free geoip

Exclusive Lecture ศาลรัฐธรรมนูญกับการยุบพรรคการเมือง


ปิยบุตร แสงกนกกุล


ก่อนการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคก้าวไกลวันนี้ ผมได้มีโอกาสรับเชิญให้มาบรรยายพิเศษในเรื่องศาลรัฐธรรมนูญกับการยุบพรรคการเมือง ทั้งหมดเป็นเนื้อหาทางวิชาการเกี่ยวกับที่ไปที่มาของการมีศาลรัฐธรรมนูญ และสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ

ผมเห็นว่าเพื่อประโยชน์ในการเดินหน้าสู่อนาคต ที่ประเทศไทยตามความเห็นของผมแล้วยังควรมีศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อไป ผมขอสรุปเนื้อหาที่ผมบรรยายในวันนี้ออกมาอีกครั้ง เพื่อให้ทุกท่านได้ร่วมพิจารณาขบคิดไปด้วยกันต่อไปครับ



[ ศาลกับการรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ] 

เมื่อโลกใบนี้กำเนิดเกิดรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศต่างๆ พร้อมด้วยแนวคิดที่ว่าบรรดากฎหมายและการกระทำของรัฐอื่นๆ ต้องห้ามขัดรัฐธรรมนูญ (supremacy of constitutional law) ก็เริ่มมีการคิดกันในโลกตะวันตกว่าต้องมีองค์กรสักองค์กรหนึ่งเข้ามาชี้ขาด ว่าฎหมายที่ตราขึ้นมาโดยรัฐสภาหรือการกระทำของรัฐใดเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

นั่นจึงนำมาสู่ต้นแบบของการมีองค์กรชี้ขาดความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2 แบบ กล่าวคือ

1) แบบสหรัฐอเมริกา ที่ให้ศาลทุกศาลทั้งหมด มีโอกาสชี้ขาดว่ากฎหมายไหนขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าคดีนั้นมีการร้องไปที่ศาลใด หรือก็คือการกระจายอำนาจการตรวจสอบไปให้ทุกศาล แต่รูปแบบดังกล่าวก็มีการคัดค้าน ว่าจะนำไปสู่สภาวะการปกครองโดยผู้พิพากษาหรือไม่ เพราะย่อมเป็นการใช้อำนาจที่ปะทะโดยตรงกับตัวแทนประชาชนที่ตรากฎหมายออกมา

2) แบบฝั่งยุโรป หรือโมเดลออสเตรีย ที่คิดขึ้นโดยฮานส์ เคลเซ่น ที่เห็นว่าควรมีการตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่นี้ เป็นศาลเฉพาะที่เรียกว่า constitutional court หรือศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรเดียวเท่านั้นที่บอกได้ว่าอะไรขัดรัฐธรรมนูญ

แต่ทั้งสองรูปแบบ เมื่อถึงเวลาใช้จริงก็ยังเกิดปัญหาทั้งคู่ ทั้งในกรณีสหรัฐอเมริกาและกรณีออสเตรีย ที่กลายเป็นการเปิดโอกาสให้ศาลเข้ามามีบทบาททางการเมือง จนเป็นที่มาที่วันนี้เริ่มมีนักวิชาการจำนวนมากถกเถียงว่าทั้งสองโมเดลจะเอาอย่างไรต่อไป

ทุกวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกตั้งขึ้นมาและยังยืนอยู่ได้ในหลายประเทศ ด้วยอาศัยสองหลักการสำคัญ นั่นคือหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ค้ำประกันความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญได้ และหลักการว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้คุ้มครองหลักการตรวจสอบเสียงข้างมาก และคุ้มครองเสียงข้างน้อย เปิดทางให้เสียงข้างน้อยมีโอกาสสู้กับเสียงข้างมากได้

ซึ่งแม้จะฟังดูดี เป็นหลักการในอุดมคติของการมีศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในข้อเท็จจริงแล้วการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญก็ยังคงเป็นปัญหาแม้แต่ในบรรดาประเทศต้นแบบเอง โดยเฉพาะในเรื่องของอำนาจการยุบพรรคการเมือง


