8 มีนาคม ค.ศ.1917 คือวันที่แรงงานทอผ้าหญิงในเมืองเปโตรกราด (เซนต์ปีเตอส์เบิร์กในปัจจุบัน) เริ่มต้นการหยุดงาน และส่งหนังสือเรียกร้องประชาชนให้ออกมาต่อสู้เพื่อ “ขนมปังและสันติภาพ” เพื่อต่อสู้กับการปกครองในระบอบซาร์ที่โหดร้ายของประเทศรัสเซียในขณะนั้น ซึ่งนำมาสู่ชัยชนะของการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ที่จบการปกครองในระบอบซาร์ และความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกมากมาย รวมทั้งการให้สิทธิเลือกตั้งผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย
ในขณะที่อีกซีกโลกหนึ่งประเทศสหรัฐอเมริกา วันสตรีสากลถูกรำลึกถึงการเดินขบวนของแรงงานหญิงในเมืองนิวยอร์ก 15,000 คน เพื่อเรียกร้องชั่วโมงการทำงานที่สั้นลง ค่าจ้างที่เท่าเทียมกับผู้ชาย และสิทธิในการลงคะแนนเสียง
ส่วนในประเทศไทยปี พ.ศ. 2536 เครือข่ายแรงงานได้ทำการชุมนุมเรียกร้องสิทธิลาคลอด 90 วัน จนกระทั่งกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ได้รับการแก้ไข สิทธิลาคลอด 90 วัน กลายเป็นหนึ่งในสิทธิแรงงานที่ได้รับการรับรอง แต่อย่างไรก็ตาม ผ่านมา 30 ปี สิทธินี้เพิ่มขึ้นเพียง 8 วัน จาก 90 วัน เป็น 98 วัน และแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ยังไม่ได้รับสิทธิค่าชดเชยรายได้ในวันที่ลาคลอดเลยแม้แต่วันเดียว
ถึงแม้ทุกวันนี้สิทธิหลายอย่างของผู้หญิงจะดูเหมือนเท่าเทียมกับผู้ชาย แต่เรายังเห็นการจำกัดโอกาสจำแลง (Glass Ceiling) ที่ทำให้ต้นทุนชีวิตผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย เช่น ต้นทุนค่าใช้จ่ายผ้าอนามัย โอกาสในการเติบโตในหน้าที่การงานของผู้หญิงที่ถูกจำกัดจากการต้องใช้เวลาดูแลลูก รวมถึงมิติความเท่าเทียมทางเพศอื่นๆ ที่ไม่ใช่กดทับเฉพาะแค่ผู้หญิง เช่น สิทธิในการแต่งงาน รวมถึงเงื่อนไขในทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงศึกษา และความเหลื่อมล้ำ ที่ยิ่งทวีความรุนแรงของความเหลื่อมล้ำทางเพศให้เพิ่มขึ้น
ภายใต้อุดมการณ์ที่ต้องการสร้างสังคมที่ “คนเท่ากัน” พรรคก้าวไกลตระหนักดีว่าการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม ไม่ใช่แค่การออกมารณรงค์สร้างการรับรู้ แต่เราต้องมีนโยบายแก้ปัญหาต้นตอความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้คนทุกเพศ “มีความเท่าเทียมกัน” อย่างเสมอหน้าในสังคมนี้
และนี่คือนโยบายสร้างความเท่าเทียมทางเพศของพรรคก้าวไกล…
1. ผ้าอนามัยไม่เก็บ VAT แจกฟรีในโรงเรียน
1.1 ยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในสินค้าหมวดหมู่ผ้าอนามัยและของใช้สิ้นเปลืองสำหรับวัยเจริญพันธุ์
1.2 แจกผ้าอนามัยฟรีในสถานศึกษาและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัยและความจนประจำเดือน (Period Poverty) โดยเฉพาะสำหรับผู้มีประจำเดือนในวัย 10-25 ปี
2. ปฏิรูปการสอนเพศศึกษา ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ: ออกแบบหลักสูตรใหม่ ให้การสอนเรื่องเพศศึกษา (Sex education) ให้ความสำคัญกับ
