
ร่วมปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ผ่าน พ.ร.บ. เอาผิดเจ้าหน้าที่บิดเบือนกฎหมาย
ตัวบทกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพของประชาชนและมีบทลงโทษรุนแรงไม่ได้สัดส่วนกับความผิดก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบยุติธรรมไทย อีกปัญหาที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ กระบวนการยุติธรรมที่ขัดต่อมโนสำนักของประชาชนทั่วไป แต่ก็ต้องฝืนใจยอมรับ เพราะ “ศาลตัดสินถึงที่สุดแล้วจึงเป็นอันต้องยุติ”
กี่ครั้งแล้วที่เราจะต้องมายืนยันในหลักการพื้นฐานทางนิติศาสตร์ที่แม้แต่คนทั่วไปก็รู้กันดีว่า สิทธิการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อการพิจารณาคดียังไม่สิ้นสุดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ศาลก็ยังไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวคนที่โดนคดีมาตรา 112 คดีความมั่นคงอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดีในลักษณะขัดกับแนวทางปฏิบัติโดยทั่วไป แต่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นกลับไม่มีความผิดใดๆ แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่เรียกว่าเป็นการกระทำเพื่อ ‘ผดุงความยุติธรรม’
หากคุณเคยไม่พอใจกับคำตัดสินในคดีดัง เช่น คุณสมบัติของรัฐมนตรีที่เคยค้ายาเสพติดในต่างประเทศ หรือการช่วยเหลือต่างๆ ของสารพัดหน่วยงาน เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปคดี ไม่ให้นำไปสู่การสั่งฟ้อง เช่น คดีทายาทกระทิงแดงอันโด่งดัง
หากคุณเคยไม่พอใจกับดุลพินิจของเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่า พนักงานสอบสวน อัยการ ผู้พิพากษา หรือระดับชั้นใดก็ตามที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่สุจริตและไม่ซื่อตรงต่อกฎหมาย อาจด้วยแรงจูงใจทางการเมืองหรือด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัวที่นำไปสู่การบิดเบือนกฎหมายรูปแบบต่างๆ
พรรคก้าวไกล ขอเชิญทุกท่านมาร่วมกันปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไปด้วยกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงให้กระบวนการยุติธรรรมของประเทศนี้ให้เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ตรวจสอบได้ มีความน่าเชื่อถือ มีความชอบธรรมจากประชาชน และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ยอมรับต่อกระบวนการยุติธรรมไปมากกว่าที่เป็นอยู่นี้
พรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … โดยมีสาระสำคัญเพื่อกำหนดนิยามของคำว่า “บิดเบือนกฎหมาย” และกำหนดความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมบิดเบือนกฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ประชาชนผู้มีอรรถคดีหรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในการสอบสวน การทำความเห็นทางคดี การสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี การทำคำสั่งรับหรือไม่รับฟ้อง การพิจารณาคดี การทำคำพิพากษาหรือคำชี้ขาดตัดสินคดี และการทำคำสั่งคำร้องหรือคำขออื่นใด
ปัจจุบัน ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในการขั้นตอนเปิดรับฟังความคิดเห็นตาม มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ในสภาผู้แทนราษฎร พวกเราจึงขอเชิญชวนประชาชนทุกคน บุคลากรสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้สามารถผ่านการบังคับใช้ได้ต่อไป