free geoip

เสาหลักนโยบายที่ 3 “ต้องก้าวไกล ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า”


พรรคก้าวไกลเราเชื่อว่าการกระจายอำนาจ เป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่จะปลดล็อกศักยภาพของประเทศไทย

…เพราะการกระจายอำนาจ คือการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ ประชาชนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรรัฐและบริการสาธารณะใกล้บ้านที่มีคุณภาพ

…เพราะการกระจายอำนาจ คือการระเบิดพลังทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ให้ทุกพื้นที่เติบโตโดยมีจุดขายที่แตกต่างกัน นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอุตสาหกรรม และ สร้างรายได้ใหม่ๆ ทั่วประเทศ

…เพราะการกระจายอำนาจ คือการผ่าตัดระบบราชการให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างว่องไว หน่วยงานไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน งบประมาณถูกใช้อย่างถูกจุดโดยคนที่รู้ปัญหาจริง

…เพราะการกระจายอำนาจ คือการอัดฉีดประชาธิปไตยที่ฐานราก ประชาชนเลือกผู้บริหารจังหวัดของตนเอง ตรวจสอบการทุจริตได้อย่างเข้มข้น และมีส่วนร่วมสร้างสรรค์พื้นที่ที่ตนอยู่อาศัย


หัวใจของนโยบายกระจายอำนาจของพรรคก้าวไกล คือการปลดล็อกทุกข้อจำกัด เพื่อให้ทุกจังหวัดมีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอในการจัดการตนเอง กำหนดอนาคตของพื้นที่ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน ตั้งแต่ตื่นเช้าถึงหลับตานอน:


“ผู้บริหารจังหวัดเรา เราเลือกเอง”

1. ประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ไม่มีใครตกงาน-เสียประโยชน์

2. เลือกตั้งนายกจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

3. เลือกตั้งนายกเขต ทุกเขตใน กทม.

4. ข้าราชการทุกสังกัด ศักดิ์และสิทธิเท่ากัน โยกย้ายก้าวหน้าได้


“งบจังหวัดเรา เราตัดสินใจเอง”

5. เพิ่มงบจังหวัดจัดการตนเองทุกปี

  • ทั่วประเทศ 200,000 ล้านบาทต่อปี ภายใน 4 ปี
  • จังหวัดละ 250 ล้านบาทต่อปี ภายใน 4 ปี
  • เมืองละ 100 ล้านบาทต่อปี ภายใน 4 ปี
  • ตำบลละ 20 ล้านบาทต่อปี ภายใน 4 ปี

6. ท้องถิ่นมีช่องทางหารายได้ใหม่ กู้เงิน-ออกพันธบัตร-ตั้งบริษัท-จัดเก็บภาษี

7. ปรับสูตรกระจายงบให้เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่


“บริการสาธารณะในพื้นที่เรา เราจัดการเอง”

8. บริการสาธารณะถูก-เร็ว-ดี ท้องถิ่นจัดทำได้ทั้งหมด ยกเว้น ทหาร-ศาล-เงินตรา

9. ถ่ายโอน ถนน-คูคลอง-แหล่งน้ำ-ขนส่ง-สิ่งแวดล้อม-พิสูจน์สิทธิที่ดิน-โรงงาน-โรงแรม-สถานบริการ

10. ยกเลิกกฎระเบียบและคำสั่ง คสช. ที่ล็อกคอ-ล้วงลูกท้องถิ่น ภายใน 100 วัน


“ท้องถิ่นเรา เราร่วมตรวจสอบได้เอง”

11. ท้องถิ่นโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลงบประมาณทุกบาท-จัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน

12. ประชุมสภาพลเมือง ทุกคนมีส่วนร่วม ทุกท้องถิ่น ทุกไตรมาส

13. ประชาชนเข้าชื่อออนไลน์ เสนอโครงการ-ข้อบัญญัติ ถอดถอนท้องถิ่นได้


มาดูกันแบบละเอียดๆ ว่าแต่ละนโยบาย จะเปลี่ยนทุกจังหวัดของประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างไร (หรือคลิกหัวข้อแต่ละอันด้านบนเพื่อกระโดดไปอ่านเองได้เลย)





ผู้บริหารจังหวัดเรา เราเลือกเอง

การที่ผู้บริหารจังหวัดมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นกลไกที่จำเป็นในการทำให้การพัฒนาพื้นที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน และทำให้ผู้บริหารต้องรับผิดชอบต่อผลงานในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

แม้ประเทศไทยเปิดทางให้ประชาชนเลือกผู้บริหารท้องถิ่น (เช่น นายก อบจ. / นายก อบต. / นายกเทศมนตรี) แต่ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัด ยังคงเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งของกระทรวงมหาดไทย ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นไม่สามารถแสดงบทบาทได้เต็มที่และหลายครั้งถูกควบคุมสั่งการหรือแทรกแซงจากผู้ว่าฯแต่งตั้ง จนกระทบต่อการทำงานเพื่อสนองความต้องการของประชาชน

หากราชการส่วนภูมิภาค (นำโดย ผู้ว่าฯ แต่งตั้ง) ยังคงมีอำนาจเหนือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (นำโดย นายกฯ อบจ.) การบริหารจังหวัดจะไม่ยึดโยงกับประชาชนเท่าที่ควรจะเป็น

