free geoip

คลองช่องนนทรี 980 ล้าน! ของขวัญชิ้นดี หรือแค่ ‘ผักชี’ เพื่อคน กทม. ?


คลองช่องนนทรี 980 ล้านบาท! ของขวัญชิ้นดี หรือแค่ ‘ผักชี’ เพื่อคน กทม.?

ต่อกรณีที่ พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เร่งรีบทำโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี โดยใช้งบกลางของ กทม. เพื่อให้เสร็จก่อนคริสต์มาส 25 ธันวาคม 2564

พรรคก้าวไกล นำโดย สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. ได้ออกมาตั้งคำถามถึงความไม่เหมาะสมและความโปร่งใสของโครงการดังกล่าว

“ก่อนอื่นเลยต้องขอบอกว่า คลองช่องนนทรี ไม่เท่ากับ คลองชองเกชอน การพัฒนาคลองชองเกชอน ไม่ได้ทำขึ้นด้วยการจ้างนักจัดสวนมาออกแบบก่อสร้างอย่างฉาบฉวย”

“เบื้องหลังของการพัฒนาคลองเกชอนกลางกรุงโซลคือ การวางแผนอย่างดี ทั้งการพัฒนาระบบน้ำดีและน้ำเสีย การจัดระบบโครงข่ายถนนโดยรอบใหม่ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ทำให้ย่านการค้าต่างๆ ในละแวกนั้นซึ่งมีจำนวนกว่า 100,000 ร้านค้า ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่อย่างแท้จริง!”

สุรเชษฐ์ กล่าว

แต่สำหรับคลองช่องนนทรีไม่ได้มีอะไรเหมือนกับการพัฒนาคลองชองเกชอนอย่างที่กล่าวอ้าง ซึ่งพรรคก้าวไกลขอตั้งประเด็น 7 คำถามถึงความเหมาะสมของโครงการ ดังต่อไปนี้



(1) ตั้งโครงการกลางถนนใหญ่ซึ่งมีการสัญจรหนาแน่น เพื่ออะไร?

กรณีของคลองชองเกชอน คือ การฟื้นฟูย่านการค้าที่สามารถเข้าถึงได้สะดวก แต่คลองช่องนนทรีเป็นเกาะกลางบนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นถนนใหญ่ ปกติรถมีมากอยู่แล้ว ประชาชนจะเข้ามาใช้ประโยชน์จากคลองได้อย่างไร



(2) สิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำหรือไม่ ?

คลองช่องนนทรีเดิมเป็นเหมือนบ่อแก้มลิงพักน้ำ ไม่ใช่คลองยาว เพื่อรองรับน้ำเวลาฝนตกน้ำบนถนนและน้ำจากอาคารปลูกสร้าง แต่เมื่อก่อสร้างจะมีทั้งผนังปูน เสาข้างล่าง เศษหินดินปูนจากการก่อสร้างตกลงไปกีดขวางทางน้ำ หรือต่อให้เสร็จก็มีคำถามว่าจะยังเป็นแก้มลิงต่อไปได้หรือไม่



(3) สร้างมาให้ใครเดิน ?

อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นเส้นทางคมนาคมหลักของกรุงเทพฯ การจะเดินไปถึงโครงการต้องสร้างทางม้าลาย 17 จุด บนถนนที่มีรถสัญจร 41,000 คันต่อวัน (ช่วงเร่งด่วนมีถึง 18,000 คันต่อชั่วโมง) และยังต้องเดินข้ามถึง 3 ช่องจราจร ถามว่าความปลอดภัยอยู่ที่ไหน? ทำให้รถติดหรือไม่? และในรายงานบอกว่ายังอยู่ช่วงศึกษาความเหมาะสมที่ยังไม่รู้ว่าไปถึงไหน แล้วแบบนี้ยังจะรีบสร้างไปเพื่ออะไร ???



(4) ทำคลองมาอย่างดี แต่ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ?

คลองช่องนนทรีเป็นคลองน้ำเสียลำดับต้นๆ ของประเทศ สภาพน้ำบางช่วงแย่กว่าคลองแสนแสบถึง 2 เท่า แต่รู้หรือไม่ว่าในแผนโครงการไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย บอกแค่จะใช้ ‘พืชธรรมชาติบำบัด’

และเนื่องจากโครงการรีบทำมาผักชีโรยหน้า เลยแบ่งสร้างเป็นท่อนๆ ระยะเริ่มต้นมาจากงบกลาง 80 ล้านบาท แต่เลือกทำส่วนกลางคลอง แทนที่จะส่วนต้นหรือท้ายคลอง แบบนี้จะควบคุมคุณภาพน้ำได้อย่างไร ???



