free geoip

ชุดนโยบายเกษตรไทยก้าวหน้า : กระดุม 5 เม็ด เปลี่ยนชีวิตเกษตรกรไทย


แม้ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนโดยภาคการเกษตรจนทำให้ประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นอับดับ 1-3 ของโลกมาตลอด แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจน โดย 2 ใน 3 ของคนจนในประเทศอยู่ในภาคการเกษตร

ปัจจุบัน เกษตรกรไทยกำลังเผชิญกับปัญหาพร้อมๆกันหลายด้าน ตั้งแต่การขาดเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน หนี้สินท่วมหัว ปุ๋ยราคาสูง แหล่งน้ำไม่เพียงพอ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ-ผันผวน ขาดตัวช่วยด้านเครื่องจักรกล-เทคโนโลยี-ข้อมูล และข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ทั้งในและนอกประเทศ

พรรคก้าวไกลอยากเห็นเกษตรกรไทยทุกคน ใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคง อยู่ดีกินดี และมีทางเลือก

เราจึงออกแบบชุดนโยบายเกษตรไทยก้าวหน้า ที่จะช่วยติด “กระดุม 5 เม็ด” เพื่อเปลี่ยนชีวิตเกษตรไทยให้ดีกว่าเดิม

เม็ด 1 = ที่ดิน : ปฏิรูปที่ดิน คืนที่ดินประชาชน 10 ล้านไร่

  1. กองทุนพิสูจน์สิทธิ 10,000 ล้านบาท ยุติข้อพิพาท-ออกเอกสารสิทธิ์ให้เกษตรกร
  2. ออกโฉนด ส.ป.ก. – นิคมสหกรณ์
  3. ตั้งธนาคารที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินให้ประชาชน
  4. เปลี่ยนระบบภาษีที่ดิน กระจายที่ดินออกจากมือนายทุน

เม็ด 2 = หนี้สิน : ปลดหนี้เกษตรกร

  1. ปลดหนี้ ธ.ก.ส. เกษตรกรสูงวัย จ่ายหนี้ถึงครึ่ง รัฐยกอีกครึ่งให้ทันที
  2. ต้นไม้ปลดหนี้ เช่าที่เกษตรกรปลูกไม้มีค่า
  3. หลังคาปลดหนี้ เช่าหลังคาบ้าน ติดแผงโซลาร์ ขายไฟฟ้าปลดหนี้
  4. หมดยุคหาเงินจ่ายดอก ทุกบาทที่จ่ายหนี้ต้องลดเงินต้นก่อนดอกเบี้ย

เม็ด 3 = ต้นทุน : ลดต้นทุน น้ำ-ปุ๋ย-เครื่องจักร

  1. เพิ่มงบพัฒนาแหล่งน้ำให้ท้องถิ่น 25,000 ล้านบาทต่อปี ครอบคลุมพื้นที่นอกเขตชลประทาน 90 ล้านไร่
  2. ปุ๋ยสั่งตัด แม่ปุ๋ยราคาถูก ผ่านสหกรณ์-กลุ่มเกษตร-วิสาหกิจชุมชน
  3. สนับสนุนการเลี้ยงสัตว์ ลดต้นทุน เพิ่มเงินทุน ขยายตลาด
  4. ดอกเบี้ย 0% ผ่อนโดรน รถไถ รถดำนา เครื่องจักรการเกษตร

เม็ด 4 = นวัตกรรม : สร้างนวัตกรรม เพิ่มมูลค่า

  1. สุราก้าวหน้า เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร
  2. พัฒนาสินค้าชุมชน 1 ท้องถิ่น 1 โรงงานสินค้าแปรรูป
  3. อาหารโรงเรียนจากชุมชน ตัดวงจรสินค้าเกษตร ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
  4. เปิดตลาดโลก สร้างโอกาสเกษตรกรไทย

