25 มกราคม 2565 เกิดเหตุการณ์ที่ถือเป็นโศกนาฏกรรมทางสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เมื่อน้ำมันดิบรั่วทะลักออกจากท่อใต้ทะเลของทุ่นขนถ่ายน้ำมันกลางอ่าวไทย ของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC พิกัดอยู่ทางทิศใต้ของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
หนึ่งปีผ่านไป ไม่ต่างจากหลายความสูญเสียที่เคยเกิดขึ้น กาลเวลาและเรื่องราวใหม่ที่ผุดขึ้นรายวัน ค่อยๆ พัดกลบประเด็นน้ำมันรั่วระยองให้หายไปจากการรับรู้ของสังคม พรรคก้าวไกลจึงขอทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเตือนความจำ เพื่อบอกว่าเหตุการณ์นี้ยังไม่จบ และมีอย่างน้อย 4 บทเรียนที่สังคมไทยควรทบทวน เพื่อป้องกันไม่ให้เราต้องวนกลับมาเจอปัญหาเดิมๆ ในวันข้างหน้า
📌 บทเรียนที่ 1 มาตรฐานของบริษัทเอกชน ต้องถูกตรวจสอบเข้มงวด
หลายข้อมูลชี้ว่าเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนั้น สาเหตุสำคัญมาจากการดำเนินการของบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ที่ถูกใช้เป็นเวลานานและอาจชำรุดทรุดโทรม หรือการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเปิด-ปิดการจ่ายน้ำมัน ที่ไม่เป็นไปตามรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี @apichatmfpofficial ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน ตั้งข้อสังเกตในรายงาน ว่าการซ่อมบำรุงทุ่นและท่อส่งน้ำมันใต้ทะเล ได้ทำอย่างสม่ำเสมอตามวงรอบหรือไม่ และบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่หน่วยงานรัฐกำหนดหรือเปล่า หากไม่ได้ปฏิบัติตาม หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ได้ตรวจสอบหรือไม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิบัติตามประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 134/2564 เรื่อง มาตรการความปลอดภัย การป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำ เนื่องจากน้ำมัน เคมีภัณฑ์ และสารที่เป็นอันตรายประจำท่าเรือ ที่ระบุไว้ชัด ว่าสำหรับท่าเรือที่มีความเสี่ยงสูง (หมายถึง ท่าเรือหรือทุ่นจอดเรือ สำหรับขนถ่ายน้ำมัน เคมีภัณฑ์ สารที่เป็นอันตราย) ต้องมีอุปกรณ์ เช่น ทุ่นกักครอบน้ำมัน (Boom) ที่มีความยาวรวมไม่น้อยกว่า 3 เท่าของความยาวเรือสูงสุดที่เข้าเทียบท่า และต้องเพียงพอต่อการป้องกันการแพร่กระจายของคราบน้ำมันหากเกิดเหตุรั่วไหล
📌 บทเรียนที่ 2 การรับมืออุบัติภัยของรัฐ ต้องพร้อมกว่านี้
รัฐบาลและหน่วยงานรัฐ ถูกตั้งคำถามถึงความพร้อมในการรับมืออุบัติภัย เนื่องจากมีเครื่องมือไม่เพียงพอและขาดประสิทธิภาพ เช่น การขาดแคลนอุปกรณ์ในการเก็บกู้น้ำมันทั้งในทะเลและชายฝั่ง ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่มีปริมาณน้ำมันรั่วเป็นจำนวนมากได้ทันท่วงที เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การรั่วไหลของน้ำมันดิบบานปลาย
หรือเรื่องการสื่อสารในภาวะวิกฤติ ที่ควรต้องชัดเจน เชื่อถือได้ ระงับความโกลาหลวุ่นวายและความตื่นตระหนก ทำให้ประชาชนรู้สึกเชื่อมั่น แต่สิ่งที่เกิดขึ้น รัฐกลับให้ข้อมูลที่ชวนสับสน แม้แต่ปริมาณน้ำมันที่รั่วลงสู่ทะเล แต่ละครั้งก็บอกตัวเลขไม่ตรงกัน เช่น บริษัทฯ แจ้งไปยังกรมควบคุมมลพิษว่า 400,000 ลิตร ต่อมา ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ระบุ 20,000 ลิตร ขณะที่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้ข้อมูลว่าได้อนุมัติการระดมฉีดสลายคราบน้ำมัน รวม 85,400 ลิตร ทำให้นักวิชาการนำตัวเลขนี้ไปวิเคราะห์คำนวณว่าปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลอาจสูงถึง 700,000 ลิตร
ส่วนการเอาผิดทางกฎหมาย มีความคืบหน้าจาก 2 หน่วยงานรัฐ
1) กรณีที่กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ฟ้องบริษัทฯ ให้ชดใช้ค่าเสียหาย จากการทำน้ำมันดิบรั่ว ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ มูลค่าความเสียหายราว 134 ล้านบาท ผลการเจรจาออกมาว่าบริษัทฯ ยอมชดใช้ตามจำนวน
2) กรณีกรมควบคุมมลพิษ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เคยบอกว่าจะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา
- สำหรับคดีแพ่ง เนื่องจากบริษัทฯ ชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการแก้ไขปัญหาแก่กรมควบคุมมลพิษ กว่า 3.8 ล้านบาท กรมฯ จึงไม่มีการฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายส่วนนี้
- สำหรับคดีอาญา ความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินเรือน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 สถานะล่าสุด ( 9 มกราคม 2566) พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนแจ้งว่า อยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบท่อของกลาง