(5) ไม่มีการรับฟังความคิดเห็น มีแต่ผักชีโรยหน้า

การพัฒนาคลองชองเกชอน มีการทำกระบวนการมีส่วนร่วมถึง 4,200 ครั้ง กว่าจะออกมาเป็นโครงการที่เชิดหน้าชูตาเกาหลีใต้ คนที่อยู่โดยรอบได้ประโยชน์ทุกฝ่าย แต่สำหรับคลองช่องนนทรี โครงการนี้ไม่มีการรับฟังความคิดเห็น มีแค่การแถลงข่าว 2-3 ครั้ง เท่านั้น ถามว่าโครงการที่ดูภาพสวยนี้เราแน่ใจได้อย่างไรว่าจะตอบโจทย์ประชาชนจริงๆ



(6) จัดซื้อจัดจ้างกันอย่างไร ทำไมผู้รับเหมาออกแบบกลายเป็นเจ้าเดียวหมด?

โครงการปรับภูมิทัศน์และทางเท้า ของ กทม. มี 5 โครงการหลัก ได้แก่

  • โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี งบประมาณ 980 ล้านบาท งบออกแบบประมาณ 49 ล้านบาท
  • โครงการปรับปรุงสวนลุมพินี 100 ปี งบประมาณ 1,000 ล้านบาท งบออกแบบ 50 ล้านบาท
  • โครงการคลองผดุงกรุงเกษม งบประมาณ 549.73 ล้านบาท ค่าออกแบบ 17.5 ล้านบาท
  • โครงการปรับปรุงทางเท้าพระรามที่ 1 งบประมาณ 96 ล้านบาท ข้อมูลยังไม่ชัดเจนแต่น่าจะอยู่ที่ 4.82 ล้านบาท
  • โครงการทางเท้าถนนสีลม 60 ล้านบาท

เราพบว่า 4 โครงการแรก ยกเว้นโครงการทางเท้าถนนสีลม ใช้ บริษัทภูมิทัศน์สถาปนิกเจ้าเดียวกันหมด จึงเป็นคำถามว่าทาง กทม. จัดซื้อจัดจ้างอย่างไร จึงได้เจ้าเดียวกันหมดแบบนี้ ???



(7) อยู่มา 8 ปี ทำไมไม่คิดทำ มาทำช่วงใกล้จะเลือกตั้งผู้ว่าฯ?

หากนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งของ อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม. ปัจจุบัน ตั้งแต่เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ของ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัทธ์ ในปี 2556 จนกระทั่งได้เป็น “ผู้ว่าฯ ม.44” จาก คสช.ในปี 2559 จนถึงปัจจุบันคิดเป็นเวลาเกือบ 8 ปีแล้วที่ อัศวิน ดำรงตำแหน่งบริหารกรุงเทพมหานคร คำถามคืออยู่มาตั้งนานทำไมไม่คิดทำ มาขยันเร่งทำโครงการอะไรตอนนี้

นอกจากนี้ เราพบว่าโครงการนี้เคยมีการนำเสนอมาก่อน แต่ไม่ผ่านการอนุมัติโดย สภา กทม. จึงมาใช้งบกลางที่เหลือ 80 ล้านบาท มาทำเฟสแรกซึ่งเป็นโครงการที่อยู่นอกแผนเหมือนทำอย่างเร่งรีบ ไม่มีการรับฟังความเห็นประชาชนหรือวางแผนโครงการอย่างรอบคอบ


…แล้วแบบนี้เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าโครงการนี้จะเกิดประโยชน์กับคน กทม. อย่างแท้จริง ?

Login

จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล 7 สิงหาคม 2567 เราขอยุติการรับสมัครสมาชิกพรรคและการรับบริจาค ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้อดีต ส.ส. พรรคก้าวไกลทั้งหมดได้ย้ายไปยังพรรคประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กรุณาติดต่อที่ เว็บไซต์พรรคประชาชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า