free geoip

เปิดข้อสังเกตเบื้องต้น งบปี 2566 ของ ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’


เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 มีการเผยแพร่ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล จึงมาแบ่งปันข้อสังเกตเบื้องต้นมาให้ทุกคนร่วมกันจับตาต่อไป โดยหลังวันที่ 17 พฤษภาคม เอกสารงบประมาณจะออกมาให้ได้ตรวจสอบรายละเอียดกันอีกที ซึ่ง ศิริกัญญา แลพรรคก้าวไกล จะเริ่มนับถอยหลังเข้าสู่การอภิปรายงบประมาณวาระที่ 1 ในวันที่ 1 มิถุนายน กันเลย

ข้อสังเกตเบื้องต้นของ ศิริกัญญา ต่อร่าง งบประมาณปี 2566 มีดังนี้

  1. งบประมาณปี 2566 อนุมัติวงเงินรวม 3.185 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเพียง 85,000 ล้านบาท หรือ 2.7% ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ต้องการงบเพิ่มขึ้น
  2. หน่วยงานที่ได้รับงบเพิ่มมากที่สุด แทบไม่ได้ช่วยพัฒนาประเทศด้านต่างๆ หรือช่วยคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นการตั้งงบใช้หนี้ หรือให้กรมการข้าวทำเกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น
  3. งบสวัสดิการยังกะพร่องกะแพร่ง ไม่ถ้วนหน้า ไม่เพียงพออย่างที่รัฐบาลเคยหาเสียงไว้
  4. งบท้องถิ่นยังลุ่มๆ ดอนๆ ในขณะที่งบส่วนภูมิภาคโตวันโตคืน
  5. งบกระทรวงกลาโหมงบลดลงจริง แต่งบบุคลากรยังเพิ่มในทุกเหล่าทัพ แม้กองทัพเรือยอมถอยเรือดำน้ำ แต่กลัวงบตกน้ำ กองทัพอากาศจึงได้ F-35 มาแทน


(ดาวน์โหลดรายละเอียดเบื้องต้น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566  ใครเจออะไรแปลกๆ หรือน่าติดตามเป็นพิเศษ มาแชร์กันได้เลย!)


อ่านรายละเอียดของข้อสังเกตทั้ง 5 ต่อจากนี้ได้เลย:


ศิริกัญญา ชี้ให้เห็นว่า ปี 2566 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่งบประมาณประเทศฝืดเคือง ถึงแม้ว่าจะตั้งงบแบบขาดดุลและต้องกู้ชดเชยเกือบเต็มเพดานแล้วก็ตาม แต่งบประมาณในปีหน้าจะยังคงต่ำกว่างบประมาณปี 63 หรือช่วงก่อนวิกฤต โดยงบประมาณปี 2566 อนุมัติวงเงินรวม 3.185 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเพียง 85,000 ล้านบาท หรือ 2.7% ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ต้องการงบเพิ่มขึ้น

งบประมาณที่ฝืดเคืองนี้ นอกจากจะสะท้อนปัญหาการจัดเก็บรายได้ที่ตกต่ำตามภาวะวิกฤตแล้ว ยังสะท้อนว่าเม็ดเงินภาครัฐที่จะอัดฉีดเข้ามาในระบบเศรษฐกิจก็มีไม่มากเช่นเดียว


“เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ในปีนี้ รัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานที่ได้รับงบเพิ่มในอัตราสูงที่สุดในบรรดาหน่วยงานทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการใช้คืนหนี้ที่รัฐบาลยืมมาใช้ในอดีต เป็นการอุดหนุนบริการสาธารณะ หรือลงทุนเพิ่มเป็นส่วนน้อย”

ศิริกัญญา กล่าว

รัฐวิสาหกิจเป็นหน่วยงานที่ได้งบเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 162,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากถึง 27% แต่เป็นการตั้งงบเพื่อใช้หนี้เป็นหลัก

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้รับงบประมาณ 84,508.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,041 ล้านบาท (เพิ่ม 22%) โดยงบประมาณที่ตั้งทุกปีเป็นการชดเชยภาระหนี้ของรัฐที่ใช้เงินของธกส. ออกไปก่อน เช่น โครงการประกันรายได้เกษตร โครงการจำนำผลผลิตทางการเกษตร

ธนาคารออมสิน ได้รับงบประมาณ 8,256.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,296.72 ล้านบาท (เพิ่ม 109%) โดยงบประมาณที่ตั้งทุกปีเป็นการชดเชยภาระหนี้ที่ใช้เงินธนาคารออมสินออกไปก่อน เช่น ชดเชยต้นทุนเงินและภาระดอกเบี้ยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ SME ชดเชยหนี้ NPL จากโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินในช่วงโควิด เป็นต้น

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับงบประมาณ 21,524.79 ล้านบาท (เพิ่ม 69%) และการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รับงบประมาณ 22,783 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 25%) โดยงบที่ตั้งทุกปี ส่วนใหญ่เป็นการชำระหนี้เงินกู้โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ชำระหนี้โครงการก่อสร้างทางรถไฟต่างๆ และงบอุดหนุนค่าบริการรถไฟ

ศิริกัญญา อธิบายสาเหตุที่ต้องมีการตั้งงบจ่ายคืนหนี้มากขึ้นว่าเป็นเพราะรัฐบาลกู้เพิ่มจนทำให้ภาระหนี้อยู่ที่ 34.2% ของงบประมาณ ใกล้ชนเพดานที่ 35% ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งเมื่อต้องนำงบไปใช้หนี้มากขึ้น ก็จะทำให้เหลืองบประมาณสำหรับใช้พัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ในปีนี้ลดน้อยลงไปด้วย



กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้งบเพิ่มมากเป็นอันดับ 2 โดยได้งบเพิ่ม 16,214 ล้านบาท แต่น่าสังเกตว่า เกือบทั้งหมดเพิ่มให้กรมการข้าว โดยกรมการข้าวได้รับงบประมาณเพิ่ม 15,000 ล้านบาท ตามแผนงานเกษตรเพิ่มมูลค่า คาดว่าจะถูกนำไปใช้กับโครงการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรแปลงใหญ่

ศิริกัญญา กล่าวว่า ต้องติดตามกันต่อว่าจะมีการตัดงบที่ใช้จากเงินนอกงบประมาณอย่างมาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าว สินเชื่อรวบรวมข้าว รวมถึงมาตรการช่วยค่าเก็บเกี่ยวหรือไม่ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของงบประมาณ

ในทางกลับกัน กรมปศุสัตว์ที่เป็นที่สนใจของประชาชนจากสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์ ทั้งลัมปีสกินและอหิวาต์แอฟริกันในสุกร รวมถึงยังต้องรับมือป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ได้งบเพิ่มขึ้นเพียง 51 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียง 1% เท่านั้น ทั้งที่สถานการณ์ปศุสัตว์ของไทยต้องการปฏิรูปกระบวนการผลิตเพื่อรองรับกับสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์อย่างเร่งด่วน



หน่วยงานที่ได้งบเพิ่มเป็นอันดับ 3 คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้งบเพิ่มเกือบ 9% โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากที่สุดในส่วนของแผนงานยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

ศิริกัญญา แสดงความเห็นว่า การเพิ่มงบของกรมอุทยานฯ อาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นการคืนงบประมาณสำหรับค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เป็นข่าวดังเมื่อปีที่ผ่านมาว่าถูกปรับลดงบประมาณลงในปี 65 จำนวน 885 ล้านบาท

ต้องมาลุ้นกันต่อว่าจะเป็นการเพิ่มงบค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าหรือไม่ หลังจากที่โดนตัดงบไปจนต้องเลิกจ้างไปเกือบ 2,000 คน