[ แนวคิดของการยุบพรรคการเมือง ] 

แนวคิดว่าด้วยการยุบพรรคการเมือง เกิดจากนักวิชาการกฎหมายชาวเยอรมันชื่อว่า คาร์ล เลาเวนสไตน์ ที่มีแนวคิดต่อต้านลัทธินาซีจนสุดท้ายต้องลี้ภัยไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แต่ระหว่างนั้นเขาก็ได้เฝ้ามองความเป็นไปของระบอบประชาธิปไตยในเยอรมนี ได้เห็นการขึ้นมาของพรรคนาซีที่ใช้ช่องทางประชาธิปไตยจนเข้าสู่อำนาจและล้มระบอบประชาธิปไตยเสียเอง

คำถามสำคัญของเขา คือประชาธิปไตยที่ยอมให้มีพรรคการเมือง มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีผู้แทนประชาชนในการทำหน้าที่ออกกฎหมาย แต่ประชาธิปไตยที่ไม่มีวิธีป้องกันตัวเอง เปิดทางให้ใครๆ ก็เข้ามามีอำนาจรัฐได้ แล้วเมื่อได้อำนาจมาแล้วเกิดล้มประชาธิปไตยขึ้นมาจะทำอย่างไร?

นั่นจึงนำมาสู่แนวคิดประชาธิปไตยที่ปกป้องตนเองได้ (militant democracy) ที่ถูกนำมาใช้กับรัฐธรรมนูญหลังสงครามโลกครั้งที่สองของหลายประเทศ ที่มีประสบการณ์พบเจอการขึ้นสู่อำนาจของลัทธิฟาสซิสต์มาแล้ว ให้ประชาธิปไตยสามารถปกป้องตัวเองจากการถุกล้มล้างได้ เช่น หากมีพรรคการเมืองใดใช้เสรีภาพในการล้มล้างการปกครอง พรรคการเมืองนั้นต้องถูกห้าม/ยุบ หรือหยุดการกระทำ หรือหากมีกรณีเกี่ยวกับคดีอาญาก็ต้องถูกดำเนินคดี

สำหรับกรณีของประเทศไทย ศาลรัฐธรรมนูญและแนวคิดเรื่องการยุบพรรคการเมือง ได้ถูกนำเข้ามาพร้อมกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มุ่งหมายให้เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง แต่จากจุดนี้ก็จะเห็นได้ว่าวิธีคิดเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงวิธีคิดเรื่องการยุบพรรค สำหรับต่างประเทศและประเทศไทยเป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง 

สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกเป็นประสบการณ์ที่ประเทศต่างๆ เคยเผชิญภัยจากลัทธิฟาสซิสต์ด้วยตัวเอง เมื่อประชาธิปไตยเปิดทางให้คนเข้ามาล้มประชาธิปไตย จึงต้องมีการป้องกันตัวเอง และได้คิดเรื่องศาลรัฐธรรมนูญและการยุบพรรคขึ้นมา แต่สำหรับประเทศไทยไม่ได้ผ่านประสบการณ์เหล่านี้ ไม่มีพรรคไหนล้มล้างการปกครอง ที่เอาเข้ามาเพราะเป็นเพียงตัวแบบที่ลอกกันมา 

ดังนั้น เมื่อมีการนำเข้าสถาบันทางกฎหมายมาจากโลกตะวันตก ก็ย่อมเป็นธนรมดาที่กลุ่มคนมีอำนาจจะเอามาใช้อย่างบิดผัน ตัดต่อพันธุกรรมให้เป็นแบบไทยๆ ไม่เหมือนกับที่ใช้กัน


[ แนวปฏิบัติกรณียุบพรรคการเมืองของคณะกรรมาธิการเวนิส ]

