free geoip

บทวิเคราะห์อนาคตภาคเกษตรไทยหลังโควิด (1) : วิกฤติปุ๋ยแพงและขาดแคลน


บทวิเคราะห์อนาคตภาคเกษตรไทยหลังโควิด วิกฤติอุปสงค์เฉียบพลัน และความปั่นป่วนของห่วงโซ่อุปทานโลก (ตอนที่ 1) : วิกฤติปุ๋ยแพงและขาดแคลน

ในช่วงปีที่ผ่านมา เกษตรกรไทยต้องเผชิญกับวิกฤติซ้อนวิกฤติซ้อนวิกฤติ เป็นไตรวิกฤติ ทั้งปุ๋ยแพง น้ำมันแพง แต่ข้าวถูก
ในฐานะที่ผมเป็นผู้นำพรรคการเมือง ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ และผมจะขอใช้โอกาสนี้นำเสนอแนวความคิดของผมในการแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน

เนื่องจากปัญหา ปุ๋ย ข้าว น้ำมัน มีความละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อน ผมจะขอนำเสนอบทวิเคราะห์แบ่งออกเป็นหลายๆ ตอน เพื่อให้ข้อมูลที่ครอบคลุมสำหรับพี่น้องประชาชน โดยในบทวิเคราะห์แรกของผมจะขอพูดถึงปัญหาราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นเกือบเท่าตัวในปีนี้

ปัญหาปุ๋ยแพงเป็นปัญหาที่เราจะต้องมองจากทั้งมุมมอง “นอก” และ “ใน” ประเทศครับ เนื่องจากอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีในประเทศไทยเป็นการนำเข้าเกือบทั้งหมด โดย 2 ใน 3 เป็นการนำเข้าแม่ปุ๋ยมาผสม ส่วน 1 ใน 3 เป็นการนำเข้าปุ๋ยเคมีที่มีการผสมมาแล้ว สำหรับประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยและแม่ปุ๋ยปีละ 5 ล้านตัน มูลค่าเกือบ 5 หมื่นล้านบาท

เมื่อมองปัญหาปุ๋ยจากกระดานในระดับโลก จะเห็นได้ว่าปุ๋ยเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ที่มี 3 แร่ธาตุหลักครับ ได้แก่ ไนโตรเจน(N) ฟอสเฟตซึ่งให้แร่ธาตุฟอสฟอรัส (P) และ โพแทชซึ่งให้แร่ธาตุโพแทสเซียม (K) แต่ละแร่ธาตุก็จะมีผู้เล่นในระดับโลกอยู่ เช่น จีนและรัสเซียเป็นผู้นำโลกด้านการส่งออกไนโตรเจน จีนและโมรอคโคเป็นผู้นำโลกด้านการส่งออกฟอสเฟต และแคนาดากับเบลารุสเป็นผู้นำโลกด้านการส่งออกโพแทช และเมื่อนำ 2 หรือ 3 แร่ธาตุนี้มาผสมเป็นปุ๋ยเคมี ผู้นำโลกในการส่งออกปุ๋ยที่ผสมแล้วก็คือ รัสเซีย จีน และโมรอคโค

ปัจจัยหลักที่ทำให้ปุ๋ยแพงทั่วโลกในเวลานี้ก็คือราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น ปุ๋ยไนโตรเจนไม่ว่าจะยูเรียหรือแอมโมเนียนั้นมีก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบ ก๊าซธรรมชาติที่แพงขึ้นส่งผลให้ปุ๋ยแพงขึ้น ทำให้ประเทศผู้ส่งออกขนาดใหญ่รวมกัน 40% ของตลาดอย่าง จีน และรัสเซีย กักตุนปุ๋ยสำหรับใช้ในประเทศก่อน เมื่อผู้ขายขนาดใหญ่กักตุนผู้ซื้อขนาดใหญ่อย่าง อินเดีย ก็รีบซื้อปุ๋ยกักตุน 1.2 ล้านตันเช่นกัน ส่งผลให้ปุ๋ยขาดแคลนในตลาดโลก ทำให้ราคาปุ๋ยเคมีทั่วโลกยิ่งแพงขึ้นไปอีก ยกตัวอย่างเช่นราคา Black Sea Urea Spot Price ที่เพิ่มขึ้นจาก 265 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันเมื่อต้นปี เป็น 612 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันในเดือนตุลาคม

ผลอีกประการของการกักตุนปุ๋ยของประเทศจีนคือแร่ฟอสเฟตที่ขาดตลาด ประเทศจีนเป็นผู้นำโลกด้านการส่งออกฟอสเฟตมีส่วนแบ่งตลาดโลก 31% เมื่อจีนกักตุนฟอสเฟต ราคาโลกก็สูงขึ้น โดยราคาฟอสเฟตโมรอคโคตั้งแต่กลางปีที่มีการกักตุนในจีนก็เพิ่มขึ้นจาก 125 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เป็น 147 เหรียญสหรัฐต่อตัน สำหรับแร่โพแทชในตอนนี้ตลาดโลกก็เกิดการ disrupt อยู่บ้างจากการคว่ำบาตรเบลารุสโดยสหภาพยุโรป การคว่ำบาตรแร่โพแทชอาจจะไม่ได้ทำให้ราคาโลกขยับขึ้นมากแต่ก็ทำให้เบลเยี่ยมซึ่งเป็นผู้นำอันดับ 5 ของโลกด้านการส่งออกปุ๋ยขาดแคลนปุ๋ยเช่นกัน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้ราคาปุ๋ยแพงขึ้น

สรุปปัญหาก็คือ ราคาก๊าซธรรมชาติแพงทำให้ปุ๋ยแพง พอปุ๋ยแพงทั้งประเทศผู้ซื้อและผู้ขายรายใหญ่ของโลกก็กักตุน ปุ๋ยในโลกจึงขาดตลาดและยิ่งแพง หากปี 64 ได้สอนอะไรเราเกี่ยวกับสินค้าที่ตลาดโลกขาดแคลนและมีการกักตุนนั่นก็คือเรื่องของการจัดซื้อวัคซีน ดังนั้นหากปี 2564 เป็นปีแห่ง “การทูตวัคซีน” ปี 2565 เพื่อให้ประเทศไทยรับมือกับวิกฤติปุ๋ยขาดแคลนในตลาดโลกได้ เราก็ต้องเริ่มทำ “การทูตด้านการเกษตร” อย่างจริงจัง

ในตอนนี้ราคาปุ๋ยในตลาดโลกน่าจะสูงถึงจุดอิ่มตัวแล้วเนื่องจาก trader ในโลกกำลังชะลอซื้อและรอสัญญาณในปี 2565 ว่าจีนน่าจะเลิกการกักตุนหลังไตรมาส 2 จากการรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนัก อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าเราไม่สามารถที่จะยืมจมูกคนอื่นหายใจและปล่อยให้ชะตากรรมของพี่น้องเกษตรกรไทยอยู่ในมือของศุลกากรจีน ว่าจะปล่อยของออกจากท่าเรือหรือไม่ ดังนั้นผมจึงเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำในทันทีคือการ diversify กระจายความเสี่ยงแหล่งผู้ขายปุ๋ยและแม่ปุ๋ย และใช้การเจรจาไม่ว่าจะ G2G หรือการทำ Roadshow นำเอกชนไปเปิดความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนกับผู้ขายใหม่ๆ เพื่อที่จะลดความเสี่ยงด้านอุปทานปุ๋ยและแม่ปุ๋ยได้ ในฐานะที่เราเป็นประเทศการเกษตรแต่ต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเกือบทั้งหมด

หากกลับมาพิจารณาความเคลื่อนไหวในตลาดโลก ตอนนี้อีกสาเหตุหนึ่งที่ตลาดชะลอตัวก็เพราะ trader กำลังรอกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นใหม่ในหลายๆ ประเทศ เช่น ไนจีเรีย ซึ่งเดิมทีผลิตปุ๋ยเพื่อใช้ในประเทศเกือบทั้งหมดแต่ในปี 2565 จะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อการส่งออก 4 ล้านตันโดยบริษัท เช่น Indorama และ Dangote

