free geoip

แฉ! ขบวนการกว้านซื้อที่ดิน เบื้องหลังโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ


เบื้องหลัง ‘นิคมฯ จะนะ’ ฉบับขายฝัน ของ ‘นักการเมืองใหญ่’ และ ‘นายทุนขาประจำ’ ที่มีทหารคอยดูแล

ย้อนอ่านสรุปคำอภิปรายไม่ไว้วางใจ ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน ‘นิคมอุตสาหกรรมจะนะ’ จังหวัดสงขลา อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู แม้เบื้องหน้าอาจบอกว่า นี่คือการพัฒนาครั้งใหญ่ของปักษ์ใต้บ้านเรา แต่เบื้องหลังกลับเป็นการจับมือกันของนักการเมืองตัวร้ายกับนายทุนตัวแสบที่มีทหารเป็นผู้อำนวยความสะดวก เพื่อหาประโยชน์ ฟันกำไรมหาศาลจากส่วนต่างราคาที่ดินและการใช้อำนาจหน้าที่เปลี่ยน ‘สีผังเมือง’ ใหม่อย่างไร้ยางอาย

ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ขุนพลภาคใต้ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้รับหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจ จับพิรุธโครงการใหญ่ ฉบับ สอดไส้-ขายฝัน โครงการนี้ใครเป็นใครและมีพฤติกรรมอย่างไร มาร่วมกันติดตามโครงการไปกับเรากันเลย


1

โครงการนิคมฯจะนะ ‘เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ ไม่ได้อยู่ในแผน ‘เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ’ มาตั้งแต่แรก ในปี 2559 รัฐบาล คสช. มีเป้าหมายเพียง 3 พื้นที่เท่านั้น ได้แก่ อ.เบตง จ.ยะลา, อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในการทำโครงการ ‘เมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ส่วนโครงการนิคมจะนะฯ ถูกผลักดันสอดไส้เข้ามาในภายหลัง



2

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 นิพนธ์ บุญญามณี ในฐานะนายก อบจ. ขณะนั้น ได้เข้าพบ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ของเอกชน ด้วยการยกระดับให้เป็นอุตสาหกรรมพลังงานครบวงจร (Energy Complex) ต่อมา วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรี คสช. จึงออก มติ ครม. ทิ้งทวนช่วงสุญญากาศ ระหว่างรอรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เห็นชอบขยายผลโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนไปสู่พื้นที่ อ.จะนะ



3

โครงการนิคมฯ จะนะ จึงกลายเป็นพื้นที่แห่งที่ 4 ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ภายใต้การนำของกิจการเอกชน 2 บริษัท ได้แก่ TPIPP และ IRPC ได้รับการอนุมัติงบลงทุน 18,680 ล้านบาท มีการใช้ประโยชน์ตามแผนการของโครงการในพื้นที่ 16,753 ไร่ ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเตล็ด เขตอุตสาหกรรมหนักและเบาต่างๆ



4

โครงการนี้ไม่เคยมีการพูดคุยหรือผ่านกระบวนการความมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่มาก่อน อีกปัญหาสำคัญคือ สีผังเมืองเดิม เป็น ‘สีเขียว’ หรือถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมเท่านั้น เพื่อเคลียร์ปัญหา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จึงกระโดดเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการทั้งที่ไม่มีบทบาทหน้าที่ใดเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น (เทียม) และชงเรื่องการเปลี่ยนสีผังเมืองให้เป็น ‘สีม่วง’ เพื่อให้สามารถลงทุนใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมได้



5

บริบทพื้นที่ของ อ.จะนะ คือพื้นที่ทรัพยากรสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรและการประมง มีการผลักดันการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เช่น การล่องเรือดูปลาโลมาสีชมพู ธุรกิจเลี้ยงนกเขาแข่งขัน และธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าปีละ 100 – 500 ล้านบาท ความกังวลของคนในพื้นที่คือ หากเกิดนิคมฯ จะนะ อาชีพและธุรกิจที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตจะหายไป และจะเกิดการทำลายล้างทรัพยากรทางทะเลครั้งมโหฬาร