พรรคก้าวไกลต้องการให้การบริหารทุกจังหวัดมีความยึดโยงกับประชาชน จึงเสนอให้

1. ประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ไม่มีใครตกงาน-เสียประโยชน์

  • จัดให้มีประชามติภายในปีแรก เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ ให้มีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และโอนถ่ายอำนาจการบริหารจังหวัดไปสู่ท้องถิ่นในทุกจังหวัดภายใน 5 ปี
  • (หากประชามติได้รับความเห็นชอบจากประชาชน) ยืนยันว่าข้าราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องที่ (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) ทุกคน-ทุกตำแหน่งจะยังคงอยู่ ทุกสิทธิประโยชน์จะยังคงเดิม และทุกความก้าวหน้าจะยังคงมี เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนการทำงาน จากเดิมที่ทำแยกกันภายใต้ผู้ว่าฯแต่งตั้ง-อธิบดีกรม-ปลัดกระทรวง เป็นการทำงานร่วมกันภายใต้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่

2. เลือกตั้งนายกจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ

  • (หากประชามติได้รับความเห็นชอบจากประชาชน) เปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหารจังหวัด จากเดิมที่มีผู้บริหารจังหวัด 2 คน (ผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง & นายกฯ อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้ง) มามีผู้บริหารจังหวัด 1 คน (“นายกจังหวัด” ที่มาจากการเลือกตั้ง)
  • (หากประชามติได้รับความเห็นชอบจากประชาชน) แบ่งโครงสร้างการบริหารประเทศเป็น 3 ระดับ ที่ล้วนนำโดย “นายก” ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน : (i) ระดับประเทศ (นายกรัฐมนตรี) / (ii) ระดับจังหวัด (นายกจังหวัด) / (iii) ระดับเล็กกว่าจังหวัด (นายกเทศมนตรี / นายก อบต. / นายกเขต)

3. เลือกตั้งนายกเขต ทุกเขตใน กทม.

  • เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารเขตทุกเขตใน กทม. ให้มี “นายกเขต” ที่มาจากการเลือกตั้ง ลักษณะเดียวกับ นายก อบต. หรือ นายกเทศมนตรี ในระดับ อบต. หรือ เทศบาล (ซึ่งมีประชากรน้อยกว่าเขตใน กทม.)
  • เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารเขตทุกเขตใน กทม. ให้มี “สภาเขต” ที่มาจากการเลือกตั้ง ลักษณะเดียวกับ สภา อบต. หรือ สภาเทศบาล ในระดับ อบต. หรือ เทศบาล (ซึ่งมีประชากรน้อยกว่าเขตใน กทม.)
  • ปรับบทบาทของ ผอ.เขต ที่มาจากการแต่งตั้ง ให้ทำหน้าที่เป็น “ปลัดเขต” ลักษณะเดียวกันกับปลัด อบต. หรือ ปลัดเทศบาล ในระดับ อบต. หรือ เทศบาล

4. ข้าราชการทุกสังกัด ศักดิ์และสิทธิเท่ากัน โยกย้ายก้าวหน้าได้

  • ออกแบบระบบราชการเพื่อรองรับการกระจายอำนาจ ที่จะนำมาสู่สัดส่วนข้าราชการท้องถิ่นที่สูงขึ้น
  • รับประกันว่าข้าราชการทุกสังกัด – ไม่ว่าส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่น – ได้รับสิทธิประโยชน์และความก้าวหน้าทางอาชีพ ที่ทัดเทียมกัน
  • สร้างกลไกโยกย้ายระหว่างท้องถิ่นด้วยกันเอง หรือ ระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง ที่สะดวกและรองรับความก้าวหน้าทางอาชีพของข้าราชการ
  • เพิ่มอำนาจท้องถิ่นในการบริหารบุคลากร ตั้งแต่อำนาจการคัดเลือกบุคลากรให้ท้องถิ่น และอิสระของแต่ละท้องถิ่นในการออกแบบกองตามภารกิจที่จำเป็นของท้องถิ่นนั้นๆ
  • ปลดล็อกข้อจำกัดปัจจุบัน ที่กำหนดให้งบบุคลากรของท้องถิ่นต้องไม่เกิน 40% ของงบท้องถิ่นทั้งหมด เพื่อรองรับจำนวนบุคลากรที่จะเพิ่มขึ้น ตามภารกิจที่ถูกโอนถ่ายมาให้ท้องถิ่นมากขึ้น




งบจังหวัดเรา เราตัดสินใจเอง

งบประมาณเป็นปัจจัยสำคัญในการแปรความคิดให้กลายเป็นความจริง ท้องถิ่นแม้มีวิสัยทัศน์ที่ก้าวหน้าหรือโครงการที่สร้างสรรค์ แต่ถ้าขาดงบประมาณที่เพียงพอ ก็ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามความตั้งใจได้

เดิม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ พ.ศ. 2542 กำหนดเป้าหมายให้ อปท. มีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลไม่น้อยกว่า 35% แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาเป้าหมาย ทำให้ขาดสภาพบังคับ ส่วนกลางไม่ได้ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ผ่านมา 20 ปี สัดส่วนนี้จึงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 29% แถมในจำนวนนี้ ประมาณ 1 ใน 5 ยังเป็น “งบฝาก” ที่ท้องถิ่นไม่มีอิสระในการตัดสินใจ เป็นแต่เพียงการใช้จ่ายตามนโยบายที่ส่วนกลางกำหนดมา (เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ)

