ค่ายผู้อพยพแม่หละ : แดนสนธยา ฟางเส้นสุดท้าย และน้ำผึ้งหยดเดียว
ชนวนเหตุของการประท้วงที่ศูนย์อพยพแม่หละ ซึ่งรองรับผู้อพยพกว่า 30,000 ชีวิตที่หนีภัยสงครามจากประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 เริ่มคลี่คลายออกมาให้เห็นภาพที่กว้างขึ้นของเรื่องราวทั้งหมดที่เป็นมาและเป็นไป ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีนับตั้งแต่มีค่ายแห่งนี้มา
ในขณะที่คนบางส่วนเริ่มชี้ประเด็นไปในทางว่าผู้อพยพเหล่านี้ “มาอาศัยแผ่นดินไทยอยู่แล้วก่อความวุ่นวาย” แต่สำหรับ คริษฐ์ ปานเนียม และ ปรัชญา ปุณหะกิจ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกลจากจังหวัดตากทั้งสองคน นี่เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนกว่านั้น
คนพื้นที่ ล้วนรู้ดีว่าค่ายผู้อพยพ เป็นเสมือนแดนสนธยาสำหรับการหาผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะฝ่ายปกครอง ที่มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลค่าย
ค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ล้วนแต่มีจุดเริ่มต้นมาจากสงครามระหว่างชาติพันธุ์กับรัฐบาลเมียนมา ที่กินเวลานานข้ามทศวรรษมาจนถึงทุกวันนี้ พวกเขาต้องทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลังเพื่อมาเป็น “ผู้อพยพ”
โดยสถานะของผู้อพยพ พวกเขาได้เพียงนั่งรอ นอนรอ และยืนรอ หลายคนรอที่จะได้กลับบ้าน บ้างก็รอการย้ายไปประเทศที่สาม บ้างก็รอแค่วันที่จะได้จากไปอย่างสงบ ขณะที่อีกหลายคนเลิกหวังที่จะกลับบ้าน ที่ไม่มีรอพวกเขาอยู่ที่อีกฝั่งของชายแดนอีกต่อไป เพราะถูกทำลายล้างจากสงครามไปหมดแล้ว
นั่นจึงเป็นเหตุให้หลายคน หวังเพียงจะได้ใช้ชีวิตต่อไป ได้เดินหน้าชีวิตต่อในดินแดนประเทศไทยแห่งนี้ ลงหลักปักฐานหางานทำ ซึ่งก็สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของไทยที่กำลังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย ขาดคนหนุ่มสาววัยทำงาน โดยเฉพาะในภาคก่อสร้าง
คริษฐ์ เล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวที่โจษจันกันในค่ายผู้อพยพแม่หละ ที่แม้แต่คนอำเภอเมืองเขต 1 อย่างเขา ก็ได้ยินมาบ่อยครั้ง นับตั้งแต่มีค่ายผู้อพยพเกิดขึ้นที่นี่
“ผู้อพยพส่วนใหญ่อยู่ในสภาพยากลำบาก แม้แต่การอยู่ในค่ายก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ความช่วยเหลือไม่ใช่ว่ามีให้ทุกอย่าง บางอย่างก็ต้องหาเอง ซึ่งก็ต้องใช้เงินซื้อเอา หลายคนเลยต้องออกไปทำงานรับจ้างข้างนอกเพราะต้องหาเงินมาใช้ในค่าย ซึ่งแม้ตามกฎจะทำไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงทุกคนก็รู้กันอยู่ ว่ามีผู้อพยพออกจากค่ายมาหางานทำกันเป็นเรื่องปกติ
เป็นที่รู้กันมานานแล้ว ว่าคนที่ออกมาทำงานข้างนอกได้ ก็เพราะจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ เท่าที่ผมทราบน่าจะอยู่ที่ 1,000 บาทต่อครั้ง สำหรับคนที่มีเงินก็ออกไปทำได้ ส่วนคนไม่มีก็ต้องลักลอบเอา ถ้าถูกจับได้ก็จะถูกลงโทษ”
นี่คือเรื่องที่กลายเป็น “ปกติ” ไปแล้วในค่ายผู้อพยพแห่งนี้ ทั้งที่ความจริงไม่ควรจะมองเห็นเพื่อนมนุษย์ที่หนีภัยสงครามและความยากลำบากมา เป็นเครื่องมือสร้างรายได้แบบนี้เลย
ปัญหาคือเมื่อพวกเขาไม่มีสถานะ ไม่มีเอกสาร เป็นเพียง “มนุษย์” คนหนึ่งที่หนีจากสงคราม ทิ้งทุกอย่างมาเหลือเพียงชีวิต ลมหายใจ และร่างกายของมนุษย์คนหนึ่ง การจะเดินหน้าชีวิตต่อไปในดินแดนที่ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย
จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเกิดการเรียกเก็บ “ส่วย” จากเจ้าหน้าที่รัฐ แลกกับการปิดตาข้างหนึ่ง ให้ผู้อพยพที่พอจะมีกำลังจ่าย สามารถออกไปทำงานที่ด้านนอกค่ายได้
“เหตุที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่ทำรุนแรงกับผู้อพยพเกินไปมาก จนมีความไม่พอใจเกิดขึ้น ทุกอย่างที่สะสมอัดอั้นมานานเกิดระเบิดขึ้น แต่ทางฝั่งผู้อพยพเองก็มีหลายฝ่าย บางคนก็ไม่ได้พอใจกับจลาจลที่เกิดขึ้น มาห้ามปรามกันเองก็มีเหมือนกัน
คริษฐ์ให้มุมมอง
เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีใครอยากให้เกิด ทั้งหมดมาจากทั้งการกระทำที่มิชอบของฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐของไทย เจ้าหน้าที่ที่ดีก็มี ที่ไม่ดีก็มาก และฝั่งผู้อพยพเองที่บางส่วนก็ตั้งตนเป็นผู้มีอิทธิพลกดดันกันเอง ซึ่งผมเชื่อว่าถ้ามีการปรับวิธีการทำงาน มีระบบการตรวจสอบที่ดี จะทำให้ปัญหาแบบนี้ไม่เกิดขึ้น”
ส่วนในความรับรู้ของปรัชญา นอกจากการเป็นเครื่องมือหารายได้ให้เจ้าหน้าที่แล้ว การปฏิบัติต่อผู้อพยพในค่ายก็มีปัญหาเช่นกัน ด้วยความที่พวกเขาไม่มีสถานะ และยังอยู่ในดินแดนสนธยาอีก จึงสามารถเป็นเหยื่อได้สำหรับทุกเรื่องราวความต่ำทรามที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะได้รับ
“ผู้อพยพบางส่วนให้ข้อมูลว่าพวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างกดขี่มาโดยตลอด จนเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหมือนน้ำผึ้งหยดเดียว ที่ทำให้ทุกอย่างที่สะสมมาเกิดลุกลามบานปลาย มีการพูดกันมานานแล้ว ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อิทธิพลของทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและผู้อพยพบางส่วน ของบริจาคที่มาจากยูเอ็นไม่เคยถึงมือผู้อพยพ ของที่ดี ๆ เจ้าหน้าที่เอาไปหมด เหลือแต่เศษเล็กน้อยให้ผู้อพยพ แล้วยังมีรายงานด้วยว่า อส. บางคนก็รู้เห็นเป็นใจให้ผู้มีอิทธิพลเข้าไปคุกคามล่วงละเมิดทางเพศกับผู้อพยพบ่อยครั้ง”
นี่คือสิ่งที่ปรัชญารับรู้และได้ยินมาตลอดเกี่ยวกับค่ายแห่งนี้
ตราบที่สงครามและความขัดแย้งที่อีกฝั่งของพรมแดน ยังคงดำเนินต่อไป ไม่มีวี่แววเลยว่าเรื่องนี้จะจบลงเมื่อไหร่ ค่ายยังคงต้องอยู่ ผู้อพยพยังคงต้องอยู่ เจ้าหน้าที่ยังคงต้องอยู่ เป็นสภาพคาราคาซังมาหลายทศวรรษ
และแน่นอน ผลประโยชน์จากการหากินกับชีวิตมนุษย์ที่อยากเพียงเดินหน้ามีชีวิตต่อไป ก็ยังคงอยู่ที่นี่ และอาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่สภาพคาราคาซังอย่างนี้ ยังคงต้องคาราคาซังต่อไป
