ไทยไม่ร่วม COVAX ก็จะเสียโอกาสได้วัคซีนใหม่ ยาใหม่ เทคโนโลยีใหม่จาก WHO
ไทยไม่ได้รับสูตรยาเม็ดต้านโควิด-19 Paxlovid และ ยาต้านโควิด Molnupiravir ของ Merck เนื่องจากไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีฐานะปานกลางและยากจนที่จะได้รับการสนับสนุนการผลิตยาและจำหน่ายในราคาถูก ถือเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ วิธีคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่มองว่ายาต้าน หรือยารักษาโควิด ที่มีการคิดค้นออกมาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิผลในการรักษาที่ดีขึ้น เป็นเพียงยาเสริมเท่านั้น
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล ได้ฝากคำถามถึงรัฐมนตรีสาธารณสุขว่า :
“ลืมไปแล้วหรือว่า การแทงม้าตัวเดียว ละเลยไม่ยอมกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลนี้ นั้นต้องแลกมาด้วยการสังเวยชีวิตของประชาชนเป็นจำนวนมาก มีเด็กหลายพันคนที่ต้องกำพร้าพ่อแม่ มีประชาชนจำนวนมากต้องแบกรับหนี้สินเป็นจำนวนมาก หลายคนต้องถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัว เรื่อง ‘ยา’ ก็เหมือนกับ ‘วัคซีน’ รัฐบาลต้องกระจายความเสี่ยงในการสำรองยา ต้องย้ำตรงนี้ว่า อย่าเดินซ้ำรอยแทงม้าตัวเดียวอีก”
นอกจากนี้ รัฐบาลควรต้องเร่งรัดดำเนินการเข้าร่วมโครงการ COVAX เพราะหากรัฐบาลยังคงดื้อดึง ประชาชนคนไทย จะเสียโอกาสจะการได้รับการจัดสรรวัคซีน รวมถึงการเข้าถึงวัคซีนใหม่ๆ ยารักษาโควิดใหม่ๆ และวิธีการตรวจวินิจฉัยโควิดใหม่ๆ ผ่านโครงการ the ACT-Accelerator ซึ่งเป็นโครงการของ WHO ที่เป็นการร่วมมือกันของนานาอารยประเทศในการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการรับมือกับโควิด เพื่อให้ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ COVAX เข้าถึงวัคซีนใหม่ๆ ยารักษาโควิดใหม่ๆ และวิธีการตรวจวินิจฉัยโควิดใหม่ๆ อย่างรวดเร็วที่สุด
Medicines Patent Pool (MPP) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสิทธิบัตรยา ที่ได้รับการสนับสนุนโดยองค์กร Unitaid [5] ภายใต้องค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำ และปานกลาง (LMIC) เข้าถึงยา HIV ยาวัณโรค และยาไวรัสตับอักเสบ C อย่างทั่วถึง ในราคาที่ถูกลง แต่ปัจจุบัน MPP ได้ถูกใช้เป็นกลไกในเพื่อเชื่อมให้ประเทศต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศยากจน เข้าถึงยารักษาโควิดได้อย่างเท่าเทียมกัน อีกด้วย ซึ่ง MPP ก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า พร้อมให้การสนับสนุนโครงการ the ACT-Accelerator ของ WHO อย่างเต็มที่
แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับสิทธิ MPP อยู่แล้วในยา HIV และยาไวรัสตับอักเสบ C แต่ก็น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งว่า หากรัฐบาลยังคงดื้อดึง พิรี้พิไร ชักช้าไม่ยอมเข้าร่วมโครงการ COVAX เมื่อไม่ได้เข้าร่วม COVAX ประเทศไทยก็อาจจะเสียสิทธิ และเสียโอกาส ที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการ the ACT-Accelerator ของ WHO เสียโอกาสที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านสิทธิบัตรยาที่เกี่ยวข้องกับโควิด จาก MPP ในอนาคต เสียโอกาสที่จะการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น เสียโอกาสที่จะจำกัดการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงที่แคบที่สุด และเสียโอกาสในการรักษาผู้ติดเชื้อ เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตของประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด