free geoip

เสาหลักนโยบายที่ 1 “ต้องก้าวไกล การเมืองไทยก้าวหน้า”


ไม่ใช่แค่เปลี่ยนรัฐบาล แต่นี่คือการเปลี่ยนประเทศ


ขอเชิญประชาชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศทุกท่าน ร่วมอ่านเนื้อหาการเปิดนโยบายประชาธิปไตยของพรรคก้าวไกล ว่าด้วย ทหาร – ศาล – คนเท่ากัน – รัฐธรรมนูญ

  • ลดขนาดกองทัพ ลดนายพล
  • ยกเลิกเกณฑ์ทหาร
  • คืนที่ดินกองทัพให้ประชาชน
  • คืนธุรกิจกองทัพให้รัฐบาล
  • ตัดสิทธิพิเศษนายพล
  • เพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย
  • เห็นต่างไม่ติดคุก แก้กฎหมาย 112 116 พ.ร.บ.คอม
  • ปฏิรูปศาล ลงนามศาลอาญาระหว่างประเทศ
  • นิรโทษกรรมคดีการเมืองตั้งแต่ปี 57
  • รับรองทุกเพศสภาพ คำนำหน้าตามสมัครใจ
  • พระเลือกตั้งได้
  • รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ปลดล็อกประเทศไทย
  • ประชามติรัฐธรรมนูญทันที

คลิกที่นี่เพื่ออ่านเนื้อหาวุ้นแปลนโยบายทั้ง 16 ข้อ


วันนี้เปิดนโยบายประชาธิปไตย ส่วนเดือนหน้า จะตามมาด้วยการเปิดนโยบาย “ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า” และ “สวัสดิการไทยก้าวหน้า” โปรดติดตาม!

ระหว่างนี้ เชิญอ่านคำปราศรัยเปิดนโยบายของพรรคก้าวไกลกันได้เลย (หรือคลิกเลือกผู้ปราศรัยที่ต้องการอ่านด้านล่าง)






พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
หัวหน้าพรรคก้าวไกล


หลายท่านคงถามว่าทำไมหลายพรรคการเมืองพูดถึงปากท้องเศรษฐกิจ แต่พรรคก้าวไกลกลับเปิดนโยบายการเมืองเป็นเรื่องแรก

เหตุผลแรก คือเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่มีหมุดหมายสำคัญเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในอดีต อีกทั้งยังไม่มีหลักประกันว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในอนาคตของการเมืองไทย

เหตุผลที่สอง เราเชื่อว่าการเมืองคือพื้นฐานสำหรับทุกอย่าง สำหรับทุกนโยบาย ถ้าการเมืองดีจะเป็นพื้นฐานทางโอกาสในการต่อยอดทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปากท้อง การศึกษา เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม


ถ้าต้องการแก้เศรษฐกิจปากท้อง ก็ต้องทำให้การจัดสรรงบประมาณตอบโจทย์ ถ้านักการเมืองที่ท่านเลือกเข้าไปไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้

ถ้าต้องการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก สื่อมวลชนยังไม่มีเสรีภาพในการนำเสนอข่าว ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมจะเกิดได้อย่างไร

ถ้าอยากให้นักการเมืองที่มีความรู้ความสามารถ ให้นักการเมืองที่เราเชื่อมั่นเข้าไปบริหารประเทศ แต่ยังเปิดโอกาสให้มีการยุบพรรค ตัดสิทธิ์นักการเมืองได้ โอกาสที่คนมีความสามารถจะได้เข้าไปบริหารประเทศก็ยากขึ้น

ถ้าพรรคการเมืองมีนโยบายใหม่ นโยบายดี แต่ทุกอย่างต้องโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ไม่ได้คิดมาเพื่ออนาคต นโยบายก็เป็นจริงไม่ได้

ถ้าการเมืองไม่ดี การเมืองไม่นิ่ง เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ เลยในประเทศไทย ประเทศไทยจะไม่สามารถไปสู่อนาคตที่ก้าวหน้า ก้าวไกลได้