เม็ด 5 = ต่อยอด : หารายได้ต่อยอด เพื่อเกษตรกรไทยก้าวหน้า

  1. ฟรี! รับรองมาตรฐาน GAP-GMP-เกษตรอินทรีย์ ส่งสินค้าเกษตรคุณภาพดีไปทั่วโลก
  2. ปลดล็อกฟาร์มสเตย์ เปลี่ยนไร่นาเป็นรายได้ สร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร
  3. จ้างเกษตรกรรุ่นใหม่ สอนเกษตรกรวัยเก๋าใช้เทคโนโลยี

ลองดูรายละเอียดทั้ง 19 นโยบายในคำบรรยายของแต่ละภาพได้เลยครับ





[ เม็ด 1 = ที่ดิน : ปฏิรูปที่ดิน คืนที่ดินประชาชน 10 ล้านไร่]

ปัจจุบัน เกษตรกรจำนวนมากขาดเอกสารสิทธิ์หรือโฉนดในที่ดินที่ตนเองใช้ชีวิตและทำมาหากินมาหลายรุ่น โดยกว่า 1 ล้านคน กำลังประสบปัญหาข้อพิพาทที่ดินกับรัฐ ที่บางกรณียืดเยื้อมาหลายสิบปี และถูกซ้ำเติมโดยนโยบายของรัฐที่ผ่านมา (ป่าอนุรักษ์ 300,000-400,000 ราย / ป่าสงวนแห่งชาติ 400,000-500,000 ราย / ที่ราชพัสดุ 100,000-200,000 ราย / ที่ดิน ส.ป.ก. 200,000-300,000 ราย)

นอกจากจะขาดความมั่นคงขั้นพื้นฐานในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว การขาดเอกสารสิทธิ์ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา เพราะทำให้เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ ขาดแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนาพื้นที่เพื่อผลตอบแทนในระยะยาว และ ไม่มีทางเลือกในการโอนสิทธิหรือขายที่ดินเพื่อย้ายถิ่นฐานเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า

แม้เกษตรกรที่มีที่ดิน ส.ป.ก. ก็ยังไม่มีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน เพราะเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ส.ป.ก. เป็นเอกสารสิทธิ์ที่มีข้อจำกัดในการเปลี่ยนมือการครอบครอง โดยห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือ (ยกเว้นแต่การถ่ายโอนตามมรดกให้กับทายาท ที่ยังมีเงื่อนไขอีกหลายประการ) ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ยกเว้นกับ ธกส.) และการเปลี่ยนพื้นที่ทำกินและเปลี่ยนอาชีพของพี่น้องเกษตรกร – ในทางปฏิบัติ ข้อจำกัดดังกล่าวที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดิน ส.ป.ก. เปลี่ยนมือ กลับกลายเป็นกลไกที่เปิดช่องให้นายทุนบางรายเข้ามารวบรวมที่ดิน ส.ป.ก. จากเกษตรกรได้ในราคาถูกนอกกระบวนการกฎหมาย เนื่องจากเกษตรกรไม่มีทางเลือกในการขายที่ดินในราคาที่เหมาะสมผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งหมดนี้ยังสะท้อนและซ้ำเติมถึงปัญหาในภาพรวมของประเทศเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่ดิน โดย 80% ของที่ดินทั้งหมดกระจุกอยู่ที่คนที่รวยที่สุด 5% ในขณะที่ 75% ของคนไทย ไม่มีที่ดินของตนเอง

หากต้องการจะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร การรับประกันความมั่นคงในที่ดินทำกิน จึงเป็นกระดุมเม็ดแรกและจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

1. กองทุนพิสูจน์สิทธิ 10,000 ล้านบาท ยุติข้อพิพาท-ออกเอกสารสิทธิ์ให้เกษตรกร

ข้อเสนอ: เร่งแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดิน โดยมีเป้าหมายในการออกเอกสารสิทธิ์รวมกัน 10 ล้านไร่ ภายใน 4 ปี ให้เกษตรกรและประชาชนที่ผ่านการพิสูจน์สิทธิ ด้วยการ:

