ยกระดับคุณภาพชีวิต ‘คนทำงาน’ อย่างยั่งยืน รัฐต้องเพิ่มค่าแรง ควบคู่ยกระดับสวัสดิการ – พัฒนาทักษะ – ช่วยเหลือผู้ว่าจ้าง
ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงนโยบายแรงงานของพรรคก้าวไกลว่า พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญกับพี่น้องแรงงาน เพราะคนทำงานทุกคนถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศ แต่ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ผันผวนในปัจจุบัน แรงงานกว่า 38 ล้านคนทั่วประเทศทุกอาชีพ กำลังเผชิญความท้าทายและความไม่เป็นธรรมหลายอย่าง เช่น ค่าแรงที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ สถานภาพการจ้างงานที่ไม่มั่นคง การกำหนดค่าตอบแทนที่ต่ำกว่ามาตรฐาน การทำงานเกินวันเวลาโดยไม่มีค่าชดเชย หรือ สภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่อันตราย ส่งผลให้คนทำงานมีภาระ มีข้อจำกัด และมีความเสี่ยงในระดับที่สูงมาก ทั้งในการทำงานและการดำเนินชีวิต
พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้ยกระดับสวัสดิการแรงงาน เพื่อเพิ่มการคุ้มครองและการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ครอบคลุมแบบถ้วนหน้าทุกกลุ่ม รวมถึงสนับสนุนให้พี่น้องแรงงานสามารถปรับตัวได้ทันตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและระบบเศรษฐกิจ โดยทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดนโยบาย “สวัสดิการไทยก้าวหน้า” ที่พรรคก้าวไกลเปิดตัวเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2565 (ย้อนฟัง https://youtu.be/G3S-LT9niHs)
1. ระบบค่าแรงปรับขึ้นทุกปี
ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ โดยใช้วิธีแก้ไขที่ระบบ คือการแก้ไขกฎหมาย ‘พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541’ มาตรา 87 กำหนดให้ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปี โดยคำนึงถึง (1) ค่าครองชีพ และ (2) การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ระหว่าง 2 ปัจจัยนี้ หากปัจจัยใดเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า ก็ให้นำมาเป็นฐานในการคำนวณปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขั้นต้น ที่จะนำไปพิจารณาหารือในคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ในแต่ละปี
2. ขึ้นค่าแรง 450 บาททันที ในปี 2566
หากตั้งต้นจากปี 2554 ที่ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน เมื่อคำนวณให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปี ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันควรเริ่มต้นที่ 450 บาทต่อวัน พร้อมกำหนดให้รัฐต้องช่วยแบ่งเบาภาระค่าแรงที่สูงขึ้นสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อย (SMEs) ในช่วง 6 เดือนแรก โดยการที่รัฐช่วยสมทบค่าประกันสังคมในส่วนของผู้ว่าจ้าง สำหรับแรงงานที่ถูกกระทบโดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ งบประมาณที่ต้องใช้ต่อปีสำหรับเรื่องนี้ ราว 16,000 ล้านบาท
3. ยกระดับสวัสดิการแรงงาน
อาทิ
- ‘สัญญาจ้างเป็นธรรม ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์’ : กำหนดมาตรฐานของสัญญาจ้างที่ต้องเป็นธรรม
- เปลี่ยนการจ้างลูกจ้างรายวันที่ทำงานลักษณะรายเดือน ให้เป็นลูกจ้างรายเดือน
- กำหนดให้ต้องมีชั่วโมงการทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมง สำหรับงานทั่วไป และไม่เกิน 35 ชั่วโมง สำหรับงานอันตราย
- กำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ และวันหยุดพักผ่อนประจำปีอย่างน้อย 10 วันทำงานต่อปี
