อาชีพที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติอย่าง “ชาวนา” ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าล้านล้านบาท แต่ในอีกด้านหนึ่ง เกษตรกรหรือชาวนา กลับมีหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น บางรายอาจต้องเปลี่ยนสถานะจากผู้ถือครองที่ดิน กลายเป็นผู้เช่าเพื่อทำกิน เนื่องจากต้องเอาที่ดินไปจำนองหรือขายใช้หนี้
ทำไมชาวนาต้องจน?
ชวลิต กงเพชร ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร เขต 1 จ.กาฬสินธุ์ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งคำถามว่าเหตุใดผู้ประกอบอาชีพชาวนาถึงต้องจน เขามีแนวคิดร่วมกับลูกหลานชาวนาในพื้นที่ ที่ทนเห็นราคาข้าวเปลือกตกต่ำไม่ไหว จัดทำโครงการขายข้าวช่วยชาวนา เพื่อถอดบทเรียนว่าทำไมชาวนาถึงจน หรือไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะใช้โครงการนี้ช่วยเหลือชาวนาในพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน
เป้าหมายของโครงการนี้คือการทดลองเพื่อเก็บข้อมูลของต้นทุน และผลกำไร นำตัวเลขมาเปิดเผย คำนวณช่องว่างของราคาให้ชาวนาได้เห็นว่าแท้จริงผลกำไรตกอยู่กับคนกลางที่รับซื้อข้าว ทำให้ทั้งชาวนาและผู้บริโภคเสียประโยชน์ และหลังจบโครงการ เขาตั้งใจจะต่อยอดด้วยการรวมกลุ่มชาวนาเป็นสหกรณ์ ผลิตข้าวชาวนาสู่ผู้บริโภคเอง ด้วยโรงสีชุมชน
ชวลิต เล่าว่า โครงการนี้เกิดจากการที่เขาอยากช่วยเหลือชาวนา และจะทำให้พ่อแม่พี่น้องที่เป็นเกษตรกรได้เห็นว่า การเป็นชาวนาสามารถทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ จึงเริ่มรับซื้อข้าวเปลือกโดยให้ราคาสูงกว่าตลาดกว่าเท่าตัว คือ ตลาดรับซื้อ กิโลกรัมละ 5 บาท เขาจะรับซื้อ 10 บาท ซึ่งการรับซื้อข้าวเปลือกครั้งแรกนี้เป็นจำนวนกว่า 3 ตัน
จากนั้นหนึ่งในผู้ร่วมริเริ่มโครงการ ที่เป็นลูกหลานชาวนา ก็ได้เสนอให้นำข้าวเปลือกไปสีที่โรงสีชุมชน จึงได้ข้าวที่พร้อมจำหน่ายมาถึง 1.8 ตัน จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการขายข้าว โดยที่ราคาขายจะถูกกว่าตลาด 5 บาท กล่าวคือราคาข้าวในตลาด กิโลกรัมละ 30 บาท โครงการนี้จะขาย 25 บาท
จะเห็นได้ว่าการซื้อข้าวที่แพงกว่าตลาดทำให้ชาวนาได้ประโยชน์ และขายราคาต่ำกว่าท้องตลาด ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่ชาวนาผู้ผลิตข้าวก็ยังได้กำไรมากกว่าเท่าตัว
ชวลิต ยังเปิดเผยอีกว่า ข้าวสารที่ขายในโครงการขายข้าวช่วยชาวนา จะขายภายใต้แบรนด์ “ข้าวชาวนา ตราธงส้ม” และที่สำคัญขณะนี้ข้าวได้ถูกขายหมดแล้ว ทำให้พ่อๆ แม่ๆ ที่เป็นชาวนาเริ่มให้ความเชื่อมั่น และให้ความสนใจกับโครงการนี้มากขึ้น จึงได้ปรึกษากับทีมงานในการจะทำโครงการขายข้าวช่วยชาวนาครั้งที่ 2 ในเร็วๆนี้ และอาจจะรับซื้อข้าวเปลือกในปริมาณที่มากกว่าเดิม
หนึ่งในปัญหาของชาวนาที่ชวลิต ถอดบทเรียนได้ในครั้งนี้ก็คือ เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ไม่มีทุนทรัพย์ ไม่มีการรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายข้าว พวกเขาจึงขาดอำนาจต่อรอง ไม่สามารถเพิ่มราคาข้าวเปลือกได้ด้วยตนเอง หากสามารถส่งเสริการรวมตัวของเกษตรกร และทำให้พวกเขาเข้าถึงแหล่งทุน การทำให้อาชีพชาวนา เป็นอาชีพที่ยั่งยืนเลี้ยงตนเองได้ สร้างรายได้ที่มั่นคง ก็ไม่ใช่ความฝันที่ไกลเกินจริง