ประเทศไทย เศรษฐกิจไทย ปัญหาปากท้อง จะแก้ปัญหาได้ ก็ต่อเมื่อมีความยุติธรรมอยู่ในประเทศ กระบวนการยุติธรรมมีนิติรัฐ นิติธรรม ประเทศไทยจะก้าวหน้าก้าวไกลได้ ก็ต่อเมื่อเราเห็นว่าคนเท่ากัน และเห็นว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญ


ต้องก้าวไกล ให้ไทยก้าวหน้า
เปลี่ยนรัฐบาลไม่พอ ต้องเปลี่ยนประเทศ




พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล


สำหรับนโยบาย ปฏิรูปกองทัพ ก็ต้องบอกว่า นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ สำหรับพรรคก้าวไกล และสังคมไทย

ย้อนไปเมื่อการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคแรกในสนามการเลือกตั้ง ที่ชูนโยบายปฏิรูปกองทัพ

ไม่ว่าจะเป็นการหยุดวงจรรัฐประหาร ลดขนาดกำลังพล ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนงบซื้ออาวุธเป็นสวัสดิการประชาชน

และถึงแม้ว่าเราจะเป็นฝ่ายค้าน มีข้อจำกัดมากมาย ที่ไม่สามารถที่จะผลักดันนโยบายปฏิรูปกองทัพให้เป็นจริงได้ แต่ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลได้สร้างการเปลี่ยนแปลงแล้ว

อย่างกรณีของ ร่างพรบ.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ที่ถูกพลเอกประยุทธ์ปัดตก ไม่ได้เข้าสภาแม้แต่วาระ1 แต่เมื่อเราสามารถทำให้สังคมเห็นด้วยกับเรื่องนี้ได้ เราจึงเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว  ปัจจุบันกองทัพก็เริ่มหันมาลดจำนวนพลทหารเกณฑ์ภาคบังคับ และเพิ่มจำนวนพลทหารแบบสมัครใจ  โดยเปิดรับสมัครทางออนไลน์เพิ่มขึ้นๆ ทุกปี 

กรณีงบประมาณกองทัพ ที่เราเคยสัญญาว่าถ้ามีอำนาจบริหารจะปรับลดงบประมาณกลาโหมลง 50,000 ล้านบาท  แต่แค่เพียงการทำงานในฐานะฝ่ายค้าน ผ่านการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเข้มข้น เราจึงเห็นการลดลงของงบประมาณของกระทรวงกลาโหม อย่างต่อเนื่อง จากปี 62 ที่เคยขึ้นไปสูงที่สุดที่ 227,000 ลบ ก็ปรับลดลงแทบทุกปีจนใน ปีงบ 66 ล่าสุดเหลือเพียง 194,000 ลบ

ลดลงไป 33,000 ลบ ยังน้อยกว่าที่เราสัญญาเอาไว้ 17,000ล้านบาท


อย่างไรก็ตาม มีคนตั้งคำถาม สภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ทำไมไม่เปิดนโยบายเศรษฐกิจ 


พรรคอื่นๆ หลายวันก่อน ก็เปิดนโยบายเศรษฐกิจกัน โครมๆ ทำไม ก้าวไกลเปิดนโยบายประชาธิปไตยเป็นอันดับแรก 

ไม่สนใจเศรษฐกิจเลยใช่มั้ย พรรคนี้


ทุกท่านครับ หากเราถอยออกมาก้าวหนึ่ง และมองปัญหาประเทศในภาพกว้าง ผมคิดว่าเราทุกคนทราบดีว่า หากการเมืองดี ประชาธิปไตยเบ่งบาน สังคมก็ดี 

จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน แก้แล้วแก้เลย  ต้องเริ่มต้นที่การเมือง

ถ้าไม่มีรัฐประหาร เศรษฐกิจของประเทศก็จะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องหยุดชะงัก 

