คุณกล้านั่งแทกซี่ที่เมาแล้วขับไหม?
แต่คุณรู้หรือไม่ว่า หมอไทย ซึ่งอาจจะเป็นคนที่กำลังรักษาคุณหรือคนที่คุณรักทำงานทำงานหนัก พักผ่อนน้อยจนมีประสิทธิภาพการรู้ตัวเทียบเท่ากับคนที่ดื่มเหล้า
ค่าเฉลี่ยประเทศไทย ในขณะที่มาตรฐานชั่วโมงการทำงานคือ วันละ 8 ชั่วโมง แต่หมอต้องทำงานวันละ 17 ชั่วโมงหลายครั้งไม่ได้นอนข้ามวันข้ามคืน
โดยจากสถิติพบว่าการทำงานต่อเนื่องกัน 17 ชั่วโมง ซึ่งเป็นจำนวนชั่วโมงทำงานต่อวันโดยเฉลี่ยของแพทย์โรงพยาบาลรัฐนั้น กระทบต่อสมรรถภาพร่างกายเทียบเท่าการมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 0.05% ซึ่งในบางประเทศเป็นระดับแอลกอฮอล์ที่มีการออกกฎหมายห้ามขับรถ
ทางออกของเรื่องนี้ จำเป็นต้องใช้หลักการ ‘2 ลด 2 เพิ่ม’ ประกอบด้วย
💉 ลดที่ 1 คือลดความเหลื่อมล้ำ เพราะปัจจุบันแพทย์ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วยสัดส่วนแพทย์ต่อคนไข้ 1:600 คน ขณะที่แพทย์ในจังหวัดอื่นๆ เช่น จ.บึงกาฬ มีสัดส่วนแพทย์ต่อคนไข้ถึง 1:5,000 คน หรือ จ.กระบี่ มีสัดส่วนแพทย์ต่อคนไข้ 1:3,000 คน สะท้อนความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรอย่างชัดเจน ประชาชนแต่ละพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงคุณภาพการให้บริการที่ใกล้เคียงกัน
💉 ลดที่ 2 คือลดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ไม่เช่นนั้น ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าแพทย์ที่ต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่องหลายชั่วโมง จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่เกิดความผิดพลาด ส่วนการแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มคนเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ลดชั่วโมงทำงาน จะทำให้บุคลากรไหลออกจากระบบอยู่ดี
ส่วน ‘2 เพิ่ม’ ประกอบด้วย
💊 เพิ่มที่ 1 เพิ่มความครอบคลุมในการรักษา ไม่ใช่เพียงการรักษาสุขภาพทางกายเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงสุขภาพทางใจ
💊 เพิ่มที่ 2 เพิ่มแนวทางป้องกัน-รักษา-ประคับประคอง เช่น การคัดกรองมะเร็งให้ครอบคลุมและทำได้ทันที จากปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง 6 ชนิด ต้องมีใบสั่งจากแพทย์ก่อน ทำให้ใช้เวลายาวนานกว่าจะพบโรคและรับการรักษา รวมถึงเพิ่มวิธีการรักษาที่หลากหลายสำหรับโรคบางชนิด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มแนวทางการประคับประคองดูแลผู้ป่วยติดเตียง
คนอีกกลุ่มคนที่สำคัญ สร้างคุณูปการต่อวงการสาธารณสุขไทย คืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่ทำหน้าที่ป้องกันโรคภัยและส่งเสริมสุขภาพ อสม. ไม่ควรเป็นเพียงอาสาสมัคร แต่สามารถทำเป็นอาชีพได้ โดยเพิ่มเติมการอบรมความรู้และเพิ่มค่าตอบแทนให้เหมาะสมตามชิ้นงาน
ผมและพรรคก้าวไกลจึงต้องการผลักดันให้ทุก รพ.สต. มีหมอประจำ หรืออย่างน้อยต้องมีบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อเพิ่มทางเลือกของประชาชนในการเข้าถึงแพทย์และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาล
นอกจากนี้ เราต้องมีนโยบายสร้างแรงจูงใจให้คนดูแลสุขภาพ ผ่านการให้รางวัลแก่คนสุขภาพดี และนโยบายเชิงป้องกันอื่นๆ เช่น การคัดกรองโรคให้มากขึ้น เพิ่มการฉีดวัคซีน เพราะเราตระหนักว่าต้นทุนการป้องกันโรคถูกกว่าการรักษา
เราตระหนักดีว่าการดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจของประชาชน คนร่ำรวยอาจมีเวลาและทรัพยากรเพื่อใช้ดูแลสุขภาพของตัวเองได้มากกว่าคนยากจน
ดังนั้น ขอยืนยันว่าหากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เราจะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้นตอ ทั้งในเชิงการเมืองและเชิงเศรษฐกิจ ตามที่เราเคยประกาศว่า กาก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต