free geoip

เสาหลักนโยบายที่ 5: “ต้องก้าวไกล การศึกษาไทยก้าวหน้า”


ของขวัญวันเด็กจากพรรคก้าวไกล: นโยบายการศึกษา เพื่อประเทศไทยที่มีอนาคต


ทุกปีเรามักคุ้นเคยกับคำขวัญวันเด็กที่ผู้ใหญ่ตั้งขึ้นเพื่อบอกว่าเด็กควรเป็นอย่างไร แต่พรรคก้าวไกลอยากให้วันเด็ก (และทุกๆวัน) เป็นวันที่ผู้ใหญ่รับฟังเด็กว่าเขามีปัญหาอะไร และร่วมหาทางออก – พรรคก้าวไกลจึงใช้โอกาสวันเด็กของปีนี้ในการเปิดตัวนโยบายการศึกษา เพื่อปัจจุบันและอนาคตของเด็กทุกคน

ในภาพรวม พรรคก้าวไกลต้องการพลิกแนวคิดเรื่องการศึกษา ที่ติดกับดักการศึกษาแบบอำนาจนิยม ที่สั่งให้เด็กทุกคนต้องเป็นแบบเดียวกันหมดที่ผู้ใหญ่เห็นว่าดี มาเป็นการศึกษาที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กมีเสรีภาพในการเรียนรู้อย่างเสมอภาคและคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน

หัวใจสำคัญของนโยบาย ‘การศึกษาไทยก้าวหน้า’ ของพรรคก้าวไกล คือการเน้นที่ประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาในการศึกษาไทยที่มีมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็น การที่นักเรียนไทยเรียนหนักเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ระบบไม่สามารถแปรความขยันของผู้เรียนออกมาเป็นทักษะที่แข่งขันกับหลักสากลได้ การที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณสูงมากทุกปี แต่ยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศ เรียนฟรีก็ยังไม่ฟรีจริง หรือคุณครูที่ต้องทำงานหนัก แต่กลับหมดเวลาแต่ละวันไปกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการสอน


เราเห็นว่าทางออก ต้องไม่ใช่การ เพิ่ม-เพิ่ม-เพิ่ม อย่างเดียว จนทำให้ความคาดหวังหรือภาระทั้งหมดไปตกอยู่ที่คนหน้างานอย่างคุณครูและผู้เรียน แต่ต้องมีการลดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปด้วย เพื่อเปลี่ยนจากการ “ทำมากได้น้อย มาเป็นการ “ทำน้อยได้มาก”

นโยบายการศึกษาไทยก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล จึงถูกออกแบบบนพื้นฐานว่านักเรียนหนึ่งคนที่เติบโตในประเทศไทย ต้องได้รับการศึกษาที่ประกอบด้วยอย่างน้อย 6 คุณสมบัติ หรือ 6 ด้าน รวม 20 นโยบาย

“การศึกษาที่ฟรีจริง” ประกอบด้วย

  1. เรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง
  2. ทุกโรงเรียนมีงบพอ
  3. โรงเรียนโปร่งใส ปราศจากทุจริต

“การศึกษาที่ปลอดภัย ไร้อำนาจนิยม” ประกอบด้วย

  1. ส้วมสะอาด อาคารสถานที่ปลอดภัย ซึมเศร้ามีที่ปรึกษา
  2. กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน
  3. ครูละเมิดสิทธิ พักใบประกอบทันที
  4. ยกเลิกตั้งแถว ใช้เวลาอัปเดตเหตุการณ์บ้านเมือง

“การศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างคนให้ทันโลก” ประกอบด้วย

  1. ออกแบบหลักสูตรใหม่ เน้นทักษะที่ได้ใช้จริง
  2. ชั่วโมงเรียนดีมีคุณภาพ ลดคาบเรียน-การบ้าน-การสอบ
  3. โรงเรียน 2 ภาษา นักเรียนพูดภาษาอังกฤษได้
  4. เปิดข้อสอบ TCAS ย้อนหลังทั้งหมดพร้อมเฉลยทันที

