free geoip

บันทึกจากแม่ฮ่องสอน : ผลกระทบจากการทวงคืนผืนป่าและผันน้ำยวม


สวัสดีวันอาทิตย์อันสดใสครับ วันนี้ผมนำรูปภาพและเรื่องราวจากการไป จ.แม่ฮ่องสอน มาฝากครับ

เป็นที่รับรู้รับทราบกันโดยทั่วไปว่าแม่ฮ่องสอนมีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อมากมายเพราะมีธรรมชาติ ป่าไม้ แม่น้ำ และขุนเขาอันอุดมสมบูรณ์สลับซับซ้อน ทั้งยังเป็นเบ้าหลอมวัฒนธรรมอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมปกาเกอะญอ ม้ง ลีซอ คนเมือง ไทใหญ่ ชาวจีนยูนนาน ฯลฯ อีกมากมาย จึงทำให้ จ.แม่ฮ่องสอน กลายเป็นจุดหมายปลายทางของหลายคนที่รักในการท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม


แต่อีกมุมหนึ่ง ด้วยความที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีภูมิประเทศเป็นเขาสลับซับซ้อน ประชากรจึงน้อยและเบาบางกว่าจังหวัดอื่นๆ ทำให้มีผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตทั้งจังหวัดเพียง 1 คน เป็นผู้แทนของพี่น้องประชาชน กว่าจะเดินทางจาก อ.ปาย ไล่ไปถึง อ.สบเมย ต้องใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมงขับผ่านโค้งนับพันแบบไม่จอดพักเลย ดังนั้นโดยปริยาย ลักษณะภูมิประเทศที่ทำให้เดินทางลำบากเช่นนี้จึงยังมีพี่น้องประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ ยังเข้าไม่ถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐานเช่นถนนหนทาง น้ำประปา ไฟฟ้า สัญญาณอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์

ผมไปเยี่ยมพี่น้องประชาชนในพื้นที่บ้านแม่คะใต้ อ.สบเมย พบว่ายังไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่การไม่มีไฟฟ้าใช้นั้นไม่ได้มาจากปัญหาเรื่องความขาดแคลนงบประมาณ หรือการดูแลไม่ทั่วถึง แต่เป็นปัญหาการตีความบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบ ที่ไม่เข้าใจสิทธิมนุษยชน เพราะพบว่าหลายปีก่อน ทั้งชาวบ้านและหน่วยงานภาครัฐต่างร่วมมือร่วมใจกันขุดดิน ลงเสาไฟฟ้า เดินสายไฟให้เข้าถึงหมู่บ้าน แต่เมื่อเกิดการรัฐประหาร 2557 ทุกอย่างก็หยุดชะงัก เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ทำต่อ จากนโยบาย ”ทวงคืนผืนป่า” ของคณะรัฐประหาร เสาไฟที่เดินไว้หลายสิบกิโลเมตรก็กลายเป็นเสาไฟร้าง มีบางหมู่บ้านที่เข้าถึง บางหมู่บ้านก็อดใช้ไฟฟ้า


จากการสอบถามเบื้องต้น พบว่าทางหน่วยงานรัฐอ้างว่า ไม่สามารถดำเนินการต่อได้เนื่องจากพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่นั้นอยู่ในเขตพื้นที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ทุกอย่างจึงหยุดชะงักลง บ้านแม่คะใต้จึงยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แม้มีการลงเสาไฟไว้แล้วก็ตาม ชาวบ้านยังไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าใดๆ ยกเว้นโทรทัศน์ที่ใช้พลังจากโซลาร์เซล แต่ก็ใช้บ้างไม่ได้บ้างตามสภาพอากาศ และที่ใช้ได้ก็ใช้ได้แค่ชั่วโมงเดียวเท่านั้น

การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานเช่นไฟฟ้า น้ำสะอาด สัญญาณอินเตอร์เน็ต ฯลฯ เป็นสิทธิมนุษยชนที่รัฐจะต้องจัดการให้ประชาชน การกระทำที่ผมกล่าวไปข้างต้นนั้นจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการอ้างกฎระเบียบและกฎหมายต่างๆ มาปฏิเสธการให้บริการแก่พี่น้องประชาชน แม้ว่าในพื้นที่นั้นจะมีหมู่บ้าน มีผู้คน มีบัตรประชาชน มีการเลือกตั้งก็ตาม


เรื่องยังไม่จบแค่นั้น ผมเดินทางจากหมู่บ้านไปเพียง 10 นาที เพื่อไปชมความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ของ ”แม่น้ำสองสี” ซึ่งเป็นที่บรรจุบกันของแม่น้ำเงาและแม่น้ำยวม ตรงนี้เองเป็นพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาความขัดแย้ง จากการที่รัฐบาลมีโครงการผันน้ำยวม โดยตรงที่ผมยืนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเจาะอุโมงค์ผ่านป่าเพื่อเติมน้ำให้กับเขื่อนภูมิพล มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท ผมเคยเขียนแสดงความเห็นต่อโครงการนี้ไปแล้วว่าไม่คุ้มค่า ไม่สมเหตุสมผล ไม่มีส่วนร่วม อ่านเต็มๆ ได้ที่ https://www.moveforwardparty.org/news/parliament/6948/

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ชัดว่าผมจงใจยกเรื่อง 2 เรื่องมาคุยพร้อมกัน เพื่อให้ทุกท่านเห็นชัดว่ารัฐไม่มีความเสมอต้นเสมอปลาย อยากจะทำอะไรก็ทำ ไม่อยากจะทำอะไรก็ไม่ทำเสียดื้อๆ ในที่นี้คือ อ้างว่าเป็นพื้นที่เตรียมประกาศเป็นอุทยาน ต้องการอนุรักษ์ จึงไม่อำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้ แต่ในขณะเดียวกัน กลับผ่านโครงการเมกะโปรเจกต์ผันน้ำยวม 7 หมื่นล้านบาท สุดท้ายเรื่องทั้งหมดนี้ไม่ใช่อะไรมากไปกว่า “การจงใจพลัดพรากสิทธิของคนกลุ่มหนึ่ง แล้วเอาทรัพยากรไปประเคนให้คนอีกกลุ่มอย่างไม่เป็นธรรม ไม่คุ้มค่า ไม่สมเหตุสมผล”


จากการทำงานการเมือง การพบปะพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ เราไม่ได้ไร้เดียงสาทางการเมืองขนาดนั้น ผมเองก็ย้ำเสมอว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ และการพัฒนาสามารถมาพร้อมกับสิทธิมนุษยชนได้เช่นกัน จึงอยากฝากให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ให้เรียบร้อยด้วย เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน

สุดท้าย ผมขอนำภาพจากการไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของ จ.แม่ฮ่องสอน มาฝากทุกท่านเพื่อนเชิญชวนให้ไปท่องเที่ยวกัน ต้องบอกเลยว่าบรรยากาศธรรมชาติและวัฒนธรรมดีมาก ประชาชนเจ้าบ้านรวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือนอย่างอบอุ่น ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดของปีในการไปเยี่ยมเยียน จ.แม่ฮ่องสอน ครับ

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า