  • (i) ตั้งกองทุนพิสูจน์สิทธิ 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มบุคลากร อุปกรณ์ และ ระบบ RTK รังวัดที่ดินด้วยดาวเทียม ที่ต้องใช้ในกระบวนการพิสูจน์สิทธิให้ประชาชน
  • (ii) ยกเครื่องกฎหมายที่ดินทั้งหมด 7 ฉบับ เพื่อแก้ไม่ให้มีการลิดรอนสิทธิในการครอบครองที่ดินของประชาชนที่พักอาศัยหรือทำมาหากินในที่ดินดังกล่าวมาก่อน


2. ออกโฉนด ส.ป.ก. – นิคมสหกรณ์

ข้อเสนอ: ปลดล็อกที่ดิน ส.ป.ก. โดยการเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. ให้เป็นโฉนด อย่างเป็นธรรม ด้วยเงื่อนไขดังต่อไปนี้:

(i) หากผู้รับสิทธิ ส.ป.ก. กับ ผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ตรงกัน: ออกโฉนดที่ดินได้เลย

  • ภายใน 5 ปีแรก: โอนมรดกได้ แต่หากจะขายหรือจำนอง ต้องดำเนินการผ่านธนาคารที่ดิน
  • หลัง 5 ปีผ่านไป: ทำธุรกรรมได้เหมือนกับโฉนดที่ดินทั่วไป

(ii) หากผู้รับสิทธิ ส.ป.ก. กับ ผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่ตรงกัน: ออกโฉนดที่ดินต่อเมื่อ

  • (1) เป็นผู้ที่มีหลักฐานใช้ประโยชน์ที่ดินแปลงมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี และ
  • (2) เป็นผู้ที่มีหลักฐานข้อตกลงระหว่างผู้ได้รับสิทธิเดิมกับผู้ใช้ประโยชน์ที่ดินจริง และ
  • (3) เป็นผู้ที่มีทรัพย์สินทั้งหมดไม่เกิน 10 ล้านบาท (ไม่นับรวมมูลค่าของที่ดิน ส.ป.ก. ที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นโฉนด)


สำหรับกรณีที่ใช้ที่ดินที่ผ่านมาเพื่อการเกษตร: ได้รับการเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดได้ไม่เกิน 50 ไร่

สำหรับกรณีที่ใช้ที่ดินที่ผ่านมาเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ นอกจากการเกษตร: ได้รับการเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด เฉพาะผู้ที่ครอบครองที่ดินรวมกันทั้งหมด (ทั้งโฉนดที่ดินแปลงอื่นๆ และ ส.ป.ก. ที่จะถูกเปลี่ยนเป็นโฉนด) ไม่เกิน 50 ไร่

ภายใน 10 ปีแรก: โอนมรดกได้ แต่หากจะขายหรือจำนอง ต้องดำเนินการผ่านธนาคารที่ดิน

หลัง 10 ปีผ่านไป: ทำธุรกรรมได้เหมือนกับโฉนดที่ดินทั่วไป

ที่ดินส่วนที่เกิน 50 ไร่ (ตามเงื่อนไขข้างบน) หรือได้มาแบบผิดกฎหมาย จะถูกนำเข้าสู่ธนาคารที่ดินเพื่อนำมากระจายให้กับประชาชน เช่น เกษตรกรรายย่อย สหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่ประสงค์เช่าใช้ประโยชน์

รวมถึงเร่งเปลี่ยนที่ดินนิคมสหกรณ์ทุกแห่งทั่วประเทศ เป็นเอกสารสิทธิ์หรือโฉนดให้เกษตรกรและประชาชนทันที


3. ตั้งธนาคารที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินให้ประชาชน

ข้อเสนอ: จัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อสนับสนุนการกระจายการถือครองที่ดินให้ประชาชนผ่าน 3 บทบาทหลัก:

