⁉️ ตั้งคำถามดังๆ ถึงผู้มีอำนาจว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องปฏิรูปองค์กรตำรวจ-ทหาร เพื่อไม่ให้เหตุอาชญากรรมแบบที่โคราช กรมยุทธศึกษาทหารบก และล่าสุดที่หนองบัวลำภูเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต
เหตุการณ์ที่มีการใช้อาวุธในลักษณะเดียวกันกับที่หนองบัวลำภูไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรก มีเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง หนึ่งครั้งที่โคราช และอีกครั้งเมื่อเดือนที่ผ่านมาที่กรมยุทธศึกษา กองทัพบก และในทุกครั้ง ผู้กระทำล้วนแต่เป็นทหาร-ตำรวจชั้นผู้น้อย
แน่นอนว่าเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้เราไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่สิ่งที่เราอยากเห็นอย่างจริงจัง คือป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำละลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุด แต่ย้อนกลับไปตั้งแต่การกราดยิงที่โคราช เราแทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงขององค์กรตำรวจทหารเลยแม้แต่น้อย
ภายในองค์กรเหล่านี้ยังมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่ดีของเจ้าหน้าที่ของรัฐและเต็มไปด้วยการการทุจริตคอรัปชั่นซึ่งหลายครั้งส่งผลเสียต่อเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย บางครั้งหนักถึงขนาดที่อาหารการกินของชั้นผู้น้อยก็มีการแบ่งแยก
ปัญหาสุดคลาสิคที่อยู่กับสังคมมานานคือ การใช้เส้นสายฝากคนของตัวเองเข้าทำงาน ระบบตั๋วต่างๆ รวมถึงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด บ่อนการพนัน สถานบันเทิงผิดกฎหมาย ไปจนถึงการค้ามนุษย์ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ล้วนต้องอาศัยการสมคบของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสิ้น คนทั้งสังคมรู้ว่านี่คือสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริงขององค์กรตำรวจและทหาร แต่ผู้มีอำนาจยังคงซุกปัญหาไว้ใต้พรม
ถึงเวลาหรือยังที่เราจะปฏิรูปตำรวจ-ทหารไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำ ด้วยมาตรการเร่งด้วน 4 เรื่อง
- ต้องจัดการซื้อขายตำแหน่งอย่างจริงจัง ป้องกันระบบตั๋วต่างๆ รวมถึง “ตั๋วช้าง” ซึ่งเป็นสิ่งชักนำสำคัญที่ทำให้เกิดคนมีสีเข้าไปเกี่ยวกับธุรกิจที่ผิดกฎหมาย
- ดูแลเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยอย่างสม่ำเสมอ ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในยามที่พวกเขามีปัญหา ขณะเดียวกันองค์กรเหล่านี้จะต้องมีกระบวนการในการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม และโปร่งใส หมดยุค “ช่วยกัน” ได้แล้ว
- รัฐบาลจะต้องไม่เป็นการผลักภาระต่อผู้ปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อปืนเอง การซื้อน้ำหมึกเอง หรือกระดาษเอง สิ่งเหล่านี้จะต้องไม่เกิดขึ้น ตลอดจนการเลิกภารกิจที่ไม่มีความจำเป็น เช่น ทหารรับใช้ ตำรวจรับใช้
- กรณีที่พวกเขาต้องออกจากองค์กร รัฐและองค์กรที่เป็นต้นสังกัด ต้องติดตามว่าคนเหล่านี้สามารถอยู่ในสังคมอย่างปกติสุขได้หรือไม่ หากมีความจำเป็นต้องรักษาหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ภาครัฐมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามามีบทบาทต่อเรื่องนี้ด้วย
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสเห็นสำนึกของผู้บังคับบัญชาเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปเพื่อให้สังคมของเราได้อยู่อย่างปลอดภัยต่อไป
หากรัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถแก้ไขต้นตอของปัญหาที่เรื้อรังมานานได้ อีกไม่กี่เดือน การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงคือสายลมแห่งความเปลี่ยน ที่จะทำให้การปฏิรูปองค์กรตำรวจและทหารเกิดขึ้นจริง