องสูบน้ำ อย่างสม่ำเสมอ

ปัญหาน้ำท่วม เป็นปัญหาที่เราต้องการความ “ประณีต” “ใส่ใจ” และ “จุกจิก” ในการทำงาน เพราะปัญหาเกิดเป็นจุดเฉพาะหลายๆ พื้นที่ ปัญหาเครื่องสูบน้ำไม่พอ ปัญหาหากุญแจประตูระบายน้ำไม่เจอ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สะท้อนการละเลยการทำงานของผู้บริหารกรุงเทพทั้งสิ้น

ไม่ว่าเราจะมีนโยบายที่ดี หรือนวัตกรรมล้ำเลิศอย่างไร แต่ถ้าผู้ว่าฯ กทม. ไม่บริหารงานอย่างใส่ใจ ผมเชื่อว่าเราคงไม่สามารถแก้ปัญหาที่เราเจออยู่ได้

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า