free geoip

กฎหมายแรงงานเหยียดเพศ ต้องเปลี่ยนรัฐบาล และสร้างรัฐสวัสดิการ



นอกเหนือจากเรื่อง #สมรสเท่าเทียม แล้ว อีกเรื่องที่สำคัญมากสำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศก็คือ การขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศในการทำงาน เพราะเรื่องนี้กระทบกับเรื่องปากท้องโดยตรง

วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในสัดส่วนแรงงาน ของพรรคก้าวไกล ได้กล่าวในงานเสวนา ‘กฎหมายแรงงานเหยียดเพศสังเกตได้’ ในงาน #BangkokPride2022 ว่า การต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานนั้นเป็นการต่อสู้ระยะยาว และการขจัดอคติทางเพศในการทำงานก็เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในการต่อสู้มาโดยตลอด เพราะคนที่มีอำนาจในการเขียนกฎหมายส่วนใหญ่ก็ยังติดอยู่กับแนวคิดชายเป็นใหญ่ และเข้าข้างนายทุนเป็นหลัก

กฎหมายแรงงานไม่ได้แค่เหยียด สร้างเงื่อนไขหรือผลักภาระให้แรงงานผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มหลากหลายทางเพศด้วย เพราะกฎหมายก็ยังวางอยู่บนกรอบเพศชายหญิงเท่านั้น ซ้ำร้ายยังกำหนดรายละเอียดอีกว่าเพศไหนห้ามทำงานประเภทใด ซึ่งถือเป็นการตัดโอกาสและตัวเลือกในการประกอบอาชีพของประชาชน

เหตุผลสำคัญที่ทำให้กฎหมายแรงงานไทยยังเหยียดเพศก็คือ กฎหมายแรงงานของไทยล้าหลัง ไม่ทันโลก เพราะแทบไม่มีการแก้ไขกฎหมายในสาระสำคัญต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2541 แล้ว และการแก้ไขในแต่ละเรื่องก็ต้องต่อสู้กันอย่างหนักมาก

วรรณวิภา ยกตัวอย่างการต่อสู้เรื่องสิทธิการลาคลอด แม้มีประวัติมายาวนาน แต่ก็ยังเป็นการต่อสู้ที่ไม่เสร็จสิ้น ในอดีตที่คนท้องและแรงงานคนอื่นๆ ต้องมาคล้องแขน กรีดข้อมือกันประท้วงรัฐบาล เพื่อให้ได้สิทธิลาคลอด แต่สิทธิลาคลอดนี้ก็ไม่ได้พัฒนาให้ทันโลกเลย เพราะยังให้สิทธิเฉพาะผู้หญิงในการลาคลอดเพียง 98 วันเท่านั้น และได้ค่าจ้าง 45 วัน ซึ่งเป็นการผลักภาระให้ผู้หญิงต้องรีบคลอดลูกและรีบกลับไปทำงาน อีกทั้งยังผลักให้เลี้ยงลูกแต่ฝ่ายเดียว ผู้ชายจะลามาช่วยภรรยาเลี้ยงลูกก็จะไม่ได้ค่าจ้าง ทั้งที่องค์การอนามัยโลกและอื่นๆ แนะนำว่า พ่อแม่ควรได้หยุดเลี้ยงลูก 6 เดือน หรือ 180 วัน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อพัฒนาการของเด็ก

พรรคก้าวไกล ได้ยื่นร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ฉบับพรรคก้าวไกล ซึ่งรวมเรื่องการให้สิทธิลาคลอด 180 วัน สำหรับทั้งพ่อและแม่ อีกทั้งยังมีการผลักดันว่า ผู้หญิงควรสามารถลาปวดท้องประจำเดือนโดยไม่นับว่าเป็นการลาป่วย ซึ่งในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ก็พัฒนาสิทธิเรื่องนี้แล้ว ขณะเดียวกัน ก็ควรมีการให้สิทธิการลาเพื่อผ่าตัดยืนยันเพศสภาพ ซึ่งบริษัทเอกชนใหญ่ๆ หลายแห่งให้สิทธิพนักงาน LGBTIQ ไปผ่าตัดได้แล้ว แต่กฎหมายยังตามไม่ทัน