ผู้ขายอีกรายหนึ่งที่มีความน่าสนใจในตลาดโลกคือโมรอคโค ซึ่งเป็นผู้นำด้านการส่งออกปุ๋ยเคมีอันดับ 3 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดไม่ได้ต่างจากจีนหรือรัสเซียมากนักที่ 1 ใน 5 ของตลาด แต่ไม่มีข่าวว่ากักตุนปุ๋ยในขณะนี้ ไทยเคยมีความสัมพันธ์ในการนำเข้าปุ๋ยจากโมรอคโคเพียงเล็กน้อยเท่านั้นก่อนปี 2558 หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้นำเข้าปุ๋ยจากโมรอคโค หากเราสามารถกระจายความเสี่ยง เปิดตลาดหาผู้ขายใหม่ๆ ได้ ก็จะเป็นการลดความเสี่ยงของประเทศในการพึ่งพาตลาดจีนและรัสเซียที่มีการกักตุนอยู่ในขณะนี้

สำหรับการเจรจาเปิดตลาดใหม่ๆ กับต่างชาตินั้น ประเทศไทยต้องหา leverage หรือจุดแข็งที่เราจะไปเจรจาได้ วิกฤติที่ทั้งไนจีเรียและโมรอคโคเผชิญอยู่ในขณะนี้คือวิกฤติอาหาร ที่ไนจีเรียประชาชน 9 ล้านคนกำลังขาดอาหารเนื่องจากวิกฤติโควิดและสงครามกลางเมืองกับกลุ่ม Boko Haram ส่วนโมรอคโคนั้นกำลังประสบวิกฤติอาหารแพง โดยราคานำเข้าข้าวสาลีสูงขึ้นถึง 27% สิ่งที่ไทยมีในตอนนี้ที่เป็น leverage ของเราคือข้าวที่ล้นตลาด 4 ล้านตัน (จากส่งออกปกติ 10 ล้านตันเหลือ 6 ล้านตัน) ที่เป็นหนึ่งในตัวอย่างเครื่องมือที่เราใช้ structure deal ได้ในการเจรจาเพื่อ secure อุปทานปุ๋ยจากโมรอคโค และปุ๋ยล่วงหน้าจากไนจีเรีย

การระดมจัดหาอุปทานปุ๋ยในโลกที่ขาดปุ๋ยเป็นเพียงเปราะแรกของการแก้ปัญหาทั้งหมดเท่านั้น ประเทศไทยยังมีปัญหาโครงสร้างอุตสาหกรรมปุ๋ยในประเทศที่กึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปี 2563 ผู้ผลิตปุ๋ยที่ส่งงบการเงินมี 708 ราย เป็นเจ้าใหญ่ 13 ราย (1.8%) ขนาดกลาง 46 ราย (6.5%) ขนาดเล็ก 649 ราย (91.7%) ผู้ผลิตขนาดใหญ่ 13 รายมีส่วนแบ่งตลาด 71% ผู้ผลิตขนาดใหญ่และกลางรวมกัน 59 รายมีส่วนแบ่งตลาด 90% และยังมี ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว อีกหลายทอดกว่าปุ๋ยจะไปถึงมือเกษตรกร

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมาก โดยข้อมูลจาก Our World in Data ระบุว่าประเทศไทยใช้ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไปไร่ละ 7 กิโลกรัม และเพียง 38% ของไนโตรเจนที่ไทยใช้เท่านั้นที่กลายเป็นสารอาหารในดินจริงๆ หากเกษตรกรไทยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยได้ก็จะสามารถลดต้นทุนการเพาะปลูกได้มหาศาล

มาตรการที่ปลายทางที่สุดในการช่วยต้นทุนปุ๋ยของเกษตรกรนั้นคือการอุดหนุนราคาปุ๋ย แต่การอุดหนุนราคาปุ๋ยเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะช่วยเกษตรกร เนื่องจากการอุดหนุนราคาอย่างเดียวจะทำให้ความต้องการใช้ปุ๋ยเท่าเดิมในขณะที่ตลาดขาดแคลน และคนที่ได้ประโยชน์โดยตรงคือผู้ขายปุ๋ย ไม่ใช่เกษตรกร เมื่ออุดหนุนราคาปุ๋ยไปแล้วผู้ขายปุ๋ยไม่จำเป็นต้องมาแบกรับความเสี่ยงในการทำการเกษตรต่อไปในเรื่องฟ้าฝนและราคาโลกเหมือนเกษตรกร

