
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คุณศราวุฒิ ศรีสวัสดิ์ พนักงานของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งเสียชีวิตด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลวอันเนื่องจากการทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง
ในแต่ละวัน คุณศราวุฒิต้องทำงานเกินเวลา แต่ละสัปดาห์ก็ทำงานเกิน 5 วัน บางสัปดาห์ 7 วันติดกัน ข้อมูลจากหลานคุณศราวุฒิบอกว่าในวันทำงานปกติ คุณศราวุฒิจะออกไปทำงานตั้งแต่เช้า และกลับบ้านหลังเที่ยงคืนตลอด ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นทำงานหนักตลอด เห็นมานานแล้วว่าทั้งสัปดาห์มีวันหยุดวันเดียวคือวันอาทิตย์
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าพวกเราต่างเสียใจกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นและเห็นตรงกันว่าไม่ควรมีใครต้องมีชะตาชีวิตในแบบที่คุณศราวุฒิเผชิญ
สังคมไทยมักให้การยกย่องคุณค่าของการทำงานหนัก ในนามของความเสียสละและความทุ่มเท แต่เราให้คุณค่ากับสิทธิและมาตรฐานชีวิตที่คนทำงานหนึ่งคนคนควรได้รับน้อยเกินไป
นี่คือเหตุผลที่ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่จนถึงพรรคก้าวไกล เราจึงผลักดันนโยบายที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานในทุกมิติ ไม่ใช่แค่การผลักดันให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงานนอกจากค่าตอบแทนที่เหมาะสมแล้ว เราต้องให้ความสำคัญกับการมีเวลาว่างและวันหยุดพักผ่อนที่เพียงพอ การมีสวัสดิการรองรับทุกช่วงวัย การมีกำลังและเวลาสิทธิ์ในการสร้างครอบครัวและดูแลลูกที่ดี ไม่ใช่ถูกบีบให้มีทางเลือกเดียวคือส่งลูกไปให้ตายายที่ต่างจังหวัดเลี้ยง
ผมคิดว่า การสร้างมาตรฐานชีวิตที่ดีให้กับคนทำงานในประเทศไทยคือภารกิจสำคัญของพรรคการเมืองที่เราต้องช่วยกันผลักดันและช่วยกันสร้าง
สิทธิแรงงานคือสิทธิในการมีชีวิตที่ดีของคนทำงานทุกคน
ตัวอย่างนโยบายที่เราจะผลักดัน
ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท รัฐช่วย SME 6 เดือนแรก
- ปรับระบบค่าแรงขั้นต่ำให้มีการปรับขึ้นทุกปีตามค่าครองชีพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อให้แรงงานได้ร่วมแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมจากการเติบโตของเศรษฐกิจ และเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนธุรกิจของตัวเองในแต่ละปีได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
- เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้เริ่มต้นที่วันละ 450 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยที่ค่าแรง 300 บาทต่อวัน ถูกประกาศใช้เมื่อปี 2554
- แบ่งเบาภาระค่าแรงที่สูงขึ้นสำหรับ SME ในช่วง 6 เดือนแรก โดยการที่รัฐช่วยสมทบค่าประกันสังคมในส่วนของผู้ว่าจ้าง สำหรับแรงงานที่ถูกกระทบโดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้
- ขยายสิทธิลาคลอดจากปัจจุบัน (98 วัน) เพิ่มเป็น 180 วัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลขององค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่กำหนดให้บุตรควรได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด
- แรงงานในระบบประกันสังคมที่มีผู้ว่าจ้าง จะได้รับค่าตอบแทนทั้ง 180 วัน โดยจะเป็นการร่วมกันรับผิดชอบระหว่างผู้ว่าจ้างและกองทุนประกันสังคม
- แรงงานที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และถูกนำเข้ามาเป็นแรงงานที่ไม่มีผู้ว่าจ้างในระบบประกันสังคมถ้วนหน้า จะได้รับเงินสนับสนุนในการลาคลอด 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 6 เดือน
- พ่อแม่สามารถแบ่งวันลาได้ตามความสะดวก หรือใช้ร่วมกัน เช่น แม่ลา 5 เดือน พ่อใช้อีก 1 เดือน เพื่อช่วยแบ่งเบาการทำหน้าที่และร่วมกันดูแลลูกในช่วง 1 เดือนแรก
ศูนย์เลี้ยงเด็กใกล้บ้าน-ที่ทำงาน
- เพิ่มงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำไปบริหารจัดการเกี่ยวกับการดูแลเด็กเล็กในรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตน ตั้งแต่การเพิ่มมาตรฐานศูนย์ให้เหมาะกับเด็กเล็ก (เช่น ห้องน้ำ โต๊ะ เก้าอี้ ขนาดที่เหมาะสมกับเด็ก ห้องเรียนปูพื้นยาง/หุ้มนวมลบเหลี่ยมมุมเสาป้องกันอุบัติเหตุ) การเพิ่มสัดส่วนผู้เลี้ยงดูเด็กต่อจำนวนเด็กเล็ก การอุดหนุนสถานเลี้ยงดูเด็กของเอกชน หรือนำไปจ่ายเป็นเงินรายหัวเพิ่มเติมให้กับครอบครัวที่มีเด็กเล็กได้
- ใช้กลไกของ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน กำหนดให้อาคารสำนักงานและสถานประกอบการขนาดใหญ่จำเป็นต้องจัดให้มีสถานที่เลี้ยงดูเด็กเล็กและสิ่งที่เกี่ยวข้อง (เช่น ห้องปั๊มนม) ในหรือใกล้อาคารสำนักงานหรือสถานประกอบการ เพื่อความสะดวกต่อการดูแลบุตรของพ่อแม่
สัญญาจ้างเป็นธรรม ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- กำหนดมาตรฐานของสัญญาจ้างที่ต้องเป็นธรรม โดยให้เปลี่ยนการจ้างลูกจ้างรายวันที่ทำงานลักษณะรายเดือน ให้เป็นลูกจ้างรายเดือน
- กำหนดให้ต้องมีชั่วโมงการทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมง สำหรับงานทั่วไป และไม่เกิน 35 ชั่วโมง สำหรับงานอันตราย
- กำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ และวันหยุดพักผ่อนประจำปีอย่างน้อย 10 วันทำงานต่อปี
- งานจ้างเหมาบริการในภาครัฐต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อไม่ให้ลูกจ้างถูกเอาเปรียบหรือได้รับการคุ้มครองต่ำกว่ามาตรฐานแรงงาน
แรงงานทุกกลุ่มตั้งสหภาพได้ สอดคล้องหลักการ ILO
- ปรับมาตรการคุ้มครองแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากลในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 เรื่องสิทธิในการจัดตั้งและรวมตัว
- นิยาม “แรงงาน” ให้ครอบคลุมคนทำงานรูปแบบใหม่ (เช่น ฟรีแลนซ์ แรงงานแพลตฟอร์ม) เพื่อช่วยให้ลูกจ้างในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่มีผู้ว่าจ้างคนละคน สามารถรวมตัวกันได้
- รับรองให้แรงงานสามารถรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานได้ โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ไม่แบ่งสถานที่ทำงาน (เช่น สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พนักงานของรัฐ ฯลฯ)
- เพิ่มช่องทางให้สหภาพแรงงานหลายแห่ง ยื่นข้อเรียกร้องร่วมกัน โดยได้รับการคุ้มครองจากการถูกลงโทษหรือกลั่นแกล้ง
- กำหนดกลไกที่ชัดเจนในการต่อรองกับผู้ว่าจ้าง รวมถึงสิทธิของแรงงานในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน (เช่น ผลประกอบการ ความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อแรงงาน)
คูปองเสริมทักษะ 5,000 บาท/ปี สร้างแพลตฟอร์มเรียนฟรีไม่จำกัด
- สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงและเรียนได้โดยไม่จำกัด ผ่านการรวบรวมคอร์สพัฒนาทักษะจากผู้ผลิตเนื้อหา แบบฝึกหัดและระบบทดสอบความรู้ ระบบสำรวจความถนัดตนเอง และบริการจับคู่กับผู้ประกอบการและจัดหางาน
- แจกคูปองคนวัยทำงาน อายุ 30-60 ปี จำนวน 1 ล้านคน เพื่อเลือกพัฒนาทักษะเชิงลึกที่ตนต้องการหรือมีความจำเป็นในการทำงาน จากหลักสูตรการฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมจัดขึ้นทั้งในรูปแบบออนไลน์หรือ ณ สถานที่ โดยรัฐร่วมจ่าย 80% จากราคาหลักสูตรฝึกอบรม (แต่ไม่เกิน 5,000 บาท/คน)
ทั้งหมดนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของนโยบายสวัสดิการและแรงงานของพรรคก้าวไกลเท่านั้น ชุดนโยบาย “สวัสดิการไทยก้าวหน้า” ของพรรคก้าวไกล คือการประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจน ว่าหากเราเป็นรัฐบาล เป้าหมายหลักของเราคือการสร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้า-ครบวงจร ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย เพื่อตัดวงจรความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงเรื้อรัง ปลดล็อกศักยภาพของประชาชน และ สร้างสังคมที่พร้อมเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขซึ่งกันและกันในการเผชิญกับโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
รายละเอียดแบบเต็มๆ