การที่สัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นยังไม่ถึงเป้า แถมระยะเวลาที่กำหนดให้ต้องเดินไปถึงเป้าก็เลื่อนลอย ส่งผลให้ท้องถิ่นขาดอิสรภาพทางการเงิน ต้องพึ่งพาเงินจากส่วนกลางเป็นหลัก ไม่สามารถหารายได้จากทางอื่นเนื่องจากกฎหมายไม่เปิดช่อง กลายเป็นข้อจำกัดในการจัดทำบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ต่อให้ผู้บริหารท้องถิ่นนั้นจะมีวิสัยทัศน์หรือความรู้ความสามารถมากแค่ไหนก็ตาม

พรรคก้าวไกลต้องการให้ทุกจังหวัดมีงบประมาณเพียงพอในการดูแลประชาชน พัฒนาจังหวัด และแข่งขันกันพัฒนาพื้นที่ จึงเสนอให้

1. เพิ่มงบจังหวัดจัดการตนเองที่ท้องถิ่นตัดสินได้เองว่าจะใช้ทำอะไร โดยหลักเกณฑ์ดังนี้

  • เพิ่มงบจัดหวัดจัดการตนเอง โดยให้สัดส่วนรายได้ท้องถิ่นต่อรัฐบาลส่วนกลางเพิ่มทุกปี ปีละ 2%
  • ในปีที่ 4 ของรัฐบาลก้าวไกล (เมื่อเทียบกับปัจจุบัน):
    • — งบของทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ จะเพิ่มขึ้นรวมกัน 200,000 ล้านบาท
    • — งบของ อบจ. จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 250 ล้านบาท ต่อจังหวัด
    • — งบของ เทศบาลนคร-เทศบาลเมือง จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 100 ล้านบาทต่อเมือง
    • — งบของ เทศบาลตำบล-อบต. จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 20 ล้านบาทต่อตำบล
    • — งบของ กทม. จะเพิ่มขึ้น 3,300 ล้านบาท
    • — งบของ พัทยา จะเพิ่มขึ้น 50 ล้านบาท
  • เงินอุดหนุนท้องถิ่น จะต้องไม่กำหนดวัตถุประสงค์ เพื่อให้ท้องถิ่นตัดสินใจได้เองว่าจะใช้ทำอะไร

2. ปลดล็อกให้ท้องถิ่นมีอำนาจหารายได้ผ่านช่องทางใหม่ (เช่น กู้เงิน ออกพันธบัตร ร่วมทุนเอกชน ตั้งสหการ สร้างวิสาหกิจท้องถิ่นเอง)

3. ปรับสูตรในการคำนวณเงินอุดหนุนท้องถิ่นแต่ละแห่งให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ โดยคำนึงถึงสภาพทางเศรษฐกิจและศักยภาพในการหารายได้ของแต่ละพื้นที่



บริการสาธารณะในพื้นที่เรา เราจัดการเอง

ท้องถิ่นคือหน่วยงานรัฐที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ทุกปัญหา ประชาชนจะคิดถึงท้องถิ่นเป็นหน่วยงานแรก และ ทุกท้องถิ่นมีทั้งแรงจูงใจและแรงกดดัน ในการแก้ปัญหาและพัฒนาบริการ จากประชาชนในพื้นที่โดยตรงเพราะประชาชนเลือกมา ดังนั้นท้องถิ่นจึงควรเป็นหน่วยงานหลักในการทำบริการสาธารณะให้ประชาชน ท้องถิ่นจึงควรเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่

ที่ผ่านมามีอุปสรรคหลายประการที่ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถดูแลประชาชนหรือพัฒนาพื้นที่ได้อย่างที่ควรจะเป็น

  • กฎหมายเขียนถึงอำนาจท้องถิ่นแบบ “positive list” ที่ระบุเป็นข้อๆ ว่าท้องถิ่นมีอำนาจในด้านใดบ้าง – เมื่อมีภารกิจใดที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาในพื้นที่ แต่ไม่มีความชัดเจนว่าเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งหรือไม่ ท้องถิ่นจึงอาจลังเลที่จะทำภารกิจนั้น เพราะกังวลว่าอาจถูกสอบสวนหรือชี้มูลเอาผิด
  • กฎหมายให้อำนาจทับซ้อนระหว่างท้องถิ่นและส่วนกลาง – ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับ ที่ให้อำนาจหน่วยงานส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค ซ้ำซ้อนกับส่วนท้องถิ่น ทำให้บางครั้งเกิดความสับสนว่าภารกิจดังกล่าว ใครควรเป็นคนทำ โดยในกลายกรณี องค์กรตรวจสอบ มักตีความ “ไม่เป็นคุณ” กับท้องถิ่น และให้อำนาจเป็นของส่วนกลางเป็นหลัก (เช่น การฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ที่น่าจะเข้าข่ายเป็นอำนาจของท้องถิ่น แต่ขณะเดียวกันก็มีกฎหมายให้อำนาจกรมปศุสัตว์ด้วย)


พรรคก้าวไกลต้องการผลักดันให้ทุกท้องถิ่นทุกจังหวัดสามารถจัดทำบริการสาธารณะที่มีคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงเสนอให้

