free geoip

คำวินิจฉัย-คหสต. แบบอิหยังวะของ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ต่อ #สมรสเท่าเทียม


มาแล้ว! ชวนอ่านกันเต็มๆ คำวินิจฉัย-ความเห็นส่วนตนศาลรัฐธรรมนูญต่อ ป.พ.พ. 1448

” ‘สมรสเฉพาะชาย-หญิง’ เป็นธรรมชาติและสอดคล้องกับจารีตประเพณีที่มีมาช้านาน ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ทั้งยังช่วยส่งเสริมความมั่นคงของรัฐและศีลธรรมอันดีของประชาชน” !!!??

📍 แม้จะมีข่าวประชาสัมพันธ์จากศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมาแล้ว ว่าศาลมีคำวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 1448 ที่อนุญาตให้สมรสกันเฉพาะชาย-หญิง เท่านี่น ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดมากกว่านั้น

📍 แต่เพียงเท่านี้ ก็ทำให้แฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ติดเทรนด์ในโลกออนไลน์ มีการประกาศจัดม็อบผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างจริงจัง

📍 จนมาวันนี้ 2 ธันวาคม 2564 เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ (ที่เพิ่งโดนเจาะไป) ได้ลงคำวินิจฉัยและความเห็นส่วนตนของตุลาการทั้ง 9 คนอย่างละเอียด ทำให้เราทราบถึงเหตุผลเบื้องหลังในการมีคำวินิจฉัยดังกล่าว

📍 แต่เมื่ออ่านแล้ว ต้องร้องออกมาดังๆ ว่า “อิหยังวะ” แทบทุกย่อหน้า! วันนี้เราจะขอยกตัวอย่างบางส่วนมาให้ดู (ส่วนใครอยากอ่านเต็มๆ กดข้ามไปอ่านที่นี่ได้เลย)



“การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวต้องเคารพกฎหมายภายในประเทศ เคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น รวมทั้งจารีตประเพณี หลักศาสนา วัฒนธรรม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมหรือรัฐหรือประเทศนั้นๆ และต้องไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น”

“กฎหมายเป็นเครื่องที่ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุข พื้นฐานของกฎหมายนอกจากจะเป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติแล้ว ยังเป็นไปตามขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีของแต่ละสังคม กฎหมายจะบังคับใช้ได้อย่างยั่งยืนต้องเป็นที่ยอมรับและไม่ขัดกับความรู้สึกของคนในประเทศนั้นๆ”

“ในเรื่องการสมรสตามจารีตประเพณี วิถีแห่งสังคมไทยตลอดจนแนวทางปฏิบัติและการตีความกฎหมายของประเทศไทยมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า การสมรสนั้นสามารถกระทำได้เฉพาะชายและหญิงเท่านั้น”

⬆️⬆️⬆️ โอเค นัมเบอร์วัน!!!



“ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 เป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและจารีตที่มีมาช้านาน วัตถุประสงค์ของการสมรสคือการที่ชายและหญิงอยู่กินกันฉันสามีภริยาเพื่อสร้างสถาบันครอบครัว มีบุตร ดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ และมีการสืบทอดทรัพย์สิน มรดก มีการส่งต่อความผูกพันกันระหว่างพ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ซึ่งการสมรสในระหว่างบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศอาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนดังกล่าวได้”

⬆️⬆️⬆️ สรุปแบบนี้เลยหรือ???




อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่าควรแยกชายหญิงออกจากเพศหลากหลาย และหน่วยงานต่างๆ อาจทำกฎหมายคุ้มครองหรือรับรองสิทธินั้นได้ เช่น ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิต!!! (แต่ไม่เอ่ยถึงร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนะ)

“ซึ่งเพศที่ถือกำเนิดมานั้นเลือกไม่ได้ หากจะมีข้อยกเว้นบ้างก็ควรจะแยกออกไปคุ้มครองต่างหากเป็นการเฉพาะ การให้ความเสมอภาคระหว่างชายหญิงจึงมิใช่การให้ถือว่าเหมือนกัน แต่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมกับเพศสภาพของบุคคลนั้นๆ ในการนี้ กฎหมายจะต้องรับรู้และแยกเพศชายและเพศหญิงเป็นหลักไว้ก่อนจึงจะให้ความเสมอภาคได้ เช่น หญิงมีประจำเดือน หญิงตั้งครรภ์ได้ หญิงมีสรีระที่อ่อนแอบอบบางกว่าชาย เห็นได้ว่า สิ่งที่ไม่เหมือนกันจะปฏิบัติให้เหมือนกันไม่ได้ การปฏิบัติให้ถูกต้องสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติจะสร้างความเสมอภาคระหว่างชายหญิงได้ มิใช่ถือเอาผู้ที่กำหนดเพศไม่ได้มารวมกับความเป็นหญิงชายที่แยกกันไว้อย่างชัดเจน การยอมรับสิ่งที่แตกต่างให้กลายเป็นสิ่งที่ไม่แตกต่างจึงไม่อาจกระทำได้…”