“การศึกษาที่คืนครูให้ห้องเรียน คืนคุณค่าให้วิชาชีพครู” ประกอบด้วย

  1. คืนครูให้นักเรียน เลิกนอนเวร ลดงานเอกสาร ยกเลิกพิธีรีตองในการประเมิน-รับแขก
  2. นักเรียนประเมินครู ครูประเมิน ผอ.
  3. งบอบรมให้ครู-โรงเรียน ตัดสินใจเองว่าจะเรียนรู้อะไร

“การศึกษาที่ไม่จำกัดอยู่ที่โรงเรียน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ประกอบด้วย

  1. คูปองเปิดโลก สูงสุด 2,000 บาทต่อปี สำหรับเรียนรู้นอกห้องเรียน
  2. เรียนฟรีอาชีวะถึง ปวส. จบแล้วมีงานทำ
  3. แพลตฟอร์มเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนฟรีไม่จำกัด รับรองคุณวุฒิพร้อมระบบจัดหางาน

“การศึกษาที่ใกล้ชิดผู้เรียน นักเรียน-ครู-ผู้ปกครองมีส่วนร่วม” ประกอบด้วย

  1. กระจายอำนาจให้โรงเรียน เติบโตได้ภายใต้ท้องถิ่น
  2. บอร์ดโรงเรียน ต้องมีตัวแทนนักเรียน
  3. สภาเยาวชน มาจากการเลือกตั้ง เสนอกฎหมายไปที่สภาฯได้


มาดูกันในรายละเอียด ว่าแต่ละนโยบายจะทำให้การศึกษาไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

(ป.ล. การศึกษาไทยก้าวหน้า เป็น 1 ใน 9 เสาหลักนโยบายของพรรคก้าวไกล โดยจะมีการเปิดเสานโยบายอื่นๆ อีกในช่วงก่อนเลือกตั้งนี้)







เรียนฟรี ที่มีอยู่จริง

ถึงแม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรีในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยการอุดหนุนเงินให้กับโรงเรียนเป็นเงินรายหัว แต่ในความเป็นจริงนั้น การเรียนยังไม่ฟรีจริง ทำให้ผู้ปกครองมีภาระค่าใช้จ่ายจริงที่ต้องแบกรับ

รายงาน กสศ. ระบุว่ามี “ค่าใช้จ่ายแอบแฝงทางการศึกษา” สูงถึง 2,000-6,000 บาท ต่อคนต่อปี เช่น ค่าบำรุงการศึกษา, ค่าเครื่องแบบ, ค่าหนังสือ/อุปกรณ์การเรียน และ ค่าเดินทางไปเรียน

ความไม่เป็นธรรมและภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขมายาวนาน จนทำให้วิกฤตเศรษฐกิจที่เข้ามาในช่วงโควิดที่ผ่านมา ส่งผลให้มีเด็กที่ตกหล่นออกจากระบบการศึกษาสูงเกิน 200,000 คน (จากรายงานของกระทรวงศึกษาธิการ 2564)

นอกจากนี้ การอุดหนุนเงินสำหรับการจัดการการเรียนสอนที่ให้ตรงไปที่โรงเรียน ยังถูกจัดสรรโดยคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวคูณด้วยจำนวนนักเรียนเป็นหลัก ทำให้เกิดผลกระทบต่อโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่มีความต้องการเฉพาะ ที่ได้รับงบประมาณและทรัพยากรไม่เพียงพอต่อการจัดการศึกษาให้ได้มาตรฐาน เป็นผลให้คุณภาพการศึกษาเกิดความเหลื่อมล้ำกันระหว่างแต่ละโรงเรียน


ข้อเสนอพรรคก้าวไกล ในการแก้ไขปัญหา:

1. เรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง

  • ป้องกันการตกหล่นทางการศึกษาในอนาคต ผ่านการเพิ่มงบกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จำนวน 4,000 ล้านบาท และเพิ่มกลไกอื่น ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงเร่งดำเนินการให้เยาวชนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา สามารถกลับเข้าสู่ระบบหรือเข้าถึงช่องทางการศึกษาที่เหมาะสมกับตนเองได้
  • เพิ่มงบประมาณรายหัวนักเรียนในส่วนของค่าอาหาร ตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมปลาย (รวมถึง ปวช.) เฉลี่ยประมาณ 500 บาท/เดือน
  • เพิ่มงบประมาณรายหัวนักเรียนในส่วนของค่าเดินทาง ระดับประถม 200 บาท/เดือน ระดับมัธยม 300 บาท/เดือน รวมถึงเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยของรถโรงเรียน (เช่น ใบอนุญาตเฉพาะ เกณฑ์ด้านการตรวจสภาพรถ เครื่องมือแจ้งเตือนในรถ)


