free geoip

กระทรวง DE มีไว้ทำไม ถ้าผลงานมีรัฐมนตรีมีแค่ไล่ฟ้องประชาชน



หากถามว่านับตั้งแต่ก่อตั้ง/เปลี่ยนชื่อ กระทรวงไหนดูจะไร้ผลงานและไร้ประโยชน์ที่สุด

สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา โฆษกพรรคก้าวไกล บอกกับเราว่าหนึ่่งในกระทรวงที่ต้องติดอันดับในดวงใจไม่หลุดท็อปทรีของใครหลายคนอย่างแน่นอนก็คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือที่เรียกกันสั้นๆว่า ‘ดีอีเอส’ ไม่ว่าจะเป็นภายใต้การบริหารของอดีตรัฐมนตรี พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ที่โชว์ผลงานโดดเด่นด้วยการปิดการเข้าถึงเว็บไซต์ Pornhub ในประเทศไทย หรือจะเป็นรัฐมนตรีคนปัจจุบันอย่าง ‘ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์’ ที่กำลังแข่งทำผลงานประเภทสั่งปิดสั่งจับอย่างไร้ประโยชน์ไม่แพ้กัน ทั้งคู่ต่างก็ทำให้ดีอีเอสกลายเป็นกระทรวงที่ควรจะเป็นความหวังกลับกลายเป็นความสิ้นหวังไปอย่างน่าหดหู่ใจ

“เขากำลังไล่ฟ้องประชาชนอย่างบ้าคลั่ง ประหนึ่งเป็นงานรักงานหลักที่รอคอยมานาน เขาเร่งดำเนินคดีกับประชาชน รวมถึงไปถึงสื่อมวลชน ทั้งที่บทบาทของดีอีเอสควรเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจในข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง หากมีการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดคาดเคลื่อนหรือที่เรียกว่า misinformation และต้องไม่ใช่การตีว่าเป็น fake news ไปเสียหมดอย่างที่กำลังทำอยู่”

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การดำเนินคดีกับประชาชนหลายราย เช่น ดำเนินคดีผู้ที่โพสต์ว่า “พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่วัดสังฆทาน จำนวน 300 ราย ดำเนินคดีผู้ที่โพสต์ว่า “ศบค. ประกาศเคอร์ฟิว เวลา 23.00 – 04.00 น. พื้นที่สีแดง 18 จังหวัด” ดำเนินคดีผู้ที่โพสต์ว่า “เคอร์ฟิวทั่วประเทศ ห้ามออกจากบ้าน ตั้งแต่ 4 ทุ่ม – ตี 4 เริ่มวันที่ 23 เม.ย.64 นี้” เป็นต้น”


สุทธวรรณ อธิบายว่า กรณีที่ยกมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่กำลังจะถูกดำเนินคดีโดยดีอีเอส ขณะที่หากใช้มาตรฐานเดียวกัน คงเป็นรัฐบาลเองต่างหากที่จะไม่พ้นต้องถูกจัดการเช่นกัน

“หากย้อนดูดีๆ หน่วยงานรัฐก็เคยแจ้งข้อมูลที่คาดเคลื่อน กรณีล่าสุด เมื่อวันที่ 12 พ.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า “วอล์คอินฉีดซีนได้ โดยจนท.จะฉีดให้สำหรับผู้มีรายชื่อเท่านั้น” 16 พ.ค. ผู้ว่ากทม.บอกว่า “วัคซีนไม่พอ วอล์คอินไม่ได้ ต้องรอเดือนมิถุนายน” 18 พ.ค. ตอนเช้า อนุทินบอก “วอล์คอินได้ถ้าวัคซีนพอ ตกบ่าย นายกฯบอก “ให้ระงับการฉีดวัคซีน” นี่คือตัวอย่างการให้ข้อมูลที่คาดเคลื่อนของรัฐ ซึ่งคล้ายกับประชาชนหลายรายที่กำลังจะถูกดำเนินคดี”

“จึงต้องเป็นคำถามว่า ถ้าหากจะฟ้องประชาชนที่โพสต์ข้อความให้เกิดความสับสน ก็ควรจะต้องฟ้องหน่วยงานรัฐด้วยหรือไม่ เพราะเจ้าหน้ารัฐก็ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนเช่นกันและที่สำคัญก็คือข้อมูลจากรัฐเองต่างหากที่ควรจะไม่คาดเคลื่อนเพราะรัฐเป็นทั้งผู้กุมข้อมูลและการตัดสินใจ ซึ่งหากการสื่อสารจากภาครัฐมีความชัดเจนตั้งแต่ต้น ความสับสนต่างๆก็คงไม่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับข่าวลือต่างๆที่จะไม่สามารถทำงานได้เลยหากประชาชนมีความเชื่อถือในข้อมูลของรัฐ แต่เมื่อรัฐเองก็สับสน ทำไมการเพ่งโทษจึงมีเฉพาะกับประชาชน”


แต่ปัญหาของดีอีเอสไม่ใช่เพียงเรื่องนี้ สุทธวรรณ ยังมีคำถามต่อบทบาทของกระทรวงนี้และบรรดาเจ้ากระทรวงที่เข้ามานั่งบริหาร อย่าง นายชัยวุฒิ ก็ชวนกังขาว่ามีความสามารถพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือมีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะเหตุว่ากระทรวงนี้ดูจะไม่มีบทบาทในการขับเคลื่อน ‘ดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม’ ตามชื่อได้เลย ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มี ‘ยูนิคอร์น’ แม้แต่ตัวเดียว หากเทียบกับเพื่อนบ้านบางประเทศที่มีไปหลายตัวแล้ว

หรืออย่างการเรียนออนไลน์เมื่อเกิดปัญหากับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่เข้าไม่ถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ต จนต้องออกมานั่งกลางแดดเพื่อเรียนหนังสือ สิ่งที่หน่วยงานรัฐรีบเข้าไปแก้ไขคือการตั้งเต็นท์บังแดดด้วยสีหน้าภาคภูมิใจ หรือกระทั่งว่าในช่วงเวลาวิกฤติโควิดแบบนี้ แทนที่ควรจะคิดนำเทคโนโลยีมาใช้กลับกลายเป็นกระทรวงที่ลอยชายไม่มีบทบาทอะไรในด้านนี้เลย

“ภารกิจหลักที่ท่านตั้งใจเข้ามาทำคืออะไรกันแน่ ในสถานการณ์โควิดเช่นนี้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์บ้าง มีแต่การขู่ฟ้องประชาชนและสื่อมวลชนเป็นหลัก ไล่ฟ้องแบบมอญซ่อนผ้าโยนนู่นยัดคดีนี่ด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จนไปถึงมาตรา112 เพื่อเอาใจนายไปวันๆเท่านั้นหรือ ทำได้เท่านี้จริงๆหรือ ขอร้องว่า หากมีเวลาว่างมาก โปรดกันช่วยกันระดมสมองมาปรับปรุงระบบ อย่างน้อยแอพพลิเคชั่น ‘หมอพร้อม’ ควรพร้อมใช้งานได้จริง อย่าให้ล่มบ่อย”

“หรือจะพัฒนาแอพใหม่ที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ การศึกษา หรือแก้ไขปัญหาสังคมจะดีกว่าการไล่ปิดกั้นความเห็น เป็นตำรวจทางความคิดวันๆคอยแต่สอดส่องจับผิดประชาชน ซึ่งนั่นก็คือการทำลายความความสร้างสรรค์ รวมถึงการตรวจสอบอย่างเปิดเผยโปร่งใสโดยสาธารณะซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากและควรถือเป็นหัวใจของงานด้านการส่งเสริมดิจิทัลของประเทศ”