⬆️⬆️⬆️ สรุปง่ายๆ คือ อย่านับพวก “กำหนดเพศไม่ได้” มารวมกับ “ชายจริงหญิงแท้!!!”



“…เมื่อคำนึงถึงสัดส่วนที่พึงจะเกิดขึ้น จึงเป็นการเพิ่มภาระให้รัฐและทำให้สิทธิของสามีภริยาที่เป็นชายจริงหญิงแท้ซึ่งเป็นมหาชนต้องถูกตรวจสอบไปด้วย ทำให้เกิดความล่าช้ามีอุปสรรคไม่ได้รับความเป็นธรรมไปโดยปริยาย นอกจากนี้ การไม่กำหนดเพศในการสมรสอาจมีผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) มาจดทะเบียนสมรสเพื่อหวังผลประโยชน์ในสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ หรือประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี อันอาจส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน”

⬆️⬆️⬆️ สรุปง่ายๆ คือ กลัวคนใช้สิทธิสวัสดิการ แต่ไม่คิดว่าคนที่เขาถูกเลือกปฏิบัติอยู่โดยการไม่รับจดทะเบียนสมรสนั้น เขาไม่ได้รับสวัสดิการที่ควรจะได้มานานแค่ไหนแล้ว?!?



สรุปสั้นๆ ก็คือ คำวินิจฉัย-ความเห็นส่วนตนศาลรัฐธรรมนูญชี้ ป.พ.พ.1448 ‘สมรสเฉพาะชาย-หญิง’ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นธรรมชาติและสอดคล้องกับจารีตประเพณีที่มีมาช้านาน ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ทั้งยังช่วยส่งเสริมความมั่นคงของรัฐและศีลธรรมอันดีของประชาชน!!!



อ่านคำวินิจฉัยเต็ม


อ่านความเห็นส่วนตนของตุลาการแต่ละคน


ล้างลูกตาหลายต่อหลายรอบแล้วก็ยังไม่เชื่อว่า
จะได้มีโอกาสเห็นอะไรแบบนี้จากสถาบันแบบนี้ในยุคสมัยนี้



งานนี้ ไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนมาจากไหนถึงได้มีความเห็นขัดกับกระแสความก้าวหน้าของสังคมเสียขนาดนี้!?! และเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยมาขนาดนี้แล้ว ก็เห็นได้ชัดว่าสังคมไทยไม่สามารถพึ่งพิงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในการแก้ไขปัญหาใดๆ ได้เลย ในหลายกรณียังทำให้เกิดความขัดแย้งตึงเครียดมากขี้นกว่าเดิมเสียอีก! เราจึงต้องยิ่งผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างจริงจัง!

ในส่วนของพรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม แก้ไข ป.พ.พ.1448 เปลี่ยนจาก “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคล” โดยร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการแสดงความเห็นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และกำลังจะถึงคิวการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้-โปรดติดตาม

ส่วนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับอื่นๆ นั้น เท่าที่ทราบ มีของพรรคเพื่อไทยที่กำลังมีแผนจะยื่นเข้าสภา และร่างของประชาชนที่กำลังเข้าชื่อกันอยู่ ปัจจุบันทะลุ 2 แสนรายชื่อไปแล้วทั้งที่เปิดแคมเปญไม่ถึง 1 สัปดาห์


พรรคก้าวไกลขอเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้เกิดขึ้นสำเร็จจงได้ เพื่อให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร มีเพศกำเนิด เพศวิถี รสนิยมและตัวตนอย่างไร ก็สามารถใช้ชีวิตบนพื้นฐานของกฎหมายที่รับรองสิทธิ เสรีภาพ และสวัสดิการ ที่เสมอภาคเท่าเทียมกันได้

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า