free geoip

คนรุ่น 14 ตุลา และคนรุ่นปัจจุบัน : ความเหมือนในความต่าง และ ความต่างในความเหมือน


14 ตุลา 16 ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์สังคมไทยได้แค่ไหน
คนรุ่น 14 ตุลา และคนรุ่นปัจจุบัน : ความเหมือนในความต่าง และ ความต่างในความเหมือน

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ

การได้รับโจทย์ให้พูดถึงเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีต เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผมเสมอ โดยเฉพาะเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ล่วงผ่านมาแล้วถึง 49 ปี

ความท้าทายที่ผมพูดถึงนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะผมไม่ได้เป็นคนที่อยู่ร่วมสมัย จึงไม่ใช่ ประจักษ์พยาน ที่เห็นเหตุการณ์มากับตา หรือ ได้ยินมากับหู จนเล่าต่อหรือถ่ายทอดได้อย่างแม่นยำมั่นใจ

แต่ความท้าทายที่ผมพูดถึงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์ทางการเมือง ที่เหมือนจะถูกตีความอย่างแตกต่างหลากหลาย โดยคนแต่ละกลุ่ม

จากการพยายามพูดคุยกับ หลายคนหลายรุ่นเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา เพื่อเตรียมตัวสำหรับการมากล่าวปาฐกถาในวันนี้ ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจ คือโดยรวมแล้ว ระหว่างคนที่เกิดก่อนผม กับคนที่เกิดหลังผม มักมีมุมมองต่อเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ค่อนข้างจะแตกต่างกัน

ในมุมหนึ่ง เหตุการณ์ 14 ตุลา มักถูกมองโดยคนรุ่นก่อน ว่าเป็น “ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่” ของประชาชน ที่สร้างคุณูปการให้กับการเมืองไทยและคนในรุ่นถัดไป

ในเมื่อ 14 ตุลา นับเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองไม่กี่ครั้ง ที่การลุกฮือของประชาชน จบลงที่ความสำเร็จในการปิดฉากรัฐบาลเผด็จการ ที่ครองอำนาจมากว่า 10 ปี

ในเมื่อ 14 ตุลา นับเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองไม่กี่ครั้ง ที่สามารถหลอมรวมประชาชนจากหลากหลายกลุ่ม หลากหลายวัย เพื่อขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายที่มีร่วมกัน

และในเมื่อ 14 ตุลา นับเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญ ที่นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีเนื้อหาที่ค่อนข้างจะมีความเป็นประชาธิปไตย หากเทียบกับหลายร่าง ณ เวลานั้น

แต่ในอีกมุมหนึ่ง เหตุการณ์ 14 ตุลา มักถูกมองโดยคนรุ่นหลังผม ว่าเป็น “ชัยชนะที่ลวงตา” ที่ไม่สามารถนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

เพราะแม้ 14 ตุลา ได้กำจัดระบอบที่เรียกว่า “3 ทรราช” ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ออกไป แต่ก็สามารถกำจัดอิทธิพลของกองทัพ ที่ยังคงมีเหนือพลเรือนและการเข้ามาแทรกแซงการเมือง

เพราะแม้ 14 ตุลา ทำให้ประเทศได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาที่ค่อนข้างมีความเป็นประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก็มีอายุได้เพียง 2 ปี

เพราะแม้ 14 ตุลา ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนเบ่งบาน แต่ความรุนแรงจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 3 ปีหลังจากนั้น ก็เป็นเสมือนการล้างไพ่ประชาธิปไตยไทย ให้ถอยไปอยู่จุดเดิม หรือแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ

14 ตุลา จึงอาจเป็น “ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่” ของคนรุ่นหนึ่ง แต่เป็นเพียง “ชัยชนะที่ลวงตา” ในสายตาของคนอีกรุ่น

และเราจะอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้อย่างไร ?

ความจริงแล้ว การที่คนแต่ละรุ่นมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน – ไม่ว่าจะเป็นมุมมองต่อเหตุการณ์ต่างๆในประวัติศาสตร์ หรือ ค่านิยมที่แต่ละคนยึดถือ – เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจนัก โดยเฉพาะในบริบทของโลก ณ ปัจจุบัน

ยิ่งโลกหมุนเร็วเท่าไหร่ ประสบการณ์ของคนแต่ละรุ่น ก็จะยิ่งแตกต่างและห่างเหินกันมากขึ้นเท่านั้น ราวกับว่าพวกเขาเติบโตมาในโลกคนละใบ ใช้ชีวิตในคนละห้วงเวลา พูดกันคนละภาษา แต่กลับต้องมาอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน

ดังนั้น หากเราอยากทำความเข้าใจความคิดของคนแต่ละรุ่น เพื่อเข้าใจว่าทำไมคนแต่ละรุ่น จึงให้คุณค่าต่อเหตุการณ์เดียวกัน ด้วยสายตาที่ต่างกัน เราอาจเริ่มต้นด้วยการลองจินตนาการถึง “โลก” ที่คนแต่ละรุ่นนั้น เกิดและเติบโตขึ้นมา

อย่างเช่น หากเราอยากเข้าใจว่าทำไมคนแต่ละรุ่นถึงมองเหตุการณ์ 14 ตุลา ต่างกัน เราอาจต้องเริ่นต้น ด้วยการเปรียบเทียบดู ว่าคนรุ่นใหม่ในยุค 14 ตุลา (หรือคนที่เกิดระหว่างปี 2492-2502) กับ คนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน (หรือคนที่เกิดระหว่างปี 2541-2551) เติบโตขึ้นมาในประเทศไทย ที่มีหน้าตาเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

หากมองในมิติการเมือง ประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่ 2 ยุค อาจไม่ต่างกันมากนัก

คนรุ่นใหม่ยุค 14 ตุลา เติบโตมากับระบอบเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศยาวนานมากกว่าทศวรรษ ตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อเนื่องถึง จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นยุคที่แม้การเมืองจะมีเสถียรภาพ แต่เป็นเสถียรภาพที่ประชาชนไร้สิ้นเสรีภาพ ผู้นำมีอำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 17 จะออกคำสั่งอะไรก็ได้ตามที่เห็นสมควร จนนำไปสู่การออกคำสั่งประหารชีวิตประชาชนถึง 76 คน จำคุก 113 คน ครอบคลุมตั้งแต่คนที่ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดอาญา ไปจนถึงผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหว เพียงแค่แจกใบปลิว

คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน ก็เติบโตมาในยุคที่พวกเขาแทบไม่ได้สัมผัสประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ต้องอาศัยอยู่ภายใต้การบริหารของนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหาร มาเกือบทศวรรษ แม้ประเทศจะกลับมามีวงจรของการเลือกตั้ง แต่ “ระบอบประยุทธ์” ที่ปกครองประเทศอยู่ตอนนี้ ก็ได้แปลงจากเผด็จการทหารที่ครองอำนาจด้วยกองกำลัง มาเป็น “เผด็จการอำพราง” ที่ชุบตัวผ่านการเลือกตั้ง และควบคุมประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ ผ่านกลไกสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น ส.ว. 250 คน ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ หรือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

แต่หากเราเขยิบจากมิติการเมือง มามองในมิติอื่น เราอาจเห็นความแตกต่างมากขึ้น ระหว่างประสบการณ์ของคนรุ่นใหม่ใน 2 ยุคสมัย

ในส่วนของมิติเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผล ต่อโอกาสทางการงาน

คนรุ่นใหม่ยุค 14 ตุลา เติบโตในประเทศไทยที่เศรษฐกิจรุดหน้า GDP โตกว่า 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ประเทศมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมหาศาล พร้อมกับความเจริญที่เริ่มขยายออกไปนอกกรุงเทพฯ แม้ทั้งหมดอาจยังเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เติบโตในภาพรวม มากกว่าการกระจายรายได้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

ในทางกลับกัน คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน ต้องเริ่มหางาน หรือเตรียมหางาน ในยุคที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างฝืดเคืองและเติบโตอย่างกระจุก GDP ไทยโตไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ มาเกือบ 10 ปี แถมถูกตอกย้ำด้วยวิกฤติโรคระบาดที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของโลกอย่างโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่อง และประชาชนตกอยู่ในสภาวะว่างงาน หรือเสมือนว่างงาน หลายล้านคน

ในส่วนของมิติการต่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อ ความคิดเรื่อง “ชาติ”

คนรุ่นใหม่ยุค 14 ตุลา เติบโตมาท่ามกลางสงครามเย็น ที่อาจทำให้หลายคนมีความเป็นชาตินิยมสูง และมองต่างประเทศด้วยสายตา “หวาดระแวง” ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯที่มีอิทธิพลสูงมากเหนือรัฐบาลไทย สามารถเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพื่อทำสงครามกับประเทศอื่นในภูมิภาค หรือ ขณะเดียวกัน การขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ก็สร้างความหวาดหวั่นแก่บางกลุ่ม จนเกิดการปลูกฝังแนวคิดที่ทำให้ประชาชนมองคอมมิวนิสต์เป็นความคิดที่อันตรายและต้องกำจัด

ในทางกลับกัน คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน เติบโตมาท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ซึ่ งทำให้เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศจางลง จนทำให้หลายคนมองประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นเสมือน “ตัวอย่าง” หรือ “ต้นแบบ” การพัฒนา ที่ต้องการให้ประเทศไทยมุ่งไปสู่ และทำให้หลายคน ฝันเห็นการบริหารประเทศที่ยึดมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับโดยต่างชาติ และมีที่ยืนในเวทีนานาชาติ

ในส่วนของมิติเทคโนโลยี ซึ่งส่งผล ต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

คนรุ่นใหม่ยุค 14 ตุลา มีทางเลือกในการติดตามข่าวสารอย่างจำกัด มีเพียงวิทยุ หนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ ซึ่งก็ไม่ได้มีทุกบ้าน ยังไม่นับว่าเนื้อหาแทบทั้งหมด ถูกกำกับควบคุมโดยรัฐ ในขณะที่การเดินทางไปเปิดหูเปิดตาในต่างแดน ยังเป็นอภิสิทธิ์ ที่ถูกจำกัดไว้สำหรับคนส่วนน้อยในสังคมเท่านั้น

ในทางกลับกัน คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน มีทางเลือกในการติดตามข่าวสารจำนวนนับไม่ถ้วน การเติบโตของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ทำให้การเดินทางของข้อมูล ใช้ความเร็วเพียงเสี้ยววินาที มีช่องทางให้ผู้คนทั่วโลกแสดงความคิดเห็นและพบปะกันผ่านโลกออนไลน์ โดยรัฐไม่อาจควบคุมจำกัดได้ทั้งหมด

การมองเห็นถึงประสบการณ์ที่ต่างกันในแต่ละมิติระหว่างคนแต่ละรุ่น จะทำให้เราวิเคราะห์ชุดความคิดที่ต่างกันระหว่างคนแต่ละรุ่นได้ชัดขึ้น

ตัวอย่างหนึ่ง คือมุมมองที่อาจต่างกัน ต่อความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยกับเศรษฐกิจที่เติบโต เพราะในขณะที่คนรุ่นใหม่ยุค 14 ตุลา เห็นเศรษฐกิจยังพอเติบโตได้ แม้ในช่วงที่ประเทศอยู่ใต้ระบอบเผด็จการทหาร แต่คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันกลับต้องเผชิญกับเศรษฐกิจไทยที่สิ้นหวัง พร้อมกับการเมืองไทยที่ล้าหลัง 

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือมุมมองที่อาจต่างกันต่อความอยู่รอดของไทยท่ามกลางสถานการณ์โลก ในขณะที่คนรุ่นใหม่ยุค 14 ตุลา อาจเห็นว่าการมีศูนย์รวมจิตใจ ที่ยึดเหนี่ยวผู้คนในชาติเข้าไว้ด้วยกัน เป็นสิ่งจำเป็นท่ามกลางสงครามระหว่างมหาอำนาจ แต่คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันอาจเห็นว่าการปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นสิ่งที่สำคัญกว่า ต่อความอยู่รอดของประเทศ