  • (1) รับจำนองและรับซื้อที่ดิน ที่อยู่ในช่วงห้ามซื้อขาย (5-10 ปี)
  • (2) บริหารจัดการที่ดินส่วนเกิน (เช่น ที่ดิน ส.ป.ก. ของนายทุนขนาดใหญ่) เพื่อกระจายให้ชุมชนและเกษตรกร
  • (3) กระจายการถือครองที่ดินให้เกษตรกรรายใหม่ ในรูปแบบต่างๆ (เช่น เช่าซื้อ)


4. เปลี่ยนระบบภาษีที่ดิน กระจายที่ดินออกจากมือนายทุน

ข้อเสนอ: ปรับปรุงประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีที่ดิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่ดิน:

  • (1) พัฒนาระบบภาษีที่ดินแบบรวมแปลง (รวมมูลค่าที่ดินทั้งหมดที่แต่ละบุคคล/นิติบุคคลถืออยู่) แล้วจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า โดยคิดจากมูลค่าที่ดินที่เกิน 300 ล้านบาท
  • (2) ปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีที่ดินแบบรายแปลง (แบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยง
  • (3) ลดหย่อนหรือส่วนลดภาษีที่ดิน (Negative Land Tax) สำหรับพื้นที่ที่ถูกใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ (เช่น พื้นที่สีเขียว พื้นที่อนุรักษ์ระบบนิเวศ พื้นที่สาธารณะ) ตามระยะเวลาที่ตกลงกัน (3-5 ปี)





[ เม็ด 2 = หนี้สิน : ปลดหนี้เกษตรกร ]

ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรไทยเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน ข้อมูลล่าสุดของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์พบว่า ร้อยละ 90 ของเกษตรกรไทยเป็นหนี้ โดยเกษตรกรแต่ละครัวเรือนมีหนี้เฉลี่ยประมาณ 2.8 กองหนี้ (72% เป็นหนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (หรือ ธ.ก.ส.) / 63% เป็นหนี้กองทุนหมู่บ้าน / 25% เป็นหนี้เช่าซื้อ (เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์) / 17% เป็นหนี้สหกรณ์ / 20% เป็นหนี้นอกระบบ)

กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดกลุ่มหนึ่งคือ ลูกหนี้ที่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวนเกือบ 1.4 ล้านราย (ที่มีหนี้กับ ธ.ก.ส.) เนื่องจากการเป็นหนี้ของครัวเรือนเกษตรกรมีลักษณะที่ “ผูกพัน” และ “ทับถม” จนกระทั่งเมื่อเกษตรกรมีอายุมากขึ้น และแม้ว่าเกษตรกรเหล่านี้จะได้ชำระหนี้ไปมากแล้ว แต่มูลหนี้คงค้างที่มีอยู่ก็ยังมีอัตราสูง โดยในบรรดาลูกหนี้สูงอายุ 1.4 ล้านรายนี้ มีผู้ที่เป็น “หนี้เสีย” หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หรือ NPL) ถึง 179,421 ราย และกลายเป็นความเสี่ยงที่ภาระหนี้สินจะสืบทอดข้ามรุ่นไปยังทายาทของตนต่อไป

5. ปลดหนี้ ธ.ก.ส. เกษตรกรสูงวัย จ่ายหนี้ถึงครึ่ง รัฐยกอีกครึ่งให้ทันที

ข้อเสนอ: ปลดหนี้ให้เกษตรกรสูงวัย (60 ปีขึ้นไป)

  • กำหนดว่าเมื่อชำระหนี้ได้ถึงครึ่งหนึ่งของหนี้ปัจจุบันที่มีอยู่ รัฐจะยกหนี้ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งให้