1. บริการสาธารณะถูก-เร็ว-ดี ท้องถิ่นจัดทำได้ทั้งหมด ยกเว้น ทหาร-ศาล-เงินตรา

  • กำหนดหลักการว่าอำนาจและหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ (เช่น ถนน ขนส่ง ขยะ ไฟฟ้า ประปา โรงเรียน โรงพยาบาล) เป็นของท้องถิ่น โดยรัฐส่วนกลางมีเพียงบทบาทในการกำหนดมาตรฐานระดับประเทศ และออกแบบตัวชี้วัดเพื่อประเมิน-วัดผลการจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่น โดยไม่กระทบหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่น
  • เปลี่ยนวิธีการเขียนกฎหมายแบบ “positive list” ที่ให้ท้องถิ่นมีอำนาจจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่เฉพาะในข้อที่ถูกระบุ มาเป็นการเขียนกฎหมายแบบ “negative list” ที่ให้ท้องถิ่นมีอำนาจจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ได้ทุกอย่าง ยกเว้นเพียงบางเรื่องที่เขียนห้าม (เช่น การทหาร ศาล ระบบเงินตรา)
  • กำหนดให้รัฐส่วนกลาง มีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะเฉพาะ
    • — (i) เรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    • — (ii) เรื่องที่ท้องถิ่นไม่สามารถจัดทำได้จนทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบและเดือดร้อนเสียหาย
    • — (iii) เรื่องที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร้องขอให้รัฐส่วนกลางจัดทำแทน

2. ถ่ายโอน ถนน-คูคลอง-แหล่งน้ำ-ขนส่ง-สิ่งแวดล้อม-พิสูจน์สิทธิที่ดิน-โรงงาน-โรงแรม-สถานบริการ

  • เร่งรัดออกแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจฉบับที่ 3 เพื่อถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นมากขึ้น เช่น
    • — ถ่ายโอนการบริหารจัดการถนน-คูคลองแหล่งน้ำ-ชลประทาน เพื่อให้ทุกจังหวัดออกแบบวางแผนเมืองและแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ตรงจุดมากขึ้น
    • — ถ่ายโอนการบริหารจัดการขนส่งสาธารณะ-สิ่งแวดล้อม-พิสูจน์สิทธิที่ดิน เพื่อให้ทุกจังหวัดเพิ่มสายรถเมล์ได้ง่าย สั่งปิดโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียกลิ่นเหม็นได้เอง แก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินให้ประชาชนได้เร็ว
    • — ถ่ายโอนการออกใบอนุญาต โรงแรม-โรงงาน-สถานบริการ เพื่อให้ทุกจังหวัดดูแลเรื่องท่องเที่ยวได้เองทั้งระบบ แก้ปัญหาโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตได้ ให้ท้องถิ่นกำหนดเวลาปิดสถานบริการได้ และช่วยแก้ปัญหาส่วยที่สถานบริการโดนไถเงินมาตลอด

3. ยกเลิกกฎระเบียบและคำสั่ง คสช. ที่ล็อกคอ-ล้วงลูกท้องถิ่น ภายใน 100 วัน

  • ยกเลิกระเบียบมหาดไทยและคำสั่ง คสช. ที่เป็นอุปสรรคและทำให้ท้องถิ่นขาดอิสระในการทำงานและการบริหารทรัพยากร ภายใน 100 วันแรก (เช่น คำสั่ง คสช. 8/2560 ที่เข้ามาแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของ อปท. ทำให้ท้องถิ่นขาดกำลังคน)




ท้องถิ่นเรา เราร่วมตรวจสอบได้เอง

ความกังวลหนึ่งที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาคัดค้านการกระจายอำนาจหรือการเพิ่มอำนาจและงบประมาณให้แก่ท้องถิ่น คือความกังวลว่าการกระจายอำนาจอาจนำไปสู่ “การกระจายโกง” หรือการเพิ่มขึ้นของการทุจริตคอร์รัปชันในระดับท้องถิ่น

หากพิจารณาจากรายงานขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตในภาครัฐ (เช่น สตง. ป.ป.ช.) จะพบว่า ถ้าเปรียบเทียบในแง่จำนวน การทุจริตในหน่วยงานท้องถิ่นจะมากกว่าหน่วยงานส่วนกลาง แต่ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์การทุจริตในระดับท้องถิ่น แย่กว่าที่ส่วนกลาง เพราะ
(i) จำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีจำนวน 7,000+ แห่ง ซึ่งเยอะกว่าส่วนกลางหลายเท่าตัว
(ii) การพบเจอการทุจริตในระดับท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก อาจเป็นเพราะการตรวจสอบการทุจริตในระดับท้องถิ่น มีประสิทธิภาพมากกว่า

ดังนั้น แม้ว่าการกระจายอำนาจไม่ใช่ยาวิเศษที่จะทำให้การทุจริตหายไป แต่การกระจายอำนาจจะทำให้เราแก้ไขปัญหาการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากมาควบคู่กับการเพิ่มอำนาจประชาชน การเพิ่มความโปร่งใสและการสร้างกลไกตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่นที่ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งการกระจายอำนาจย่อมเอื้อให้เกิดกลไกเช่นนี้มากกว่าระบบรวมศูนย์อำนาจที่ทุกการตัดสินใจถูกผูกขาดอยู่ที่ส่วนกลาง ห่างไกลและไม่ยึดโยงกับประชาชน

พรรคก้าวไกลต้องการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทิศทางและตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่น จึงเสนอให้