2. ทุกโรงเรียนมีงบพอ

  • ปรับวิธีการจัดสรรงบประมาณของโรงเรียน โดยยึดวิธีการคำนวณตามมาตรฐานสากล FSQL (Fundamental School Quality Level) ที่พิจารณาหลายปัจจัยนอกเหนือจากจำนวนนักเรียน เพื่อให้ทุกโรงเรียนมีทรัพยากรเพียงพอในการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และทำให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถมีโครงสร้างพื้นฐานภายในโรงเรียนที่ดี และมีครูที่เพียงพอต่อนักเรียน
  • เพิ่มอำนาจการตัดสินใจของโรงเรียนในเรื่องการใช้งบประมาณ โดยปรับเป็นการจัดงบประมาณจากส่วนกลางให้โรงเรียนแบบไม่กำหนดวัตถุประสงค์ เพื่อให้งบประมาณถูกนำไปใช้อย่างตรงจุดมากขึ้นสำหรับแต่ละโรงเรียน


3. โรงเรียนโปร่งใส ปราศจากทุจริต

  • เปิดข้อมูลรายรับ-รายจ่าย-จัดซื้อจัดจ้าง ของโรงเรียนทั้งหมดต่อสาธารณะ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความโปร่งใสของการบริหารจัดการโรงเรียนที่ตอบสนองประโยชน์สูงสุดของนักเรียนและการศึกษา
  • จัดให้มีโครงการ “คนโกงวงแตก” ป้องกันการทุจริตในโรงเรียน (เช่น ค่าแป๊ะเจี๊ยะ / การทุจริตหนังสือเรียน) ผ่านการวางกลไกที่จูงใจให้กลุ่มคนที่ร่วมกันโกง ฟ้องกันเอง จนเกิดความระแวงสำหรับใครที่คิดจะร่วมกันโกง (leniency programme)
  • จัดให้มีมาตรการ “แฉโกง ปลอดภัย” คุ้มครองคนแจ้งเบาะแส ตลอดจนเปิดโปงเปิดการทุจริตในโรงเรียน ผ่านกลไกที่รับประกันความปลอดภัยและความก้าวหน้าทางอาชีพของผู้กล้าที่ออกมาแฉการทุจริต (whistleblower protection)





โรงเรียนปลอดภัย ไร้อำนาจนิยม


โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนทุกคน

แต่ปัจจุบัน นักเรียนกลับเผชิญกลับหลายปัจจัยในโรงเรียนที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของพวกเขาใน 3 มิติ

(1) ความปลอดภัยทางร่างกาย – ทั้งเรื่องอุบัติเหตุ (เช่น อาคารเรียนชำรุด ไฟดูด น้ำท่วม) และ ปัญหาสุขอนามัย (เช่น ห้องน้ำไม่สะอาด)
(2) ความปลอดภัยทางสภาพจิตใจ – ทั้งในเรื่องของความเครียดจากภาระการเรียนที่หนัก และภาวะซึมเศร้า ซึ่งมีส่วนทำให้การฆ่าตัวตายได้กลายมาเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสามของวัยรุ่นไทย
(3) ความปลอดภัยจากอำนาจนิยม – ทั้งในเรื่องการถูกละเมิดสิทธิโดยบุคลากรในสถานศึกษา (เช่น การลงโทษด้วยวิธีรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ) รวมถึงการโดนกลั่นแกล้ง (bullying) จากทั้งครูและนักเรียนด้วยกัน


นโยบายพรรคก้าวไกล ในการแก้ไขปัญหา:

