free geoip

ครบรอบหนึ่งปีหมอกระต่าย และนโยบายความปลอดภัยทางถนน


โดย เดชรัต สุขกำเนิด
Think Forward Center


วันที่ 21 มกราคม 2566 เป็นวันที่ครอบรอบหนึ่งปีเหตุการณ์การสูญเสียหมอกระต่าย จากการเดินข้ามถนนตรงทางข้าม และปัจจุบันถือเป็น “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน”

แม้ว่า เหตุการณ์การสูญเสียหมอกระต่าย จะทำให้เกิดความตื่นตัวในการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนน และการปรับปรุงอุปกรณ์และสัญญาณเตือนเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน ในตลอดช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา แต่การดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนทุกคนยังจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จริงจัง และกว้างขวางในทุกมิติและทุกพื้นที่ เพื่อลดความสูญเสียจากการประสบภัยทางถนนลงให้ได้

ความปลอดภัยทางถนนเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันหลายมิติ ทั้งประเด็นเรื่องวิศวกรรม เรื่องกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องวัฒนธรรมการใช้ถนนของผู้คน และเรื่องการออกแบบเมือง ดังนั้น นโยบายความปลอดภัยทางถนน จึงต้องดำเนินการหลายๆ ด้านไปพร้อมๆ กัน

ด้านวัฒนธรรมการใช้ถนน เรายังจำเป็นต้องมี

👉 การรณรงค์อย่างต่อเนื่องและจริงจังเรื่องความปลอดภัยในการใช้ถนน วินัยการจราจร สิทธิของคนเดินเท้าและคนใช้ถนน โดยเฉพาะการสร้างสัญลักษณ์ที่เห็นได้ชัดเจน และทำให้เกิดความตระหนักในระหว่างขับขี่

👉 การฝึกทักษะความปลอดภัยสำหรับประชาชนในทุกกลุ่ม เพื่อให้สามารถรู้จัก ประเมิน และมีทักษะในการรับมือกับความเสี่ยงในการใช้รถ/ใช้ถนนได้ดีขึ้น โดยควรเริ่มต้นฝึกทักษะนี้ตั้งแต่เด็กๆ โดยสามารถที่บ้าน ที่โรงเรียน และกิจกรรมในพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะ (เช่น สวนจราจรเพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็กๆ)


ด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย

👉 การปรับปรุงกฎหมาย และกระบวนการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดมากขึ้น เช่น กระบวนการฝึกอบรมและการขอใบอนุญาตขับขี่บิ๊กไบค์ การตรวจสอบและการลงโทษกรณีเมาแล้วขับ การขับจักรยายนต์บนทางเท้า การขับขี่รถย้อนศร และอื่นๆ เพื่อสร้างให้เกิด/เปลี่ยนวัฒนธรรมความปลอดภัยในการใช้รถ/ใช้ถนนให้ได้

👉 การลงทุนและใช้ระบบ AI และระบบดิจิทัล ในการเฝ้าระวัง และการจับปรับ เช่น การใช้ความเร็วเกินกำหนด การขับขี่อันตราย การไม่สวมหมวกกันน็อค เพราะจากการดำเนินการในหลายพื้นที่พบว่า การบังคับใช้กฎหมายที่จริงจังและทั่วถึง สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนใช้ถนนได้ และยังเป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

👉 การกำกับดูแลสภาพการทำงานของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะผู้ขับขี่ที่บริการด้านการขนส่งและขนส่งสาธารณะให้เหมาะสม โดยไม่ควรมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเกินไป และไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับความรับผิดชอบและความเอาใจใส่ในการขับขี่ให้ปลอดภัย นอกจากนี้ ในการขนส่งที่ต้องการความปลอดภัยสูง (เช่น การขนส่งวัตถุอันตราย) จะต้องมีระบบการติดตาม/สั่งการแบบเรียลไทม์ ที่ศูนย์กลางของบริษัทขนส่งนั้นๆ เพื่อติดตามพฤติกรรมการขับขี่อย่างใกล้ชิด และรับมือกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที


ด้านการออกแบบเมือง

👉 การกระจายอำนาจ/งบประมาณให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกแบบและตัดสินใจเรื่องถนน ทางเท้า และการออกแบบเมืองและผังเมืองต่างๆ เพื่อให้ลดคอขวดในกระบวนการตัดสินใจและกระบวนการงบประมาณ รวมถึงบูรณาการออกแบบต่างๆ (เช่น จุดกลับรถ ทางข้าม ฯลฯ) ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความปลอดภัยของคนในเมืองมากขึ้น

👉 การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยในเมืองภูมิภาคให้ทั่วถึง ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุ และค่าใช้จ่ายของประชาชนลงได้มาก รวมถึงการพัฒนาระบบรถโรงเรียนที่ปลอดภัย และมีระบบสวัสดิการสำหรับการใช้รถนักเรียน (เช่น 200-300 บาท/เดือน)

👉 การใช้ระบบแพลตฟอร์มและแอพพลิเคชั่นที่สะดวกในการใช้งาน เพื่อให้สาธารณชนช่วยร้องเรียน เสนอแนะ ในการปรับปรุงทางเดินเท้า และเส้นทางการสัญจรต่างๆ ให้มีความปลอดภัย รวมถึงมีระบบติดตามว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการแก้ไขอย่างเหมาะสมและหรือยัง


ด้านวิศวกรรม

👉 การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในการปรับปรุงสภาพถนน เช่น การปรับปรุงทางร่วมทางแยก การทำสัญญาณไฟจราจร การลดจุดกลับรถที่กีดขวางทางจราจรหลัก ฯลฯ ต่องบการขนส่งทางบกให้มากขึ้น

จากปัจจุบันที่มีงบประมาณด้านความปลอดภัยทางถนนมีสัดส่วนอยู่เพียงประมาณร้อยละ 6 เท่านั้น และทางสหภาพยุโรปก็พบชัดเจนว่า การเพิ่มสัดส่วนงบประมาณในการปรับปรุงสภาพถนนจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงได้

👉 การเชื่อมโยงข้อมูลอุบัติเหตุจากระบบประกันภัยผู้ใช้ถนน เพื่อวิเคราะห์จุดเสี่ยงอุบัติเหตุต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การปรับปรุงจุดเสี่ยงอุบัติเหตุอย่างทันท่วงที รวมถึงมีการประเมินผลในการปรับปรุงจุดเสี่ยงอุบัติเหตุที่ชัดเจนและโปร่งใส เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในการปรับปรุงด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง

👉 การสนับสนุนการใช้และการผลิตอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยต่างๆ ที่มีคุณลักษณะและราคาเหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละบุคคล เช่น หมวกกันน็อค ที่นั่งเด็ก โดย SMEs ในประเทศ


ครบรอบ 1 ปีแล้ว เราคาดหวังว่า กทม. จะดำเนินการทางนโยบายเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของคนข้ามถนนในกรุงเทพให้จริงจังขึ้น และต้องไม่มีประชาชนต้องเสี่ยงตายจากการข้ามถนนอีก

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า