ถ้าไม่ต้องเกณฑ์ทหาร  เยาวชนสามารถไล่ตามความฝันของเค้า และใช้ศักยภาพของพวกเค้าเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่

ถ้างบประมาณ และทรัพยากรของประเทศนี้ถูกจัดลำดับสำคัญอย่างถูกที่ถูกทาง ไม่กระจุกอยู่แค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ถูกจัดสรรเพื่อสวัสดิการ เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ลองคิดดูแล้วกันครับว่า เศรษฐกิจปากท้องของประชาชนจะดีขึ้นได้มากขนาดไหน

เพราะฉะนั้น ผมยืนยันว่า การปฏิรูปกองทัพ คือ หนึ่งในแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจ

ผมพูดซ้ำอีกครั้ง ว่า การปฏิรูปกองทัพ กับการแก้ปัญหาปากท้อง คือเรื่องเดียวกัน


ที่นี้มาดูกันครับ ว่าพรรคก้าวไกลเสนออะไร 

นโยบายปฏิรูปกองทัพของพรรคก้าวไกล คือปฏิรูปการบริหารจัดการทั้ง (1)อำนาจ (2)คน (3)เงินหรือทรัพยากร เพื่อทำให้กองทัพไทยเป็นกองทัพของประชาชน เพื่อทำให้ทหาร เป็นทหารของประชาชนโดยแท้จริง

 โดยวันนี้ ผมจะขอพูดถึงนโยบายปฎิรูปกองทัพใน 5ด้าน ที่สำคัญ และควรถูกปรับแก้เป็นอันดับต้นๆ ดังนี้


กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน / ยุติทหารแทรกแซงการเมือง นายพลเกษียณ ภายใน 7 ปี ห้ามเป็นรัฐมนตรี

ด้านที่1 คือการทำให้รัฐบาลพลเรือนต้องอยู่เหนือกองทัพอย่างแท้จริง กองทัพต้องหยุดเข้ามาแทรกแซงการเมืองโดยสิ้นเชิง  ต้องเป็นทหารมืออาชีพ ที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน และปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ความเห็นชอบจากตัวแทนของประชาชน ซึ่งก็คือรัฐบาลพลเรือนเท่านั้น

รูปธรรมของการทำให้กองทัพ อยู่ใต้ทิศทางของรัฐบาลพลเรือน คืออะไร

ประการที่1

คือการแจกใบแดงนายพล ห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นเวลา  7 ปี หลังออกจากราชการ

เพื่อให้ไม่มีการแทรกแซงการเมืองโดยกองทัพ หรือนายพลเกษียณที่ยังคงมีสายสัมพันธ์ในกองทัพ


ประการที่2

พรรคก้าวไกลจะเปลี่ยนจากระบบบังคับบัญชา เป็นระบบเสนาธิการร่วม ที่มี รมต.กลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชา เพื่อให้การตัดสินใจต่างๆของเหล่าทัพยึดโยงกับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นการลดโอกาสการก่อรัฐประหาร


ประการที่3

เราจะตัดอำนาจพิเศษที่อยู่เหนืออำนาจของประชาชน ทุกท่านทราบมั้ยครับว่า การกำหนดนโยบายทางการทหาร การแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ การจัดสรรงบประมาณกลาโหม มีอำนาจนึงที่อยู่สูงกว่าคณะรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจบริหารแทนประชาชน หรือสภาผู้แทนราษฎรที่ใช้อำนาจตรากฎหมายแทนประชาชน ท่านทราบมั้ยครับคืออำนาจอะไร นั่นก็คือ อำนาจของสภากลาโหม

การดำรงอยู่ของสภากลาโหม คือ การแสดงให้เห็นว่าอำนาจมันกลับหัวกลับหาง มันผิดหลักการ พลเรือนอยู่เหนือกองทัพ อย่างชัดเจน  รมว.กลาโหม หรือแม้แต่คณะรัฐมนตรี จะตัดสินใจทำอะไรไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายทางการทหาร กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เรื่องงบประมาณ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากลาโหม

ดังนั้น เราจะยกเลิกระบบสภากลาโหมนี้ รวมถึงอำนาจของผบ.เหล่าทัพในการร่วมตัดสินใจแต่งตั้งโยกย้าย


ยุบ กอ.รมน. / ยกเลิกกฎอัยการศึกชายแดนใต้ เพิ่มความเป็นไปได้ของสันติภาพที่เป็นจริง

ด้านที่2 เพื่อให้ได้รัฐบาลพลเรือนที่อยู่เหนือกองทัพอย่างแท้จริง

เราต้องเอากิจการที่ไม่ใช่การรบ หรือการปกป้องดินแดนออกจากมือกองทัพ รวมถึงประเด็นเรื่องความมั่นคงภายในประเทศก็ไม่ควรมีการผูกขาดอำนาจโดยกองทัพ นั้นคือการยุบ กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 

แม้ กอรมน จะอยู่ภายใต้สำนักนายก แต่โครงสร้างภายในทั้งหมด ล้วนมาจากคนในกองทัพ

กองทัพใช้ กอ.รมน เป็นมือไม้ในการสั่งการหน่วยงานรัฐที่ขึ้นกับกระทรวงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น มหาดไทย, ศึกษาธิการ, สาธารณสุข กลายเป็นสร้าง “รัฐซ้อนรัฐ” ขึ้นมา ยัดเยียดและขยายนิยามความมั่นคงแบบทหาร มาใช้จัดการความมั่นคงภายใน เท่ากับเปลี่ยนประชาชนที่เห็นต่างให้กลายเป็นศัตรู

เราไม่สามารถเอาความมั่นคงภายในประเทศ ไปอยู่ในอำนาจสั่งการของกองทัพ ที่มีแต่หลักคิดที่มุ่งทำลายล้างศัตรูแบบทหารได้ หน่วยงานด้านความมั่นคงภายใน ต้องมีทัศนะที่กว้างไกล ทันโลก คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยด้วย ไม่ใช่คิดแบบทหาร

และที่ต้องทำควบคู่ไปกับการยุบ กอ.รมน. คือการยุติการใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้ พรรคก้าวไกล เชื่อว่านี้จะเป็นปัจจัยแรกที่จะนำไปสู่การคลี่คลายสถานการณ์รุนแรงได้

ทุกท่านทราบหรือไม่ว่า จังหวัดชายแดนใต้ ตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “สภาวะยกเว้น” (The State of exception) ด้วยการใช้เหตุผลว่ามีสถานการณ์ความรุนแรงไม่ปกติ มายาวนานกว่า 18  ปี

เป็น 18ปี ที่ ที่เราให้ความชอบธรรมกับความมั่นคงภายในแบบทหาร 

ทหารมีอำนาจเต็ม ทำอะไรก็ได้ ภายใต้กฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับ คือกฎอัยการศึก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548  และพ.ร.บ. ความมั่นคงที่เริ่มใช้ในปี 2551 จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อย่างร้ายกาจ

พูดให้เห็นภาพสั้นๆ กฎหมาย 3 ฉบับนี้เมื่อใช้ร่วมกัน ทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

  • รัฐสามารถประกาศเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกนอกบ้านได้ 
  • ทหารสามารถบุกตรวจค้นบ้านเรือนโดยไม่ต้องมีหมายศาล 
  • ความเสียหายใดๆ อันเกิดจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ประชาชนฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่ได้
  • ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก จับคนเข้าค่ายทหารได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล เป็นเวลา 7 วัน 
  • และสามารถใช้อำนาจตามพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ควบคุมตัวต่อได้อีกครั้งละ 7 วัน รวมไม่เกิน 30 วัน


นี่เป็นหลุมดำสำคัญที่เอื้อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายความชอบธรรมของอำนาจรัฐ

การใช้กฎหมายที่ให้อำนาจทหารล้นเกิน ปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลเช่นนี้ แทนที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ กลับยิ่งเพิ่มความไม่ไว้วางใจและความคับข้องใจของคนในพื้นที่ ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง คนที่ไม่เคยคิดจับอาวุธ จำนวนมากหันมาจับอาวุธเพราะญาติพี่น้องถูกซ้อมทรมานในค่ายทหาร 

ดังนั้น นอกจากเราจะยุติการใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนใต้ พรรคก้าวไกลจะปรับปรุงกฎอัยการศึกทั้งเนื้อหาและขอบเขตการใช้งาน เป็นไปโดยจำกัด เฉพาะยามศึกสงคราม ไม่ให้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ทั้งหมดนี้จะเป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำคัญสำหรับกระบวนการสันติภาพที่มีนำโดยพลเรือน ตลอดจนเป็นการเปิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการสร้างสันติภาพที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมและแสวงหาฉันทามติร่วมกันได้ 


ลดจำนวนนายพล เหลือ 400 + ยกเลิกเกณฑ์ทหาร

ด้านที่3 ทุกท่านครับ ที่ผ่านมา กองทัพไม่เคยชี้แจงถึงเหตุผล ความจำเป็น อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ว่าเพราะอะไรถึงต้องมีอัตรากำลังพลที่มากมาย

ดังนั้นพรรคก้าวไกล จะลดขนาดของกองทัพลง ลดจำนวนนายพลลงเหลือ 400นาย และลดกำลังพลในภาพรวมลง 30-40% ซึ่งนั้นหมายถึงการลดจำนวนทหารกองประจำการ หรือ ทหารเกณฑ์ลง เพื่อให้ตอบโจทย์ทางการทหารยุคใหม่ ที่ไม่ได้เน้นการใช้ทหารราบเข้ารบพุ่งกันอีกต่อไป แต่เป็นการต่อสู้ระยะไกล ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่กำลังคน ให้ได้กองทัพที่ทันสมัย เป็นมืออาชีพ และใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าภาษีพี่น้องประชาชน

นอกจากลดจำนวนทหารกองประจำการแล้ว เราจะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจทั้งหมด โดยสร้างแรงจูงใจผ่าน สวัสดิการที่ดี ความหน้าทางอาชีพที่ดี 

และแน่นอนว่า การลดกำลังพล ก็ต้องควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างองค์กร โดยต้องลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานต่างๆ ทั้งด้าน ธุรการ งานวิจัย ส่งกำลังบำรุง เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างเหล่าทัพ และเป็นการประหยัดงบประมาณ

การปรับโครงสร้างขนาดใหญ่ได้แก่ การควบรวม สำนักปลัดกลาโหม เข้ากับ กองบัญชาการกองทัพไทยขนาดย่อมลงมา ก็เช่น การใช้ผู้ช่วยทูตทหารร่วมกัน การโอนภารกิจ-งบ ที่เกี่ยวกับสร้างถนน แหล่งน้ำคืนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 


เพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย ตัดอภิสิทธิ์นายพล 

ด้านที่4 พรรคก้าวไกลจะเพิ่มความคุ้มครองให้กับทหารชั้นผู้น้อย ในสามด้านคือ สิทธิมนุษยชน สวัสดิการ และความก้าวหน้าทางอาชีพ ต่อจากนี้ ทหารชั้นผู้น้อยของกองทัพไทย ต้อง ปลอดภัย มั่นคง และมีอนาคต

ปลอดภัย อย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน การร้องทุกข์ การร้องเรียนผู้บังคับบัญชา จะต้องมีกระบวนการที่เป็นธรรม และปลอดภัยต่อตัวผู้ร้อง

พ.ร.บ.วินัยทหารที่ไม่ได้ปรับแก้มา 60 ปี เต็มไปด้วยการลิดรอนสิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ให้อำนาจล้นเกินกับผู้บังคับบัญชาในการธำรงวินัย ตัดโอกาสการร้องเรียนการกระทำทุจริตในกองทัพ ต้องได้รับการแก้ไข ปรับปรุง