การช่วยลดราคาปุ๋ยให้กับเกษตรกรจึงต้องทำทั้งระบบตั้งแต่การจัดหาอุปทานปุ๋ยอย่างเพียงพอและกระจายความเสี่ยงในการจัดซื้อ เมื่อได้ปุ๋ยมาแล้วก็ต้องมาทำโครงการออกแบบสูตรปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับดินและพืชที่จะปลูก จากนั้นค่อยอุดหนุนปุ๋ยที่ผ่านโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย ซึ่งจะเป็นทั้งการช่วยราคา ลดอุปสงค์ (เนื่องจากประสิทธิภาพมากขึ้น) และจูงใจเกษตรกรให้มาเข้าโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย

จะทำให้เกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยได้ รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนเกษตรกรในเรื่องการตรวจวิเคราะห์ดินอย่างเต็มที่ครับ ผมเชื่อว่าเมื่อเราแก้คอขวดในเรื่องการตรวจคุณภาพดินได้แล้วเกษตรกรเองจะสามารถดาวน์โหลด application มาคำนวนสูตรผสมปุ๋ยให้เหมาะสมกับดินได้ไม่ยากเลย นอกจากนี้เกษตรกรยังจะสามารถปรับความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสมได้ไปจนถึงนำปุ๋ยเคมีมาผสมกับปุ๋ยอินทรีย์อย่างเหมาะสมได้ อย่างไรก็แล้วแต่จุดเริ่มต้นคือการตรวจวิเคราะห์ดิน

หน่วยงานหลักของรัฐที่รับผิดชอบการตรวจวิเคราะห์ดินคือคือกรมพัฒนาที่ดินครับซึ่งมีงบประมาณปีนี้ 3,961 ล้านบาท ในฐานะที่ผมเป็น ส.ส. และกรรมาธิการงบประมาณ ผมได้เห็นเอกสารชี้แจงงบประมาณของกรมพัฒนาที่ดินในส่วนของโครงการวิเคราะห์ดินทางห้องปฏิบัติการ พบว่าโครงการนี้มีงบประมาณเพียง 32 ล้านบาทเท่านั้น และมีตัวชี้วัดช่วยเกษตรกรเพียง 40,000 ราย

ผมเชื่อว่าโครงการนี้เป็นโครงการรัฐที่มีผลตอบแทนจากการลงทุนหรือ ROI สูงที่สุดโครงการหนึ่งครับ เพราะมูลค่าปุ๋ยที่โครงการนี้ช่วยให้เกษตรกร 40,000 รายประหยัดไปได้น่าจะมากกว่างบประมาณของโครงการแน่ๆ หากตั้งสมมุติฐานง่ายๆ ว่าเราสามารถขยายโครงการนี้ออกไปโดยมีสัดส่วนงบประมาณต่อจำนวนคนของเกษตรกรเท่าเดิม เราอาจจะสามารถช่วยเกษตรกรทั้งหมดของประเทศ 9 ล้านคน โดยใช้งบประมาณประมาณ 7,200 ล้านบาท หากโครงการนี้สามารถช่วยเกษตรกรประหยัดปุ๋ยที่ต้องนำเข้าทุกปี 50,000 ล้านบาทได้ 14% โครงการนี้ก็คุ้มค่าต่อการลงทุนแล้วครับ และหากกรมพัฒนาที่ดินอย่างเดียวมีทรัพยากรไม่พอที่จะขยายโครงการออกไปให้ครอบคลุมเกษตรกรในวงกว้าง ผมเชื่อว่าจะเป็นเรื่องที่คุ้มค่าหากรัฐบาลเข้ามาช่วยอุดหนุนราคาการตรวจวิเคราะห์ดินกับสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ

จะแก้ปัญหาปุ๋ยของประเทศไทยได้ต้องคิดทั้งห่วงโซ่ครับ ตั้งแต่การจัดหาแร่ธาตุจากตลาดใหม่ๆ การทำเหมืองแร่โพแทชที่ต้องถูกหลักสิ่งแวดล้อมไม่ทำลายพื้นที่การเกษตรโดยรอบและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามหลักสากล ไปจนถึงโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาปุ๋ยของประเทศให้เกิดความมั่นคงทางอาหารได้อย่างยั่งยืนครับ


ในโอกาสต่อไปผมจะมาสื่อสารถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาข้าวราคาตกต่ำที่เป็นอีกวิกฤติหนึ่งที่รอไม่ได้สำหรับพี่น้องประชาชนครับ

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า