1. ส้วมสะอาด อาคารสถานที่ปลอดภัย ซึมเศร้ามีที่ปรึกษา

  • แก้ปัญหาสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนให้เกิดความปลอดภัย และวางมาตรฐานในทุกโรงเรียนให้ถูกหลักสุขอนามัย (เช่น ห้องน้ำต้องสะอาดและปลอดภัยในทุกโรงเรียน)
  • ปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนเพื่อลดอุบัติเหตุในโรงเรียน และป้องกันจุดเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อตัวนักเรียน (เช่น ตกน้ำ ไฟดูด เป็นต้น)
  • พัฒนาทักษะและสนับสนุนเครื่องมือให้ครู มีความรู้พื้นฐานในการสังเกตอาการของนักเรียนด้านสุขภาพจิต
  • เพิ่มช่องทางการเข้าถึงความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต (เช่น เจ้าหน้าที่สาธาณสุข-นักสังคมสงเคราะห์-นักจิตวิทยา ประจำกลุ่มโรงเรียน / สายด่วนสุขภาพจิตโดยเฉพาะนักเรียน / การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ในการเข้าถึงจิตแพทย์)


2. กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน

  • ออกข้อกำหนด “กฎโรงเรียนต้องห้าม” เพื่อไม่ให้โรงเรียนออกกฎระเบียบของโรงเรียนที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียน (เช่น การบังคับเรื่องทรงผม การลงโทษด้วยวิธีรุนแรงทุกประเภท การบังคับให้เด็กบริจาคเงินหรือสิ่งของ การบังคับซื้อของ การบังคับไปทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน)
  • อบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก


3. ครูละเมิดสิทธิ พักใบประกอบทันที

  • พักใบประกอบวิชาชีพครูทันทีเมื่อมีการละเมิดสิทธิเด็ก (เช่น การทำร้ายร่างกายเด็ก การล่วงละเมิดทางเพศ) เพื่อป้องกันไม่ให้มีการงดโทษหรือลงโทษเพียงแค่ย้ายโรงเรียน ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยของผู้เรียนในสถานศึกษาอื่น
  • แก้ปัญหาการปกปิดความผิดโดยโรงเรียนเมื่อเกิดเหตุการละเมิดสิทธิกับนักเรียน ผ่านการจัดให้มีผู้ตรวจการนักเรียน (Student Ombudsman) ที่ขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เป็นช่องทางร้องเรียนที่เป็นอิสระจริงจากโรงเรียน-เขตพื้นที่


4. ยกเลิกตั้งแถว ใช้เวลาอัปเดตเหตุการณ์บ้านเมือง

  • เปลี่ยนกิจกรรมตั้งแถวในโรงเรียน เป็นกิจกรรมที่อาจตอบโจทย์วัตถุประสงค์ด้านการเรียนรู้มากกว่า (เช่น การให้ครูประจำชั้นและนักเรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกันในห้องเรียนก่อนมีการเรียนการสอน การอัปเดตเหตุการณ์บ้านเมืองเพื่อให้นักเรียนเท่าทันข่าวสาร) เพื่อให้เวลาของผู้เรียนถูกใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวผู้เรียน






ปฏิวัติการศึกษา สร้างคนให้เท่าทันโลก


นักเรียนไทยเรียนหนักและมีจำนวนชั่วโมงเรียนสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่ทักษะหลายอย่างกลับยังไม่สามารถแข่งกับนานาชาติได้

  • เช่น ในการวัดทักษะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านของเด็กแต่ละประเทศทั่วโลก (การประเมิน PISA 2018) ประเทศไทยเข้ามาเป็นอันดับที่ 58 ด้านคณิตศาสตร์ อันดับที่ 54 ด้านวิทยาศาสตร์ และอันดับที่ 67 ด้านการอ่าน จาก 79 ประเทศทั่วโลกที่ถูกวัดผล
  • เช่น ในการวัดทักษะด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ (English Proficiency Index 2022) ประเทศไทยเข้ามาเป็นอันดับที่ 111 ของประเทศที่ถูกวัดผล


ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความขยันหรือความทุ่มเทของนักเรียน แต่อยู่ที่ระบบการศึกษาที่ไม่สามารถแปรความขยันหรือเวลาของนักเรียน ไปเป็นทักษะที่แข่งขันในระดับสากลได้

การปฏิรูปหลักสูตร-วิธีการสอน-การประเมิน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย

นโยบายพรรคก้าวไกล ในการแก้ไขปัญหา:

1. ออกแบบหลักสูตรใหม่ เน้นทักษะที่ได้ใช้จริง

  • ร่างหลักสูตรใหม่ภายใน 1 ปี และค่อยๆ ปรับใช้จนสามารถใช้ในทุกระดับชั้นได้ภายใน 4 ปี
  • หลักสูตรจะเน้นการสอนทักษะ-สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ (เช่น คิดวิเคราะห์ สื่อสาร ทำงานเป็นทีม เห็นอกเห็นใจผู้อื่น) และการใช้ชีวิต (เช่น ความรู้ทางการเงิน ความรู้ด้านสุขภาพ)
  • ปรับการสอนทุกวิชาให้มุ่งเน้นทักษะสมรรถนะเป็นหลัก (เช่น การสอนภาษาอังกฤษที่เน้นทักษะการสื่อสาร การสอนประวัติศาสตร์ที่เน้นการวิเคราะห์-ถกเถียง-แลกเปลี่ยน)
  • ปรับรูปแบบการเรียนการสอนแนะแนว ที่เน้นการเชื่อมกับโลกภายนอกและกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียนที่ช่วยให้ผู้เรียนค้นพบตัวเอง (เช่น การทดลองเรียนรู้จากงานจริง หรือ job shadow) การจัดคลินิกให้คำปรึกษา 1-ต่อ-1 การจัดสรรบัญชีวิทยากรจากภายนอกในอาชีพที่เด็กสนใจ)


2. ชั่วโมงเรียนดี มีคุณภาพ ลดคาบเรียน-การบ้าน-การสอบ

  • ลดจำนวนชั่วโมงเรียนและคาบเรียนลง (เป้าหมายไม่เกิน 800 – 1,000 ชั่วโมงต่อปี) เพื่อให้เหลือเวลาเพียงพอสำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการพักผ่อน
  • ลดวิชาพื้นฐานที่บังคับเรียนในชั้นประถม-มัธยมต้น และเพิ่มวิชาเลือกที่หลากหลายขึ้นและลดสัดส่วนวิชาบังคับในชั้นมัธยมปลาย
  • ลดการบ้านเพื่อรับประกันเวลาเพียงพอในการพักผ่อน (เช่น บูรณาการการบ้านในหลายวิชา เปลี่ยนจากการบ้านเป็นการทำแบบฝึกหัดหรือกิจกรรมในเวลาเรียน)
  • ลดการสอบและหาวิธีประเมินรูปแบบอื่น (เช่น การทำโครงการกลุ่ม)
  • ปรับวิธีการประเมิน-การทดสอบระดับชาติ (O-NET) เป็นแบบสุ่มสอบนักเรียนกลุ่มหนึ่งในแต่ละโรงเรียน เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของโรงเรียนแทนการสอบทั้งระดับชั้น


3. โรงเรียน 2 ภาษา นักเรียนพูดภาษาอังกฤษได้

  • ปรับทิศทางหลักสูตร-การสอน-การประเมินวิชาภาษาอังกฤษ ที่เน้นการสื่อสารหรือการใช้ภาษาเป็นหลัก มากกว่าเน้นเพียงหลักภาษาและไวยากรณ์
  • เสริมทักษะครูไทยด้านภาษาอังกฤษทั้งในระดับสถาบันผลิตครู (pre-service training) และการพัฒนาทักษะในงาน (in-service training)
  • ทำ MOU โครงการแลกเปลี่ยนระหว่างครูต่างชาติและครูไทย เพื่อเพิ่มสภาพแวล้อมที่นักเรียนไทยได้ใช้ภาษาอังกฤษ
  • ตั้งเป้าให้ทุกโรงเรียนสอนเป็น 2 ภาษา ภายใน 4 ปี โดยการทยอยเพิ่มสัดส่วนวิชาและกิจกรรมในโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ (เช่น English Fridays ให้วันศุกร์หรือ 1 วันต่อสัปดาห์ในระดับโรงเรียน เป็นสำหรับการเรียนการสอนในภาษาอังกฤษ)


