free geoip

แฉ “นโยบาย” รัฐทำค่าไฟแพงเกินควร ถ้ายึดประโยชน์ประชาชน ค่าไฟลดได้ถึง 1 บาท/หน่วย


แฉ “นโยบาย” รัฐทำค่าไฟฟ้าแพงเกินควร ถ้าเปลี่ยนนโยบายที่ยึดประโยชน์ประชาชน ค่าไฟฟ้าลดได้ถึง 1 บาท/หน่วย!

ในวันที่รัฐบาลกำลังจะเพิ่มค่าไฟฟ้าเป็น 4.72 บาท/หน่วย ผมอยากชวนย้อนดูทำไมค่าไฟฟ้าถึงแพงเกินควร เพราะหลังจากที่ศึกษาเตรียมข้อมูลสำหรับอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาทำให้เข้าใจ ที่มาของโครงสร้างไฟฟ้าของประเทศไทย

ทำให้ค้นพบว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่ “นโยบาย” ของรัฐเองที่มีส่วนสำคัญที่ว่าทำให้ค่าไฟฟ้าของประเทศไทยมีราคาแพงเกินควร เพราะคำนึงถึงผลประโยชน์ของ “กลุ่มทุนพลังงาน” มากกว่าผลประโยชน์ของ “ประชาชน” ผู้ใช้ไฟฟ้า หลายนโยบาย เช่น


1

อนุญาตให้มีโรงไฟฟ้ามากเกินความต้องการใช้ถึง 54% ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผมอภิปรายให้เห็นว่า การที่ “นโยบาย” อนุญาตให้มีโรงไฟฟ้าเกินความต้องการใช้มากถึง 54% เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงเกินจริง 0.24 บาท/หน่วย เพราะมีโรงไฟฟ้าเอกชนจำนวนมากที่ไม่ได้เดินเครื่องเลย แต่ประชาชนจะต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนเหล่านี้ในราคาค่าไฟฟ้า เพราะกฟผ.ทำสัญญาประกันกำไรให้เอกชน ในการอนุญาติให้สร้างโรงไฟฟ้า
(ย้อนฟัง การอภิปรายไม่ไว้วางใจ https://youtu.be/c74wQcyU7eo)



2

กำหนดอัตราผลตอบแทนของโรงไฟฟ้าเอกชนไว้สูงที่ 8% ในการอัตราผลตอบแทนให้เอกชน นโยบายของรัฐยินดีให้เอกชนมีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 8% (WACC) หรือ ลงทุน 100 บาท ได้กำไรปีละ 8 บาท แต่ในขณะที่ กฟผ. มีอัตราผลตอบแทนการลงทุนเพียง 5.1% สิ่งที่ควรจะเป็น คือ เอกชนต้องแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจให้มีอัตราผลตอบแทนที่น้อยกว่า 5% เพราะถ้าไม่อย่างนั้นรัฐวิสาหกิจควรลงทุนแทนเพื่อให้ค่าไฟฟ้าประชาชนถูกกว่าให้เอกชนลงทุน ในธุรกิจที่ประกันกำไรให้ทุกอย่างจนความเสี่ยงต่ำมากๆ และเพราะความเสี่ยงที่ต่ำขนาดนี้ ไม่ควรจะได้อัตราผลตอบแทนที่สูงถึง 8% เลยด้วยซ้ำ (ในอดีตบางโรงไฟฟ้าเอกชนได้ IRROE ถึง 20%!) ถ้าคำนวนง่ายๆ จะเสมือนได้ว่า เราจ่ายค่าไฟแพงเกินควรไปอีกถึง 0.17 บาท/หน่วย



3

กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่มีราคาแพง มากกว่า IPP ที่มีราคาถูก SPP มีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ 3.9 บาท/หน่วย ในขณะที่ IPP (เฉพาะที่ใช้ก๊าซ) มีต้นทุนที่ 2.8 – 3.4 บาท/หน่วย แต่กฟผ.รับซื้อจาก SPP (เดินเครื่อง 62%) มากกว่า IPP (เดินเครื่อง 39%) เพราะ กฟผ.ทำสัญญา Firm ที่กำหนดว่าต้องซื้อไฟฟ้าแน่นอนไว้กับ SPP เลยทำให้เสมือนว่าต้องซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่แพงกว่าก่อน