มั่นคง อย่างไร

รายได้ต้องเหมาะสม สอดคล้องกับค่าครองชีพ กำลังพลต้องมีประกันชีวิต เมื่อพิการหรือเสียชีวิตต้องมีทุนให้กับครอบครัวในการประกอบอาชีพ และมีทุนการศึกษาให้กับทายาทจนกว่าจะมีเงินได้กลับมาเลี้ยงครอบครัว กรณีพลทหาร ต้องไม่ถูกหักเบี้ยเลี้ยง และควรมีสิทธิประกันสังคมรักษาพยาบาล


มีอนาคตอย่างไร

ทลายระบบเส้นสาย การโยกย้ายต้องเป็น Merit system เน้นที่ผลงานมากกว่าอายุงาน ในกรณีของพลทหาร หรือ ชั้นประทวน ต้องเพิ่มโอกาสในการไต่เต้าสู่นายทหารชั้นสัญญาบัตรได้

ส่วนของนายพลที่มีจำนวนมากเกินความจำเป็นนั้น นอกจากที่ประเทศจะต้องเสียงบประมาณไปกับการจ่ายเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่งแล้ว นายพลเหล่านี้ ยังได้รับอภิสิทธิ์และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติมอีก

รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ได้ออกระเบียบกระทรวงกลาโหม ให้นายพลถึง 244 ตำแหน่ง มีตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี มีสิทธิใช้รถประจำตำแหน่ง และยังมีสิทธิที่จะเอาตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีนี้ ไปใช้เป็นสะพานในการเข้ารับตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการ ป.ป.ช. ก.ก.ต. และอีกมากมาย

นี่คือความพยายามในการสร้างเครือข่ายอำนาจของกองทัพ ก้าวก่ายแทรกซึมเข้าไปในองค์กรอิสระต่างๆหลังเกษียณอายุราชการ ดังนั้นพรรคก้าวไกลจะยุติอภิสิทธิ์เหล่านี้ 


คืนที่ดินกองทัพให้ประชาชน คืนธุรกิจกองทัพให้รัฐบาล

ด้านที่5 ทุกท่านทราบหรือไม่ครับ จากที่ดินราชพัสดุทั่วประเทศ 12.5 ล้านไร่ กลาโหมถือครองที่ดินมากถึง 6.25 ล้านไร่ หรือครึ่งหนึ่งของที่ราชพัสดุทั้งหมดทั่วประเทศ 

คำถามคือ ทรัพยากรของชาติเหล่านี้ ถูกใช้ไปอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่  

แน่นอนว่าเมื่อลดขนาดกองทัพได้สำเร็จ กองทัพก็ไม่จำเป็นถือครองที่ดินมากมายอีกต่อไป

พรรคก้าวไกลจะโอนการถือครองที่ดินเหล่านี้กลับมาเป็นของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อให้เกิดการจัดสรรที่ดิน อย่างเป็นประโยชน์ต่อ ปชช ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ที่ดินเพื่อการเกษตร ตลาด ที่พักอาศัย หรือ สวนสาธารณะ โดยเฉพาะที่ดินค่ายทหารขนาดใหญ่ที่มักอยู่ใจกลางเมือง สามารถนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้หลากหลาย

ส่วนธุรกิจกองทัพที่เกิดจากการใช้ประโยชน์บนที่ดินราชพัสดุที่กองทัพถือครองอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสนามม้า สนามมวย สนามกอล์ฟ โรงแรม ที่พักตากอากาศ เหมืองหิน บ่อน้ำมัน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากคลื่นวิทยุ ซึ่งก็เป็นสาธารณสมบัติเช่นกัน ที่ตอนนี้กองทัพยึดครองไว้มากเกินความจำเป็น  ธุรกิจอื่นๆ อย่าง ททบ5 หรือแม้แต่สนามบินอู่ตะเภา ทั้งหมดนี้ พรรคก้าวไกลจะโอนถ่ายมาให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแลแทน 

ส่วนสวัสดิการกำลังพล ที่กองทัพอ้างเสมอว่า นำมาจากการใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุ ก็ให้ไปขอผ่านสำนักงบประมาณ ผ่านสภาผู้แทนราษฎร เหมือนกระทรวงอื่นๆ

นี่คือ การคืนที่ดินกองทัพให้ประชาชน คืนธุรกิจกองทัพให้รัฐบาล

ที่ผ่านมา รัฐไทยไม่ได้ใช้งบประมาณกับกลาโหมแค่ 2แสนล้านต่อปีนะครับ แต่เรายังมีค่าเสียโอกาสที่หมดไปกับ ที่ราชพัสดุ คลื่นวิทยุ ที่บริหารจัดการแล้วไม่รู้ไปอยู่ในกระเป๋าใคร พรรคก้าวไกลจะยุติอาณาจักรธุรกิจกองทัพ ที่ลึกลับตรวจสอบไม่ได้นี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน


ทุกท่านครับ ทั้งหมดนี้คือ 5 ด้าน ที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ในการปฎิรูปกองทัพ แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทั้งหมดของนโยบายปฎิรูปกองทัพ 

เรายังไม่ได้พูดถึง

  • การเปิดเผยข้อมูลของกองทัพ
  • การเพิ่มความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง
  • ผู้ตรวจการกองทัพ 
  • การเพิ่มทักษะของทหาร
  • การสนับสนุนการวิจัยทางการทหาร
  • แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ทั้งการจัดซื้อแบบชดเชยหรือ Offset policy
  • การทำให้ศูนย์อำนาวยการสร้างอาวุธเข้าไปอยู่ใน Supply chain ของอุตสาหกรรม
  • การยกเลิกศาลทหาร


ซึ่งพี่น้องสื่อมวลชน พี่น้องประชาชน สามารถติดตามรายละเอียดของนโยบายปฎิรูปกองทัพได้จากสื่อต่างๆของพรรคก้าวไกล หลังจากนี้ 


ผมอยากจะขอทิ้งท้ายแบบนี้ครับ

ตลอด 4ปีที่ผ่านมา เรามีรัฐมนตรีกลาโหม ที่เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี เป็นข้าราชการทหารมาตลอดชีวิต จนเกษียณที่ ผบ.ทบ. แต่แล้วสภาพกองทัพ ปัญหาต่างๆก็ยังเป็นอย่างทุกวันนี้ 

ผมคิดว่า มันถึงเวลาแล้ว ที่กองทัพจะมีมุมมองของผู้บริหารที่เป็นพลเรือน 

เพื่อทำให้กองทัพไทยเป็นกองทัพของประชาชน เพื่อทำให้ทหาร เป็นทหารของประชาชนอย่างแท้จริง

เพราะในท้ายที่สุดครับพี่น้อง ผมเชื่อว่า ประเทศไทยไม่ได้ต้องการแค่เพียงผู้นำ ผู้บริหาร ที่มีความรู้เฉพาะทางเท่านั้น แต่เรายังต้องการผู้นำ ผู้บริหาร ที่มีสามัญสำนึกที่รับผิดชอบ ยึดมั่นในประชาธิปไตย ยึดถือหลักการเหนือประโยชน์ส่วนตน มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวที่จะท้าทายต่อผู้มีอิทธิพล 

และตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา ผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล ได้พิสูจน์คุณสมบัติเหล่านี้ให้เห็นแล้ว 


ดังนั้น เลือกตั้งครั้งต่อไป ต้องก้าวไกลทั้งสองใบ ให้ กองทัพไทย ก้าวหน้า และเป็นของประชาชน


รังสิมันต์ โรม
โฆษกพรรคก้าวไกล


พอกันทีกับ 16 ปี ที่บ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพ ถึงเวลา “คืนศักดิ์ศรีให้กับประชาชน”

