free geoip

#วันเยาวชนสากล : 2 ข้อเสนอ สร้างระบบการเมืองที่ฟังเสียงของอนาคตตั้งแต่ปัจจุบัน


#วันเยาวชนสากล กับ 2 ข้อเสนอ เพื่อสร้างระบบการเมืองที่ฟังเสียงของอนาคตตั้งแต่ปัจจุบัน

เนื่องจากเมื่อวาน (12 สิงหาคม) นับเป็น “วันเยาวชนสากล” (International Youth Day) ที่ถูกกำหนดโดยสหประชาชาติ พรรคก้าวไกลเลยอยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมกันคิดถึงแนวทางในการเพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน เพื่อให้การตัดสินใจสำคัญๆในปัจจุบัน มีเสียงของอนาคตรวมอยู่ด้วย

แม้การพัฒนาประเทศย่อมต้องคำนึงถึงและอาศัยบทบาทของคนทุกรุ่น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการรับฟังและเพิ่มพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มีความสำคัญยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกไม่เพียงแต่ทำให้ค่านิยมและความฝันของคนแต่ละรุ่นแตกต่างและมีช่องว่างที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังทำให้คนรุ่นใหม่อาจมีความคุ้นเคยและความชำนาญในบางประเด็น (เช่น เทคโนโลยีใหม่ๆ) มากกว่าคนรุ่นอื่นๆ ด้วยซ้ำ – จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา บทบาทของเยาวชนต่อการขับเคลื่อนสังคมและสร้างสรรค์ประเทศที่เขาอาศัยอยู่ มีความโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะความสำเร็จในการเปิดและเพิ่มบทสนทนาของสังคมในหลายประเด็นที่ก้าวหน้า (เช่น สมรสเท่าเทียม สิทธินักเรียน การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เสรีภาพในการแสดงออก)

แต่หากมองในแง่ “ระบบ” ช่องทางและบทบาทการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อพัฒนาประเทศของเยาวชนไทย พบว่ายังมีจำกัด นอกเหนือจากการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่เคารพ 1 สิทธิ์ 1 เสียงของประชาชนทุกคนทุกรุ่นอย่างเสมอภาคกัน ยังมีอีก 2 ข้อเสนอที่น่าสนใจในการเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ ให้กับเยาวชนไทย


1. เลือกตั้งได้ ต้องลงสมัครเป็นผู้แทนได้

ในประเทศไทย รัฐธรรมนูญระบุอายุขั้นต่ำในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (18 ปี) ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. (25 ปี) และ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี (35 ปี) ในระดับที่ต่างกัน ซึ่งสวนทางกับหลายประเทศที่มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง (เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย) ที่มักวางให้อายุขั้นต่ำสำหรับ 3 สิ่งนี้เท่ากัน ด้วยหลักการว่า หากเรามองว่าประชาชนอายุ 18 ปี มีวิจารณญาณเพียงพอในการเลือกตัวแทนของตัวเอง เราก็ควรเปิดโอกาสให้เขาเสนอตัวเป็นผู้แทนผ่านสนามเลือกตั้งได้ด้วยเช่นกัน ล่าสุดเมื่อต้นปี เกาหลีใต้ ได้ปรับลดอายุผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จาก 25 เป็น 18 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเพิ่งปรับลดจาก 19 ปี เป็น 18 ปี เมื่อปี 2019

การลดอายุขั้นต่ำในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมาเป็น 18 ปี (ซึ่งในทางเทคนิค อาจหมายถึงการปรับอายุบรรลุนิติภาวะจาก 20 ปี เป็น 18 ปีควบคู่ไปด้วย) ไม่ได้หมายความว่าเราจะ ต้อง มี ส.ส. ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี หรือ รัฐมนตรีที่อายุต่ำกว่า 35 ปี (เพราะถึงเขาลงสมัครได้ คุณจะตัดสินใจไม่เลือกเขาก็ได้) แต่เป็นเพียงการเพิ่มพื้นที่ทางการเมืองให้เยาวชนและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตัวแทนที่เขาเห็นว่าเหมาะสม โดยไม่มีข้อจำกัดด้านอายุของผู้สมัคร

หากสำรวจนักการเมืองอายุน้อยหลายคนทั่วโลกที่สร้างผลงานอันเป็นที่น่าจับตามอง หลายคนจะไม่มีสิทธิได้เข้าสู่บทบาททางการเมืองดังกล่าวหากเกณฑ์อายุขั้นต่ำในประเทศเขาเป็นเหมือนเกณฑ์ปัจจุบันที่ประเทศไทย อย่างเช่น