1. เปิดเผยข้อมูลในการดำเนินงานของท้องถิ่นในรูปแบบที่ประชาชนเข้าถึงและวิเคราะห์ต่อได้ง่าย (machine readable) ซึ่งรวมถึง ข้อมูลการการใช้งบประมาณ และข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง

2. พัฒนาระบบแจ้งเตือน Red Flag ที่วิเคราะห์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อแจ้งเตือนโดยอัตโนมัติถึงโครงการที่มีแนวโน้มจะเกิดการทุจริตหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้บริหารท้องถิ่น (เช่น ล็อกสเปก ฮั้วประมูล จัดซื้อแบบพิเศษ คนที่ได้งานเป็นญาตินักการเมือง )

3. จัดประชุม “สภาพลเมือง” ทุกท้องถิ่น ทุก 3 เดือน ให้ประชาชนทุกคนในพื้นที่ สามารถเข้ามาสอบถาม ร้องเรียน หรือ เสนอแนะ ผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงเกี่ยวกับการทำงานของท้องถิ่น

4. ประชาชนร่วมเสนอโครงการได้ว่าต้องการให้ท้องถิ่นใช้งบประมาณไปทำอะไร หรือที่เรียกว่า “งบประมาณแบบมีส่วนร่วม” (Participatory Budgeting) โดยมีการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้ประชาชนใช้งาน เสนอโครงการ และโหวตสนับสนุนได้สะดวก

5. ประชาชนเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นได้ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่นเพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนออกกติกากันเองเพื่อบังคับใช้ในพื้นที่

6. ประชาชนเข้าชื่อถอดถอนผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นได้ โดยมีการกำหนดเกณฑ์เกี่ยวกับเงื่อนไขการถอดถอน จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ออกมาลงคะแนนเสียง และจำนวนผู้ลงคะแนนเห็นชอบให้มีการถอดถอน




ก้าวหน้า-ก้าวไกล ทำงานร่วมกัน พร้อมเปลี่ยนโครงสร้างประเทศ

กว่า 18 เทศบาล จาก 9 จังหวัด และ 42 อบต. จาก 15 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่การดูแลพี่น้องประชาชนกว่า 400,000 คน คณะก้าวหน้าได้พยายามพิสูจน์ให้สังคมเห็นถึงบทบาทสำคัญของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อปลดล็อกทุกข้อจำกัดด้วยการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ และสังคม

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวในการแถลงเปิดตัวนโยบาย “ต้องก้าวไกล ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า” ณ อาคารอนาคตใหม่ ชูผลงานความสำเร็จจากการทำงานร่วมกันระหว่างคณะก้าวหน้าและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น น้ำประปาดื่มได้ ที่กำลังจะยกระดับเป็นน้ำประปาอัจฉริยะ นำเอาไอเดียของ Smart City มาใช้ ทำให้ทุกครัวเรือนในเทศบาลตำบลอาจสามารถ มีระบบอัจฉริยะเป็นแห่งแรกของไทย โดยระบบอัจฉริยะนี้ได้รับการสนับสนุนและพัฒนาจากพรรคก้าวไกล มี ส.ส.ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาระบบ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ “อ่านปั้นฝัน” ที่ช่วยสนับสนุนคุณภาพชีวิตของเด็กปฐมวัย ผ่านตู้อ่านปั้นฝัน ที่ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน รวมถึงมอบ Baby Box กล่องรับขวัญให้แม่และเด็กแรกเกิด เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของเด็กซึ่งเป็นอนาคตของประเทศนี้


นอกเหนือจากนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ยังมีกลุ่มนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น ปงผาง Escape ซึ่งเป็นโครงการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่เทศบาลตำบลทากาศเหนือ จ. ลำพูน ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม มีงานวิ่งเทรลที่ อบต.เข็กน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งทั้งตำบลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง มีป่าชุมชนที่สร้างเศรษฐกโดยไม่ต้องทำลายธรรมชาติ ปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 300 คน โดยรายได้จากการจัดงานจะเข้าสู่ อบต. ทั้งหมด

ด้านสังคมและวัฒนธรรม คณะก้าวหน้า ยังมีงาน “อาจสามารถสะออน” ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10-11 ธันวาคมนี้ เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับงานคราฟต์ งานศิลปะ เครื่องดื่มคราฟต์เพื่อสนับสนุนผลงานและเพิ่มรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้ด้านเทคโนโลยี ยังนำ Traffy Fondue มาใช้ กระตุ้นให้แต่ละพื้นที่แข่งขันกันแก้ปัญหาให้ประชาชนได้รวดเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม คณะก้าวหน้าตระหนักดีว่าท้องถิ่นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง การแก้ปัญหาในระดับประเทศจึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันกับพรรคก้าวไกล เช่น การจะทำให้น้ำประปาดื่มได้ทั้งประเทศ ต้องออกกฎหมาย ซึ่งพรรคก้าวไกลก็อาสาที่จะจัดทำและผลักดัน พ.ร.บ. น้ำประปาดื่มได้ เข้าสู่สภาในครั้งหน้า นี่คือการทำงานร่วมกันจากระดับเล็กๆ ไปสู่การแก้ปัญหาในระดับชาติ

“การทำงานร่วมกันของคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล ทำให้เราเข้าใจปัญหาหน้างานที่ประชาชนเจ็บปวดอยู่ ในขณะเดียวกันก็มีเครื่องไม้เครื่องมือ มีช่องทางในการแก้ปัญหา แก้ไขเชิงระบบโครงสร้างของประเทศด้วย”

ธนาธรทิ้งท้ายว่า การกระจายอำนาจเป็นอนาคตของประเทศ ทำให้ทุกท้องถิ่นแข่งกันพัฒนา ปลดปล่อยศักยภาพของพื้นที่ ถ้าทำเรื่องนี้ได้ ประเทศไทยจะไม่มีวันเหมือนเดิม



การกระจายอำนาจคือนโยบายเศรษฐกิจ งบประมาณจะถูกใช้ตรงจุด โดยคนที่รู้ปัญหาจริง

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของพรรคก้าวไกลในการแถลงนโยบาย “ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า” ความตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาความเจริญและอำนาจในการตัดสินใจส่วนใหญ่ของประเทศไทยรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ และรัฐส่วนกลาง ท้องถิ่นไม่มีอำนาจ ขนาดเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ใหญ่กว่าจังหวัดอันดับ 2 อย่างชลบุรีถึง 5 เท่า ในขณะที่ส่วนกลางมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการใช้งบสูงถึง 80% ของงบประมาณทั้งหมด

“อากาศที่คุณหายใจ น้ำประปาที่คุณดื่ม ไม่ได้ถูกตัดสินใจโดยคนที่บ้านคุณ แต่ถูกตัดสินใจโดยคนที่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่ที่คุณอยู่ ทำให้การแก้ปัญหาชั่วคราว กลายเป็นปัญหาชั่วโคตร ดังนั้น จะจัดการเรื่องพวกนี้ ต้องแก้ปัญหาเร็ว แรง และคล่องตัว ด้วยการกระจายอำนาจ”


พรรคก้าวไกลจึงมีเป้าหมายที่จะปลดล็อกความกระจุกตัวของอำนาจและความเจริญ เพื่อให้ประชาชนทุกจังหวัดมีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอในการกำหนดอนาคตของตัวเอง โดยการกระจายอำนาจ จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง 4 ด้านสำคัญ คือ (1) ระเบิดพลังเศรษฐกิจ เมื่อกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 7,000 แห่ง จะทำให้เกิดเครื่องจักรทางเศรษฐกิจทันที 7,000 เครื่อง (2) ลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ต่อหัวในแต่ละภูมิภาค (3) ลดการคอรัปชั่น ซึ่งต้องทำควบคู่กับการเพิ่มเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบรัฐบาล และ (4) ทำให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้ใช้บริการสาธารณะที่มีคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้


พิธาเชื่อว่าการกระจายอำนาจยังส่งผลดีต่อการทำงานของข้าราชการ เพราะจากการลงพื้นที่ ได้พบปัญหาหลายอย่าง เช่น เกิดน้ำท่วม หน่วยงานในพื้นที่ไม่มีเรือ ต้องไปขอจากกระทรวง หรือเมื่อเกิดไฟป่า หน่วยงานไม่มีรถดับเพลิง ต้องไปขอจากกระทรวง ปัญหาเหล่านี้จะคลี่คลายเมื่อกระจายอำนาจให้ทุกท้องถิ่นทุกจังหวัดมีงบประมาณเพียงพอ ไม่ต้องรอส่วนกลาง ข้าราชการจะทำงานที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ ทันใจและยึดโยงประชาชน

สำหรับโรดแมปของพรรคก้าวไกล หากเราได้เป็นรัฐบาล สิ่งที่จะทำใน 100 วันแรกคือการยกเลิกกฎระเบียบและคำสั่ง คสช. ทั้งหมดที่ล็อกคอ-ล้วงลูกท้องถิ่น ถัดมาภายใน 1 ปี คือการทำประชามติว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับการเลือกตั้ง “นายกจังหวัด” ทุกจังหวัด และยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค โดยที่รับประกันว่าไม่มีใครตกงานหรือเสียประโยชน์ เรื่องนี้ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะถ้าขับเคลื่อนโดยแรงสนับสนุนจากเพียงบางกลุ่ม แต่ประชาชนในวงกว้างกับท้องถิ่นไม่เห็นด้วย การกระจายอำนาจก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ ในทุกๆปี รัฐบาลก้าวไกลจะค่อยๆ กระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นในการจัดทำบริการสาธารณะและพัฒนาพื้นที่ โดยภายใน 4 ปี ท้องถิ่นทั่วประเทศจะได้งบเพิ่มขึ้น 200,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นการเพิ่มงบ อบจ. ละ 250 ล้าน เมืองละ 100 ล้าน ตำบลละ 20 ล้านบาท ต่อปี โดยเฉลี่ย

“หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมพรรคก้าวไกลพูดแต่เรื่องกระจายอำนาจ ทำไมไม่พูดเรื่องปากท้องเฉพาะหน้าของประชาชน แต่ผมต้องบอกว่านโยบายกระจายอำนาจคือนโยบายเศรษฐกิจ คือเรื่องปากท้อง เพราะการกระจายอำนาจจะนำไปสู่การระเบิดพลังทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทำให้งบประมาณถูกใช้อย่างถูกจุดโดยคนที่ใกล้ชิดกับปัญหาและรู้ปัญหาจริง เพื่อยกระดับบริการสาธารณะ และสร้างงานใหม่ๆในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ”




กระจายอำนาจให้ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า เปลี่ยนประเทศไทยแบบไม่มีวันย้อนกลับ

วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อธิบายถึงชุดนโยบาย “ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า” ว่าประกอบด้วย 4 ข้อเสนอสำคัญ

