เปลี่ยน ‘ครูอาสา’ ในกทม. ที่ไร้สวัสดิการ-เงินเยียวยา เป็น ‘ลูกจ้างประจำ’ เพิ่มความมั่นคงในชีวิต
ปัญหาเชิงโครงสร้างประเทศไทยในปัจจุบันนั้นประกอบไปด้วยหลายส่วน แต่หนึ่งในปัญหาหลักนั่นก็คือเรื่องของการศึกษา ปัญหาด้านการศึกษาในประเทศไทยนั้นก็มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพการศึกษา การเข้าถึงการศึกษา ปัญหาเด็กนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษา ปัญหาอาหารกลางวันของเด็ก หรือปัญหาบุคลากรทางการศึกษาอย่าง “ครู”
ปัญหาด้านบุคลากรทางการศึกษาก็มีอีกมากมาย แต่วันนี้พรรคก้าวไกลลงพื้นที่สำรวจ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ที่มีมากกว่า 250 ศูนย์ (นับเฉพาะพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร) เมื่อพรรคก้าวไกลสำรวจข้อมูลก็พบว่า ครู ที่ทำหน้าที่ครูพี่เลี้ยงให้กับเด็กเล็กทุกศูนย์ รวมถึงผู้อำนวยการศูนย์เอง ก็มีสถานะเพียง “ครูอาสา”
ปัญหาเชิงโครงสร้างของครูอาสา หรือครูพี่เลี้ยง ที่ศูนย์เด็กเล็กนั้นคือเรื่องของ “สวัสดิการ”
ครูพี่เลี้ยงบางคนทำงานเป็นครูอาสามามากกว่า 30 ปี แต่สวัสดิการของสถานะ ‘ครูอาสา’ ในศูนย์เด็กเล็กนั้นไม่มี! ทั้งๆ ที่ครูอาสาเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อเด็กเล็ก ทั้งด้านการเสริมสร้างพัฒนาการ เพราะเด็กในวัย 1-5 ปีนั้น อยู่ในช่วงการเรียนรู้ จึงจำเป็นต้องมีคนดูแลอย่างใกล้ชิด หากพ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้านด้วยสภาพสังคมแบบนี้ ผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องผู้ลูกหลานไว้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จะเห็นได้ชัดว่า ครูอาสามีความสำคัญต่อสังคมเป็นอย่างมาก
ครูอาสา หรือครูพี่เลี้ยง ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนั้นได้รับเงินเป็นรายวัน หมายความว่า หากวันไหนที่ไม่มาทำงาน หรือไม่สามารถมาทำงานได้ ไม่ว่าจะเจ็บป่วย หรือติดธุระสำคัญ ก็จะไม่ได้รับเงินในวันที่ขาดงาน ครูอาสาไม่สามารถลางานได้
“เมื่อเจ็บป่วยต้องไปพบคุณหมอ คนทั่วไปมักจะขอให้คุณหมอออกไปรับรองแพทย์ให้สามารถลางานได้นานที่สุด เพื่อที่จะได้มีเวลาพักฟื้นได้นาน แต่ไม่ใช่กับครูอาสาใน กทม. เพราะเมื่อเจ็บป่วยต้องไปโรงพยาบาล มักจะขอร้องคุณหมอ ให้เขียนใบรับรองแพทย์ให้หยุดน้อยที่สุด เพราะจะได้โดนหักเงินน้อยที่สุด”
หากเปรียบเทียบศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กับ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในต่างจังหวัด ที่อยู่ในหน่วยงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก เพราะศูนย์ฯ ในต่างจังหวัดถือว่าเป็นหน้าเป็นตาให้กับนายก อบต. นายก อบจ. เพราะหากบริหารจัดการไม่ได้ ก็จะทำให้ไม่ได้รับคะแนนเสียงเมื่อถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป สภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในต่างจังหวัด จึงมีมาตราฐานที่ดีกว่า ศูนย์เด็กเล็กในกรุงเทพฯ อย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ ครูอาสายังเป็นกลุ่มที่โดนตกสำรวจ ในการเยียวยาจาก ม.33 เพราะสำหรับครูอาสาสังกัดกรุงเทพมหานคร เมื่อถึงเวลาเยียวยา ทาง กทม. จะนับแค่ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราวเพียงเท่านั้น กลุ่มครูอาสาเหล่านี้เหมือนโดนโครงสร้างที่บิดเบี้ยวซ้ำเติมเข้าไปอีกครั้งหนึ่ง เพราะนอกจากจะไม่มีสวัสดิการ ขาดลามาสายแล้ว ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐ ในช่วงที่ยากลำบากเช่นนี้
เมื่อศูนย์ในต่างจังหวัดทำให้ดีได้ แล้วทำไมศูนย์ในกรุงเทพฯ จะทำให้ดีไม่ได้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อยู่ในการควบคุมดูแลของกรุงเทพมหานคร อยู่ในสำนักพัฒนาสังคม ขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกลหวังว่า ทางผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ท่านพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง จะให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาขอครูอาสา เพื่อให้คุณภาพชีวิตของครูดีขึ้น และเมื่อคุณภาพชีวิตของครูดีขึ้น ผลประโยชน์ก็จะตกไปอยู่กับเด็กอย่างแน่นอน
พรรคก้าวไกล จะใช้กลไกทางการเมืองต่างๆ ผลักดันให้เกิดการแก้ไข เปลี่ยนสถานะจากครูอาสา ให้เป็นลูกจ้างประจำ หรืออย่างน้อยให้เป็นลูกจ้างชั่วคราว เพื่อให้ครูอาสาได้รับสวัสดิการอย่างสมเหตุสมผล และยังสามารถลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำอีกทางหนึ่งด้วย