6. ต้นไม้ปลดหนี้ เช่าที่เกษตรกรปลูกไม้มีค่า

ข้อเสนอ: ปลดหนี้ให้เกษตรกรที่มีที่ดิน

  • รัฐจ่ายหนี้คงค้างให้เกษตรกร ในฐานะค่าเช่า เพื่อใช้ที่ดินของเกษตรกรในการปลูกไม้ยืนต้นและเพิ่มพื้นที่สีเขียว
  • เกษตรกรจะถูกปลดหนี้ตั้งแต่วันแรก และจะได้ส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งของต้นไม้ที่ปลูก เมื่อครบ 20 ปี


7. หลังคาปลดหนี้ เช่าหลังคาบ้าน ติดแผงโซลาร์ ขายไฟฟ้าปลดหนี้

ข้อเสนอ: ปลดหนี้ให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดิน และมีมูลค่าหนี้ไม่สูงมาก

  • รัฐติดตั้งแผงโซลาร์ให้เกษตรกรฟรี โดยแบ่งรายได้จากการขายค่าไฟ
  • เกษตรกรจะประหยัดค่าไฟ และสามารถใช้รายได้จากการขายไฟมาสมทบในการชำระหนี้


8. หมดยุคหาเงินจ่ายดอก ทุกบาทที่จ่ายหนี้ต้องลดเงินต้นก่อนดอกเบี้ย

ข้อเสนอ:

  • กำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ของสหกรณ์ให้เหมือนกับทุกสถาบันทางการเงิน โดยการตัดชำระเงินต้นก่อนดอกทุกงวด เพื่อช่วยเกษตรกรปลดหนี้ได้เร็วขึ้น ในกรณีที่ไม่สามารถจ่ายได้ครบทุกงวด





[ เม็ด 3 = ต้นทุน : ลดต้นทุน น้ำ-ปุ๋ย-เครื่องจักร ]

เกษตรกรไทยที่ปลูกพืชเศรษฐกิจหลักอย่าง ข้าว ยางพารา และอ้อย ประสบปัญหาการขาดทุนจากการทำเกษตร นับตั้งแต่ปี 2556 (ราคาสุทธิเฉลี่ยต่อครัวเรือนของเกษตรกรอยู่ที่ 260 บาท/วัน น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน) อย่างกรณีของข้าว ในรอบ 50 ปี ราคาข้าวขึ้นมา 3.5 เท่า แต่ต้นทุนการเกษตร โดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมีขึ้นมาถึง 11.4 เท่า

ส่งผลให้เกษตรกรไทยอยู่ในวังวนของหนี้สินจากการทำเกษตร เนื่องจากไม่สามารถหากำไรจากการเกษตรได้เลย นอกจากนี้เกษตรกรไทยประสบปัญหากับการปรับตัวเพื่อยกระดับการผลิตของตัวเอง ทั้งเทคโนโลยีการเกษตร การปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และการเข้าถึงแหล่งน้ำ ปัญหาเหล่านี้ทำให้ภาคเกษตรไทยมีผลิตภาพในการผลิตพืชทางการเกษตรต่ำ รายได้ไม่พอกับต้นทุนการผลิต


9. เพิ่มงบพัฒนาแหล่งน้ำให้ท้องถิ่น 25,000 ล้านบาทต่อปี ครอบคลุมพื้นที่นอกเขตชลประทาน 90 ล้านไร่

ข้อเสนอ: กระจายอำนาจและงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำในรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ (เช่น ขุดบ่อ สระน้ำ ชลประทานทางท่อ การใช้ระบบโซลาร์)

กระตุ้นการพัฒนาแหล่งน้ำนอกพื้นที่ชลประทานผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มน้ำกักเก็บ 1,000 ล้านลูกบาศก์ เมตร/ปี ด้วยงบประมาณประมาณ 25,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานเพิ่มขึ้น 4 ล้านไร่/ปี