2.1 ค่านิยมต่างๆ เช่น ความเข้าใจเรื่องการขอความยินยอม (consent) ความหลากหลายทางเพศ
2.2 สอนเรื่องทางกายภาพอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เยาวชนเข้าใจความสำคัญของการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่ประสงค์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
3. ตำรวจหญิงทุกสถานี
3.1 เพิ่มจำนวนตำรวจหญิง เพื่อให้อย่างน้อย เพียงพอต่อการมีพนักงานสอบสวนหญิงประจำทุกสถานีตำรวจ (เช่น เพิ่มจำนวนรับให้สูงขึ้น เปิดรับจากบุคคลภายนอกมากขึ้น พิจารณากลับมาเปิดรับนักเรียนนายร้อยหญิง)
3.2 ออกแบบกระบวนการอบรมและประเมินตำรวจทุกคน (ไม่ว่าเพศใด) ที่รับผิดชอบคดีคุกคามทางเพศ สามารถดำเนินการด้วยวิธีการและบรรยากาศที่เข้าใจถึงความละเอียดอ่อนของคดีและสนับสนุนให้เหยื่อรู้สึกปลอดภัยในการให้ข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม
4. ปรับปรุงกฎหมายต่อต้านความรุนแรงทางเพศ
4.1 แก้ประมวลกฎหมายอาญา และกฎ ก.พ. เพื่อกำหนดนิยามใหม่ของการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ การกระทำอนาจาร และการกระทำชำเราเสียใหม่ เพื่ออุดช่องว่างของกฎหมายให้ครอบคลุมปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น
4.2 ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องเพศและพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เรื่องเพศแก่หน่วยงานราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม
4.3 กำหนดให้หน่วยงานรัฐในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศ/ล่วงละเมิดทางเพศ มีการเก็บข้อมูล จัดทำข้อมูลสำรวจ และจัดทำรายงานปัญหาดังกล่าวทุกปีอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาแนวนโยบายให้สอดคล้องกับทิศทางและพฤติกรรมของคนในสังคม
5. สมรสเท่าเทียม คู่รักทุกเพศแต่งงานกันได้
🌈 แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว โดยเปลี่ยนคำในตัวบทกฎหมาย จากคำนามที่ระบุเพศ เช่น ชาย-หญิง สามี-ภรรยา เป็นคำนามไม่ระบุเพศ อาทิ บุคคล คู่สมรส เพื่อให้คนทุกเพศสามารถหมั้นและสมรสกันได้ และมีสิทธิในฐานะคู่หมั้นหรือคู่สมรสโดยเสมอหน้ากันทุกประการ
6. รับรองทุกเพศสภาพ คำนำหน้าตามสมัครใจ
6.1 ปรับโครงสร้างรัฐและกฎหมายให้รับรองทุกเพศสภาพ เพื่อเป็นรากฐานในการออกแบบนโยบายในทุกมิติ
6.2 คุ้มครองสิทธิการรับรองทางกฎหมาย ผ่านการกำหนดมาตรการรับรองสถานะความเป็นบุคคลให้ตรงกับเจตจำนงในเพศสภาพของบุคคลนั้น โดยไม่ต้องผ่านการรับรองหรือกระบวนการทางการแพทย์
6.3 คุ้มครองสิทธิของประชาชนในการใช้คำนำหน้านามตามความสมัครใจ ซึ่งรวมถึง
- สิทธิในการเปลี่ยนคำนำหน้านามให้ตรงกับเพศสภาพ
- สิทธิในการเลือกคำนำหน้านามที่เป็นกลางทางเพศ (เช่น “นาม”)
- สิทธิในการเลือกไม่ใส่คำนำหน้านาม (ระบุเพียงชื่อและนามสกุล)
6.4 ออกกฎหมายที่ขจัดการเลือกปฏิบัติในสังคม เพื่อให้ทุก ๆ เพศมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
7. ยุติการตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ รับยาฟรี ทุก รพ.สต.