6

สัญญาณความไม่ปกติในการผลักดันโครงการนี้มานาน ตั้งแต่สมัย นิพนธ์ ดำรงตำแหน่งในฐานะนายก อบจ.สงขลา เคยแถลงต่อสภา อบจ.วันที่ 5 กันยายน 2556 ว่าจะพัฒนาพื้นที่พลังงาน ท่าเรือน้ำลึก และอุตสาหกรรม ในพื้นที่ อ.จะนะ อ.นาหม่อม อ.เทพา ซึ่งคนในพื้นที่รู้กันดีว่า มีการเอางบประมาณ อบจ. ไปลงในพื้นที่อำเภอแถบนั้นมากผิดปกติ



7

แนวโน้มความสำเร็จโครงการ อาจไม่เป็นไปตามที่ ศอ.บต. ขายฝันว่า เม็ดเงินลงทุน 18,680 ล้านบาท จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ถึง 100,000 ตำแหน่ง เพราะพบตัวอย่างความล้มเหลวจากโครงการข้างเคียง ทั้งนิคมอุตสาหกรรม Rubber City , นิคมอุตสาหกรรมสงขลา รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 เขต ที่เกิดจากนโยบายของประยุทธ์ ล้วนแล้วแต่ล้มเหลวทั้งหมด ภาษีประชาชนไปแล้วกว่า 47,000 ล้านบาท มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของเอกชนแค่ 48 โครงการ 8,000 ล้านบาท หรือไม่ถึง 20% ของเงินลงทุน แต่ยังกลับมีการเร่งลัดผลักดันให้เกิด นิคมฯจะนะ



8

ความต้องการให้เกิด Energy Complex ไม่ได้มาจากรัฐ แต่มาจากความต้องการของกลุ่มทุน TPIPP จากเอกสารเตรียม EIA ของบริษัท วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ยืนยันชัดเจนว่า TPIPP เป็นผู้ไปเสนอแผนการผลักดันพัฒนาโครงการในพื้นที่จะนะ ข้อสงสัยคือ ทำไมไม่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่เป็นรัฐวิสาหกิจทำ อย่างไรก็ตาม เครือ TPIPP เป็นหนึ่งในกลุ่มทุนที่มีชื่อเป็นผู้บริจาคเงินผ่านโต๊ะจีนประชารัฐ



9

ร่องรอยความไม่ปกติเกี่ยวกับการ ‘กว้านซื้อที่ดิน’ ในพื้นที่จะนะ พบว่า เกี่ยวพันกับกลุ่มบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายหรือเครือญาติกับ นิพนธ์ บุญญามณี ทั้งสิ้น ไม่ว่า นิธิกร บุญญามณี ลูกชายคนเล็กของนิพนธ์ เป็นเจ้าของบริษัทค้าที่ดิน, สิรภพ เริงฤทธิ์ หรือ ‘ทนายอาร์’ เป็นทนายความคนสนิท เคยเป็นพนักงานจ้าง ตำแหน่งผู้ช่วยนิติกร อบจ. สงขลา , วุฒิชัย วัตตธรรม ลูกพี่ลูกน้องของนางกัลยา บุญญามณี ภรรยานายนิพนธ์,  ชัยโรจน์ จิวระประภัทร์ คู่เขยของ นิพนธ์ บุคคลคนเหล่านี้มีชื่ออยู่ในสารบบที่ดินและหนังสือสัญญาการซื้อขายที่ดิน ในช่วงเดือน ม.ค. 63 ซึ่งเป็นช่วงที่มีมติ ครม. เห็นชอบโครงการและเปลี่ยนสีผังเมืองจาก ‘สีเขียว’ เป็น ‘สีม่วง’



10

ช่วงเดือน มกราคม 2563 ที่ ครม. มีมติให้เปลี่ยนสีผังเมือง พบการกว้านซื้อที่ดินของรายใหญ่จาก 2 กลุ่มอย่างไม่ปกติ

