ประชาธิปไตยในหลายประเทศกำลังถดถอยเข้าขั้นวิกฤต และสถานการณ์ประชาธิปไตยของประเทศหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นต่อกันเป็นทอดๆ ฝ่ายประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันปกป้องประชาธิปไตยของกันและกันอย่างแข็งขัน และนี่คือเหตุผลที่ตัวแทนพรรคการเมืองสังคมนิยมประชาธิปไตยมารวมตัวกันที่กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 19-21 พฤษภาคมที่ผ่านมา
พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า และมูลนิธิก้าวหน้า ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมระดับนานาชาติของเครือข่ายประชาธิปไตยสังคมนิยมในเอเชีย หรือ Network for Social Democracy in Asia (SocDem Asia) ปีนี้ โดยมีเพื่อนสมาชิกจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา รวมถึงในฝั่งยุโรปอย่างสวีเดน และฟินแลนด์ มาร่วมพูดคุยกัน
ผม ในฐานะเจ้าบ้าน ได้กล่าวต้อนรับเพื่อนๆ ของเราด้วยการตอกย้ำว่า พวกเราทุกคนมารวมตัวกันที่นี่ เพราะประชาธิปไตยกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก ฟรีด้อมเฮาส์ ระบุว่า ประชาธิปไตยทั่วโลกถดถอยลงอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 แล้ว จากปี 2005 ที่โลกมีประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอยู่ประมาณ 40% ลดลงมาเป็นประมาณ 20% ในปี 2021
หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ผมคิดว่าเราต้องย้อนกลับไปช่วงหลังจบสงครามเย็น เพราะเป็นช่วงที่ประชาธิปไตยเฟื่องฟูขึ้น แต่ก็เป็นช่วงที่เสรีนิยมใหม่เกิดขึ้นด้วย ทำให้สังคมมีพัฒนาการที่สวนทางกัน
ในขณะที่ประชาธิปไตยจัดสรรและกระจายอำนาจออกไป เสรีนิยมใหม่กลับรวบความมั่งคั่งไว้กับผู้ชนะไม่กี่คน แล้วละทิ้งคนอีกจำนวนมากไว้เบื้องหลัง ผมมองว่า สิ่งที่ขัดแย้งกันนี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และทำให้ประชาธิปไตยเปราะบาง เพราะคนรู้สึกผิดหวังที่ประชาธิปไตยปล่อยให้คนเพียง 1% ที่รวยที่สุดครอบครองทรัพยากรส่วนใหญ่ไป ความเหลื่อมล้ำนี้ผลักคนออกไปเป็นขวาจัด ชาตินิยมสุดโต่ง และการเกลียดกลัวชาวต่างชาติ
แล้วเราจะปกป้องประชาธิปไตย หรือกอบกู้ความเชื่อมั่นต่อประชาธิปไตยได้อย่างไร?
ผมเชื่อว่า สังคมนิยมประชาธิปไตยคือคำตอบ เพราะในขณะที่ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมใหม่กระจายอำนาจแต่เก็บรวบความมั่งคั่งเอาไว้ สังคมนิยมประชาธิปไตยจะกระจายทั้งอำนาจและความมั่งคั่ง ในขณะที่เสรีนิยมใหม่ทำให้คนผิดหวังกับประชาธิปไตย สังคมนิยมจะทำให้คนกลับมาเชื่อมั่นในประชาธิปไตยอีกครั้ง ด้วยการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ผ่านระบบสวัสดิการ ทำให้บริษัทใหญ่จ่ายภาษีอย่างเป็นธรรม หนุนให้แรงงานสามารถต่อสู้กับการล็อบบี้ของทุนใหญ่ด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
มองไปรอบๆ ตัว เราอาจจะรู้สึกหดหู่ใจที่ประเทศในเอเชียของเราอยู่ภายใต้อำนาจนิยมกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ผมเชื่อว่าเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว ในขณะที่ประเทศตะวันตกหลายประเทศเปลี่ยนแปลงแนวทางมาเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยหลังสงครามโลก โควิด-19 ก็เป็นอีกวิกฤตที่เปิดทางให้ประเทศในแถบเอเชียคว้าโอกาสในการเปลี่ยนแปลงจากระบอบอำนาจนิยมมาเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยได้ เพราะคนมองเห็นแล้วว่าสวัสดิการสำคัญจำเป็นต่อชีวิตมากแค่ไหน
ผมย้ำกับเพื่อนๆ ที่กำลังต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการและรัฐบาลอำนาจนิยมเหมือนกับประเทศท้อถอย เพราะแม้อำนาจนิยมจะพยายามทำลายประชาธิปไตยกี่ครั้ง ประชาธิปไตยก็ยังสามารถลุกขึ้นมาสู้ต่อได้ เหมือนกับที่มีการรัฐประหารในไทยมา 2 ครั้งในรอบ 16 ปี แต่คนก็ยังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเรื่อยมา และพรรคอนาคตใหม่ก็เกิดขึ้นมาด้วยเหตุผลนี้ แม้จะโดนยุบพรรคไปแล้วก็ยังกลับมาสู้ต่อในนามพรรคก้าวไกล
ผมเชื่อครับว่า ในอนาคต ประชาธิปไตยก็จะต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่างๆ ถาโถมเข้ามาไม่หยุด ดังนั้น ประเทศต่างๆ จึงต้องรวมตัวกันปกป้องประชาธิปไตยอย่างแข็งขันขึ้นอีก
ตัวแทนประเทศเพื่อนบ้านของเราถามความเห็นผมว่า เราจะป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารยังไง ผมเชื่อว่า เราต้องมีกฎหมายเอาผิดคนที่ยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน อีกทางก็ต้องทำความเข้าในกับประชาชนว่า ประเทศเรามีกลไกที่ทำให้ผู้มาจากการเลือกตั้งแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ แม้จะยากหรือล่าช้าไปบ้าง แต่รัฐประหารไม่ใช่คำตอบ
ในฐานะผู้แทนราษฎร เรามีหน้าที่พูด เราก็ต้องพูดถึงปัญหาและเสนอทางแก้ต่างๆ ในสภา เราต้องร่างกฎหมายที่ปกป้องสิทธิในการแสดงออก เช่น กฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย กฎหมายต่อต้านการใช้กฎหมายปิดปาก หรือ Anti-SLAAP เป็นต้น รวมถึงใช้ตำแหน่ง ส.ส. ของเราไปช่วยประกันตัวคนที่กล้าพูดถึงปัญหา คนที่กล้าตั้งคำถาม เช่น ทานตะวัน ตัวตุลานนท์
ผมคิดว่า เราต้องทำให้คนในสังคมเข้าใจว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่อุบัติขึ้นมาในทันที ประชาธิปไตยในแต่ละประเทศมีเส้นทางยาวนานหลายสิบหลายร้อยปี เราอาจะเปรียบได้ว่าการฟูมฟักประชาธิปไตยก็เหมือนการสอนเด็กขี่จักรยาน เราต้องล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ ล้มแล้วก็ลุกขึ้นมาอีก ไม่ใช่ล้มแล้วพ่อแม่ไปบอกกับเด็กว่า “ขี่จักรยานไม่เวิร์กหรอก เลิกขี่ซะ” ประชาธิปไตยเองก็ต้องมีช่วงล้มลุกคลุกคลาน เรียนรู้กันทุก 4 ปี ไม่ใช่ให้คุณพ่อรู้ดีมารัฐประหาร