
จาก 6 ตุลา 19 สู่ 6 ตุลา 64 : 45 ปีที่ประชาชนไทยเดินหน้าแล้ว แต่รัฐยังคงก้าวถอยหลัง
เหตุการณ์ “6 ตุลา 19” เดินทางมาครบรอบปีที่ 45 ในวันนี้
โดยยังคงเป็นความทรงจำที่ขมขื่น สำหรับทั้งเหยื่อของเหตุการณ์และของสังคมไทย และยังคงดำรงอยู่ในฐานะประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีการชำระสะสางอย่างเป็นทางการ และมีความพยายามจากผู้มีอำนาจมาโดยเสมอ เพื่อให้สังคมไทย “ลืม” เหตุการณ์ดังกล่าว
การรำลึก 6 ตุลา 19 มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ในวันที่อำนาจรัฐยังคงไล่ปราบปราม กดทับ จับกุม ผู้ที่คิดเห็นต่างออกไปจากผู้มีอำนาจ

ห่ากระสุน ระเบิด เปลวเพลิงที่เผามอดไหม้ร่างของเหยื่อ และเชือกที่แขวนคอพร้อมเก้าอี้พับระดมฟาดเมื่อ 45 ปีที่แล้ว ล้วนกระทำไปด้วยความคิด สำนึก และจิตใจที่ไม่ต่างกันไปกับการระดมยิงแก๊สน้ำตา กระสุนยาง น้ำแรงดันสูงจากรถควบคุมฝูงชน และฝ่าเท้าคอมแบทที่ระดมกระทืบไปบนตัวของผู้ชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันนี้
นั่นคือจิตใจแห่งความเกลียดชัง ความปรารถนากดทับความคิดที่แตกต่าง ปราบปรามประชาชนให้ต้องยอมรับหมอบกราบก้มกรานต่อผู้มีอำนาจและชนชั้นนำ

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งของความพยายามทำให้สังคมไทยลืมเรื่อง 6 ตุลา 19 ก็คือเพื่อให้รัฐยังคงสามารถกระทำเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อประชาชนได้อีก
แต่ยิ่งพวกเขากดทับเท่าไหร่ ความทรงจำเดือนตุลาคม ปี 2519 กลับยิ่งเบ่งบาน ด้วยพลังการตื่นตัวของเยาวชนที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เรื่องราวความชั่วร้ายที่คนก่อเหตุและผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ยิ่งเด่นชัดในความรับรู้ของคนรุ่นหลังมากขึ้น และเปรียบเทียบได้ชัดเจนขึ้น กับสิ่งที่อำนาจรัฐกระทำต่อประชาชนในวันนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน จาก 6 ตุลา 19, พฤษภา 35, เมษา-พฤษภา 53 มาจนถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ล้วนแต่มีรากเหง้าของปัญหาเดียวกัน นั่นคือความรุนแรงของรัฐ ที่เข้าปราบปรามคนเห็นต่าง ไม่อนุญาตให้คนที่มีความคิดแตกต่างได้ดำรงอยู่ในสังคม และวัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวล ที่วันนี้ยังไม่มีผู้ต้องรับผิดต่อ 41 ชีวิตที่ต้องสูญเสียไปในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
การที่คนหนุ่มสาวในวันนั้นที่ถูกระดมยิงด้วยห่ากระสุน ระเบิด และความรุนแรง ถูกยัดเยียดข้อหา “คอมมิวนิสต์” เพียงเพราะมีความคิดที่ก้าวหน้า อยากเห็นสังคมที่ดีกว่านี้ ไม่ต่างอะไรเลยกับเยาวชนคนหนุ่มสาววันนี้ที่ได้รับความรุนแรงทั้งจากการปราบปรามบนท้องถนนและการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เพียงเพราะพวกเขาต้องการประเทศที่มีอนาคต

วันนี้ เรามีเยาวชนที่โดนคดีมาตรา 112 ถึง 148 คน และมีผู้ถูกดำเนินคดีความทางการเมืองสำหรับคนเห็นต่าง 2 พันกว่าคดี
สะท้อนว่าแม้เวลาจะผ่านไปแล้วกว่า 45 ปี รัฐไทยยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ไม่คิดที่จะฟังเสียงของประชาชน ไม่คิดที่จะรับผิดชอบต่อความเลวร้ายที่ได้กระทำลงไป ไม่รับฟังความฝันของคนรุ่นใหม่ ไม่รับฟังความต้องการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ไม่ประนีประนอม และพร้อมใช้ความรุนแรงกับประชาชน

ในโอกาสครบรอบ 45 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 พรรคก้าวไกลขอเรียกร้องว่ารัฐต้องยุติความรุนแรงกับประชาชนและนิติสงครามโดยทันที เปิดพื้นที่ปลอดภัย ให้คนรุ่นใหม่ได้พูดความจริงอันน่ากระอักระอ่วนใจ ให้มีการประนีประนอมระหว่างกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกอย่างต้องแก้ด้วยกระบวนการทางการเมือง ยอมรับความเห็นต่างให้เป็นเรื่องปกติ
สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำโดยด่วนคือ
- ยุติการแจ้งความดำเนินคดี ทั้งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116, พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ต่อผู้ชุมนุมและผู้แสดงออกทางการเมืองโดยทันที เพราะถือเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
- คดีความต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ ต้องนำกลับมาพิจารณาใหม่ทั้งหมดในฐานะคดีการเมือง ซึ่งอาจมีการพิจารณาให้คดีเหล่านี้เป็นโมฆะ หรือนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้คดีความปิดปากโดยรัฐ เนื่องจากการดำเนินคดีเหล่านี้ล้วนไม่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งในสังคมแตกร้าวลึกขึ้น
- ต้องมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเร็ว เพราะหากไม่มีการปรับตัว ประชาชนอาจเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องต่อระบอบประชาธิปไตย
มีแต่ทำเช่นนี้เท่านั้น สังคมจึงจะเดินหน้าต่อไปได้
ปี 2564 ไม่ใช่ปี 2519 และการปราบปรามกดทับในวันนี้ ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้นำไปสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้น และยิ่งจะทวีความคับแค้นข้องใจของประชาชนในรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อทั้งสังคมไทย ประชาชน และแม้แต่ตัวของชนชั้นนำเองในที่สุด
