‘ที่ดิน’ กระดุมเม็ดแรกที่เราติดผิด
จำได้ไหมว่า เมื่อ 2 ปีก่อน ผมอภิปรายในสภาเรื่องกระดุม 5 เม็ด หากเราติดกระดุมเม็ดแรกผิด เราก็ไปต่อไม่ได้ เพราะจะผิดหมด และกระดุมเม็ดแรกที่ว่านั้น ก็คือ “ที่ดินทำกินของประชาชน”
ประเทศไทยมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ น่าจะเป็นบ้านที่ควรจะอบอุ่นสำหรับพวกเราทุกคนได้ แต่ไทยเรากลับมีผู้ประสบปัญหาที่ดินทำกินกว่า 1.2 ล้านราย มีที่ดินที่ประสบข้อพิพาททางกฎหมายกว่า 13 ล้านไร่ และไทยยังเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหาการกระจายถือครองที่ดินที่เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก
เมื่อสองปีที่แล้วผมมาที่ จ.สกลนคร เพื่อดูประเด็นเกี่ยวกับการเกษตร วันนี้ผมกลับมาอีกครั้ง แต่ในประเด็นข้อพิพาทที่ดินทำกินของประชาชน อย่างเช่น บ้านเหล่าใหญ่ อ.ส่องดาว จ.สกลนคร
เนื่องจากที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชน วันดีคืนดีก็ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่เขตอุทยานฯ เมื่อเป็นเขตอุทยานแล้ว การอาศัยและทำกินในที่ดินนี้ก็เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ชาวบ้านถูกไล่ที่ ถูกกดดัน รวมทั้งแปลงเกษตรถูกทำลายเสียหาย นี่คือปัญหา “ป่าทับคน”
แต่ประกาศเป็นเขตอุทยานยังไม่พอ พบว่าในบางพื้นที่หน่วยงานราชการเองมีการประกาศแผนที่ทับซ้อนกันเองด้วย เช่นจุดสีแดงบนแผนที่นี้ เป็นพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างที่ดินของอุทยานฯ และที่ดินของ สปก. (ซึ่งประชาชนที่ผมไปพบ ก็กำลังเผชิญการดำเนินการทางกฎหมายในข้อพิพาทเรื่องเหล่านี้อยู่)
พูดถึงเรื่องปัญหาที่ดินทับซ้อนกัน ผมขอยกตัวอย่างที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ อาจจะเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด (ดูภาพจากคลิปวิดีโอ) เมื่อ 50 ปีที่แล้ว มีการประกาศให้ประชาชนเข้าไปตั้งถิ่นฐาน สร้างที่ทำกินในนิคมสหกรณ์พร้าว ไม่กี่ปีหลังจากนั้น มีการประกาศเขตป่าทับนิคมเดิม และอีกไม่กี่สิบปีให้หลัง ก็มีการประกาศเขตอุทยานทับเพิ่มเติมเข้าไปอีก ภาพที่ท่านเห็นมันก็เลยงงๆ หน่อย เพราะนี่ไม่ใช่แค่ปัญหา “ป่าทับคน” เท่านั้น แต่มันคือ “หน่วยงานรัฐขัดกันเอง”
เวลาที่หน่วยงานรัฐล่าช้า ไม่คุยกันเอง ผลกรรมมันตกอยู่กับชาวบ้านนับชั่วอายุคน หมักหมมมาอย่างยาวนาน ดังกรณีของชาวบ้านสำนักท้อน จ.ระยอง รัฐบาลมีมติ ครม. มาตั้งแต่ปี 2514 ว่าจะออกเอกสารสิทธิ์ให้ชาวบ้านสำนักท้อน แต่รัฐบาลก็เกียร์ว่างมาทุกยุคทุกสมัย ตลอด 50 ปี จนรัฐบาลประยุทธ์มาประกาศให้พื้นที่ของพวกเขาเป็นป่าหวงห้าม ก็เสียสิทธิในที่ดินทำกินในชั่วพริบตา
กรณีแบบนี้ ผมขอแค่อย่างเดียว หน่วยงานไปคุยกันเองก่อนไหม? ทำไมต้องปล่อยให้ผลกรรมตกอยู่กับชาวบ้านด้วย???
ผมมีข้อเสนอง่ายๆ 3 ข้อ ที่รัฐบาลได้ทันที เพื่อยุติปัญหาคาราคาซังมานับชั่วอายุคน:
- ยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่ในที่ดินข้อพิพาททันที
- รีบเคาะแผนที่ภาครัฐให้เป็นแผนที่เดียวกัน หรือเรียกว่า One Map ไม่ให้แต่ละหน่วยงานขัดกันเองและคนที่ต้องรับกรรมคือประชาชน อันที่จริงแผนที่ One Map และหลักเกณฑ์การแก้ไขพื้นที่ทับซ้อนระหว่างหน่วยงานรัฐ ออกมาตั้งแต่ปี 2559 แต่รัฐบาลก็ยังประกาศแผนที่ฉบับเดียวอย่างเป็นทางการไม่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ สาเหตุมาจากความล่าช้า ขัดแย้งกันเองระหว่างหน่วยงานรัฐ หรืออาจจะมีผู้เสียประโยชน์ จากแผนที่แผ่นเดียวที่มีความชัดเจน
- 3.เร่งพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินทำกินของประชาชนให้เสร็จสิ้นในเวลา 2 ปี
ในระยะยาว เราต้องปรับแก้ไขกฎหมายทุกฉบับที่ริดรอนสิทธิของประชาชนในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
ทั้งหมดนี้อาจพอแก้ไขความเดือดร้อนจากข้อพิพาทเฉพาะหน้าได้สำหรับความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น ก็คือประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินและที่ดินมากที่สุดในโลก ถ้าเราไม่มีกลไกจัดการกระจายความมั่งคั่งได้อย่างเป็นธรรมเหมาะสมดีพอให้ทุกคนได้ลืมตาอ้าปาก ได้มีโอกาสเข้าถึงที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นของตนเอง ปัญหาที่ดินประชาชนก็จะยังคาราคาซังไปไม่รู้จบเหมือนเดิม
ในโอกาสนี้ผมขอขอบคุณ ส.ส.อภิชาติ ศิริสุนทร พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.ที่ดินฯ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล จ.สกลนคร เขต 3 ทนาย ขจรศักดิ์ เบ็ญชัย, ส.ส.องค์การ ชัยบุตร และคณะทำงานพรรคก้าวไกลทุกท่าน ที่มีส่วนสำคัญในการร่วมต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในกรณีที่ดินประชาชน