(1) การวางโรดแมปไปสู่การเลือกตั้ง “นายกจังหวัด” ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารสูงสุดในจังหวัดแทนผู้ว่าราชการที่มาจากการแต่งตั้ง และประชามติเพื่อยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค โดยที่รับประกันว่าไม่มีใครตกงานหรือเสียประโยชน์ ซึ่งท้ายที่สุด จะทำให้ประเทศไทยมีโครงสร้างการบริหาร 3 ระดับ ที่ล้วนนำโดย “นายก” ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ได้แก่

  • นายกรัฐมนตรี เป็นผู้บริหารในระดับประเทศ
  • นายกจังหวัด เป็นผู้บริหารท้องถิ่นระดับจังหวัด
  • นายกเทศมนตรีและ นายก อบต. เป็นผู้บริหารท้องถิ่นในระดับเทศบาลและตำบล ส่วนใน กทม. จะมีการเลือกตั้งนายกเขตด้วย

(2) การเพิ่มงบจังหวัดจัดการตนเอง ให้สัดส่วนรายได้ท้องถิ่นต่อรัฐบาลส่วนกลาง เพิ่มทุกปี ปีละ 2% หรือ เพิ่มขึ้นทั้งหมด 200,000 ล้านบาทต่อปี ภายใน 4 ปี โดยเฉลี่ยท้องถิ่นแต่ละแห่ง คิดเป็น

  • จังหวัดละ 250 ล้านบาทต่อปี ภายใน 4 ปี
  • เมืองละ 100 ล้านบาทต่อปี ภายใน 4 ปี
  • ตำบลละ 20 ล้านบาทต่อปี ภายใน 4 ปี

(3) การปลดล็อกกฎระเบียบให้ท้องถิ่นจัดทำบริการสาธารณะและแก้ปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทั้งหมด ยกเว้นเพียงบางภารกิจ เช่น กองทัพ เงินตรา ศาล รวมถึงปลดล็อกให้ท้องถิ่นออกแบบกองตามความเหมาะสมกับภารกิจได้

(4) การเพิ่มอำนาจประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เช่น การประชุมสภาพลเมืองทุกสามเดือนเพื่อรับฟังปัญหาและเปิดให้ประชาชนซักถาม การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ มีระบบแจ้งเตือน Red Flag ในโครงการที่มีความเสี่ยงจะเกิดการทุจริต


นอกจากประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ พรรคก้าวไกลขอยืนยันกับข้าราชการทุกคนที่สังกัดส่วนภูมิภาคและสังกัดส่วนท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ว่า “ทุกตำแหน่งแห่งหนจะยังคงอยู่ ทุกสิทธิประโยชน์จะยังคงเดิม และทุกความก้าวหน้าจะยังคงมี”

เพราะการปฏิรูประบบราชการครั้งนี้ เป็นเพียงการเปลี่ยนการทำงานของข้าราชการบางส่วนในแต่ละพื้นที่ จากเดิมที่ทำงานแยกกันภายใต้อธิบดีกรมหรือปลัดกระทรวงที่อยู่ที่กรุงเทพฯ เปลี่ยนเป็นทำงานร่วมกันภายใต้ผู้บริหารท้องถิ่นที่ประชาชนเลือกในพื้นที่โดยตรง โดยจะเป็นการออกแบบระบบราชการที่ทำให้ศักดิ์และสิทธิของข้าราชการทุกสังกัดเท่าเทียมกัน มีกลไกรองรับการถ่ายโอนโยกย้ายระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น

“ผมเชื่ออย่างสุดใจ ว่าภารกิจครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ทุกจังหวัดในประเทศไทยก้าวหน้า เพราะถ้ามีการกระจายอำนาจไปที่ท้องถิ่นแล้ว งานเงินคนจะไม่ย้อนกลับมารวมศูนย์อีก ถ้าประชาชนเป็นคนเลือกนายกจังหวัดแล้ว จะไม่มีรัฐบาลไหนเปลี่ยนกลับมาให้มีผู้บริหารจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งได้อีก นี่จึงเป็นการเลี่ยนแปลงปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ที่ไม่มีวันย้อนกลับได้”

อ้างอิง




อยากมีชีวิตดีๆ ต้อง “กระจายอำนาจ”

ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล กล่าวในการแถลงเปิดนโยบาย “ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า” ความตอนหนึ่งว่า การกระจายอำนาจ คือ การระเบิดศักยภาพของประเทศไทย เราเห็นศักยภาพของท้องถิ่นในหลายพื้นที่ หน้าที่ของรัฐบาลคือทำอย่างไรให้ท้องถิ่นมีเงินเพิ่มขึ้น มีงานดีๆ เจ๋งๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ มีผู้บริหารท้องถิ่นที่มีพลัง หากทำได้ประเทศไทยจะคึกคักและพัฒนาขึ้นอีกขนาดไหน

การทำให้จังหวัดอื่นๆ นอกจากกรุงเทพฯ มีความก้าวหน้า มีอยู่สองทางใหญ่ๆ หนึ่งคือ รัฐบาลจากส่วนกลางลงทุนโครงการขนาดใหญ่ลงไป เช่น การพัฒนาท่าเรือ เมืองอุตสาหกรรม แม้แน่นอนว่าทำให้เศรษฐกิจ การจ้างงานในระยะหนึ่งดีขึ้น แต่ก็ต้องแลกมากับเมืองที่คนท้องถิ่นอาจไม่ต้องการ โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กระทบชีวิตประชาชนอย่างไม่มีวันย้อนกลับ แลกกับความร่ำรวยของกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดกับการตัดสินใจของรัฐบาล

ทางที่สองคือ มีนักการเมืองนามสกุลใหญ่ๆ รวบรวมมุ้ง ส.ส. ในจังหวัดหรือในภูมิภาคนั้น ดึงเอางบประมาณมาพัฒนาจังหวัดบ้านเกิดของตัวเอง ทำทุกวิถีทางเพื่อไปให้ถึงตำแหน่งรัฐมนตรี ส่งเครือข่ายครอบครัวลงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ในพื้นที่ ทั้ง อบจ. เทศบาล อบต. ไปจนถึงการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน จนทั้งจังหวัดนั้นกลายเป็นเครือข่ายแบบ “บ้านใหญ่” นามสกุลโต เพื่อเข้าไปดึงเอางบประมาณ แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการส่วนภูมิภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด รวบอำนาจและทรัพยากรทั้งหมดมาไว้ที่มุ้งของตนและพรรคพวก แสวงหาความมั่งคั่งผ่านโครงการพัฒนาจังหวัดของตนเอง


เราต้องจบเรื่องนี้ในรุ่นของเรา ด้วยนโยบายทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า

ถ้าคุณเป็นคนภาคเหนืออย่างจังหวัดเชียงราย ตอนเช้าตื่นขึ้นมา จะมีอย่างน้อย 2 เดือน ที่ไม่สามารถสูดอากาศดีๆ ของภาคเหนือได้ แต่ถ้าเรามี ‘นายกจังหวัด’ จากการเลือกตั้ง ที่มีอำนาจกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาไฟป่า ที่ได้รับงบประมาณเต็มเม็ดเต็มหน่วย ท้องถิ่นจะมีความพร้อมเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์ สามารถแบ่งพื้นที่และกระจายความรับผิดชอบไปให้นายกตำบลต่างๆ ได้

ถ้าคุณเป็นคนอีสาน ตื่นเช้ามาเปิดก๊อกน้ำเพื่อล้างหน้าแปรงฟัน คุณอาจจะเจอน้ำสีน้ำตาล กลิ่นเหม็น จนคุณต้องใช้น้ำดื่มมาล้างหน้าแปรงฟันแทน แม้ที่เทศบาลตำบลอาจสามารถซึ่งทำงานร่วมกับคณะก้าวหน้า จะสามารถทำให้น้ำประปาดื่มได้สำเร็จ แต่งบประมาณก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้คุณภาพน้ำสม่ำเสมอจนถึงปลายท่อ ต้องรองบประมาณอีกหลายรอบ ทั้งที่สิทธิในการมีน้ำประปาสะอาด ต้องเป็นสิทธิของทุกคน

หรือคนในจังหวัดอื่นๆ จะออกจากบ้านไปเรียน ไปทำงาน ไปซื้อของ ต้องใช้รถส่วนตัวแทบทุกคน ร้านค้าต่างๆ ที่ไม่มีที่จอดรถก็เจ๊งหมด เมื่อเราปลดล็อกท้องถิ่น ให้มีนายกจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง มีเงิน มีนโยบาย มีอำนาจในการจัดการการขนส่งสาธารณะ นี่จะเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยที่ก้าวหน้า

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งของชีวิตคน คืองานที่ดีในจังหวัดตัวเอง เช่น เกษตรกรชาวพิษณุโลกต้องการให้มีการลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปมะม่วงในพื้นที่ แต่ผู้ว่าจากการแต่งตั้งไม่เห็นด้วย จบความฝันของคนทั้งจังหวัด กลับกันถ้าเรากระจายอำนาจในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรให้นายกจังหวัดพิษณุโลก นายกจากการเลือกตั้งที่เพื่อนบ้านของเขาเป็นเกษตรกรปลูกมะม่วง เชื่อว่าภายในเวลาไม่นาน โรงงานนี้เสร็จแน่นอน

ดังนั้น ชีวิตของคนไทยทุกคนจะดีขึ้นได้ ทุกคนจะมีวันดีๆ ในชีวิตได้ เราต้องการรัฐบาลท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เป็นผู้บริหารตัวจริง มีนโยบายยึดโยงกับพื้นที่ ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ขับเคลื่อนเมืองไปด้วยกัน

เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว เอาความฝันแบบนี้ ความเจ็บปวดแบบนี้ เลือกพรรคที่ตั้งใจที่สุดที่จะคืนอำนาจให้ท้องถิ่น

เราเชื่อมั่นในอำนาจของประชาชน เชื่อในศักยภาพของทุกจังหวัดไม่ว่าจะอยู่ในซอกหลืบแห่งความเหลื่อมล้ำมากแค่ไหน ถ้าเราเปลี่ยนแปลงงบประมาณได้ เปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศได้ เรามีนายกเชียงใหม่ได้ เรามีนายกพิษณุโลกได้ เรามีนายกสงขลาได้ ประเทศไทยของเราก้าวหน้าแน่นอน



สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของพรรคก้าวไกลนี้ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ปี พ.ศ. 2565 ผลิตโดย บริษัท สเปกเตอร์ ซี จำกัด จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น งบประมาณ 5,000 บาท ผลิตวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า