  • “ซานนา มาริน” (Sanna Marin) ซึ่งชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของฟินแลนด์ ด้วยวัย 34 ปี
  • “ไซเอ็ด ซาดิก ไซเอ็ด อับดุล ราห์มาน” (Syed Saddiq Syed Abdul Rahman) ซึ่งชนะเลือกตั้งและถูกคัดเลือกให้มาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเยาวชนและกีฬาของประเทศมาเลเซีย ตอนอายุ 25 ปี
  • “ไมริ แบล็ค” (Mhairi Black) ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ของสหราชอาณาจักร ด้วยวัยเพียง 20 ปี


2. สภาเยาวชน ที่มีอำนาจในการเสนอกฎหมาย

สำหรับการมีส่วนร่วมของเยาวชนที่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แม้ประเทศไทย ณ ปัจจุบัน มีกลไกของ ‘สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย’ ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่หลายเสียงจากทั้งภายในภายนอก ได้มีการสะท้อนถึงข้อจำกัดบางประการที่ยังคงมีอยู่ เช่น

  1. โครงสร้างอำนาจหน้าที่ ที่ยังขาดหลักประกันว่าเสียงสะท้อนหรือข้อเสนอต่างๆ จะถูกภาครัฐพิจารณาอย่างจริงจังหรือนำไปปฏิบัติต่อ
  2. กระบวนการคัดเลือกสมาชิก ที่ยังขาดการมีส่วนร่วมหรือการรับรู้ของเยาวชนอย่างทั่วถึง ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ


ในวันที่คนรุ่นใหม่มีศักยภาพในการช่วยพัฒนาประเทศให้ก้าวทันโลก แนวทางหนึ่งในการเพิ่มโอกาสที่แนวคิดหรือข้อเสนอของเยาวชนมีโอกาสจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริง (เช่น แปรไปเป็นกฎหมาย หรือ นโยบายรัฐ) คือการให้มี “สภาเยาวชน” หรือ Youth Parliament (ซึ่งอาจต่อยอดจากสภาเด็กและเยาวชนที่มีอยู่) ที่ขึ้นตรงกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดให้สมาชิกสภาเยาวชนทุกคนมาจากการเลือกตั้งของเยาวชนทั่วประเทศ และ กำหนดให้ข้อเสนอใดที่สภาเยาวชนลงมติเห็นชอบ ถูกบรรจุเป็นวาระที่รัฐสภาต้องรับไปพิจารณาต่อโดยอัตโนมัติ ด้วยสถานะเทียบเท่ากับร่างกฎหมายที่ประชาชน 10,000 คน สามารถร่วมกันลงชื่อเสนอสู่สภาได้ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน

สภาเยาวชนที่สหราชอาณาจักรเป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ (แม้จะไม่ได้มีกลไกการเสนอกฎหมายดังกล่าวที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจน) โดยสมาชิกสภาเยาวชนจะประกอบไปด้วยเยาวชนอายุระหว่าง 11-18 ปี ที่มาจากการเลือกตั้งของเยาวชนทั่วประเทศทุก 2 ปี หนึ่งในกิจกรรมสำคัญประจำปีของสภาเยาวชนคือการคัดเลือกประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญต่อเยาวชน (เช่น สุขภาพจิต หลักสูตรการศึกษา ค่าเทอมมหาวิทยาลัย การฝึกงาน สิ่งแวดล้อม) มาอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรโดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม

การมีสภาเยาวชนในลักษณะดังกล่าว อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มพื้นที่ทางการเมืองให้กับเยาวชนที่อายุน้อยกว่า 18 ปี และทำให้ประเด็นของเยาวชนถูกรับฟังอย่างเป็นทางการแม้พวกเขายังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง


ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาของเด็กหรือเยาวชน มักให้ผู้ใหญ่เป็นฝ่ายชี้นำ แต่ในเมื่อโลกวันนี้หมุนไวเกินกว่าคนรุ่นก่อนจะวิ่งตามทันทุกเรื่อง และในเมื่อโลกในอดีตก็แตกต่างจากปัจจุบันเกินกว่าที่คนรุ่นใหม่จะจินตนาการถึงได้ทั้งหมด จะดีกว่าหรือไม่ หากเราเปลี่ยนรูปแบบความร่วมมือระหว่างคนทุกรุ่นจากการเดินนำ-เดินตาม มาเป็น การเดินไปพร้อมกัน เพื่อสร้างประเทศไทยที่โอบรับความฝันของคนทุกวัย และมุ่งสู่อนาคตที่คนทุกรุ่นร่วมกันสร้าง


สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของพรรคก้าวไกลนี้ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ปี พ.ศ. 2565
ผลิตโดย บริษัท สเปกเตอร์ ซี จำกัด จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น งบประมาณ 3,000 บาท ผลิตวันที่ 13 สิงหาคม 2565

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า