ศิริกัญญา ชี้ให้เห็นว่า งบประมาณปี 2566 เป็น งบประมาณปีสุดท้ายของรัฐบาลนี้ ยังไม่เห็นวี่แววที่พรรครัฐบาลจะทำตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้เลยในการเลือกตั้งปี 2562 เลย

“งบสวัสดิการเงินเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดยังคงไม่ถ้วนหน้าหลังจากที่รอมา 4 ปี! แถมถูกลดงบไป 325 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ที่ผ่านมาตั้งงบไว้ไม่เคยพอ และต้องของบกลางเพิ่มทุกปี”


ตั้งงบกองทุนบัตรประชารัฐฯ ไม่เพียงพอใช้ทำสวัสดิการ

จากที่รัฐบาลประกาศว่าจะเพิ่มผู้ได้รับสวัสดิการเป็น 20 ล้านคน และเคยตั้งงบไว้สูงถึง 49,500 ล้านบาทในปี 2564 แต่สุดท้ายกลับตั้งงบไว้เพียง 35,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่าจะไม่เพียงพอสำหรับการให้สวัสดิการตามฐานผู้มีบัตรเดิม 14 ล้านคนด้วยซ้ำ หากไม่มีการตัดสวัสดิการบางอย่างลง ประชาชนอาจจะต้องรอลุ้นว่าจะได้งบกลางมาเติมในช่วงกลางปี

งบประมาณของสำนักงานประกันสังคมยังคงเพิ่มขึ้นไม่มาก

ศิริกัญญา มองว่า การที่งบสำนักงานประกันสังคมยังน้อย ส่อแววว่ารัฐบาลจะลดเงินสมทบในส่วนของรัฐลง และไม่ชำระหนี้เดิมที่ค้างอยู่กว่า 60,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ตลอดการแพร่ระบาดของโควิด รัฐบาลได้ลดเงินสมทบฝั่งลูกจ้าง และนายจ้าง รวมถึงนำเงินกองทุนฯ ไปใช้เยียวยาไปมากกว่าแสนล้านบาท

ดังนั้น หากรัฐบาลไม่มีแผนในการเติมเงินเข้าสู่กองทุนประกันสังคม ก็มีความเสี่ยงอย่างมากที่กองทุนจะไม่สามารถประกันสิทธิของผู้ประกันตนได้ เช่นเดียวกับกองทุนการออมซึ่งตั้งงบไว้ไม่เพียงพอสำหรับการจ่ายเงินสมทบ

งบกระทรวงศึกษาธิการลดลง 4,500 ล้านบาท

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะงบบุคลากรลดเพราะจำนวนครูเกษียณเพิ่มขึ้น และงบรายหัวลดลงตามจำนวนนักเรียน ศิริกัญญา เสนอว่า ควรใช้โอกาสนี้เพิ่มงบรายหัวเด็กที่จะถึงตัวนักเรียนโดยตรงที่ไม่ได้ปรับงบต่อหัวเพิ่มมา 10 ปีแล้ว อีกทั้งยังไม่เห็นวี่แววการตั้งงบประมาณโครงการฟื้นฟูการเรียนรู้เด็กจากช่วงโควิดในปีนี้อีกเช่นเคย



ศิริกัญญา กล่าวว่า งบประมาณกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพิ่มขึ้น 5,200 ล้านบาท คาดว่าส่วนหนึ่งจะเป็นเงินชดเชยภาษีที่ดินให้กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ค้างจ่ายมา 2 ปีแล้ว แต่ยังคงชดเชยไม่ครบตามจำนวนที่ติดหนี้กว่า 50,000 ล้านบาท จากการลดภาษีที่ดิน 90% แถมยังตั้งงบคืนให้ อปท. ไม่ครบทุกแห่งอีกด้วย