📌 บทเรียนที่ 3 การเยียวยาผลกระทบ ต้องไม่ล่าช้า-ไม่ตกหล่น
แม้ราว 2 เดือนหลังเกิดเหตุ บริษัทฯ จะจ่ายเงินเยียวยาแก่ประชาชนรายละประมาณ 11,250-45,000 บาท ซึ่งแน่นอนว่าเทียบไม่ได้กับความเดือดร้อนที่ประชาชนต้องแบกรับทั้งที่ไม่ใช่คนก่อปัญหา ทั้งผลกระทบต่อการทำประมงพื้นบ้านที่ผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้บริโภคบางส่วนยกเลิกคำสั่งซื้อ เพราะกังวลว่าสัตว์ทะเลในช่วงนั้นอาจมีกลิ่นและคราบน้ำมันติดมา รวมถึงการท่องเที่ยวหาดแม่รำพึงที่ซบเซาลง ทำให้คนพื้นที่สูญเสียรายได้
แต่สิ่งที่เลวร้าย คือทั้งที่เหตุการณ์ผ่านมาแล้ว 1 ปี ก็ยังมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา ล่าสุดเมื่อ 20 มกราคม 2566 ประชาชนระยอง ทั้งชาวประมง ผู้ค้าขาย และผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว 837 ราย ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง 7 หน่วยงานรัฐที่ละเลยในการป้องกันเหตุ การสำรวจความเสียหาย และการบรรเทาเยียวยา ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล วิถีชีวิตของชุมชนประมงพื้นบ้านและชุมชนชายฝั่งจังหวัดระยอง เกิดความเสียหายเกินสมควร ยากต่อการเยียวยาให้กลับเป็นเหมือนเดิม
หนึ่งในคำขอท้ายฟ้อง คือให้บริษัทฯ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จัดตั้งกองทุนเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวระยองทั้งระยะสั้นและระยะยาว ด้วยงบประมาณของบริษัท โดยในกองทุนดังกล่าว ต้องมีตัวแทนจากภาคประชาชนและหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ฟื้นฟูทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง เข้าไปมีส่วนร่วม
📌 บทเรียนที่ 4 การฟื้นฟูทะเล ต้องใช้ความพยายาม(และเวลา)อีกหลายปี
การมีปริมาณน้ำมันดิบมหาศาลรั่วไหลลงสู่ทะเล และการใช้สารเคมีเพื่อแก้ปัญหา ส่งผลให้สมดุลของระบบนิเวศทางทะเลเสียหาย คราบน้ำมันที่ลอยบนผิวน้ำทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง ปิดกั้นการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนและพืชน้ำต่างๆ มีผลต่อตัวอ่อนของปะการัง สัตว์ทะเลอาจได้รับสารพิษ และตกมาถึงผู้บริโภคสุดท้ายอย่างมนุษย์
ที่น่ากังวล คือผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เมื่อน้ำมันดิบรั่วลงทะเล ความเสียหายสูงสุดไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่จะเกิดในช่วง 3-5 ปีหลังจากนั้น โดยจากการสำรวจพื้นที่ที่เคยผ่านเหตุการณ์แบบเดียวกัน พบว่าสารตกค้างยังคงอยู่แม้เวลาจะล่วงเลยไปร่วมปีแล้วก็ตาม
เรื่องนี้สอดคล้องกับการลงพื้นที่ของทีมงานพรรคก้าวไกลระยอง ที่พูดคุยกับชาวประมงได้สะท้อนว่า การฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลของระยองให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมหรือใกล้เคียงเดิม อาจต้องใช้เวลานานราว 7-8 ปี
👉 บทสรุป
ในเมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นโจทย์ของประเทศที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เราจึงไม่สามารถหยุดทุกอุตสาหกรรมเพื่อคงสภาพสิ่งแวดล้อม แต่ขณะเดียวกัน การทุ่มให้ท้ายอุตสาหกรรมโดยไม่ยี่หระผลกระทบต่อสังคมและประชาชน ก็เป็นการตัดสินใจที่หลงทาง
ดังนั้น หนทางที่จะทำให้ประเทศไทยรับมือความท้าทายนี้ได้ดีกว่าเดิม ไม่ต้องกลับมาทวนซ้ำบทเรียนเดิม ส่วนสำคัญคือการที่เราต้องมีรัฐบาลที่มุ่งมั่นเอาจริง ในการทำให้อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของประชาชน เติบโต-ยั่งยืน-ก้าวไกลไปด้วยกัน ผ่านวิธีต่าง ๆ
1) การเข้มงวดควบคุมอุตสาหกรรมให้ดำเนินการอย่างมีมาตรฐานและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เช่น การผลักดันกฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) ที่กำหนดให้แหล่งกำเนิดมลพิษ รายงานการปล่อยหรือเคลื่อนย้ายมลพิษต่อกรมควบคุมมลพิษและเปิดเผยให้ทุกคนเข้าถึงและตรวจสอบได้ (พรรคก้าวไกลเคยเสนอร่าง แต่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ ปัดตก!)
2) การกระจายอำนาจให้คนท้องถิ่นตัดสินใจเรื่องในพื้นที่ (เช่น อุตสาหกรรมที่จะมาลงทุน) โดยไม่ต้องขึ้นกับส่วนกลาง
3) การมองหาพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อโลก มาเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศ (เช่น อุตสาหกรรมสีเขียว) แทนที่อุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษ
ทั้งหมดเพื่อปลายทาง ให้เหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ระยอง เป็นโศกนาฏกรรมทางสิ่งแวดล้อม ครั้งสุดท้ายของประเทศไทย