7.1 คุ้มครองสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ สำหรับบุคคลที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ให้สามารถรับยายุติการตั้งครรภ์ได้ที่ รพ.สต. ทุกแห่งทั่วประเทศ
- ขั้นตอนของการขอรับยาคือ ให้ผู้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และต้องการยุติการตั้งครรภ์ สามารถเข้ามาพบแพทย์ที่ รพ.สต. ใกล้บ้าน (ทั้งในรูปแบบ Telemedicine และพบแพทย์โดยตรง) เพื่อทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อจ่ายยายุติการตั้งครรภ์ต่อไป
- ให้คำปรึกษาหลังจากการยุติการตั้งครรภ์ฟรี เพื่อตรวจสอบและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้หญิงที่เข้ารับการยุติการตั้งครรภ์
8. สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้
8.1 ขยายสิทธิลาคลอดจากปัจจุบัน (98 วัน) เพิ่มเป็น 180 วัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลขององค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่กำหนดให้บุตรควรได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด
8.2 แรงงานในระบบประกันสังคมที่มีผู้ว่าจ้าง จะได้รับค่าตอบแทนทั้ง 180 วัน โดยจะเป็นการร่วมกันรับผิดชอบระหว่างผู้ว่าจ้างและกองทุนประกันสังคม
8.3 แรงงานที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และถูกนำเข้ามาเป็นแรงงานที่ไม่มีผู้ว่าจ้างในระบบประกันสังคมถ้วนหน้า จะได้รับเงินสนับสนุนในการลาคลอด 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 6 เดือน
8.4 พ่อแม่สามารถแบ่งวันลาได้ตามความสะดวก หรือใช้ร่วมกัน เช่น แม่ลา 5 เดือน พ่อใช้อีก 1 เดือน เพื่อช่วยแบ่งเบาการทำหน้าที่และร่วมกันดูแลลูกในช่วง 1 เดือนแรก
9. ศูนย์เลี้ยงเด็กใกล้บ้าน ห้องปั๊มนมในที่ทำงาน
9.1 เพิ่มงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำไปบริหารจัดการเกี่ยวกับการดูแลเด็กเล็กในรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตน
- ตั้งแต่การเพิ่มมาตรฐานศูนย์ให้เหมาะกับเด็กเล็ก (เช่น ห้องน้ำ โต๊ะ เก้าอี้ ขนาดที่เหมาะสมกับเด็ก ห้องเรียนปูพื้นยาง/หุ้มนวมลบเหลี่ยมมุมเสาป้องกันอุบัติเหตุ)
- การเพิ่มสัดส่วนผู้เลี้ยงดูเด็กต่อจำนวนเด็กเล็ก
- การอุดหนุนสถานเลี้ยงดูเด็กของเอกชน หรือนำไปจ่ายเป็นเงินรายหัวเพิ่มเติมให้กับครอบครัวที่มีเด็กเล็กได้
9.2 ใช้กลไกของ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร และ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน กำหนดให้อาคารสำนักงานและสถานประกอบการขนาดใหญ่จำเป็นต้องจัดให้มีสถานที่เลี้ยงดูเด็กเล็กและสิ่งที่เกี่ยวข้อง (เช่น ห้องปั๊มนม) ภายในหรือใกล้อาคารสำนักงานหรือสถานประกอบการ เพื่อความสะดวกต่อการดูแลบุตรของพ่อแม่
10. ตรวจมะเร็งฟรี ไม่ต้องรอหมอสั่งใน Package ตรวจสุขภาพประจำปีฟรี ของพรรคก้าวไกล
ตรวจคัดกรองฟรี 5 มะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยให้บรรจุในแพ็กเกจตรวจสุขภาพ รวดเร็วขึ้นเพราะไม่ต้องรอหมอสั่ง
ปัจจุบัน ผู้หญิงสามารถตรวจมะเร็งปากมดลูกได้เท่านั้นที่ไม่ต้องรอหมอสั่ง แต่คนใช้สิทธิ์ยังน้อย ซึ่งพรรคก้าวไกลจะเพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพประจำปีของประชาชนให้ครอบคลุมขึ้นและมีแรงจูงใจเป็นค่าเดินทาง ติดตามรายละเอียดได้ในการเปิดนโยบายสุขภาพเร็วๆ นี้
นอกจากนโยบายเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศเหล่านี้แแล้ว เราเชื่อว่าสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันในการทำให้ความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นได้ คือระบบสวัสดิการที่ดูแลคนทุกคนให้ยืนด้วยขาตัวเองได้ทางเศรษฐกิจ การมีโอกาสในชีวิตที่เปิดกว้างจากการเข้าถึงการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งประเทศที่มีกฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมายทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมี สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดคือการสร้างสังคมที่ดี ที่คนทุกเพศเกิดความเท่าเทียมกัน