ในทางกลับกัน งบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดพุ่งขึ้นถึง 25% ทั้ง ๆ ที่โครงการในลักษณะเดียวกันได้รับงบเงินกู้ผ่านโครงการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากไปแล้วเกือบ 23,000 ล้านบาทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากแผนงานฟื้นฟูฯ ภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ทั้งสองฉบับ รวมแล้วกว่า 1,942 ล้านบาท และงบประมาณจากงบกลางอีก 19,904 ล้านบาท



แม้งบกระทรวงกลาโหมในปี 2566 จะลดลงเล็กน้อย แต่งบบุคลากรของกระทรวงกลาโหมกลับ โดยงบปี 2566 อยู่ที่ 107,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 2,401 ล้านบาท งบบุคลากรนี้เพิ่มขึ้นในทุกเหล่าทัพ โดยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในกองทัพบก 1,345 ล้านบาท

ศิริกัญญา ชี้ว่า งบบุคลากรที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ากองทัพยังไม่จริงจังไม่มากพอในการลดกำลังพลของกองทัพ ซึ่งงบบุคลากรของกระทรวงกลาโหมคิดเป็น 14% ของงบบุคลากรทั้งหมดของประเทศ

นอกจากนี้ งบของกลาโหมก็ยังมีเรื่องที่น่าตั้งข้อสังเกตอยู่อีกหลายจุด ได้แก่

  • ปีงบประมาณ 2566 กองทัพบก ได้รับโอนโครงการก่อสร้างหอประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าของแผ่นดิน จากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 หากนำไม่นำโครงการดังกล่าวมารวมในงบประมาณของกระทรวงกลาโหม งบประมาณของกระทรวงกลาโหมจะลดลงเพียง 2,722 ล้านบาท
  • กองทัพเรือยอมถอนโครงการเรือดำน้ำลำที่ 2-3 วงเงิน 22,500 ล้านบาทออกไป แต่ไม่ใช่เพราะต้องการประหยัดงบประมาณเพื่อชาติ แต่เพราะทราบดีว่าจะต้องถูกกระแสต่อต้าน และหากถูกตัดงบหรือต้องถอนโครงการงบประมาณในส่วนนี้จะตกน้ำถูกแปรไปให้หน่วยงานอื่นทันที ไม่ได้กลับไปที่กองทัพเรือ
  • กองทัพอากาศจะจัดซื้อเครื่องบิน F-35 12 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ตามแผนงานที่วางไว้ล่วงหน้าจะจัดหาเครื่องบินทดแทน F-16 ทั้งหมด 12 ลำอยู่แล้ว ซึ่งดูจะเป็นโครงการจัดซื้อเครื่องบินที่อยู่ในแผนเพียงโครงการเดียว จึงเกิดความสับสนว่าการจัดซื้อ F-35 จะเป็นการซื้อ “เพิ่มเติม” หรือซื้อ “ทดแทน” กันแน่ เพราะทั้ง 2 โครงการต้องใช้งบประมาณหลายหมื่นล้าน และเป็นภาระผูกพันในระยะยาวแทบทั้งสิ้น


“เห็นเค้าลางว่างบปี 66 แม้ว่าจะเป็นการตั้งงบครั้งสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์ แต่ก็ยังคงสร้างความผิดหวังอีกเช่นเคย”

ศิริกัญญา กล่าว




หากอ่านการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลแล้วผิดหวัง พรรคก้าวไกลขอเชิญชวนทุกท่านร่วมติดตามงาน “Hackathon งบ 66 — งบแบบไหนที่เราอยากเห็น?” ที่จะเปิดโอกาสให้ทุกท่านได้มีส่วนร่วมในการออกแบบงบประมาณที่ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดกับพวกเรา พรรคก้าวไกล เร็วๆ นี้

*เสริม ย้อนฟังแผน #งบประมาณฉบับก้าวไกล โดย ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ จากการประชุมใหญ่ครั้งที่ผ่านมา (นาทีที่ 1.20.20)

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า