ที่สำคัญ เมื่อมีการให้สิทธิเหล่านี้แล้ว ปัญหาที่ตามมาคือ นายจ้างฉวยโอกาสเลือกปฏิบัติทางเพศ โดยการไม่ยอมรับผู้หญิงหรือกลุ่มหลากหลายทางเพศเข้าทำงานตั้งแต่ต้น หรือนำเงื่อนไขเหล่านี้มาเป็นอุปสรรคในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง จึงจำเป็นต้องมีการเขียนกฎหมายคุ้มครองไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะด้วยเหตุแห่งเพศ ศาสนา เชื้อชาติ หรือแม้แต่อุดมการณ์ทางการเมือง ไว้ด้วย

ต้นตอความไม่เท่าเทียมทางเพศ คือรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน เพราะรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน จึงไม่เข้าใจปัญหาของประชาชน และไม่ฟังเสียงของประชาชนที่เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ให้มีรัฐสวัสดิการ แม้แต่การลงนามยอมรับอนุสัญญา ILO 87 และ 98 เพื่อรับรองสิทธิลูกจ้างทั้งไทยและต่างด้าวให้จัดตั้ง รวมตัว และต่อรองกับนายจ้างได้ หรือการจัดตั้ง “สหภาพแรงงาน” รัฐบาลก็ยังไม่ยอมทำ ทั้งที่รัฐบาลไม่ต้องเสียเงินอะไรเลย ซึ่งเหตุผลหลักก็เพราะกลัวประชาชนรวมตัวกัน

วรรณวิภา ย้ำว่า กฎหมายแรงงานต้องไม่ใช่แค่กฎหมายที่คุ้มครองแรงงานในระบบประกันสังคมเท่านั้น แต่ต้องคุ้มครองแรงงานประเภทอื่นๆ ด้วย เพื่อให้แรงงานเข้ามาอยู่ในระบบให้ได้มากที่สุด ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น และได้สวัสดิการที่ครอบคลุมถ้วนหน้าจริงๆ ซึ่งประเด็นนี้ก็มีความสำคัญอย่างมากกับกลุ่มหลากหลายทางเพศ

วรรณวิภา ยกตัวอย่าง น้องที่เป็น LGBTIQ ได้มาปรึกษาว่า ถูกนายจ้างบังคับให้ต้องตรวจเลือดก่อนเข้าทำงาน ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้กลุ่ม LGBTIQ จำนวนมาก เลือกที่จะเป็นแรงงานนอกระบบ การแก้ไขสิทธิประโยชน์ของแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ให้เทียบเท่าสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน มาตรา 33 จึงเป็นเรื่องจำเป็น

นอกจากนี้ เหตุผลที่พรรคก้าวไกลมองว่าจำเป็นต้องมีร่าง พ.ร.บ. #สมรสเท่าเทียม ออกมาใช้ก็เพราะว่า ต่อให้ไทยมีกฎหมายแรงงานและสวัสดิการดีแค่ไหนก็ไม่ถ้วนหน้า ไม่ครอบคลุม เพราะกลุ่มหลากหลายทางเพศไม่ได้ถูกรับรองตามกฎหมายว่าเป็นคู่สมรส ดังนั้น การจะสร้างความเท่าเทียมสำหรับแรงงาน จึงต้องทำงานควบคู่กันไป ทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้ครอบคลุม แก้กฎหมายให้คนเท่ากัน และการสร้างรัฐสวัสดิการคอยโอบอุ้มไม่ให้มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

ทางออกในเรื่องนี้สามารถเริ่มต้นได้จากการเปลี่ยนรัฐบาล เพราะรัฐบาลปัจจุบันไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ก็เปลี่ยนรัฐบาล แล้วมาเปลี่ยนกฎหมายส่งเสริมสิทธิแรงงานมากขึ้น ทันต่อยุคสมัย

เลือกผู้แทนที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ตัวแทนของนายทุน

วรรณวิภา กล่าวทิ้งท้าย

ฟังการเสวนาเต็มได้ที่ https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=367224698836602

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า