การที่เราเติบโตมาในโลกที่ต่างกัน จึงมีอิทธิพลอย่างยิ่ง ต่อการกำหนดมุมมองของเราที่มีต่อโลก หรือ ต่อเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา

เพราะฉะนั้น

หากเรามองอย่างผิวเผิน เราอาจจะหลงคิด ว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่นำโดยคนรุ่นใหม่เมื่อ 49 ปีที่แล้ว กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในที่นำโดยคนรุ่นใหม่ในวันนี้ มีความเหมือนกันทั้งหมด

หรือเราอาจจะหลงคิดว่าคนรุ่นใหม่ในวันนี้ ได้รับแรงบันดาลใจส่วนใหญ่จากคนรุ่นใหม่เมื่อ 49 ปีที่แล้ว

แต่หากเรามองลึกลงไป ด้วย “แว่นตา” ที่พยายามทำความเข้าใจถึงช่องว่างระหว่างสองรุ่น เราจะค้นพบว่า การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในวันนี้ ไม่ได้ถอดแบบมาจากการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่เมื่อ 49 ปีที่แล้วเป็นหลัก แต่มีตัวตน ลักษณะ และเป้าหมาย ของตนเองที่ชัดเจน และมีหลายส่วนที่แตกต่างออกไป

ในยุคปัจจุบัน ซึ่งห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของประชาธิปไตยไทย ท่ามกลางการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างระบบที่ล้าหลังลง และสังคมที่ก้าวหน้าขึ้น การถอดบทเรียนจาก 14 ตุลา เพื่อมาช่วยปลดปล่อยพลังให้กับสังคมไทย จึงต้องไม่ใช่การถอดบทเรียนที่พยายามชี้แนะให้คนรุ่นปัจจุบัน เดินตามสูตรของคนรุ่น 14 ตุลา ทั้งหมด แต่ต้องเป็นการถอดบทเรียนบนพื้นฐานของการพยายามเข้าใจ “ความเหมือนภายใต้ความต่าง” และ “ความต่างภายใต้ความเหมือน” ระหว่างยุค 14 ตุลา และ ยุคปัจจุบัน

หากจะเริ่มจากการพูดถึง “จุดร่วม” หรือ “ความเหมือนภายใต้ความต่าง” ปฏิเสธไม่ได้ ว่าเป้าหมายและความตั้งใจของคนยุค 14 ตุลา มีหลายส่วน ที่สอดคล้องกับความฝันของคนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน แต่ยังไม่สำเร็จถึงฝั่งและยังต้องอาศัยพลังและเจตจำนงของคนทั้ง 2 รุ่น ในการร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป

ผมขอสรุปออกมาเป็น 4 เป้าหมาย หรือ ภารกิจ

เป้าหมายหรือภารกิจที่ 1 คือ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย นับเป็นหนึ่งในข้อเสนอหลักของประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 14 ตุลา

แม้รัฐธรรมนูญ 2517 จะเป็นฉบับที่ได้รับการยอมรับว่ามีเนื้อหาที่ค่อนข้างมีความเป็นประชาธิปไตย หากเทียบกับอีกหลายฉบับที่ประเทศไทยเราเคยมีมาทั้งหมด แต่รัฐธรรมนูญ 2517 ก็มีอายุได้เพียง 2 ปี ก่อนจะถูกฉีกโดยคณะรัฐประหารในปี 2519

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ประเทศไทยก็ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ในรูปแบบของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกเขียนโดยคณะรัฐประหาร มีวัตถุประสงค์ในการสืบทอดอำนาจ และประกอบไปด้วยเนื้อหาที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยสากล

ด้วยเหตุนี้ ทางออกจากวิกฤติการเมืองในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องอาศัยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาแทนที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 แต่หากเราต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ลงหลักปักฐานประชาธิปไตย ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนกว่ารัฐธรรมนูญ 2517 หลัง 14 ตุลา เราจำเป็นต้องมีทั้ง กระบวนการจัดทำ และ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ที่มีความก้าวหน้าขึ้นกว่าเมื่อ 40 กว่าปีก่อน

ในเชิงกระบวนการจัดทำ หากเราต้องการให้ประชาชนรู้สึกหวงแหน รู้สึกเป็น “เจ้าของ” และรู้สึกอยากปกป้องรักษารัฐธรรมนูญเอาไว้ เราจำเป็นต้องสร้างกระบวนการ ที่ทำให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการร่างรัฐธรรมนูญ และทำให้ประชาชนเห็นว่า การคงอยู่ของรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่น กับสิทธิเสรีภาพและคุณภาพชีวิตของพวกเขา

เราต้องยอมรับว่าแม้การร่างรัฐธรรมนูญ 2517 เป็นการร่างผ่านกระบวนการ “สภาสนามม้า” หรือ “สมัชชาแห่งชาติ พ.ศ. 2516” ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลของ สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่มีเจตจำนงในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย แต่ 299 คน ที่มาทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติในการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังมีสถานะที่มาจากคัดเลือกโดย 2,347 คน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ได้โปรดเกล้าฯพระราชทาน อีกทีหนึ่ง

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ณ เวลานี้ จึงไม่ควรถอดแบบมาจาก “สภาสนามม้า” เมื่อ 40 กว่าปีก่อน แต่ควรเป็นการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ผ่านการมี สภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการรวบรวมความเห็นและความฝันของทุกชุดความคิด

ในเชิงเนื้อหา หากเราต้องการป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกได้ง่ายในอนาคต การพยายามออกแบบสถาบันทางการเมืองให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย จึงไม่เพียงพอ แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นต้องเขียนเข้าไปด้วย ถึงเนื้อหาที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการทำรัฐประหาร และฉีกรัฐธรรมนูญได้อย่างง่ายดายในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสิทธิและหน้าที่ของประชาชนในการต่อต้านรัฐประหาร การเพิ่มสิทธิและหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการไม่ทำตามคำสั่งของผู้ก่อรัฐประหาร การปิดช่องไม่ให้ศาลหรือสถาบันทางการเมืองใดๆรับรองการทำรัฐประหาร รวมถึงการปิดช่องการนิรโทษกรรมผู้ก่อรัฐประหาร แต่เปิดช่องให้ประชาชนดำเนินคดีต่อคณะรัฐประหารได้ โดยปราศจากอายุความ

การมีรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตย และมีกลไกป้องกันการถูกฉีก จึงเป็นภารกิจที่คนรุ่น 14 ตุลา อาจยังทำไม่สำเร็จ แต่เป็นสิ่งที่คนทุกรุ่น คงอยากเห็นความสำเร็จในอนาคตอันใกล้

เป้าหมายหรือภารกิจที่ 2 คือ สร้างประชาธิปไตยเชิงวัฒนธรรม ที่ไปไกลกว่าตัว “ผู้นำ” 

แน่นอน ว่าประชาธิปไตยจะก่อร่างสร้างฐานได้ จำเป็นต้องมี “ผู้นำ” ที่เป็นประชาธิปไตยทั้ง “เปลือกนอก”  และ “เนื้อใน” กล่าวคือขึ้นสู่อำนาจด้วยกลไกประชาธิปไตย และปฏิบัติหน้าที่ โดยมีค่านิยมประชาธิปไตยกำกับ

แต่ประชาธิปไตยจะเติบโตเข้มแข็งได้ จำเป็นต้องมี “โครงสร้าง” และ “วัฒนธรรม” ที่หล่อเลี้ยงค่านิยมประชาธิปไตย ในทุกอณูของสังคม

การขับไล่ ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ออกจากการเมืองไทย อาจทำให้ประเทศได้หลุดพ้นจากผู้นำเผด็จการ ที่สืบทอดมาจากคณะรัฐประหาร แต่เหตุการณ์ 14 ตุลา อาจยังไม่ได้ประสบความสำเร็จ ในการกำจัดวัฒนธรรมหรือแนวคิด ที่ยังคงมีความลังเลในการ “ไว้วางใจประชาชน” ทั้งหมด โดยหลายคนวิเคราะห์ ว่าบทบาทในการกำหนดอนาคต ณ ตอนนั้น มิได้ถูกโอนถ่ายมาอยู่ในมือของประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ แต่ยังคงอยู่ในมือของกลุ่มธุรกิจและเทคโนแครตเป็นหลัก

เมื่อพวกเขาเริ่มสังเกตว่าข้อเรียกร้องหลายอย่างของกลุ่มนักศึกษา รวมถึงชาวนา-แรงงาน อาจ “ไปไกล” เกินธงหรือทิศทางการปฏิรูปประเทศที่พวกเขาอยากเห็น จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่ถึง 3 ปี ยุคประชาธิปไตยเบ่งบานก็เหมือนจะถึงจุดสิ้นสุด เมื่อกลุ่มชนชั้นนำที่เคยสนับสนุนนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา เริ่มแสดงท่าทีไม่เป็นมิตร ต่อข้อเสนอที่พวกเขามองว่ามีลักษณะเชิง “สังคมนิยม” ท่ามกลางห้วงเวลาที่ประเทศไทยตกอยู่ในความหวาดกลัวระบอบคอมมิวนิสต์ ที่กำลังมีชัยในประเทศเพื่อนบ้าน จนทำให้สังคมบางส่วนเลือกนิ่งเฉยต่อการกดปราบ ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มนักศึกษา

ดังนั้น แม้ 14 ตุลา จะเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ภาคประชาชนรวมตัวแสดงพลังเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง แต่บทเรียนหนึ่งที่เราได้ คือความตื่นตัวหรือการต่อสู้ของประชาชน ไม่ได้นำไปสู่ชัยชนะที่ยั่งยืนของประชาธิปไตยเสมอไป

ตราบใดที่เรายังไม่สร้าง “วัฒนธรรม” ประชาธิปไตยให้แข็งแรง พร้อมโอบรับความเห็นต่างทางการเมือง และปราศจากการแทรกซึมของอำนาจนิยมในทุกพื้นที่ของสังคม

ตราบใดที่เราไม่มุ่งสร้าง “ระบบ” ที่เป็นธรรม ไว้ใจประชาชน แต่ยังให้ความสำคัญกับบาง “บุคคล” หรือบางกลุ่มบุคคลอย่างล้นเกิน

ประเทศไทยก็อาจมีวันที่เราเผลอหวนกลับไปหากลไก หรือวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพียงเพื่อสนองเป้าหมายระยะสั้น โดยลืมคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบการเมืองระยะยาว

หากเราถอดบทเรียนดังกล่าวมาใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน ภารกิจในการสร้างประชาธิปไตย จึงไม่สำเร็จได้จากเพียงการที่ พล.อ. ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่ง แต่เราจำเป็นต้องรื้อ “ระบอบประยุทธ์” หรือ สกัดกั้นการรักษาอำนาจของตัวแทนความคิดแบบอำนาจนิยมคนอื่นๆ ที่แทรกซึมอยู่ในคณะรัฐมนตรี ในสภา ในสถาบันทางการเมือง ในระบบราชการ หรือ ในสถานศึกษา และมีส่วนสำคัญ ในการฉุดรั้งการพัฒนาโครงสร้างและวัฒนธรรม ที่อยู่บนฐานของการไว้วางใจประชาชน

เป้าหมายหรือภารกิจที่ 3 คือ การปฏิรูปกองทัพให้เป็นของประชาชน

คงไม่มีใครปฏิเสธ ว่านักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวเมื่อ 49 ปีที่แล้ว มีความประสงค์จะเอาเผด็จการทหาร ออกจากการเมือง

แต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ทุกคนทราบดีว่าประเทศเราเพียงหลุดพ้นจากระบอบการเมือง ที่ “ถนอม-ประภาส-ณรงค์” เป็นใหญ่ แต่มิได้หลุดพ้นจากระบอบการเมือง ที่กองทัพเป็นใหญ่ ดังปรากฏหลักฐานเป็นการรัฐประหารอีกหลายครั้งต่อจากนั้นที่ กระทำสำเร็จ

สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จ ในการปฏิรูปกองทัพให้อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อประกอบกับการที่คณะทหารผู้ยึดอำนาจประชาชนไม่เคยมีราคาที่ต้องจ่ายเพราะพวกเขารอดได้เสมอด้วยการนิรโทษกรรมตัวเอง ประเทศเราจึงยังคงอยู่ในวังวนที่เมื่อวันหนึ่งการเมืองพลิกผันและอยู่ในสถานการณ์วิกฤต กองทัพก็ไม่เคยหวาดกลัวที่จะกลับมาเล่นบทเดิมอันคุ้นเคย ผ่านวาทกรรม “รักษาความสงบ คืนความสุข ปราบโกง ปกป้องสถาบัน”

ในความจริงแล้ว กองทัพมีอิทธิพลต่อการเมืองไทยมาโดยตลอด แม้ในช่วงที่ประเทศไม่ได้อยู่ภายใต้คณะรัฐประหาร

ดังนั้น หาหากเราต้องการให้กองทัพเลิกบ่อนเซาะประชาธิปไตย และพลิกมาเป็นสถาบันที่พร้อมรักษาประชาธิปไตย เราจำเป็นต้องปฏิรูปกองทัพ ให้เป็นกองทัพที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ในหลายมิติ

หนึ่ง กองทัพต้องแยกขาดจากการเมืองและอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ผ่านการออกข้อกำหนดที่ตัดสิทธินายทหารที่เพิ่งปลดจากกองทัพไม่ถึงจำนวนปีที่ตั้งไว้ มิให้เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงกลาโหม รวมไปถึงการลดอำนาจและบทบาทของสภากลาโหม

สอง กองทัพต้องโปร่งใสต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้ข้ออ้างเรื่อง “ความมั่นคง” มาปกปิดงบประมาณบางส่วนให้เป็นงบลับ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลรายรับ-รายจ่ายของธุรกิจกองทัพที่ปัจจุบันอยู่นอกสายตากระบวนการงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด หรือ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ตรวจการอิสระจากภาคประชาชนเข้ามาตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

สาม กองทัพต้องถูกประชาชนตรวจสอบได้อย่างเข้มข้นขึ้น ผ่านการสร้างกลไกผู้ตรวจการกองทัพ (Military Ombudsman) หรือตัวแทนพลเรือนที่เป็นอิสระจากกองทัพและยึดโยงกับสภาผู้แทนราษฎร ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลทุกส่วนของกองทัพ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจและงบประมาณของกองทัพ เหมือนกับกลไกที่ปัจจุบันถูกใช้ ในประเทศเยอรมนีและแคนาดา

สี่ กองทัพต้องมีความเป็นมืออาชีพและเท่าทันโลก ผ่านการลดขนาดกองทัพที่เกินความจำเป็น การตัดจำนวนนายพลที่ล้นเฟ้อ การยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร การปฏิรูปการศึกษาทหารเพื่อเพิ่มสัดส่วนเวลาในมหาวิทยาลัยพลเรือน หรือ การเพิ่มความเชี่ยวชาญที่จำเป็นมากขึ้นในโลกยุคใหม่ เช่น การใช้เทคโนโลยีด้านการทหาร หรือ ทักษะการเจรจา

ห้า กองทัพต้องไม่ถืออภิสิทธิ์เหนือพลเรือน ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนรถประจำตำแหน่ง หรือ สิทธิในการนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ซึ่งส่วหนึ่งเกิดจากระเบียบราชการที่ไปเทียบลำดับอาวุโสของนายพลหลายร้อยคน ให้เท่ากับเทียบอธิบดีกรมต่างๆ ที่มีไม่ถึงหลักสิบคนต่อกระทรวง

ผ่านมา 90 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรายังคงต้องอยู่ในประเทศที่หวาดระแวงถึงการมีรัฐประหาร ประเทศที่พอจะวิเคราะห์อนาคตการเมือง ก็ถูกบีบให้ต้องสนใจว่าใครจะมาเป็น ผบ.ทบ. 

หากเราต้องการมีประชาธิปไตยที่ปกติและเป็นที่ยอมรับของสากล ภารกิจปฏิรูปกองทัพจึงเป็นสิ่งจำเป็น

เป้าหมายหรือภารกิจที่ 4 คือ ทลายการผูกขาดและระบอบอุปถัมภ์ ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ 

ในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ไม่เกินจริงเลยหากจะกล่าวว่า ประเทศไทย ทั้งโครงสร้างทางการเมืองและโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ตกอยู่ในกำมือของเครือข่าย “3 นายทหาร”   

ในส่วนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การที่เปลี่ยนแปลงของสังคมไปเป็นสังคมอุตสาหกรรมและการเกษตรที่ผลิตเพื่อค้าขาย มาควบคู่กับปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ชาวนาที่ยากจนไม่มีที่ดินทำกินและต้องเช่าจากนายทุน แรงงานได้รับค่าจ้างต่ำ ขณะที่กลุ่มธุรกิจใดที่อยากรอดจากการแข่งขันหรือได้รับความคุ้มครอง ก็ต้องผูกมิตรกับบรรดานายทหาร ด้วยการเอาชื่อนายทหารไปนั่งเป็นบอร์ดในบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ โดยมีข้อมูลว่าช่วงปี 2506-2516 ถนอม-ประภาส-ณรงค์ เกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนมากถึง 137 แห่ง โดยเฉพาะประภาส ที่เป็นกรรมการในบอร์ดธนาคารถึง 5 แห่ง

ในส่วนของโครงสร้างทางการเมือง นอกเหนือจากการรวบอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จไว้ที่นายกฯผ่านมาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครอง ที่ให้อำนาจนายกฯ ออกคำสั่งอะไรก็ได้ แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ก็ยังเรียกได้ว่าเป็นแผนของส่วนกลาง ขับเคลื่อนโดยส่วนกลาง เพื่อตอบสนองเป้าหมายของส่วนกลางเป็นหลัก โดยขาดกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน และการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างเพียงพอ