  1. กลุ่มเครือข่ายครอบครัวคนใกล้ชิด นิพนธ์ มีการซื้อขายทั้งหมด 23 ธุรกรรม เป็นการซื้อขายที่ดินของ นิธิกร 10 ธุรกรรม จำนวน 34 ไร่มูลค่า 9,400,000 บาท, สิรภพ 8 ธุรกรรม จำนวน 52 ไร่ มูลค่า 12,600,000บาท, ชัยโรจน์ 2 ธุรกรรม จำนวน 181 ไร่มูลค่า 45,500,000 บาท, วุฒิชัย 1 ธุรกรรม ไม่น้อยกว่า 180 ไร่ มูลค่า 36,300,000 บาท ศิรานุช ภูริศักดิ์ไพศาล พี่น้องภรรยา วุฒิชัย 2 ธุรกรรม จำนวน 11 ไร่ มูลค่า 5,900,00 บาท รวม 5 คนที่เป็นเครือญาติ นิพนธ์ มีการรับซื้อที่ดิน 23 ธุรกรรม พื้นที่ 464 ไร่ มูลค่า 110 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 236,166 บาทต่อไร่
  2. บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP กว้านซื้อที่ดิน 25 ธุรกรรม พื้นที่ 450 ไร่ มูลค่า 271 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 602,608 บาทต่อไร่


11

แม้มีข้อสังเกตว่า ราคาที่ดินที่ TPIPP ซื้อจากชาวบ้านอยู่ที่เฉลี่ยไร่ละ 600,000 บาท สูงกว่าราคาที่เครือข่าย นิพนธ์ซื้อเกือบเท่าตัว แต่ความจริง มูลค่าซื้อขายที่ดิน 271 ล้านบาทของ TPIPP ในเดือน มกราคม 2563 มีน้อยมากที่ถึงมือชาวบ้าน เพราะในจำนวนการซื้อขายที่ดินทั้งหมด เป็นการซื้อที่ดินจาก ชัยโรจน์ และ วุฒิชัย มากถึง 224 ล้านบาท หรือคิดเป็น 83% ส่วนที่ตกถึงมือชาวบ้านแค่ 17% เท่านั้น



12

หากใช้ วันที่ 21 มกราคม 2563 ที่ ครม. มีมติเห็นชอบโครงการจะนะ และให้ ‘เปลี่ยนสีผังเมือง’ เป็นตัวแบ่ง พบว่า ผู้ที่ทำการกว้านซื้อที่ดินก่อนวันที่ 21 มกราคม 2563 จำนวนมากคือกลุ่มของ นิธิกร, สิรภพ และเครือข่ายครอบครัวนิพนธ์ ส่วนกลุ่มที่ทำการกว้านซื้อที่ดินมากหลังวันที่ 21 มหราคม 2563 คือบริษัท TPIPP จึงเป็นข้อสงสัยว่า เครือข่ายครอบครัว นิพนธ์รู้ล่วงหน้าว่าจะมีมติ ครม. ออกมาในวันไหนที่จะมีผลกับราคาที่ดินหรือไม่ จึงได้เร่งซื้อเร่งโอนที่ดินก่อนที่จะมี มติ ครม. ออกมา จึงมีคำถามว่าเป็นลักษณะพฤติกรรมการใช้ข้อมูลภายในจากฐานะรัฐมนตรี เอื้อประโยชน์ให้เครือญาติเพื่อกว้านซื้อที่ดินใช่หรือไม่



13

เครือข่ายและครอบครัวของ นิพนธ์ สามารถเอาที่ดินไปขายต่อได้ราคาเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าจากที่ซื้อมาจากชาวบ้าน ส่วน TPIPP หากสามารถผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมได้จริง จะสามารถขายที่ดินในนิคมได้ไร่ละ 3,000,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว หากประเมินเฉพาะการซื้อขายในเดือน มกราคม 2563 จำนวน 464 ไร่ เครือข่าย นิพนธ์ซื้อมาประมาณ 110 ล้านบาท เมื่อนำไปขายให้บริษัท TPIPP จะได้ 280 ล้านบาท หรือได้ส่วนต่างทั้งสิ้น 170 ล้านบาท ส่วน TPIPP อาจได้มากถึง 1,300 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าที่ชาวบ้านขาย 12 เท่าตัว และหากคิดภาพทั้งเขตผังเมืองสีม่วงที่ตั้งโครงการจะนะ 16,753 ไร่ เม็ดเงินจะไปอยู่ในกระเป๋าของ บริษัท TPIPP ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท



14

ยังมีข้อสงสัยอีกว่า เครือข่าย นิพนธ์ พยายามรวบรวมที่ดิน นส. 3ก. ให้บริษัท TPIPP ไปออกโฉนดหรือไม่ เพราะหลังจาก ครม. มีมติ เดินหน้านิคมฯจะนะ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ที่มี พล.อ. ประวิตร เป็นประธาน ในการประชุมวันที่ 21 ตุลาคม 2562 และ นิพนธ์อยู่ในที่ประชุมด้วย ได้มีมติให้สำนักงานที่ดิน จ.สงขลา อ. จะนะ, อ. เทพา, อ. นาทวี สงขลา และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สนับสนุนการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินให้กับประชาชนเป็นการเร่งด่วน ซึ่ง นิพนธ์ รับลูกอย่างรวดเร็ว โดยตั้ง ‘ศูนย์อำนวยการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน จ.สงขลา-นครศรีธรรมราช’ แต่ในทางปฏิบัติกลับเน้นอนุมัติเฉพาะ 4 ตำบล ได้แก่ ต.นาทับ, ต.ตลิ่งชัน, ต.ป่าชิง, ต.บ้านนา ซึ่งที่อยู่ในเขตสีม่วงทั้งหมด จังหวัดสงขลามี 16 อำเภอ มีเพียง 4 อำเภอ ที่อยู่ในโครงการสำรวจออกโฉนด ขณะที่ อำเภอจะนะมี 14 ตำบล ก็มีเพียง 4 ตำบล ที่เป็นพื้นที่นิคมฯ เท่านั้นที่เป็นเป้าหมายการเดินสำรวจ โดยประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับนี้ ลงนามโดยนิพนธ์ 



15

เรื่องบังเอิญของการออกโฉนดที่ดินของกรมที่ดิน ภายใต้การกำกับดูแลของ นิพนธ์ เกิดขึ้นช่วงเดียวกับที่กลุ่มเครือข่ายเครือญาติ นิพนธ์ ไล่รวบรวมซื้อเอกสารสิทธิ์ นส. 3ก. จากประชาชนในพื้นที่ และบังเอิญอีกเช่นเดียวกัน ที่มีที่ดิน นส. 3ก. จำนวนมากถูกออกเป็นโฉนดโดย TPIPP อย่างพอดิบพอดี เป็นความแตกต่างในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ขณะที่ไม่เคยเหลียวแล สค.1, นส. 3ก, ของชาวบ้านที่รอออกโฉนดมากว่า 70 ปี การออกโฉนดให้กลุ่มทุนกลับเป็นไปอย่างรวดเร็ว



16

ขณะที่โครงการนิคมฯ จะนะ เป็นโครงการที่เต็มไปด้วยข้อสงสัยว่า มีการใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีและอำนาจรัฐผลักดันโครงการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนและเครือญาติตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การเปลี่ยนสีผังเมือง เจรจาซื้อขายที่ดิน ไปจนถึงการออกโฉนดที่ดิน แต่การรับฟังเสียงจากประชาชนกลับถูกกีดกันอย่างเต็มที่ เช่น เวทีรับฟังความคิดเห็นวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 มีการใช้กำลังตำรวจกว่า 1,000 นาย และรั้วลวดหนามปิดกั้นกลุ่มคัดค้านไม่ให้เข้าร่วมเวที โดยกันให้อยู่ห่างออกไปกว่า 3 กิโลเมตร ระหว่างนั้นมีการส่งทหาร ตำรวจไปคุกคาม ขมขู่ กดดัน ให้ร้ายประชาชนไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหว นักปราชญ์และครูสอนศาสนาถูกใส่ร้ายป้ายสีจาก กอ.รมน. ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย แบ่งแยกดินแดน เหล่านี้ล้วนเป็นการสุมไฟแห่งความขัดแย้งในพื้นที่ โครงการบนพื้นที่ 17,000 ไร่ของจะนะนี้ จึงเป็นโครงการที่ ‘นายทุนคิด ทหารดัน นักการเมืองหาประโยชน์’ อย่างแท้จริง



ย้อนชมการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อช่วงต้นปี


ล่าสุด ยอมรับกันตรงๆ

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า