เมื่อวานนี้ นายทะเบียนพรรคการเมือง คุณแสวง บุญมี ได้โพสต์บทความวิชาการโดยอ้างอิงถึงแนวคิดตะวันตก เพื่ออธิบายความชอบธรรมของการยุบพรรค ซึ่งสำหรับผมแล้วนี่เป็นเพียงเทคนิคของคนมีอำนาจในประเทศไทย ที่บางทีก็บอกว่าอย่าอ้างฝรั่ง แต่อันไหนที่อ้างแล้วตัวเองได้เปรียบก็จะอ้าง แล้วก็ยังอ้างผิดอ้างถูก เอามาใช้ในประเทศไทยก็บิดเพี้ยน เอามาใช้เป็นเครื่องมือเพียงเพื่อจัดการฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกด้วยเหมือนกัน มีหลายประเทศที่นำการยุบพรรคไปใช้เป็นเครื่องมือในการยุบพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม บรรดาประเทศในฝั่งยุโรปจึงคิดขึ้นมาว่ามาตรการยุบพรรคหากต้องถูกนำมาใช้ จะใช้ให้ถูกต้องได้อย่างไร 

จึงเกิดกรณีที่ Council of Europe ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาประชาธิปไตยของรัฐสมาชิก ตั้งกรรมการส่งเสริมประชาธิปไตยโดยกฎหมาย (กรรมาธิการเวนิส) ขึ้นมา คอยสอดส่องว่ารัฐสมาชิกได้ปฏิบัติตามมาตรฐานเรื่องการเลือกตั้ง พรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญ เสรีภาพในการรวมตัวตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ 

เมื่อเห็นว่าเริ่มมีการยุบพรรคที่ไม่เป็นไปตามแนวคิดเริ่มต้นขึ้นมา จึงได้มีการออกแนวปฏิบัติขึ้นมาเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 1999 ว่าหากบรรดารัฐสมาชิกต่างๆ ต้องการกำหนดมาตรการยุบพรรคการเมืองต้องเป็นแบบใด หากจะมีการยุบพรรคต้องเป็นแบบใด 7 ข้อ ประกอบด้วย

1) ยืนยันเสรีภาพในการรวมตัวกันก่อตั้งพรรคการเมือง

2) การยุบพรรคต้องเคารพอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนของยุโรปและข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นที่เกี่ยวข้อง

3) พรรคที่ถูกยุบได้ ก็ต่อเมื่อต้องใช้ความรุนแรงในการทำลายระบบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และการที่พรรคการเมืองเสนอแก้กฎหมายตามกระบวนการ ไม่ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง

4) พรรคการเมืองไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของสมาชิกที่ไม่ได้รับอนุญาตจากพรรคให้กระทำการ

5) การยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย หลังใช้มาตรการและกลไกอื่นๆ ของรัฐแล้ว

6) การยุบพรรคเป็นข้อยกเว้น ต้องตีความอย่างเคร่งครัดอย่างยิ่งว่าเป็นการกระทำของพรรคจริงๆ และต้องเป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุ

7) ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลอื่นมีอำนาจยุบพรรค โดยต้องมีกระบวนพิจารณาที่เป็นธรรม โปร่งใส และรับประกันสิทธิของคู่ความ


[ เส้นทางยุบพรรคการเมือง จากไทยรักไทยถึงก้าวไกล ]

ตั้งแต่มีการใช้รัฐธรรมนูญ 2540-2550-2560 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีมหกรรมการยุบพรรคตั้งแต่กรณีเล็กน้อยไปจนถึงกรณีใหญ่เกิดขึ้นหลายกรณี แต่หากกล่าวถึงเฉพาะกรณีใหญ่ที่ส่งผลต่อการเมืองไทย ไล่เรียงตามลำดับจะเห็นว่ามีคำวินิจฉัยสำคัญ ประกอบด้วย

คำวินิจฉัยตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 ยุบพรรคไทยรักไทย และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 111 คน

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18, 19 และ 20/2551 ยุบพรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคพลังประชาชน ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 109 คน

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 13 คน

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 16 คน

ซึ่งทิศทางของการยุบพรรคจากกรณีแรกมาถึงกรณีล่าสุด จะเห็นข้อสังเกตว่าเริ่มต้นก่อนหน้านี้เป็นเรื่องของความผิดในกฎหมายเลือกตั้ง และกรณีเทคนิคทางกฎหมาย แต่มาถึงปัจจุบันเริ่มมีการใช้กระบวนการยุบพรรคด้วยข้อหาล้มล้างการปกครองมากขึ้น 

ซึ่งถ้าย้อนกลับไปอ่านคำวินิจฉัยคำวินิจฉัยที่ 3/2562 ยุบพรรคไทยรักษาชาติ มาจนถึงกรณีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 กรณีสั่งพรรคก้าวไกลยุติการกระทำ เมื่ออ่านคำวินิจฉัยทั้งสองฉบับนี้ทุกบรรทัดทุกย่อหน้า ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น ซึ่งผมมีความเห็นว่าการร้องยุบพรรคกันด้วยเรื่องแบบนี้ ไม่เป็นคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง

20 ปีที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญกับการเมืองไทยมีบทบาทสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกและปฏิเสธไม่ได้

ศาลรัฐธรรมนูญถูกนำเข้ามาด้วยรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่เริ่มมามีบทบาทจนคนตั้งข้อสงสัยมากขึ้นตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ซึ่งผมแบ่งออกเป็น 4 เฟส ประกอบด้วย

เฟส 1 “ตุลาการภิวัตน์” เริ่มต้นจาก อ.ธีรยุทธ บุญมี ที่นำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อผู้พิพากษาศาลยุติธรรมและศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 มาอธิบายขยายความต่อว่านี่คือ “ตุลาการภิวัตน์” พร้อมเรียกร้องให้ศาลมามีบทบาทมากขึ้นในการแก้ไขวิกฤติทางการเมือง

จากนั้น จึงนำมาสู่คดีความที่ศาลเริ่มใช้บทบาทของตัวเองมากขึ้น ทั้งในคดีการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้เป็นโมฆะทั้งประเทศ หลังจากนั้นเมื่อเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คณะรัฐประหารได้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ พร้อมนำประกาศคณะรัฐประหารมาใช้ให้มีผลย้อนหลังในการยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค 111 คน

เฟส 2 “รัฐประหารทางตุลาการ” เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง 2551 ที่นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ที่ดำรงตำแหน่งได้เพียงไม่กี่เดือนแล้วก็ต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากคดี “ชิมไปบ่นไป” กลายเป็นการตัดสินคดีที่ส่งผลให้ล้มรัฐบาล และไม่นานหลังจากนั้นก็ตามมาด้วยการยุบพรรคพลังประชาชน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนขั้วจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ซึ่งในทางวิชาการมีการเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น judicial coup หรือการรัฐประหารทางตุลาการ

หลังจากนั้นมา ศาลรัฐธรรมนูญได้กลับมามีบทบาทอีกครั้งระลอกใหญ่ หลังการเลือกตั้ง 2554 ที่นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

ในปี 2555 เมื่อเริ่มมีการแก้รัฐธรรมนูญ มีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญขึ้นไปให้วินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ให้คำแนะนำกลับมาว่าต้องมีการประชามติก่อน ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้ระบุถึง รัฐบาลจึงเปลี่ยนแผนมาเป็นการแก้รายมาตรา เปลี่ยนที่มา สว. ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เมื่อมีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญไปอีก คราวนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาว่าแก้ไม่ได้ เพราะจะเป็นการได้อำนาจมาซึ่งวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

จากนั้นมา ศาลรัฐธรรมนูญได้เข้ามามีบทบาทในการวินิจฉัยคดีที่ส่งผลต่อการเมืองอีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งว่าเป็นการใช้เสรีภาพการแสดงออกด้วยการชุมนุม, กรณี พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านที่มีการวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ, กรณีสั่งย้ายคุณถวิล เปลี่ยนสี ที่มีการวินิจฉัยให้คุณยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่ทว่าบทบาทเหล่านี้ก็เริ่มจางหายไปภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเข้าสู่เฟสที่ 3

เฟส 3 “ศาลเงียบ” เมื่อการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เกิดขึ้น คณะ คสช. ไม่ได้ยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้งแล้วแต่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาแทนที่เหมือนกรณี คปค. แต่ยังให้ศาลรัฐธรรมนูญดำรงอยู่ต่อไป 

แต่สิ่งที่น่าสังเกต ก็คือตั้งแต่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา สถิติการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 มามีเพียง 2 คำวินิจฉัย และในปี 2560 มีเพียง 3 คำวินิจฉัยเท่านั้น

เฟส 4 “นิติสงคราม” หลังเลือกตั้ง 2562 ศาลรัฐธรรมนูญกลับมามีบทบาทอีกครั้ง บรรดานักร้องนำกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือจัดการฝ่ายตรงข้าม โดยคนที่ตกเป็นเหยื่อคือฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทั้งหมด ทั้งพรรคไทยรักษาชาติ คุณธนาธรจากกรณีหุ้นสื่อ มาถึงการยุบพรรคอนาคตใหม่ การชุมนุมของเยาวชนในปี 2564 มาจนถึงพรรคก้าวไกลในวันนี้

ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นความแตกต่างในทั้ง 4 เฟสอย่างเห็นได้ชัด ในยุคที่เป็นรัฐบาลไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย มีการเล่นงานคนถืออำนาจบริหารอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อมาถึงยุครัฐบาล คสช. มาจนถึงรัฐบาลประยุทธ์ เราจะเห็นภาพของการเล่นงานฝ่ายค้านเป็นหลัก

ข้อสรุปของผมก็คือต่อให้พูดให้ตายว่าไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่คดีต่างๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาใช้อำนาจนั้น เกี่ยวกับการเมืองอย่างแยกไม่ออกและปฏิเสธไม่ได้จริงๆ


[ อนาคตศาลรัฐธรรมนูญ ] 

มาถึงจุดนี้ หลายคนมีคำถามต่อว่าในอนาคตเราจะเอาอย่างไรต่อดีกับศาลรัฐธรรมนูญ จะยุบเลิกหรือไปต่อ? 

สำหรับผมแล้ว ส่วนตัวเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญควรมีอยู่ต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญยังมีประโยชน์ต่อสังคมประชาธิปไตย และถ้าออกแบบให้ดี มีการจำกัดอำนาจ สร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลให้ได้ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นกลไกสำคัญในการรักษารัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย และการตรวจสอบอำนาจรัฐที่ดีได้

ผมจึงมีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ 4 ข้อ กล่าวคือ

1) แก้ไของค์ประกอบและที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่ออำนาจศาลรัฐธรรมนูญจ้องปะทะกับองคาพยพที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ต้องมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยที่สูสีกัน ซึ่งในหลายประเทศ ใช้วิธีการให้ตุลาการทั้งหลายต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น ในกรณีตัวแบบออสเตรีย ครึ่งหนึ่งให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นคนเลือก อีกครึ่งหนึ่งให้วุฒิสภาเลือก โดยใช้มติเสียงข้างมากแบบสูง คือ 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4

สำหรับกรณีประเทศไทย ผมเสนอให้ใช้วิธีการมาจากการเสนอชื่อโดยพรรคร่วมรัฐบาล 3 ท่าน พรรคร่วมฝ่ายค้าน 3 ท่าน และที่ประชุมตุลาการ 3 ท่าน โดยใช้เสียงข้างมากแบบสูง เพื่อให้ปลดล็อกตุลาการรัฐธรรมนูญออกจากความสัมพันธ์กับผู้ทำรัฐประหาร และให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

2) อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ควรทำหน้าที่เพียง 2 ประการ กล่าวคือ 1) การวินิจฉัยว่ากฎหมายที่สภาตรามาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ 2) เป็นผู้ชี้ขาดกรณีความขัดแย้งทางอำนาจระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนอำนาจในการยุบพรรคนั้น ถ้าจะมีต่อไปก็ต้องตีกรอบให้เคร่งครัด ไม่ใช่ปล่อยให้ตีความได้กว้างขวางและไม่มีความแน่นอนชัดเจนเช่นนี้

3) ยกเลิกความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีมาก่อน แต่มามีในศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน เมื่อใดก็ตามที่องค์กรของรัฐหรือสถาบันทางการเมืองใด สามารถใช้อำนาจได้โดยไม่ถูกวิจารณ์ตรวจสอบ หรือวิจารณ์แล้วเสี่ยงที่จะมีความผิด นานวันเข้าองค์กรเหล่านั้นก็จะกล้าใช้อำนาจในทางที่ผิดมากขึ้น

4) สร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลศาลรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มกระบวนการให้ประชาชนและสมาชิกรัฐสภามีอำนาจในการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ ในกรณีการใช้อำนาจที่จงใจขัดกับรัฐธรรมนูญ

โดยปกติของประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญแล้ว อำนาจที่สภาพอจะมีในการตรวจสอบถ่วงดุลกับศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็คืออำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ทุกวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญไทยกลับมีอำนาจในการตรวจสอบว่าแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่ 

ดังนั้น เราจึงควรกลับไปสู่จุดที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่มีอำนาจตรวจสอบการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะนี่คือเป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญที่ประชาชนใช้ในการแก้รัฐธรรมนูญผ่านตัวแทนของพวกเขา


[ ประเทศไทยและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้อะไรจากการยุบพรรค? ]

สุดท้ายนี้ ผมยังยืนยันถึงความจำเป็นในการมีศาลรัฐธรรมนูญอยู่ เพียงแต่จะออกแบบอย่างไรให้ผู้คนเชื่อมั่นได้ว่าเป็นองค์กรที่พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ และมีความจำเป็นต่อประชาธิปไตยในประเทศไทยจริงๆ

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา พวกเราผ่านเหตุการณ์มาหลายเหตุการณ์ ทั้งการยุบพรรคการเมืองและคำวินิจฉัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากมาย มาจนถึงวันนี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคก้าวไกล 

เรื่องนี้ไม่ได้สำคัญแค่กับพรรคก้าวไกล แต่สำคัญกับประเทศไทย แน่นอนว่าหากพรรคก้าวไกลถูกยุบ คนในพรรคก้าวไกลที่ไม่ถูกตัดสิทธิจะเดินหน้าต่อ และอาจได้คะแนนกลับมามากกว่าเดิม ชะตากรรมนักการเมืองกลุ่มนี้ยังคงเดินหน้าต่อไป 

แต่สิ่งที่จะได้รับกลับมาอีก ก็คือคำถามว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่จะถูกนำมาใช้ชี้ขาดในวันนี้ มีความหมายอย่างไรกันแน่? เรากำลังเดินมาถึงจุดที่เราต้องอธิบายใหม่อีกครั้ง ว่าประเทศนี้ปกครองด้วยระบอบอะไร เนื้อหาของระบอบนั้นเป็นอย่างไรกันแน่?

จนถึงวันนี้ผมยืนยันว่าประเทศไทยต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่โลกปัจจุบันเป็นโลกสมัยใหม่ ความคิดความอ่านผู้คนเปลี่ยนไปมาก จะทำอย่างไรที่จะรักษาความชอบธรรมตามประวัติศาสตร์ชาติไทยและประเพณีไทย กับความชอบธรรมเรื่องประชาธิปไตยแบบโลกสมัยใหม่ เราจะรักษาองค์ประกอบสำคัญของประเทศไทยทั้งสองสิ่งไปด้วยกันไม่ได้หรือ?

Login

จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล 7 สิงหาคม 2567 เราขอยุติการรับสมัครสมาชิกพรรคและการรับบริจาค ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้อดีต ส.ส. พรรคก้าวไกลทั้งหมดได้ย้ายไปยังพรรคประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กรุณาติดต่อที่ เว็บไซต์พรรคประชาชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า