4. เปิดข้อสอบ TCAS ย้อนหลังทั้งหมดพร้อมเฉลยทันที

  • กำหนดไม่ให้ออกข้อสอบที่วัดเนื้อหาเกินหลักสูตร เพื่อรับประกันความเสมอภาคทางโอกาสของนักเรียนที่ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอในการเรียนพิเศษเพิ่มเติมนอกโรงเรียน
  • เปิดเผยข้อสอบและเฉลยข้อสอบย้อนหลัง เพื่อยกระดับคุณภาพการสอบ เปิดให้เกิดการตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมของคำถาม/คำตอบ และให้เป็นคลังความรู้ที่ผู้เข้าสอบรุ่นต่อ ๆ ไปจะสามารถเข้าไปใช้ฝึกฝนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
  • ปรับอัตราค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของ TCAS จากเดิมที่ต้องจ่ายทั้งค่าสอบสำหรับทุกการสอบและค่าอันดับ เป็นการจ่ายแบบอัตราเดียว (flat rate) ไม่เกิน 500 บาท สำหรับทุกบริการที่เป็นค่าใช้จ่ายของ ทปอ.





คืนครูให้ห้องเรียน คืนคุณค่าให้วิชาชีพครู


ที่ผ่านมาครูไทยไม่สามารถให้เวลาที่มากพอกับห้องเรียนและนักเรียนได้ เนื่องจากข้อจำกัดมากมาย รวมถึงภาระงานของครูมหาศาล ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน หรือไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้การศึกษาไทย

โดยใน 1 ปี ครูใช้เวลา 84 วัน จาก 200 วันในปีการศึกษา หรือคิดเป็นกว่า 42% ที่ถูกใช้ไปกับงานนอกห้องเรียน ทั้งงานเอกสาร งานธุรการ งานพัสดุ การนอนเวรเฝ้าโรงเรียน การประเมิน/อบรม การเข้าร่วมโครงการที่ไม่จำเป็น

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการถูกกดทับด้วยอำนาจภายในโรงเรียน เช่น ถูกผู้บริหารใช้งานนอกเหนือหน้าที่ จนคุณครูไม่สามารถทุ่มเทไปที่การสอนหรือการพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นผลมาจากการประเมินที่ไม่ยึดโยงเพียงพอกับผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน และระบบการบริหารและพัฒนาบุคลากรครูที่ยังไม่นำไปสู่ผลลัพธ์แห่งการพัฒนาทางการศึกษาในระยะยาว

นโยบายพรรคก้าวไกล ในการแก้ไขปัญหา:


1. คืนครูให้นักเรียน เลิกนอนเวร ลดงานเอกสาร ยกเลิกพิธีรีตองในการประเมิน-รับแขก

  • ยกเลิกภาระงานที่ไม่จำเป็น หรือไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนหรือการพัฒนาผู้เรียนของคุณครูออกทั้งหมด (เช่น การนอนเวรเฝ้าโรงเรียน การจัดแต่งอาคารสถานที่ต้อนรับผู้ประเมิน การอบรมหรือโครงการที่ไม่จำเป็น) เพื่อให้คุณครูสามารถโฟกัสไปที่การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่
  • ลดเวลาในการทำงานเอกสาร/งานธุรการในโรงเรียน ด้วยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น เช่น การเซ็นเอกสารออนไลน์ รวมไปถึงการจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการที่เพียงพอและมีความมั่นคง


2. นักเรียนประเมินครู ครูประเมิน ผอ.

  • จัดให้มีการประเมินทั้งครูและผู้บริหารโรงเรียนแบบรอบทิศ หรือ 360 องศา เพื่อให้
    • (i) นักเรียนมีส่วนร่วมในการประเมินครู – ซึ่งจะทำให้ครูมีความยึดโยงกับผลสัมฤทธิ์และความพึงพอใจของนักเรียนในฐานะผู้รับบริการการศึกษา
    • (ii) ครูมีส่วนร่วมในการประเมินผู้บริหารโรงเรียน (ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ) – เพื่อให้ผู้บริหารถูกประเมินจากข้อมูลที่รอบด้าน และป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบกับครู


3. งบอบรมให้ครู-โรงเรียน ตัดสินใจเองว่าจะเรียนรู้อะไร

  • เปลี่ยนงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการอบรมครูทั้งหมดที่ส่วนกลางเป็นคนตัดสินใจ เป็นการให้เงินตรงไปที่
    • (i) ครูแต่ละคน เพื่อใช้ซื้อคอร์สอบรมพัฒนาทักษะที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ (เช่น เริ่มต้นที่ คนละ 3,000-5,000 บาทต่อปี)
    • (ii) โรงเรียน สำหรับใช้ในการจัดอบรมเพื่อเพิ่มทักษะการสอนของครูในระดับโรงเรียน





การศึกษาที่ไม่จำกัดอยู่ที่โรงเรียน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต


การเรียนรู้นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในห้องเรียน และการเรียนรู้ก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเฉพาะเรื่องวิชาการเข้มข้น ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่ช่วยส่งเสริมทักษะและประสบการณ์ในการใช้ชีวิตให้แก่เยาวชนทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะ การซื้อหนังสือที่ชอบ หรือการเรียนกีฬา ดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ตนเองสนใจ

อีกทั้งในปัจจุบัน โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวินาทีอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เคยเป็นเรื่องจำเป็นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อาจไม่ตอบโจทย์กับสิ่งที่สังคมและเศรษฐกิจต้องการในตอนนี้ บางอาชีพอาจถูกทดแทนโดยเครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทำให้แรงงานในบางอาชีพเสี่ยงที่จะตกงานหรือเสียรายได้และความก้าวหน้าทางอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประชาชนวัยกลางคนที่พ้นจากระบบการศึกษาไปชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว

นโยบายพรรคก้าวไกล ในการแก้ไขปัญหา:


1. คูปองเปิดโลก สูงสุด 2,000 บาทต่อปีสำหรับเรียนรู้นอกห้องเรียน

  • แจกคูปองพัฒนาการเรียนรู้ตามช่วงวัยให้กับเด็กอายุ 7-18 ปี เพื่อใช้สำหรับการเรียนรู้-ฝึกฝนทักษะเพิ่มเติมภายนอกโรงเรียน ตลอดจนกิจกรรมสร้างสรรค์ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ แบ่งเป็น ระดับประถมปีละ 1,000 บาท / ระดับมัธยมปีละ 1,500 บาท / ระดับอุดมศึกษาปีละ 2,000 บาท


2. เรียนฟรีอาชีวะถึง ปวส. จบแล้วมีงานทำ

  • สนับสนุนการเรียนฟรีในระดับอาชีวศึกษา ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพื่อเปิดโอกาสในการเรียนต่อในสายอาชีพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และนำไปสู่การประกอบอาชีพเฉพาะด้านซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต
  • จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดซื้อเพื่อปรับปรุงเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ทำการเรียนการสอนในสถาบันอาชีวศึกษาของรัฐให้ทันสมัย (4,500 ล้านบาทต่อปี หรือ เฉลี่ยปีละ 10 ล้านบาทต่อแห่ง)
  • จัดฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเข้มข้นให้กับอาจารย์ผู้สอน เพื่อให้อาจารย์สามารถนำความรู้ที่เป็นปัจจุบัน ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม มาสอนให้แก่นักเรียน
  • ส่งเสริมการเรียนระบบทวิภาคี โดยปรับปรุงระบบประกันคุณภาพการศึกษา ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและผู้ประกอบการในตลาด (เช่น การร่วมออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์ทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ การกำหนดรูปแบบการฝึกงานในสถานประกอบการเพื่อให้นักเรียนได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ผ่านการทำงานจริงที่หลากหลาย การส่งเสริมให้มีการรับประกันการจ้างงานผู้ที่จบการศึกษา)


3. แพลตฟอร์มเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนฟรีไม่จำกัด รับรองคุณวุฒิพร้อมระบบจัดหางาน

  • สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงและเรียนได้โดยไม่จำกัด ผ่านการรวบรวมคอร์สพัฒนาทักษะจากผู้ผลิตเนื้อหา แบบฝึกหัดและระบบทดสอบความรู้ ระบบสำรวจความถนัดตนเอง และบริการจับคู่กับผู้ประกอบการและจัดหางาน
  • แจกคูปองคนวัยทำงาน อายุ 30-60 ปี จำนวน 1 ล้านคน เพื่อเลือกพัฒนาทักษะเชิงลึกที่ตนต้องการหรือมีความจำเป็นในการทำงาน จากหลักสูตรการฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จัดขึ้นทั้งในรูปแบบออนไลน์หรือ ณ สถานที่ โดยรัฐร่วมจ่าย 80% จากราคาหลักสูตรฝึกอบรม (แต่ไม่เกิน 5,000 บาท/คน)
  • พัฒนาสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ให้ผู้ได้รับการรับรองวิชาชีพได้รับความเชื่อถือจากตลาดแรงงานและสังคม ด้วยการพัฒนาเงื่อนไขและคุณสมบัติของการรับรองคุณวุฒิให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตรงตามความต้องการของเอกชน และปรับหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาให้สอดคล้องกัน






กระจายอำนาจทางการศึกษา


อำนาจในการจัดการศึกษายังกระจุกตัวอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ มีหน่วยงานในรูปแบบคณะกรรมการที่อยู่ในส่วนกลางมากเกินไป ทำงานซ้ำซ้อนกัน นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการกระจายอยู่ในส่วนภูมิภาค คือ ศึกษาธิการจังหวัด และศึกษาธิการภาค ทำให้สุดท้ายแล้วโรงเรียนไม่ได้มีอำนาจในการจัดการศึกษาที่เป็นอิสระเหมาะสมกับบริบทของตัวเอง อีกทั้งยังขาดการมีส่วนร่วมจากนักเรียน เยาวชน ผู้ปกครอง ตลอดจนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมอย่างเพียงพอในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับโรงเรียน


1. กระจายอำนาจให้โรงเรียน เติบโตได้ภายใต้ท้องถิ่น

  • กระจายอำนาจให้โรงเรียนด้านงบประมาณ (เช่น การจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนแบบไม่กำหนดวัตถุประสงค์)
  • กระจายอำนาจเรื่องบุคลากร (เช่น กลไกในการให้โรงเรียนมีส่วนร่วมในการสัมภาษณ์และคัดเลือกครู)
  • กระจายอำนาจเรื่องวิชาการ (เช่น การออกแบบหลักสูตรของโรงเรียนที่สอดคล้องต่อความต้องการของผู้เรียน การลดการควบคุมจากส่วนกลาง)
  • เพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นในการบริหารจัดการ ตลอดจนดูแลโรงเรียนในพื้นที่ รวมถึงการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมโดยรอบให้เอื้อต่อการศึกษาของประชาชนในพื้นที่


2. บอร์ดโรงเรียน ต้องมีตัวแทนนักเรียน

  • กำหนดให้คณะกรรมการสถานศึกษาต้องมีตัวแทนนักเรียน
  • เพิ่มกลไกให้มีการจัดเลือกตั้งกรรมการสถานศึกษาในบางตำแหน่ง (เช่น ตัวแทนนักเรียน ตัวแทนผู้ปกครอง)
  • เพิ่มความเป็นมืออาชีพ โดยการจัดอบรมให้กรรมการที่ไม่ใช่บุคลากรทางการศึกษา
  • เปลี่ยนจากระบบอาสาสมัคร เป็นการมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วม


3. สภาเยาวชน มาจากการเลือกตั้ง เสนอกฎหมายไปที่สภาได้

  • จัดให้มีการเลือกตั้งสภาเยาวชน โดยให้สภานี้อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจและส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ เช่น
  • (i) เสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาได้ (เทียบเท่ากับการที่ประชาชนลงชื่อเสนอร่างกฎหมาย 10,000 รายชื่อตามรัฐธรรมนูญ)
  • (ii) เสนอตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมในกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง
  • (iii) ตั้งกระทู้กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้มาตอบในสภาได้ปีละอย่างน้อย 2 ครั้ง
  • (iv) เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะโดยตรงไปที่คณะรัฐมนตรี



สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของพรรคก้าวไกลนี้ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ปี พ.ศ. 2565
ผลิตโดย บริษัท สเปกเตอร์ ซี จำกัด จำนวนที่ผลิต 1 ชิ้น งบประมาณ 5,000 บาท ผลิตวันที่ 14 มกราคม 2566

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า