แม้ประเทศไทยในวันนี้เดินทางมาไกลจากวันนั้น แต่การผูกขาดทางเศรษฐกิจ และการรวมศูนย์อำนาจในการบริหารไว้ที่ส่วนกลาง เป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ให้เป็นที่น่าพึงพอใจ

ในทางเศรษฐกิจ เรายังมีนายทหารนั่งอยู่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก ซึ่งสร้างข้อกังขาถึงความเหมาะสมของประสบการณ์เขา ต่อการบริหารองค์กรต่างๆ โดยที่น่าสนใจคือหลังรัฐประหาร 2557 มีการแต่งตั้งทหารเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นมากกว่า 18 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกัน อิทธิพลของทุนใหญ่ก็ยังคงปรากฏให้เห็น อย่างเช่นกรณีควบรวม 2 ค่ายมือถือ ที่มีความเสี่ยงจะกลายเป็นตัวอย่างที่น่ากังวล ของการขาดประสิทธิภาพ ของกลไกที่ถูกออกแบบมา เพื่อป้องกันการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า

ในทางการเมือง การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นก็ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ทั้งในเชิงภารกิจ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่สามารถทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาพื้นที่ในความรับผิดชอบของตัวเองได้อย่างสบายใจ โดยไร้ข้อกังวลว่าจะไปทับซ้อนกับส่วนกลาง และ ทั้งในเชิงงบประมาณ ที่งบประมาณสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังอยู่ที่เพียง 29 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ประเทศ ต่ำกว่าเป้า 35 เปอร์เซ็นต์ที่เคยตั้งไว้เมื่อ 20 ปีก่อน

การวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มุ่งให้เกิดการแข่งขันโดยปราศจากระบบอุปถัมภ์ และการวางโครงสร้างทางการเมืองที่มุ่งกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จึงเป็นภารกิจที่ยังไม่เสร็จและต้องสานต่อในยุคปัจจุบัน

4 เป้าหมายหรือภารกิจดังกล่าวที่ผมพูดถึง – กล่าวคือ (1) การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย (2) การสร้างประชาธิปไตยที่ไปไกลกว่าตัว “ผู้นำ” (3) การปฏิรูปกองทัพให้เป็นของประชาชน และ (4) การทลายการผูกขาดและระบอบอุปถัมภ์ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ – จึงเป็นเสมือน “ความเหมือนภายใต้ความต่าง” และภารกิจร่วมกันที่ยังไม่เสร็จสิ้น ของคนรุ่นใหม่ยุค 14 ตุลา และคนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน

แต่แม้เป้าหมายเหล่านี้ เป็นภารกิจที่คน 2 รุ่น มีร่วมกัน และเป็นภารกิจที่ต้องอาศัยพลังของคน 2 รุ่น ในการร่วมกันขับเคลื่อนให้สำเร็จ แต่ถึงอย่างไร เราต้องเดินหน้าโดยไม่มองข้ามถึง “ความต่างภายใต้ความเหมือน” ของคน 2 รุ่น เพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น และเพื่อทำให้สังคมที่เราพยายามสร้าง เป็นสังคมที่โอบรับความฝันของคนรุ่นใหม่ทุกยุคสมัยได้อย่างแท้จริง

ความต่างที่ 1 คือ การตีความหรือมุมมองต่อค่านิยม “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์”

ในขณะที่ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” อาจจะถูกมองว่าเป็น 3 คำ ที่หลอมรวมนักศึกษาและประชาชนที่ร่วมกันเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 14 ตุลา – ดังที่ปรากฏเห็นทั้งการร้องเพลงชาติ การร่วมสวดมนต์ หรือ การชูพระบรมฉายาลักษณ์ ในกลุ่มผู้ชุมนุม –  “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” กลับเป็น 3 คำที่ถูกตั้งคำถามอย่างแพร่หลายจากคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน ถึงความเชื่อมโยงของ 3 สถาบันหลักกับโลกสมัยใหม่ 

ในส่วนของ “ชาติ” เทคโนโลยีและสื่อโซเชียลทำให้เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศจางลง และการเข้าถึงสังคมนานาชาติง่ายขึ้น ซึ่งทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมาก หันมาตั้งคำถามถึงความสำคัญของ ‘ชาติ’ และนิยามตัวเองว่าเป็น ‘พลเมืองโลก’ มากกว่าคนของชาติใดชาติหนึ่ง อย่างที่เห็นในปรากฏการณ์ย้ายประเทศ และในความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ต่อข่าวสารต่างประเทศที่กระทบอุดมการณ์ของพวกเขา (เช่น การทำรัฐประหารที่เมียนมาในปีที่แล้ว หรือการประท้วงโดยนักเรียนหญิงในอิหร่านเมื่อสัปดาห์ทีผ่านมา)

ในส่วนของ “ศาสนา” รูปแบบการใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่ ซึ่งขับเคลื่อนโดยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างก้าวกระโดด อาจมีส่วนทำให้ศาสนาในฐานะที่พึ่งทางจิตใจหรือแสงนำทางด้านศีลธรรม มีบทบาทน้อยลงสำหรับคนรุ่นใหม่ในหลายส่วน กระแสนี้ในประเทศไทยก็มีความสอดคล้องกับกระแสทั่วโลก ที่จำนวนคนที่ไม่นับถือศาสนาในปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 ล้านคน ซึ่งรวมแล้วสูงกว่าจำนวนพุทธศาสนิกชนทั่วโลกเสียอีก

ในส่วนของ “กษัตริย์” การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ ที่มักยึดอยู่บนพื้นฐานของหลักการว่าคนทุกคนเป็น ‘คนเท่ากัน’ เกิดมามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน ได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเท่ากัน และต้องเสมอภาคกันตามกฎหมาย ทำให้พวกเขาเริ่มตั้งคำถามว่ าควรวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร ให้สามารถสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยที่เขายึดถือ

ความต่างที่ 2 คือ มุมมองต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะสถาบันทางการเมือง

สำหรับคนรุ่นใหม่ในยุค 14 ตุลา สถาบันพระมหากษัตริย์ เหมือนจะถูกต้อนรับหรือถูกคาดหวังโดยบางกลุ่ม ให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการคลี่คลายวิกฤตทางการเมือง

ตัวอย่างเช่น ความพยายามของแกนนำนักศึกษาในการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 เพื่อกราบบังคมทูลข้อตกลงที่เสนอต่อรัฐบาล และขอพระราชทานคำปรึกษาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา

ยิ่งไปกว่านั้น หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา แกนนำนักศึกษาและผู้ร่วมชุมนุมบางคน เคยกล่าวในเชิงยอมรับ ว่าชัยชนะจากการต่อสู้ครั้งนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการพึ่งพา “พระบารมี” ที่หลายคนมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องต่อเนื่องมาถึงการดำเนินการของ “สภาสนามม้า” ในการร่างรัฐธรรมนูญ 2517 ซึ่งไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริงแค่ไหน ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการนำสถาบันเข้ามาสู่พื้นที่ทางการเมือง และเป็นจุดเริ่มต้นอันสำคัญ ในการเพิ่มความเคารพศรัทธาของประชาชน ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จนหลายครั้งถูกบางฝ่ายฉวยใช้ผลประโยชน์จากความศรัทธานี้ เพื่อไปทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง อย่างเช่น การยัดเยียดข้อหาล้มเจ้า เป็นต้น

แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ปัจจุบัน แม้พวกเขามีจุดประสงค์ในการปิดฉากรัฐบาลเผด็จการเช่นกัน แต่พวกเขาอาจคาดหวังให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เข้ามามีบทบาททางการเมืองในลักษณะเดียวกับในเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่อยู่ในสถานะ “เหนือการเมือง” และ “ใต้รัฐธรรมนูญ” เพื่อสอดคล้องกับหลักสากลของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

“เหนือการเมือง” ที่แม้จะไม่เหนือความรับผิดชอบในการร่วมกันปกป้องระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องอยู่เหนือการถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทางการเมือง นำมาใช้สร้างความชอบธรรมให้ตนเองเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ผ่านการผูกขาดความจงรักภักดี หรือ การแอบอ้างชื่อเสียงของสถาบันฯ มาเป็นเกราะปกป้องปกปิดความผิดของตนเอง

“ใต้รัฐธรรมนูญ” ที่แม้จะไม่ได้อยู่ใต้การบังคับบัญชาของใคร แต่ต้องอยู่ใต้หลักการประชาธิปไตยสากล ที่จำกัดอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความเห็น รับประกันเรื่องความโปร่งใสในการใช้งบประมาณรัฐ และคงไว้เพียงสถานะประมุขของรัฐที่เป็นสัญลักษณ์และศูนย์รวมจิตใจของชาติ 

ความต่างที่ 3 คือ ความแนบเนียนขึ้นของเผด็จการ

คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธ ว่ารัฐบาลของจอมพลถนอมที่ถูกนักศึกษาขับไล่ในช่วง 14 ตุลา เป็นรัฐบาลเผด็จการ

นอกจากจะเข้าสู่อำนาจผ่านการปฏิวัติยึดอำนาจตนเองใน พ.ศ. 2515 ที่นับเป็นการปิดประตูใส่กระบวนการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย แต่การบริหารประเทศที่เต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิผู้เห็นต่าง การทุจริตคอร์รัปชัน และกระบวนการยุติธรรมแบบขาดมาตรฐาน ยังทำให้แม้แต่ผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลถนอม คงไม่กล้าปกป้องว่ารัฐบาลดังกล่าว มีความชอบธรรมใดๆในเชิงประชาธิปไตย

แต่พอตัดภาพมาที่ปัจจุบัน แม้การบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ แทบเจอข้อครหาที่ไม่แตกต่างไปจากรัฐบาลถนอมมากนัก แต่ระบอบประยุทธ์ได้พยายามหยิบยกประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 และ การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 มา “ฟอกขาว” ให้กับการดำรงอยู่ในอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์

แม้เราทุกคนต่างทราบดีว่าประชามติ 2559 มีปัญหาเรื่องการไม่เปิดให้สองฝ่ายรณรงค์ได้อย่างเท่าเทียมกัน และแม้เราทุกคนต่างทราบดี ผลการเลือกตั้ง 2562 ก็ถูกบิดด้วยการพลิกสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ของ กกต. และด้วยอิทธิพลของ ส.ว. ที่มีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า 2 เหตุการณ์ดังกล่าว มักถูกฝ่ายที่สนับสนุน รัฐบาลประยุทธ์ หยิบยกมาเป็นข้ออ้างในการปกป้องความเป็น “ประชาธิปไตย” ในการดำรงอยู่ในอำนาจของ พล.อ. ประยุทธ์ มาถึงทุกวันนี้

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นการปรับตัวของระบอบเผด็จการทั้งในไทยและทั่วโลก ที่พยายามเพิ่มความชอบธรรมให้ตนเอง ผ่านการปรับรูปแบบจาก “เผด็จการโจ่งแจ้ง” ที่ใช้วิธียึดอำนาจจากประชาชนด้วยการทำรัฐประหาร มาเป็น “เผด็จการซ่อนรูป” ซึ่งสามารถเข้าสู่อำนาจได้ผ่านการเลือกตั้ง (ด้วยการแทรกแซงกติกาเลือกตั้ง ในระดับที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละกรณี) แต่ยังคงบริหารประเทศในลักษณะ ที่เป็นการทำลายรากฐานของระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่การใช้กฎหมายอำนาจนิยมเพื่อกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมือง การจำกัดการทำงานของภาคประชาสังคม การแทรกแซงและบั่นทอนกลไกตรวจสอบถ่วงดุล การควบคุมและขัดขวางความเป็นอิสระของสื่อมวลชน หรือ การคุกคามสิทธิเสรีภาพและปฏิบัติการเผยแพร่ข่าวปลอมอย่างเป็นระบบในโลกออนไลน์

ทั้งหมดนี้ นับเป็นการสู้กลับของระบอบเผด็จการ ซึ่งเป็นความท้าทายใหม่ ที่คนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันต้องเผชิญ

นักประวัติศาสตร์หลายคนมักให้คำแนะนำ ว่าวิธีการวัดว่าเหตุการณ์ต่างๆในประวัติศาสตร์ มีความสำคัญมากน้อยเพียงใด คือการจินตนาการว่า โลกปัจจุบันจะแตกต่างออกไปอย่างไร หากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในวันนั้นไม่ได้เกิดขึ้น

หากวัดด้วยเกณฑ์ดังกล่าว ความสำคัญของเหตุการณ์ 14 ตุลา อาจถูกตั้งคำถามทันที

เพราะแม้การลุกขึ้นมาของประชาชนในวันนี้เมื่อ 49 ปีที่แล้ว ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนจำนวนมหาศาลในรุ่นถัดๆไป ที่เห็นถึงความเป็นไปได้ ในการปิดฉากรัฐบาลเผด็จการที่ครองทั้งอำนาจปืนและอำนาจรัฐ ด้วยพลังของประชาชน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลา 3 ปีถัดมา ได้ทำให้ความก้าวหน้าและความคืบหน้าที่สะสมมา ถูกทำลายไปในพริบตา พร้อมกับโศกนาฏกรรม ที่มีผู้เสียชีวิต-ผู้บาดเจ็บนับร้อย และสร้างบาดแผลแก่สังคมอย่างมหาศาล

หากเราต้องการเพิ่มความสำคัญ และเพิ่มความหมายทางประวัติศาสตร์ให้กับเหตุการณ์ 14 ตุลา การระลึกถึงชัยชนะและความสูญเสียในอดีตอย่างเดียวจึงอาจไม่พอ

แต่เหตุการณ์ 14 ตุลา จะยิ่งมีความสำคัญ และมีความหมายทางประวัติศาสตร์มากขึ้น หากเราสามารถนำเอาบทเรียนจากอดีต มาสร้างประโยชน์ให้กับการขับเคลื่อนประชาธิปไตย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

การสร้างประโยชน์ดังกล่าว ไม่ได้หมายถึงการทำตามทุกอย่างที่เคยสำเร็จในอดีต เพราะโลกที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่โลกใบเดียวกับเมื่อ 49 ปีที่แล้ว

แต่การสร้างประโยชน์ดังกล่าว ต้องอยู่บนพื้นฐานของการเข้าใจ “ความเหมือนในความต่าง” และ “ความต่างในความเหมือน” ของการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ใน 2 ยุคสมัย

แม้ประชาธิปไตยที่เราอยากได้ กับ ประชาธิปไตยที่เรามีในวันนี้ ยังห่างไกลกัน แต่อย่างน้อย 14 ตุลา ก็ทำให้เรารู้เพิ่มขึ้น  ว่าการเดินทางไปหามัน ต้องคิดเรื่องไหนมากกว่าเดิม หรือต้องหลีกเลี่ยงเรื่องไหน ไม่ให้เกิดขึ้นอีก

สำหรับคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่าพวกเขาคือคนที่ได้ประโยชน์จากการมีตำราประวัติศาสตร์อยู่ในมือ เขามีข้อมูล รู้จุดเริ่มต้นและจุดจบของเหตุการณ์ แม้แน่นอนว่าเขามีสิทธิเห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์การต่อสู้ของคนรุ่นก่อน แต่ขณะเดียวกัน พวกเราต้องพยายามทำความเข้าใจว่า คนรุ่น 14 ตุลา เมื่อ 49 ปีที่แล้ว เขาต่อสู้โดยไม่รู้ตอนจบ โดยไม่มีตำราที่แจ้งเตือนล่วงหน้า ว่าทำแบบนั้นแบบนี้แล้ว ประเทศจะเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ที่ยังต้องลองผิดลองถูก โดยไม่มีใครรู้บทสรุปในอนาคต มีเพียงแต่ความแน่นอนเดียว คือการต่อสู้ของคนรุ่นนี้ ก็จะถูกตัดสินโดยคนรุ่นหลังของพวกเขาเช่นกัน

สำหรับคนรุ่น 14 ตุลา ผมต้องขอขอบคุณและแสดงความนับถือจากใจ สำหรับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกล้าหาญ ในยุคสมัยของท่าน และผมอยากขออนุญาตฝากไปถึงทุกท่านเพิ่มเติมว่า คนรุ่นใหม่ตอนนี้ก็กำลังต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในยุคสมัยของเขาเช่นกัน จะด้วยวิธีการที่ถูกใจท่านหรือไม่ ด้วยแนวคิดที่ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ผมหวังว่าประสบการณ์ที่ผ่านมา จะทำให้ท่านเข้าใจและเห็นใจ ว่าความฝันของคนรุ่นนี้ ก็ไม่ต่างจากคนรุ่นท่านไปมากนัก และหวังเป็นอย่างยิ่งครับ ว่าพวกท่านจะเป็นกำลังสำคัญ ในการช่วยกันประคับประคองสังคมไทย ไม่ให้หวนซ้ำกลับไปสู่ความรุนแรงแบบที่ท่านประสบมา 

เพราะประชาธิปไตยคือการเดินทางที่ไม่มีวันจบสิ้น และเป็นการเดินทางที่ไม่สามารถเดินได้ตามลำพัง แต่ประชาชนทุกคน-ทุกรุ่น ต้องก้าวไปด้วยกัน

พริษฐ์ วัชรสินธุ
ผู้จัดการการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล




สื่อชิ้นนี้ผลิตโดย พรรคก้าวไกล เลขที่ 167 ชั้น 4 ซอยรามคำแหง 42 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240 จำนวนที่ผลิต 1 โพสต์ วันที่ผลิตตามวันเดือนปีที่ปรากฏ

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า