ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราพูดกันมากถึงนโยบายเปิดให้ต่างชาติเข้ามาถือครองที่ดิน เรื่องนี้ผมอยากให้พวกเรามองให้หลุดพ้นจากวาทกรรม “ขายชาติ” ที่จะทำให้พวกเราติดอยู่ในกรอบในการพิจารณานโยบายด้วยอารมณ์ มากกว่าด้วยการชั่งน้ำหนักให้เห็นถึงข้อดี-ข้อเสีย
ผมคิดว่าเรื่องนี้ เราต้องแยกออกมามองเป็น 2 ด้าน คือ
- เรื่องของการบริหารนโยบายที่จะนำไปสู่ความผิดพลาด
- การซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินของคนไทย
นโยบายต่างชาติถือครองที่ดินได้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นนโยบายที่หลายประเทศเคยทำมาแล้ว ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกันกับของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งโมเดลแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบที่ทำกันมา 40-50 ปี และถ้าเราย้อนกลับไปอาจย้อนไปได้ถึงสมัยรัชกาลที่ 4
คำถามของเรา คือในโลกเศรษฐกิจปัจจุบัน วิธีการลดแลกแจกแถมเพื่อแลกกับการลงทุนยังได้ผลอีกหรือไม่ในการพาประเทศไทยหลุดออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องคิดว่าการเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดิน รัฐบาลตั้งเป้าเอาไว้กี่คน จะทำให้เกิด Demand ที่ดินในประเทศเท่าไหร่ ราคาที่ดินสูงขึ้นเท่าไหร่ และจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจกับประเทศเท่าไหร่ แต่จากที่ผมถามรองนายกสุพัฒนพงษ์เมื่อวานนี้ ท่านก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่ารัฐบาลมีการประเมินผู้ที่เข้ามาใช้สิทธิตามโครงการนี้เท่าไหร่ บอกแค่คร่าวๆ ว่าตั้งเป้ามีชาวต่างชาติตามมาตรการ LTR จำนวน 1,000,000 คน (ไม่มีที่ไปที่มาว่า 1,000,000 คนที่ว่าจะทำได้จริงหรือไม่)
ในขณะที่เราปลดล็อกให้การถือครองที่ดินต่างชาติให้ง่ายขึ้น เหรียญอีกด้านของนโยบายคือในประเทศนี้ คนไทยกว่า 75% ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินของประเทศ
ที่ผ่านมาเราได้เห็นภาพป่าสงวน ที่โรงงานปูนซีเมนต์ เหมืองถ่านหิน ฯลฯ ได้รับอนุญาตให้เข้าไปตั้ง บางที่แปลงเป็นโฉนดได้เสร็จสรรพด้วยซ้ำ เรายังได้เห็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ที่อนุญาตให้ต่างชาติมีที่ดินได้ 99 ปี ขณะที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนหรือในพื้นที่อุทยานยังเต็มไปด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดในการเข้าถึงที่ดิน
ประสบการณ์ในต่างประเทศบอกเราแล้วว่าการเปิดให้ต่างชาติเข้าครอบครองที่ดินต้องคิดให้รอบคอบและคำนึงถึงผลกระทบทางลบที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษที่มีงานศึกษาว่านโยบายเปิดการถือครองที่ดินทำให้ราคาที่พักอาศัยสูงขึ้น 20% เมืองเอเธนส์ กรีซ ที่คนในท้องถิ่นต้องย้ายออกไปจากเมืองเพราะไม่สามารถแบกรับค่าที่อยู่อาศัย หรืออพาร์ทเม้นโลงศพ (Coffin Apartment) ในฮ่องกงก็คือผลอีกด้านที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายนี้
ผมอยากชวนให้คิดว่านโยบายการส่งเสริมการลงทุนและดึงดูดแรงงานทักษะสูงจริงๆ ไม่ใช่การลด แลก แจก แถม ทรัพยากรที่เรามี แต่คือการทำพื้นฐานของประเทศให้น่าอยู่ คนที่จะมาลงทุนในประเทศไหนต้องเขาดูว่าเศรษฐกิจฐานรากมีกำลังซื้อหรือเปล่า ต้องดูว่าประเทศปลอดภัยหรือเปล่า หรือมีความเหลื่อมล้ำสูงจนปัญหายาเสพติดเต็มไปหมด ต้องดูว่าประชากรสามารถสื่อสารกับเขาได้ มีการศึกษาที่เท่าเทียมเป็นพลเมืองโลกได้หรือเปล่า
ประเทศที่คนอยากมาลงทุน-อยู่อาศัย คือประเทศที่น่าอยู่สำหรับ “พ่อบ้าน-แม่บ้าน” มีโรงเรียน มีการคมนาคม มีความปลอดภัย มีการสื่อสารภาษาอังกฤษได้ และเป็นเมืองที่คนเท่ากัน อันนี้ต่างหากคือวิธีการดึงดูดการลงทุนและแรงงานทักษะสูงที่ถูกต้อง
สุดท้าย ผมยังเชื่อว่าประเทศไทยยังมีศักยภาพพร้อมพัฒนาได้อีกไม่จำกัด ขอเพียงแค่เราปลดปล่อยศักยภาพตรงนี้ออกมาเท่านั้น แต่ผมไม่เชื่อในรัฐบาลประยุทธ์ที่บริหารมาแล้ว 8 ปี ว่าจะทำให้ประเทศเราเป็นประเทศที่น่าอยู่ น่าดึงดูด น่าลงทุนได้
ก่อนที่พวกท่านจะไปศึกษาวิธีการดึงดูดการลงทุน ผมอยากให้รัฐบาลศึกษาก่อนว่า 75% ของคนในประเทศที่ไม่มีที่ดิน ท่านจะแก้ปัญหาอย่างไร และถ้าท่านศึกษาการดึงดูดการลงทุนมาแล้ว 8 ปี แต่ยังมีการลงทุนเพียงแค่อันดับ 6 ของอาเซียน ท่านน่าจะต้องไปศึกษาใหม่ครับ