ตราบใดที่ค่ายผู้อพยพยังคงต้องตั้งอยู่ตรงนั้น ตราบใดที่เรายังไม่สามารถหาทางออกให้สำหรับพวกเขาผู้หนีภัยสงครามมาที่นี่ อย่างน้อยสิ่งหนึ่งที่เจ้าของพื้นที่อย่างพวกเราทำได้ทันที เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก ก็คือการปฏิบัติอย่างมีมาตรฐาน
“ถ้าตัดเรื่องความเป็นผู้อพยพ คนเราทุกคนควรมีสิทธิที่ได้รับการเคารพ จะยากดีมีจน มาอาศัยแผ่นดินเราอยู่ก็จริง แต่นั่นเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ไม่ได้ให้เปล่า ทุกอย่างมีการตกลงร่วมกัน มีค่าใช้จ่ายสนับสนุนให้รัฐบาลไทย ฝั่งเจ้าหน้าที่ก็ควรปฏิบัติกับเขาในฐานะมนุษย์เหมือนกัน ไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าเขาจะเป็นใคร มองเขาให้เป็นมนุษย์เหมือนกับบเรา มีความรู้สึกนึกคิด เขาพลัดถิ่นมาพึ่งพาอาศัยเราก็จริง แต่อยากให้มีจิตใจที่มองคนไม่แบ่งแยก”
คริษฐ์กล่าวทิ้งท้าย
“จากจุดนี้ ผมอยากให้ทุกคนตั้งสติกันใหม่ อยู่ด้วยกันแล้วค่อยๆ แก้ไขปรับปรุงด้วยกันต่อไป อยากให้มีการพูดคุย นำกฎมาวาง คุยกันให้ได้ข้อตกลงที่ดีที่สุด เพราะการอยู่ร่วมกันก็ต้องมีกฎ และต้องมีการเข้าไปตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น โดยให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายด้วย สุดท้าย หากเราทำระบบให้ดี กำจัดการเรียกรับส่วย ให้ผู้อพยพได้ออกมาหางาน นอกจากพวกเขาจะไม่ต้องพึ่งพาแต่ความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยและยูเอ็น ผู้อพยพยังจะกลายเป็นพลังทางเศรษฐกิจให้ไทยได้ด้วย“
ส่วนเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์ และอิทธิพลในพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นในค่าย จนเป็นชนวนเหตุสะสมมาสู่เรื่องที่เกิดขึ้นนั้น ปรัชญามองว่า เจ้าภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยูเอ็น ศูนย์ฯ กรุงเทพ ที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลไทยในการดูแลค่ายผู้อพยพ ควรต้องออกมาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียดว่า เรื่องที่เขาพูดกันมานั้นเป็นจริงหรือไม่ และปล่อยให้มีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในค่ายได้อย่างไร?
“เรื่องที่พูดกันเหล่านี้จะเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน ทั้งทาง ยูเอ็น และรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นผู้ดูแลค่ายผู้อพยพ ควรต้องเข้ามาทำการตรวจสอบ ทั้งเรื่องอิทธิพล การเรียกรับผลประโยชน์ การละเมิดสิทธิต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งกรณีการทำร้ายร่างกายล่าสุดที่เกิดขึ้นด้วย”
สุดท้ายนี้ เรื่องราวทั้งหมดจะคลี่คลายลงอย่างไร คงขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจรับผิดชอบ จะต้องเป็นคนทำความจริง-ความเป็นธรรมให้กระจ่าง และปรับปรุงแก้ไขต้นตอของปัญหาให้ยุติลงต่อไป
แต่เบื้องต้น สิ่งที่ไม่ว่าใครก็ทำได้เลยตอนนี้ โดยไม่ต้องอาศัยกลไกใด ไม่ว่าจะระบบระเบียบหรือความร่วมมือระหว่างประเทศ ก็คือการเริ่มต้นในหัวใจของเราเอง…