เราไม่สามารถเติบโต โดยหวังพึ่งลมหายใจของการลงทุนต่างประเทศแบบเดิมได้!
ในวันที่ 11 พ.ย. 2564 ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ร่วมเวทีแสดงวิสัยทัศน์ด้านการต่างประเทศไทย ในงานเสวนา “ปรับยุทธศาสตร์เพิ่มพลังประเทศไทยในเวทีโลก” ในหัวข้อ “การทูตไทยและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ” จัดโดย มูลนิธิสุรินทร์ พิศสุวรรณ, สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ThaiPBS และ Asia News Network
การดึงดูดเงินลงทุน ในอนาคตไม่ใช่ปริมาณ แต่คือเรื่องของคุณภาพ
การดึงดูดการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศจากปัจจุบันต่อเนื่องไปจนถึงอนาคตนั้นจะไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของปริมาณเม็ดเงินลงทุนอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของคุณภาพของเม็ดเงินลงทุนด้วย
“ประเทศไทยต้องการการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่สามารถยกระดับเทคโนโลยีของประเทศและยกระดับของประเทศในห่วงโซ่อุปทานของโลก”
โมเดลการดึงดูดการลงทุนแบบที่ผ่านมาใช้ไม่ได้ในอนาคต
ในอดีตเราอาจจะเคยเชื่อกันว่าการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้นั้นประเทศไทยจะต้องมีเสถียรภาพทางการเมือง แต่ในปัจจุบันการมีเสถียรภาพทางการเมืองเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอแล้วสำหรับการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ
“ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงหรืออุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากเสถียรภาพทางการเมืองที่มีอยู่เกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือปราบปรามประชาชน”
“บรรดานักลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้วที่มีต้นทุนทางสังคมในประเทศของตัวเองและบนเวทีโลกเช่นเดียวกันก็จะหลีกเลี่ยงที่จะมาลงทุนในประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
เสถียรภาพทางการเมืองที่จะดึงดูดนักลงทุนที่มีคุณภาพที่ประเทศไทยต้องการได้จะต้องเป็นเสถียรภาพที่เกิดจากความเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน ความเปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง และความยืดหยุ่นของระบบการเมืองต่อข้อเรียกร้องที่หลากหลายของประชาชน
สิทธิมนุษยชน กับ เศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นเรื่องเดียวกัน
ประเทศไทยต้องมีเสถียรภาพจากการเคารพหลักการสากลเหล่านี้ก่อนจึงจะสามารถดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนที่มีคุณภาพที่จะยกระดับประเทศไทยได้
นอกจากนี้ หากประเทศไทยยังไม่เคารพในหลักสิทธิมนุษยชน การทูตของประเทศไทยกับนานาชาติก็จะไม่ได้ยกระดับไปถึงความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนเสียทีและจะวนเวียนอยู่กับการแก้ตัวกับนานาชาติในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้ส่งรองประธานาธิบดีมาเยือน สิงคโปร์ และเวียดนาม และได้หารือกันถึงความร่วมมือด้าน ความมั่นคงไซเบอร์ เศรษฐกิจดิจิตอล และการค้าการลงทุนต่างๆ”
“แต่ในขณะเดียวกันเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติก็ได้มาเยือนไทยและพูดคุยกับตัวแทนของรัฐบาลไทยในเรื่องของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมาร์และ ร่าง พ.ร.บ. NGO ของไทยที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก”
“และเมื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับเมียนมาร์ไม่คืบหน้า สหรัฐฯ ก็ส่งตัวแทนจากกระทรวงต่างประเทศมาอีกครั้งเพื่อกดดันไทยในเรื่องนี้”
สรุป
หากประเทศไทยคิดจะยังมีเสถียรภาพโดยละเมิดสิทธิมนุษยชน
เราจะไม่สามารถดึงดูดการลงทุนที่มีคุณภาพจากต่างประเทศเพื่อยกระดับ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และห่วงโซ่มูลค่าของประเทศได้
ตลอดจนเราจะไม่สามารถใช้การทูตเพื่อยกระดับการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศได้อย่างจริงจัง เพราะประเทศจะต้องวนเวียนกับการแก้ตัวในเรื่องการละเมิดหลักสากลอยู่เสมอ