4

ต้นทุน SPP ที่แพงกว่า เพราะต้นทุนจัดหาก๊าซธรรมชาติแพงกว่า ปตท. กำหนดต้นทุนค่าจัดหาก๊าซให้ SPP ที่ต้นทุน 11.48 บาท/mmBTU นั้นแพงกว่าที่ ปตท.กำหนดต้นทุนค่าจัดหาก๊าซให้ IPP ที่ต้นทุน 2.15 บาท/mmBTU (ดังนั้น SPP จะมีต้นทุนค่าก๊าซแพงกว่า IPP ที่ 9.33 บาท/mmBTU) ทำให้ต้นทุน SPP แพงกว่า IPP ถึง 0.075 บาท/หน่วย และเป็นต้นทุนที่จะถูกผลักภาระมายังผู้ใช้ไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า



5

ต้นทุนก๊าซธรรมชาติ มี “ค่าผ่านท่อ” ที่กำหนดจากการตั้งผลตอบแทนไว้สูงที่ 12 – 18% ที่เป็นธุรกิจ “ผูกขาด” ที่ถูกกำกับโดยรัฐ และที่ผ่านมา “นโยบาย” กำหนดอัตราค่าผ่านท่อ โดยคำนวนให้ ปตท. มีอัตราผลตอบแทนการลงทุน IRROE ไว้สูงที่ 12 – 18% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สูงมาก สำหรับธุรกิจที่ผูกขาดและเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีผู้ซื้อแน่นอน เพราะถ้าค่าผ่านท่อแพงจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นตามไปด้วย (ปล. โรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง ปตท. ก็จะได้รับค่าผ่านท่อจากผู้ใช้ไฟฟ้าเดือนละประมาณ 700 ล้านบาท)



6

ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่มีราคาถูก (233 บาท/mmbtu) โดนอุตสาหกรรมแย่งใช้ ทำให้การผลิตไฟฟ้าต้องนำเข้าก๊าซที่มีราคาแพงกว่ามาก (พม่า 398 บาท/mmbtu, LNG 700 บาท/mmbtu) และ กลายเป็นค่าไฟฟ้าที่แพงเกินควร ทั้งๆที่ ก๊าซจากอ่าวไทยมีปริมาณเพียงพอสำหรับความต้องการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ ถ้าเปลี่ยน “นโยบาย” ให้ก๊าซจากอ่าวไทย เสมือนถูกนำมาผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนใช้ก่อน (ให้อุตสาหกรรมใช้ก๊าซในราคาก๊าซนำเข้าแทน) จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้มากถึงประมาณ 1 บาท/หน่วย !



7

นโยบายอ้างพลังงานทางเลือก ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น 0.26 บาท/หน่วย บนความมั่งคั่งของกลุ่มทุนพลังงาน ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลยกเหตุผลสนับสนุนพลังงานทางเลือก ซึ่งคือการยินดีให้ การไฟฟ้าฯ รับซื้อไฟฟ้าแพงจากเอกชนในราคาที่แพงเกินค่าไฟปกติ และนำมาเฉลี่ยเป็นค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นถึง 50,000 ล้านบาท/ปีกับประชาชน จากนโยบายนี้ (ปล.ไม่ได้หมายถึงไม่ให้สนับสนุนพลังงานทางเลือก แต่ไม่ควรผลักภาระมาประชาชน บนความมั่งคั่งของกลุ่มทุน)





แล้วทำยังไงให้ค่าไฟฟ้าถูกลง เมื่อค่าไฟฟ้าแพงเกินควรเพราะ “นโยบาย” ก็ต้องแก้ไขด้วย “นโยบาย” ไล่ตั้งแต่ ข้อ 1,2,7 ที่แก้ยากเพราะทำสัญญากับเอกชนไว้แล้ว แต่ที่ทำได้ คือ ไม่ควรอนุญาตให้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม และเจรจากับเอกชนให้ลดภาระค่าประกันกำไรของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง (รัฐบาลอินโดนีเซียก็เจรจากับโรงไฟฟ้าให้ลดภาระส่วนนี้กับประชาชนได้)

ข้อ 3, 4, 5, 6 คือ การเปลี่ยนแนว “นโยบาย” ในการกำกับดูแลธุรกิจพลังงานของรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมหมายถึงต้องเป็น รัฐบาลที่มีนโยบายที่ยึดผลประโยชน์สูงสุดของ “ประชาชน” มากกว่า “กลุ่มทุนพลังงาน”

โดยสรุป จากข้อมูลเท่าที่เปิดเผยต่อสาธารณะ (ถ้าข้อมูลเปิดเผยมากกว่านี้น่าจะเจออะไรเยอะกว่านี้) คำนวณได้ว่า ค่าไฟฟ้าของครัวเรือน สามารถลดลงได้สูงสุดถึง 1 บาท/หน่วย หรือ ทำให้ค่าไฟฟ้ากลับไปที่ต่ำกว่า 4 บาท/หน่วยได้ ถ้าประเทศไทยมีรัฐบาลที่มีนโยบายที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่ากลุ่มทุนพลังงาน

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า