free geoip

ประยุทธ์ คือ ตัวการทำร้ายสิ่งแวดล้อม

หยุดแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการทำร้ายคนตัวเล็กตัวน้อยเอาหน้า แล้วเอาทรัพยากรของประเทศไปประเคนให้นายทุน

ข้อสังเกต วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ต่อวาระที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties: COP) ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร

COP26 เป็นเวทีผู้นำโลกที่จะได้หารือ เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหาโลกร้อน และปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในทุกมิติของรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่สมัย คสช. จนถึงปัจจุบัน ยังอยู่ในกรอบความคิดที่มุ่งกำหนดกฎระเบียบต่างๆ เพื่อริบเอาทรัพยากรของประเทศ แล้วเอาไปประเคน หรือเอื้อให้นายทุนที่อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ได้หาผลประโยชน์แบบกินรวบ แล้วก็ปราบปรามประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย เพื่อเอามาเป็นผลงานบังหน้า ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ “การทวงคืนผืนป่า” ที่ทำให้ประชาชนที่ทำมาหากิน และมีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับผืนป่าอย่างสมดุลมายาวนาน ต้องถูกขับไล่ออกจากผืนแผ่นดินที่อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย มีการดำเนินคดีกับประชาชนมากกว่า 46,000 คดี หรือจะเป็นกรณีคำสั่ง คสช. เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ที่สุดท้ายแล้วต้องทำให้วิถีชีวิตในการทำประมงพื้นบ้าน ที่ประชาชนใช้หาเลี้ยงชีพมาหลายชั่วอายุคน ต้องสูญสลายหายไป

จะสังเกตได้ว่า ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล มีแต่จะตะลุยปราบปรามประชาชน บังคับใช้กฎหมายกับชาวบ้านคนตัวเล็กตัวน้อย โดยเอาจำนวนหัวของประชาชนที่โดนดำเนินคดี มาอวดอ้างเป็นผลงานในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยที่มีจำนวนเป็นพันเป็นหมื่นเหล่านี้ สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก เมื่อเทียบกับนายทุนผูกขาดไม่กี่ราย ที่รัฐหลับตาข้างหนึ่งปล่อยปละละเลย เปิดช่องให้แสวงหาผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการยึดป่าชุมชนจากประชาชน แล้วเอาไปให้นายทุนเช่า หรือการให้สัมปทานเหมืองหินปูน หรือการอนุญาตให้นายทุนไปทำเหมืองในเขตป่าสงวน

นี่ยังไม่นับกับกรณีการจัดการปัญหาขยะ ที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ มีนโยบายที่เอื้อนายทุนมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น มติกรรมการสิ่งแวดล้อม (ครั้งที่ 2/2558) ที่ยกเว้นการทำ EIA สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะขนาด 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป และยังมีการยกเว้นให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงเป็นกรณีพิเศษ หากไม่ได้อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 ไม่อยู่ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมตามมติของ ครม. ให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง ไม่ต้องจัดทำ EIA

นอกจากนี้ ยังมี คำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 ที่ยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวงผังเมืองรวมสำหรับโรงงานที่เกี่ยวข้องกับขยะต่างๆ อาทิ โรงไฟฟ้าจากขยะ (รง.ประเภท 89 ) โรงงานปรับปรุงคุณภาพของเสียรวมหรือโรงงานกำจัดของเสีย อันตราย (รง.ประเภท 101) โรงงานคัดแยกหรือฝังกลบขยะ (รง.ประเภท 105) และโรงงานเกี่ยวกับการรีไซเคิล (รง.ประเภท 106) ผนวกกับการออก พ.ร.บ. โรงงาน ฉบับใหม่ พ.ศ.2562 ที่ สนช. ผ่านกฎหมายนี้ในวาระ 2 และวาระ 3 โดยใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง โดยมีการเปลี่ยนนิยามคำว่า “โรงงาน” เสียใหม่ โดยให้เริ่มนับตั้งแต่การใช้เครื่องจักรขนาด 50 แรงม้าขึ้นไป ทำให้มีการขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลขยะผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีการขายหุ้นบริษัทให้กับนายทุนรายอื่นในเวลาถัดมา และหลายโรงงานก็มีมาตรฐานในการดำเนินงานที่ไม่ได้มาตรฐาน