10. ปุ๋ยสั่งตัด แม่ปุ๋ยราคาถูก ผ่านสหกรณ์-กลุ่มเกษตร-วิสาหกิจชุมชน

ข้อเสนอ: ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ยของเกษตรกร และส่งเสริมการใช้ปุ๋ยสั่งตัดโดยการ:

  • ออกโครงการ “ซื้อ 1 แถม 1 ปุ๋ยสั่งตัด” โดยรัฐสมทบเพื่อแถมปุ๋ยสั่งตัดให้เกษตรกร ทุกครั้งที่ซื้อปุ๋ย ใน 6 เดือนแรก
  • ทำการทูตเชิงเกษตรเพื่อนำเข้าแม่ปุ๋ยขนาดใหญ่ และแจกให้ผู้ผลิตปุ๋ยรายย่อย (เช่น สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน SME)
  • สนับสนุนงบประมาณให้ผู้ผลิตปุ๋ยรายย่อยในการตรวจวิเคราะห์ดิน และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตปุ๋ยผ่านการกำหนดสูตรเพื่อนำแม่ปุ๋ยมาผสมเป็นปุ๋ยสั่งตัด
  • ตั้งกองทุนปุ๋ย 20,000 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งงบประมาณในการดำเนินการ


11. สนับสนุนการเลี้ยงสัตว์ ลดต้นทุน เพิ่มเงินทุน ขยายตลาด

ข้อเสนอ: สนับสนุนเกษตรกรในการเลี้ยงสัตว์ เพื่อลดต้นทุน ลดความเสี่ยง และเพิ่มรายได้ โดยการ:

  • ให้อำนาจท้องถิ่นจ้างสัตวบาล/สัตวแพทย์บริการเกษตรกรได้
  • พัฒนาระบบโรงเชือด-โรงชำแหละ-โรงแปรรูปปศุสัตว์ให้ได้มาตรฐานในท้องถิ่น
  • ส่งเสริมสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรปลูกพืชอาหารสัตว์ และผสมอาหารสัตว์เองในแต่ละท้องถิ่น
  • ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรสำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์ (ประมาณ 3-4% ต่อปี)
  • ป้องกันและกำจัดการทุจริตในระบบควบคุมโรคและการตลาดปศุสัตว์


12. ดอกเบี้ย 0% ผ่อนโดรน รถไถ รถดำนา เครื่องจักรการเกษตร

ข้อเสนอ: ส่งเสริมเกษตรกรในการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และลดความสูญเสีย:

  • สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมากสำหรับการลงทุนและการขยายกิจการเครื่องจักรกลทางการเกษตร
  • ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร
  • ผู้ประกอบการสามารถนำค่าแรงและงบลงทุนในการวิจัยและพัฒนา มาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
  • รัฐลงทุนในการวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐในเครื่องจักรกลเป้าหมาย (เช่น เครื่อง/อุปกรณ์สำหรับไถกลบตอซัง)
  • สนับสนุนงบประมาณสำหรับเกษตรกรในการใช้เครื่องจักรกลเพื่อทดแทนการเผาในพื้นที่เกษตร ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น





[ เม็ด 4 = นวัตกรรม : สร้างนวัตกรรม เพิ่มมูลค่า ]

เนื่องจากสินค้าเกษตร โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ อย่าง ข้าว ยางพารา อ้อย หรือผลไม้ตามฤดูกาล มีความผันผวนของราคา และบางครั้งประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เช่น ในปี 64 ราคาข้าวไทยตกต่ำที่สุดในรอบ 14 ปี ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเหลือไม่ถึง 10,000 บาท/ตัน หรือในปี 65 ที่ราคามังคุดและเงาะตกต่ำจนไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต

ปัญหาดังกล่าวเกิดจากสินค้าเกษตรผลิตมามากกว่าความต้องการของตลาด มีมูลค่าต่ำ และมีอายุการเก็บที่ไม่นานเมื่อเทียบกับสินค้าบางประเภท ทำให้เกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรองกับตลาดและมักถูกกดราคาอยู่เสมอ นอกจากนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้มีศักยภาพมากพอที่จะแสวงหาตลาดขายสินค้าเกษตรหรือสินค้าแปรรูปที่ตัวเองผลิตได้

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมีนโยบายส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อให้ได้สินค้าที่มีมูลค่าสูง รวมถึงส่งเสริมการเกษตรเพื่อให้สินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูปของไทยเป็นที่ต้องการของคลาดโลก เพื่อให้สินค้าเกษตรไทยมีมูลค่าสูงขึ้นและสามารถรองรับสถานการณ์ที่ผันผวนของราคาสินค้าเกษตรอย่างเช่นในปัจจุบันได้


13. สุราก้าวหน้า เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

ข้อเสนอ: ปลดล็อกการผลิตสุราของผู้ผลิตรายย่อยและสุราชุมชน ซึ่งจะนำมาสู่ผลประโยชน์ต่อเกษตรกรผ่านการ:

  • เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรที่ถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตสุรา เช่น ข้าว (ที่ถูกนำไปหมักเป็นเบียร์-สุรา) หรือ พืชผลไม้ต่างๆ (ที่ถูกนำไปหมักเป็นไวน์)
  • ช่วยปลดปล่อยศักยภาพและความสร้างสรรค์ ให้นักปรุงสุราจากพื้นที่ต่างๆ สามารถคิดค้นวิธีการของตัวเองในการสร้างสรรค์สินค้าเกษตรให้เป็นสินค้ามูลค่าสูง เพื่อให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลองและเพื่อให้เกษตรกรต้นน้ำมีรายได้ที่สูงขึ้น


14. พัฒนาสินค้าชุมชน 1 ท้องถิ่น 1 โรงงานสินค้าแปรรูป

ข้อเสนอ: เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณกับการแปรรูปสินค้าเกษตรที่ตรงตามความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ โดยการ:

  • กระจายอำนาจและงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มารับบทบาทนำในการสนับสนุนการแปรรูปสินค้าเกษตรที่เหมาะกับพื้นที่ (เช่น การจัดตั้งโรงงานแปรรูปยางพารา การวิจัยและพัฒนาในการแปรรูปผลไม้ในพื้นที่ การพัฒนาน้ำมันปาล์ม/น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น) ร่วมกับสหกรณ์-กลุ่มเกษตรกร-ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ภายในพื้นที่
  • เน้นส่งเสริมการแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่มและนวัตกรรมใหม่ๆ (เช่น การทำพื้นรองคอกปศุสัตว์ และรองเท้าสัตว์เลี้ยงจากยางพารา การนำยางพารามาใช้ในวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ขั้นสูง การพัฒนาน้ำมันหล่อลื่นจากน้ำมันปาล์ม เป็นต้น)


15. อาหารโรงเรียนจากชุมชน ตัดวงจรสินค้าเกษตร ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

ข้อเสนอ: รับประกันตลาดสำหรับสินค้าแปรรูปเกษตร ผ่านการกำหนดให้รัฐจัดซื้อวัสดุในโครงการรัฐ ที่แปรรูปมาจากสินค้าเกษตร เช่น

  • ยาง (ถนนผสมยางพารา พื้นสนามเด็กเล่น ของเล่นจากไม้ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ยางล้อรถเมล์ไฟฟ้า พื้นรองสระเก็บน้ำเพื่อการเกษตร พื้นรองคอกปศุสัตว์)
  • อาหารและผัก-ผลไม้ และผักและผลไม้แปรรูป (ในโรงเรียน ในโรงพยาบาล)


16. เปิดตลาดโลก สร้างโอกาสเกษตรกรไทย

ข้อเสนอ: เปิดตลาดสินค้าแปรรูปในต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากการส่งออก ด้วยการเร่งทำการทูตเชิงเกษตร เจรจากับประเทศคู่ค้าให้หันมาใช้วัตถุดิบจากไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน รวมถึงเจรจากระบวนการ/มาตรฐานการส่งออกให้เหมาะสม





[ เม็ด 5 = ต่อยอด : หารายได้ต่อยอด เพื่อเกษตรกรไทยก้าวหน้า ]

เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าถึงการเข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าประเภทพืชไร่และข้าว ซึ่งทำให้ไม่สามารถขายสินค้าเกษตรได้ราคาส่งออกต่างประเทศได้

นอกจากนี้ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ยังเป็นตลาดในวงแคบและมีมูลค่าสูง ปี 65 ตลาดเกษตรอินทรีย์ไทยอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่งออก 1,000 ล้านบาท อัตราการเติบโตของตลาดอยู่ที่ 10 % พื้นที่เพาะปลูกคิดเป็น 2 % จากพื้นที่เกษตรทั้งประเทศ

แต่เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรสูงอายุ ยังไม่สามารถปรับตัวได้กับรูปแบบการผลิตสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี อีกทั้งลูกหลานที่เป็นคนรุ่นใหม่ก็หันหลังให้ภาคเกษตรไปแล้ว ถึงอย่างนั้น ภาคเกษตรไทยยัง

สามารถหารายได้เพิ่มระหว่างการเพาะปลูกได้จากการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทั้งหมดนี้จึงเป็นปัญหาและโอกาสที่ภาครัฐควรเข้ามาแก้ไข-ส่งเสริม เพื่อต่อยอดรายได้ใหม่ให้เกษตรกรไทย


17. ฟรี! รับรองมาตรฐาน GAP-GMP-เกษตรอินทรีย์ ส่งสินค้าเกษตรคุณภาพดีไปทั่วโลก

ข้อเสนอ: ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงกระบวนการขอรับรองมาตรฐานคุณภาพ โดยการ:

  • อุดหนุนให้เข้าถึงการรับรองมาตรฐาน GAP GMP อ.ย. และเกษตรอินทรีย์ ได้ฟรี เป็นระยะเวลา 2 ปี
  • สมทบทุนเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการที่ขอใบประกาศนียบัตร (certificate) ของสินค้าแปรรูป เพื่อส่งเสริมการแปรรูปสู่มาตรฐานสากล


18. ปลดล็อกฟาร์มสเตย์ เปลี่ยนไร่นาเป็นรายได้ สร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ข้อเสนอ: รวมพลังเกษตรกรทุกรุ่น ผ่านการจัดตั้งและส่งเสริมให้มีระบบบริการมืออาชีพ เพื่อช่วยแนะนำเกษตรกรในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต

  • จ้างงานหรือสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจของเกษตรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer ในการให้คำปรึกษาและบริการต่อเกษตรกรรุ่นเก๋า โดยเน้นไปที่:
  • (i) การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเกษตร (เช่น IoT / Big Data / ข้อมูลตลาด)
  • (ii) องค์ความรู้และทักษะเฉพาะทาง (เช่น สัตว์แพทย์/สัตวบาล การพยากรณ์อากาศเฉพาะท้องถิ่น การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว)
  • (iii) การรับบริหารจัดการแปลงนาแบบเบ็ดเสร็จ/กึ่งเบ็ดเสร็จด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ (เช่น นาข้าวที่ใช้น้ำน้อย การทำนาที่ให้ผลผลิตสูง)


19. จ้างเกษตรกรรุ่นใหม่ สอนเกษตรกรวัยเก๋าใช้เทคโนโลยี

ข้อเสนอ: พัฒนาเกษตรกรจากผู้ผลิต มาเป็นผู้ให้บริการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

  • ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกับกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมาย
  • ปรับแก้กฎระเบียบให้สะดวกต่อเกษตรกรในการจัดตั้งฟาร์มสเตย์อย่างถูกต้อง


Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า