การเมืองดี เกิดจากระบบที่ดี: ถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งเยอรมนี 2021
การเมืองในฝันของเราเป็นอย่างไร? คำตอบของหลายคนคงเป็นการเมืองที่มีเสถียรภาพ มีนักการเมืองน้ำดี ส.ส. มีความแตกต่างหลากหลายสะท้อนเสียงของประชาชน การตั้งรัฐบาลต่อรองกันด้วยของนโยบาย ไม่ใช่ผลประโยชน์หรือตำแหน่ง
สิ่งเหล่านี้เราอาจคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ระบบที่สร้างการเมืองให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราอยากเห็นมากที่สุด คือประเทศเยอรมนี
หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของโลกในปี 2021 คือการเลือกตั้งใหญ่ประเทศเยอรมนี ซึ่งน่าจับตามองเพราะเป็นการเลือกตั้งหลังจากที่อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กแห่งเยอรมนี ประกาศวางมือหลังจากดำรงตำแหน่งมานานกว่า 16 ปี
ทิศทางของเยอรมนี ในฐานะประเทศที่เป็นเสาหลักของสหภาพยุโรป จะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็เป็นเรื่องน่าติดตามกันอย่างใกล้ชิด แต่การเลือกตั้งในครั้งนี้ของเยอรมนี มีหลายอย่างที่เป็นตัวแบบของประชาธิปไตยให้เราสามารถนำมาปรับใช้ได้
เรื่องที่น่าสนใจคือ ระบบเลือกตั้งที่สามารถสะท้อนสัดส่วนเสียงของประชาชน ไปสู่เสียงในสภาผู้แทนราษฎร โดยระบบเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” (MMP) ของเยอรมนี เป็นระบบเลือกตั้งที่สร้างความสมดุลระว่าง ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ โดยมีที่นั่งในสภาคำนวณตามสัดส่วนคะแนนเสียงของประชาชนที่ลงให้แต่ละพรรค ทำให้เราเห็นการเพิ่ม ส.ส. บัญชีรายชื่อ ให้แต่ละพรรคการเมืองได้ที่นั่งตามสัดส่วน
ยกตัวอย่างเช่น
- พรรค Christian Democratic Union (CDU) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเดิม มีนโยบายแบบกลางขวา ได้คะแนนเสียงจากประชาชนทั้งหมด 19% แต่ได้ ส.ส. เขต 98 ที่นั่ง (ซึ่งคิดเป็น 13% ของจำนวน ส.ส. พึงมีทั้งหมดในสภา 735 ที่นั่ง) จึงมีการเพิ่มจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นมาอีก 53 ที่นั่ง ทำให้มี ส.ส. ทั้งสิ้น 151 ที่นั่งใกล้เคียงกับสัดส่วนที่ประชาชนเลือก
- พรรค Social Democratic Party (SPD) อีกหนึ่งพรรคใหญ่ของเยอรมนี ซึ่งมีนโยบายแบบกลาง-ซ้าย ที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 26% ได้ ส.ส. เขต 121 ที่นั่ง (คิดเป็น 16% จากจำนวน ส.ส.พึงมีทั้งสภา) จึงมีการเพิ่ม ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก 85 ที่นั่ง รวมเป็น 206 ที่นั่ง ตามสัดส่วนคะแนนเสียงของประชาชน
- ที่น่าสนใจคือ พรรค The Greens (GRÜNE) ที่นำเสนอนโยบายก้าวหน้าต่างๆ เช่น อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ ที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้คะแนนเสียง 15% แต่ได้ ส.ส.เขตเพียง 16 ที่นั่ง จาก ส.ส.พึงมีทั้งสภา 735 ที่นั่ง ทำให้ระบบเลือกตั้งเพิ่ม ส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออีก 102 ที่นั่ง ให้ได้ตามสัดส่วนคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือก
ไม่ใช่มีแต่พรรคการเมืองแนวก้าวหน้าเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ระบบเลือกตั้ง MMP ของเยอรมนี ยังให้พื้นที่กับพรรคการเมืองที่ชูแนวทางของตัวเองให้มีตัวแทนในระบบการเมือง เช่น
- พรรคทุนนิยม-เสรีนิยมสุดขั้ว Free Democratic Party (FDP) ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 92 ที่นั่ง ทั้งที่ไม่ชนะ ส.ส. เขตเลยแม้แต่เพียงเขตเดียว
- พรรคซ้ายจัด อดีตพรรคคอมมิวนิสต์ในเยอรมันตะวันออก DIE LINKE มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 36 ที่นั่ง ทั้งที่ชนะ ส.ส. เขตเพียง 3 ที่นั่ง
- พรรคชาตินิยมขวาจัด Alternative for Germany (AfD) ก็ได้ ส.ส. เพิ่ม 67 ที่นั่ง ทั้งที่ ส.ส. เขตชนะเพียง 16 ที่นั่ง
- พรรค South Schleswig Voters’ Association (SSW) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของคนเชื้อสายแดนิชและกลุ่มชาติพันธุ์ฟรีเซียนทางตอนเหนือ ไม่มี ส.ส. เขต แต่ได้บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง
ระบบเลือกตั้งที่เปิดพื้นที่ให้พรรคการเมืองที่หลากหลาย ทำให้เราเห็นการเติบโตของแนวทางการเมืองแบบอื่น นอกเหนือจาก 2 พรรคใหญ่
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เราเห็นความเติบโตของพรรค The Greens ที่ได้ ส.ส. ในสภามากขึ้นถึง 50 ที่นั่ง จากสัดส่วนคะแนนเสียงประชาชนที่เลือกพรรคเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 26% ขณะที่พรรค CDU ซึ่งเป็นรัฐบาลเดิมของได้ลดลงถึง 50 ที่นั่ง ตามสัดส่วนคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกลดลง
ระบบเลือกตั้งแบบ MMP ของเยอรมนี ทำให้พรรคการเมืองที่เน้นนโยบายเป็นไปได้ ทำให้พรรคการเมืองสามารถนำเสนอแนวนโยบายที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อย่างรวดเร็ว
ในกรณีที่พรรคการเมืองเก่าไม่สามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ ระบบก็พร้อมจะเปิดให้ความแตกต่างหลากหลาย แต่ในกรณีที่มีพรรคการเมืองที่นำเสนอแนวทางและนโยบายที่ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างท่วมท้น ก็สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ โดยไม่จำเป็นประนีประนอมกับ “การเมืองแบบเดิม” เพื่อเอาชนะเลือกตั้ง
จากประสบการณ์ของเยอรมนี ถึงเราจะเห็นพรรคการเมืองหลายพรรค แต่การเมืองก็ยังมีเสถียรภาพ เพราะในการคำนวณจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ กำหนดให้พรรคการเมืองต้องได้คะแนนเสียงขั้นต่ำ 5% ทำให้เราเห็นพรรคการเมืองเพียง 8 พรรคในรัฐสภาเยอรมัน ไม่ใช่ 21 พรรคเหมือนประเทศไทย
แล้วถามว่าทำไมในระบบการเมืองที่ไม่ใช่พรรคใหญ่กินรวบแบบเยอรมนีถึงไม่มีการต่อรองเก้าอี้จากพรรคขนาดกลางที่เป็น The King Maker? นั่นเป็นเพราะเยอรมนีมี “ข้อตกลงการร่วมรัฐบาล” (Koalitionsvertrag) ซึ่งเป็นร่างข้อตกลงการทำนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรค ก่อนการตั้งรัฐบาล ทำให้การเจรจาตั้งรัฐบาลยึดตามนโยบายเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ผลประโยชน์หรือตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรี