สัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ PM2.5 ในภาคเหนือรุนแรงมาก บางจังหวัดเช่นเชียงใหม่ กลายเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก บางวันสถานการณ์รุนแรงเกินกว่าที่เครื่องวัดฝุ่นละอองจะวัดได้
ข้อเสนอในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ โดยเฉพาะด้านการป้องกัน บรรเทา และเตือนภัยคงมีคนพูดถึงไปเยอะแล้ว ผมจึงขอพูดอีกประเด็นสำคัญที่ยังไม่พูดถึงมากนัก นั่นคือต้นตอของสาเหตุที่ทำให้ PM2.5 รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
หลายคนรู้ปัญหาดีว่าต้นเหตุของฝุ่น PM2.5 ที่มากขนาดนี้มาจากการเผา โดยเฉพาะการเผาเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรม แต่เบื้องหลังของการเผาเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรม คือธุรกิจการเกษตรที่ทำธุรกิจอย่างไม่รับผิดชอบ
ข้อมูลจาก GISTDA เปิดเผยว่าวันที่ 26 มีนาคม 2566 เพียงวันเดียว ประเทศเมียนมาพบจุดความร้อน 10,563 จุด สปป.ลาว 9,652 จุด และไทยพบจุดความร้อนถึง 5,572 จุด สูงที่สุดในรอบ 5 ปี
จำนวนจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้น สัมพันธ์กับจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 10.6 ล้านไร่ ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมาของประเทศลาว เมียนมา และไทย
สาเหตุของการเผาไม่ต้องไปหาอื่นไกล เกิดจากประเทศไทยของเราเอง ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา ลาว กัมพูชา) ที่เพิ่มขึ้นจากประมาณ 770 ล้านบาท ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 14,325 ล้านบาทในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 18 เท่า
การขยายตัวของกลุ่มทุนไทยที่เข้าไปรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน คือต้นเหตุที่ทำให้เกิดการเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรมในลาวและเมียนมา และเป็นที่มาของฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในภาคเหนือของประเทศไทย
ทุกตันข้าวโพด-ปาล์มน้ำมันที่มาจากการเผาป่า แลกมาด้วยอากาศบริสุทธิ์และอายุขัยคนไทย
จะแก้ปัญหา PM2.5 นอกจากต้องมีมาตรการผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศแล้ว สิ่งสำคัญที่จะแก้ได้จากใจกลางของปัญหา คือต้องกล้าจัดการกับต้นตอที่ทำให้เกิดการก่อมลพิษในประเทศของเราเองด้วยการประกาศนโยบาย “ไม่ยอมรับการเผาทุกกรณี”
ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เราจะประกาศทันทีว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสินค้าเกษตรที่นำเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะที่ผ่านด่านการค้าในภาคเหนือ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เป็นอย่างน้อย เพื่อไม่ให้นำเข้าสินค้าเกษตรที่มีที่มาจากการเผาเหล่านี้เข้าสู่ประเทศไทย ตัดวงจรการเผา ลบจุดแดงบนแผนที่ทางอากาศ
นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องมีกฎหมายให้ผู้มีส่วนในการสร้างหมอกควันพิษต้องรับผิดชอบทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง และประชาชนสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้หากพิสูจน์ได้ว่าบริษัทใดรับซื้อหรือมีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการเผาที่ทำให้เกิดมลพิษลอยเข้ามาในประเทศไทย หลักการเดียวกันกับ ‘กฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน’ หรือ Transboundary Haze Pollution Act ของประเทศสิงคโปร์
ในโลกยุคปัจจุบัน ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และสุขภาพแทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน รัฐบาลที่จะแก้ปัญหา PM2.5 ได้ คือรัฐบาลที่พร้อมชนกับกลุ่มทุน กล้าจัดการกับบริษัทที่ไม่มีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ และสามารถใช้เวทีระหว่างประเทศในการเจรจาสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาระดับภูมิภาค ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็จะร่วมมือและสนับสนุนกับประเทศเพื่อนบ้านในการดับไฟป่า ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของจุดความร้อน และฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ประชาชนทุกประเทศในอนุภูมิภาคต้องเผชิญเช่นกัน
การเมืองดี ระบบเศรษฐกิจที่ดี และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี คือเรื่องเดียวกันครับ