สุทธวรรณทิ้งท้ายว่าเราเห็นรัฐบาลหลายประเทศที่มีบทบาทในการพัฒนา “ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็น


ไต้หวัน

ภายใต้การส่งเสริมเสรีภาพและข้อมูลเปิดเผยบนโลกออนไลน์ ทำให้ ‘ออเดรย์ ถัง’ รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวัน ได้รับการวางใจจากประชาชนโดยไม่ต้องใช้กฎหมายบังคับ สามารถการพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมระบบแทรคเกอร์ผ่านแอปพลิเคชันเพื่อบอกพิกัดร้านที่มีสต็อกหน้ากากอนามัยพร้อมแจกจ่าย แสดงความโปร่งใสและเป็นธรรมของรัฐในการกระจายอุปกรณ์ป้องกันโรค และการแจ้งเตือนหากพบผู้ติดเชื้อไปยังบุคคลใกล้เคียง จึงทำให้ไต้หวันสามารถควบคุมการระบาดของเชื้อได้เร็ว



เวียดนาม

Start Up ‘ยูนิคอร์น’ ตัวใหม่คือ VNG Corporation ที่มีพื้นฐานมาจากเกมออนไลน์และอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรในประเทศเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจนทำให้สามารถก้าวกระโดดและขยับไปไกลจากไทยมากขึ้นทุกที และหากปรายตาไปดูประเทศอาเซียนในปัจจุบัน ก็จะพบว่า สิงคโปร์ ,อินโดนีเซีย , มาเลเซีย ก็ล้วนมียูนิคอร์นทั้งสิ้น

คำถามก็คือ ภายใต้การบริหารของดีอีเอสไทยที่วันๆเอาแต่ใช้เวลาไปไล่จับประชาชนแทนที่จะนำเอาเวลาไปสร้างสรรค์เศรษฐกิจ ปลดล็อกข้อจำกัดด้านกฎหมายต่างๆ ‘ยูนิคอร์น’ตัวแรกของไทยจะเกิดขึ้นได้จริงเมื่อไหร่กันแน่



เกาหลีใต้

เกาหลีใต้หันวางรากฐานเศรษฐกิจประเทศใหม่ด้วยการผลักกัน ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ และมีการตั้งกระทรวงขึ้นมาดูแลเฉพาะซึ่งอาจเป็นต้นแบบการเกิดขึ้นของดีอีเอาเพื่อเป็นผู้คุมหางเสือทางเศรษฐกิจใหม่แทนอุตสาหกรรมการผลิตแบบเดิม เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิง จนสามารถเกิดเป็น Korean Wave ไปทั่วโลก ขณะที่ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อดิจิทัล ก็ถูกยกขึ้นมาเป็นทิศทางของการพัฒนาเช่นกัน เกาหลีใต้มีประชากรที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากที่สุดในโลก ในเมืองหลวงสามารถครอบคลุมได้ถึง ร้อยละ 98 และจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศอยู่ที่ราวร้อยละ 78 ภายใต้นโยบายรัฐที่มุ่งพัฒนา ‘โครงสร้างสื่อดิจิทัล’ ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมเกาหลีใต้อย่างมากสามารถผลักดันบริษัทใหญ่ให้พัฒนาเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกับระบบออนไลน์ได้

“เป็นที่ชัดเจนว่า บทบาทแทบทั้งหมดเหล่านี้กลับไม่ใช่สิ่งที่กระทรวงดีอีเอสและนายชัยวุฒิกำลังทำเลย จึงเป็นคำถามที่ต้องถามกันให้ชัดๆอีกครั้งว่า กระทรวงดิจิตอลฯมีไว้ทำไม และหากผลงานจะมีแค่ไล่ฟ้องประชาชนก็ควรจะยุบไปอย่าให้เป็นภาระทางงบประมาณของประเทศจะดีกว่า” สุทธวรรณกล่าวทิ้งท้าย

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า