ยังมี คำสั่ง คสช. ที่ 9/2559 แก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยให้หน่วยงานขออนุมัติคัดเลือกเอกชนมาดำเนินโครงการจำเป็นเร่งด่วนได้ก่อน แม้ยังไม่ทราบผลการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการออก พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ซึ่งให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยจัดการขยะมูลฝอยของ อปท. และอนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินการโดยไม่ให้ถือเป็นกิจการร่วมทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐ-เอกชนฯ 2556

ทั้งหมดนี้ คือ ตัวอย่างของการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนในเครือข่ายอุปถัมภ์ของรัฐบาลได้กินรวบประเทศ โดยนำเอาการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมาบังหน้า ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สำหรับปัญหา PM2.5 และปัญหามลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้น รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่เคยที่จะดำเนินการอย่างจริงจัง รู้อยู่แก่ใจว่าส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ นั้นมาจากการทำเกษตรพันธสัญญา แต่รัฐบาลก็ปล่อยปละละเลย ไม่กล้าไปแตะต้องผลประโยชน์ของนายทุน สำหรับปัญหามลภาวะทางอากาศ และหมอกควันพิษ (Smog) ซึ่งเกิดจากมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ทำให้โรงงานต่างๆ มีการปล่อย CO, CO2, SO2, NOx, PM2.5, PM10 และสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ออกมาในระดับที่เกินกว่าที่ธรรมชาติจะแบกรับได้ จนทำให้เกิดเป็นปัญหามลพิษทางอากาศในที่สุด แต่รัฐบาลก็ไม่เคยที่จะแก้ไขปรับปรุง เพื่อยกระดับมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียอย่างจริงจังเลย ท่ามกลางข้อสงสัยว่า รัฐบาลพยายามที่จะปกป้องไม่ให้นายทุนต้องมีต้นทุนในการบำบัดของเสียที่เพิ่มขึ้น ใช่หรือไม่

จนในที่สุดปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความเหลื่อมล้ำ คนรวยที่มีเงินซื้อเครื่องฟอกอากาศ ก็จะได้คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า คนจนที่ต้องทนสูดอากาศเสียๆ ต่อไป รัฐบาลนี้ไม่เคยจริงจังกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 หรือปัญหามลภาวะทางอากาศเลย มีแต่จะทำให้ประชาชนต้องยอมจำนนต่อสภาพอากาศที่แย่ลง และยอมรับให้ปัญหาสุขภาพของคนจน เป็นภาวะปกติวิสัยที่ต้องยอมรับ

กรอบใหญ่ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ ถ้าจะแก้ไขให้มีความยั่งยืน รัฐต้องเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ โดยต้องเลิกกรอบความคิดแบบผู้ปกครอง ที่คิดแต่จะริบเอาทรัพยากรทั้งหมดให้ตกมาเป็นของรัฐ แล้วก็เอาทรัพยากรเหล่านั้นไปประเคนให้กับนายทุนในเครือข่ายอุปถัมภ์ได้ใช้หาผลประโยชน์แบบกินรวบ แล้วก็เฉือนเอาเศษเนื้อข้างเขียง แล้วโยนให้กับประชาชนที่เป็นผู้ถูกปกครองบ้างเพื่อเอาบุญคุณ กรอบความคิดแบบนี้ใช้ไม่ได้แล้วในรัฐสมัยใหม่

รัฐต้องมีกรอบความคิดใหม่ที่เชื่อว่า “ทรัพยากรทั้งหมดเป็นของประชาชนทุกคน” รัฐเพียงมีหน้าที่ในการจัดสรร และเป็นตัวกลางในการสร้างกติการ่วมกัน เพื่อให้ประชาชนสามารถหาผลประโยชน์จากทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับประชาชนทุกคน ซึ่งแนวคิดแบบนี้ ไม่เคยอยู่ในหัวของ คนที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลย

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า