free geoip

งบฯ ท้องถิ่นไม่เคยทำตามสัญญา ..แต่งบฯ ส่วนภูมิภาคพุ่งขึ้นทุกปี


หนึ่งในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการ “ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น” นั่นก็คือเรื่องของ “งบประมาณ”

ในการรณรงค์เข้าชื่อ เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่คณะก้าวหน้าร่วมกับพรรคก้าวไกล ผลักดันภายใต้แคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” ในขณะนี้ มีเรื่องของการจัดสรรระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นที่จะต้องไปให้ถึงร้อยละ 50 ต่อ 50

งบประมาณที่จัดสรรให้ท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญ จนมีการนำมาพูดคุยกันในรายการ “อำนาจประชาชน” ซึ่งดำเนินรายการโดย จอมขวัญ หลาวเพ็ชร จัดขึ้นในหัวข้อ “ท้องถิ่น งบน้อย… งานเยอะ” ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญหลายคนร่วมสะท้อนในประเด็นนี้ และหนึ่งในนั้นคือ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร


ศิริกัญญา บอกว่า สำหรับเรื่องงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรท้องถิ่นนั้น จริงๆ แล้วแม้แต่สัญญาที่รัฐได้ให้ไว้ตามกฎหมายว่าจะสรรเงินให้ร้อยละเท่านั้นเท่านี้ก็ไม่เคยเป็นจริง!

พร้อมกันนี้ได้ชี้ชวนให้ดูเอกสารของสำนักงบประมาณ โดยเป้าหมายที่รายได้จะไปถึงท้องถิ่นอยู่ที่ร้อยละ 35 มีขั้นต่ำที่รัฐควรจัดสรรรายได้ให้คือร้อยละ 25 แม้ว่าตามเอกสารจะดูดี แบ่งรายได้ประมาณ ร้อยละ 30 แทบทุกปี แต่ในความเป็นจริงบางปีกลับพบว่าจัดสรรจริงไม่ถึงขั้นต่ำด้วยซ้ำ และในหลายๆ ปีก็ผ่านขั้นต่ำมาแบบปริ่มๆ น้ำ

โดยสรุปก็คือ ที่เขียนตามเอกสารของสำนักงบประมาณกับที่ท้องถิ่นได้รับจริงไม่เคยตรงกัน

แน่นอนว่าที่ไม่เป็นตามเป้า ส่วนหนึ่งก็เพราะท้องถิ่นจัดเก็บเองไม่ได้ตามที่ตั้งไว้ แต่กระนั้นก็ต้องไม่ลืมว่าเป้าที่ตั้งให้นั้นมาจากสำนักงบฯ และก็ประมาณการไว้สูงทุกปีถึงร้อยละ 10 นี่เป็นเหมือนเป้าหลอกที่สำนักงบประมาณไม่เคยทบทวนดูว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำไม่ได้แน่ๆ เพราะไม่มีเครืองมือที่เป็นตัวช่วยให้ท้องถิ่นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษีใหม่ๆ อะไรได้เลย

เรื่องสัดส่วนที่แบ่งให้ท้องถิ่นต่ำกว่าความเป็นจริง เรื่องการที่สำนักงบฯ ประมาณการรายได้ท้องถิ่นพลาดเป้าแล้ว ยังมีเรื่องงบฯ ฝาก ที่ท้องถิ่นเป็นเพียงท่อผ่านเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ เบี้ยผู้ติดเชื้อเอชไอวี ค่าอาหารกลางวันนักเรียน ค่านมโรงเรียน

และจากเอกสารร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2566 พบว่ามีงบฯ ฝากเหล่านี้สูงถึง 141,224 ล้านบาท นี่เป็นเงินอุดหนุนทั่วไปที่ถูกกำหนดไว้แล้วว่าต้องทำอะไร ซึ่งจากตัวเลขของปีนี้ รายได้ท้องถิ่นอยู่ที่ร้อยละ 29.5 เมื่อหักงบฯ ฝากออกไปจะเหลือเพียง 23.8 % เท่านั้น นี่ยิ่งต่ำกว่าขั้นต่ำที่รัฐควรจัดสรรรายได้ให้ท้องถิ่นเสียอีก

สภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ศิริกัญญา ชวนคิดว่า แสดงว่ารัฐไม่ได้มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ หรือมีเจตจำนงกระจายอำนาจ หรือกระจายรายได้อะไรให้กับท้องถิ่นเลย จัดสรรให้แบบเสียไม่ได้ มีงบฯ ฝากที่ถูกนับว่าเป็นรายได้ท้องถิ่นด้วย ซึ่งท้องถิ่นไม่มีอำนาจตัดสินใจอะไร

“เป้าหมายจัดสรรรายได้ท้องถิ่นร้อยละ 35 ที่ตั้งไว้จึงไม่เคยไปถึงสักที เป็นอย่างนี้มาเกือบ 20 ปีแล้ว”

ศิริกัญญา กล่าว

ขณะเดียวกัน เมื่อไปดูการจัดสรรรายได้ให้กับราชการส่วนภูมิภาค กลับมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างน่าประหลาด ตั้งแต่หลังรัฐประหารของ คสช. เป็นต้นมา จนถึงปีงบประมาณ 2564 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 152 ผ่านงบประเภท งบจังหวัดและกลุ่มจังหวัด แผนบูรณาการการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค เป็นต้น

นี่คือความไม่เป็นธรรมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด มีภารกิจที่ต้องดูแลช่วยเหลือประชาชนสารพัด แต่งบประมาณที่จัดให้ กลับเป็นไปอย่างจำกัดจำเขี่ย นี่ยังไม่นับถึงงานที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ “สั่งแต่ปาก เงินไม่มา” อีกสารพัด

และทั้งหมดนี้คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตอนท้าย ศิริกัญญา เชิญชวนประชาชนร่วมเข้าชื่อ เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อปลดล็อกอำนาจ ปลดล็อกงาน ปลดล็อกคน และปลดล็อกเงิน

เพื่อให้ท้องถิ่นได้มีอิสระอย่างแท้จริง



🔏ร่วมลงชื่อปลดล็อกท้องถิ่นที่จุดลงชื่อทั่วประเทศ
หรือทางออนไลน์ที่ : https://progressivemovement.in.th/campaign-decentralization

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า