- งานจ้างเหมาบริการในภาครัฐต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อไม่ให้ลูกจ้างถูกเอาเปรียบหรือได้รับการคุ้มครองต่ำกว่ามาตรฐานแรงงาน
- ‘ประกันสังคมถ้วนหน้า เจ็บป่วยได้เงินชดเชย-ค่าเดินทางหาหมอ’ : นำประชาชนวัยแรงงานทุกคนที่ยังไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม (แรงงานนอกระบบ) เข้ามาสู่ระบบประกันสังคมถ้วนหน้า โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากการเพิ่มงบประมาณจากการสมทบของภาครัฐ
- หากจำเป็นต้องลาพบแพทย์ ได้รับค่าชดเชยรายได้ 200 บาทต่อวัน และได้ค่าเดินทางพบแพทย์ 100 บาทต่อวัน
- หากลาคลอดได้รับเงินชดเชยรายได้ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 6 เดือน
- หากเสียชีวิตได้รับค่าฌาปนกิจสงเคราะห์ 10,000 บาท
- กำหนดว่าประชาชนที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จะได้รับการยกเว้นจากการสมทบเงินเข้ากองทุนประกันสังคม โดยรัฐจะสมทบฝ่ายเดียว
- ‘แรงงานทุกกลุ่มตั้งสหภาพได้ สอดคล้องหลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)’ : ปรับมาตรการคุ้มครองแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากลในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เรื่องสิทธิในการจัดตั้งและรวมตัว
- นิยาม “แรงงาน” ให้ครอบคลุมคนทำงานรูปแบบใหม่ (เช่น ฟรีแลนซ์ แรงงานแพลตฟอร์ม) เพื่อช่วยให้ลูกจ้างในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่มีผู้ว่าจ้างคนละคน สามารถรวมตัวกันได้
- รับรองให้แรงงานสามารถรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานได้ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ไม่แบ่งสถานที่ทำงาน (เช่น สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พนักงานของรัฐ ฯลฯ)
- เพิ่มช่องทางให้สหภาพแรงงานหลายแห่ง ยื่นข้อเรียกร้องร่วมกัน โดยได้รับการคุ้มครองจากการถูกลงโทษหรือกลั่นแกล้ง
- กำหนดกลไกที่ชัดเจนในการต่อรองกับผู้ว่าจ้าง รวมถึงสิทธิของแรงงานในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน (เช่น ผลประกอบการ ความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อแรงงาน)
4. พัฒนาทักษะและประสิทธิภาพการทำงานของแรงงาน ผ่านโครงการ Upskill และ Reskill คาดว่างบประมาณที่ต้องใช้ต่อปี คือ 5,000 ล้านบาท เช่น
- สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงและเรียนได้โดยไม่จำกัด ผ่านการรวบรวมคอร์สพัฒนาทักษะจากผู้ผลิตเนื้อหา แบบฝึกหัดและระบบทดสอบความรู้ ระบบสำรวจความถนัดตนเอง และบริการจับคู่กับผู้ประกอบการและจัดหางาน
- แจกคูปองคนวัยทำงาน อายุ 30-60 ปี เริ่มต้นที่ 1 ล้านคน เพื่อเลือกพัฒนาทักษะเชิงลึกที่ตนต้องการหรือมีความจำเป็นในการทำงาน จากหลักสูตรการฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมจัดขึ้นทั้งในรูปแบบออนไลน์หรือ ณ สถานที่ โดยรัฐร่วมจ่าย 80% จากราคาหลักสูตรฝึกอบรม (แต่ไม่เกิน 5,000 บาท/คน)
5. แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของคนวัยทำงาน ด้วยสวัสดิการถ้วนหน้า-ครบวงจร
ในวันที่สังคมไทยเป็น ‘สังคมสูงวัย’ ที่มีสัดส่วนคนวัยทำงานลดลง และคนวัยทำงานมีภาระร่วมกันในการดูแลผู้สูงอายุในสังคมที่มีมากขึ้น พรรคก้าวไกลเสนอสวัสดิการที่ให้แบบถ้วนหน้าและครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนแก่ เพื่อลดภาระของคนวัยทำงาน ไม่ว่าจะเป็น เงินเด็กเล็ก 1,200 บาทต่อเดือน เงินผู้สูงวัย 3,000 บาทต่อเดือน
ย้อนอ่านชุดนโยบาย ‘สวัสดิการไทยก้าวหน้า’