เรียนพี่น้องสื่อมวลชนและพี่น้องประชาชน

เมื่อสักครู่คุณพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ได้นำเสนอต่อทุกท่านไปแล้วว่านโยบายของพรรคก้าวไกลต่อจากนี้ เราเห็นภาพกองทัพที่เป็นของประชาชนว่าควรเป็นอย่างไร ผมขอพาทุกท่านมาที่แนวนโยบายด้านต่อไปที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะนี่คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลใช้ยืนยันว่าสำหรับพวกเราแล้ว

พี่น้องประชาชนทุกท่านคือเจ้าของอำนาจสูงสุดตัวจริง คือผู้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คู่ควรที่จะได้รับสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับที่ประชาชนของนานาอารยประเทศได้รับ ผมขอเรียกว่านี่คือ “ศักดิ์ศรีของประชาชน”

พี่น้องทุกท่านครับ จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 16 ปีที่ผ่านมา ได้ประจานให้เราได้เห็นถึงกระบวนการบ่อนทำลายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเป็นระบบ การแทรกแซงเข้ามาของอำนาจเถื่อนผ่านการรัฐประหาร 2 ครั้งในระยะเวลาอันสั้น นำมาสู่การออกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิลิดรอนเสรีภาพโดยสภาจากคณะรัฐประหาร

ตัวอย่างชัดๆ ก็เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2 ฉบับในสมัย คมช. และสมัย คสช. และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะในสมัย คสช.

มากไปกว่านั้นคือการแต่งตั้งตุลาการและเจ้าหน้าที่ในการยุติธรรมตลอดทุกขั้นตอนของการสอบสวนและพิจารณาคดี ให้เข้ามาใช้และตีความกฎหมายทั้งฉบับใหม่และฉบับที่มีอยู่แล้วในทางที่บิดเบือนไปสู่อำนาจนิยมและการกดขี่ประชาชนไม่ให้ได้รับรู้ ไม่ให้พูด ไม่ให้ตั้งคำถาม ไม่ให้แสดงออกใดๆ ที่โต้แย้งผู้ที่ถือครองอำนาจอยู่ ใครที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ใครที่ออกมาชุมนุม ก็ถูกออกหมายจับคดีข้อหาหนักๆ ซึ่งรวมถึงกฎหมายอย่างมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น ที่มีโทษจำคุกถึง 7 ปี และมาตรา 112 หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จำคุกสูงถึง 15 ปี ทั้งที่หลายกรณีโดยพฤติการณ์แล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่จะผิดตามกฎหมายเหล่านั้น

เมื่อจับกุมตัวมาก็ถูกสั่งคุมขังโดยไม่ให้ประกันตัวทั้งที่ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ยังไม่มีการตัดสินว่าตกลงแล้วที่ไปแจ้งจับพวกเขานั้นเป็นความผิดจริง หรือเป็นเสรีภาพที่พวกเขาพึงกระทำได้กันแน่ และที่เลวร้ายที่สุดนั่นคือการใช้กำลังและอาวุธทำร้ายประชาชน แค่ชูสามนิ้วใส่นายกฯ ก็ถูกตำรวจจับกดลงกับพื้น คนที่ออกมาชุมนุมถูกสาดกระสุนยาง ยิงแก๊สน้ำตาใส่เป็นว่าเล่น ในขณะที่ผู้เห็นต่างบางคนถึงกับถูกมือมืดมาดักตีหัวหรืออุ้มหายไปโดยที่ยังหาตัวคนร้ายไม่ได้จนถึงทุกวันนี้

กระบวนการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพ บ่อนทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนที่ผมได้กล่าวมานี้ ได้แผ่ขยายไปในโครงสร้างสถาบันของรัฐและฝังรากลึกในวิธีคิดของเจ้าหน้าที่รัฐมาอย่างยาวนาน นี่ไม่ใช่เรื่องที่ตรากฎหมายหรือแก้กฎหมายฉบับเดียวแล้วปัญหาทั้งหมดจะจบลง และไม่ใช่เรื่องที่เมื่อทำแล้วจะเห็นผลได้ในฉับพลันทันที แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้างเพื่อที่พวกเราจะไม่ทำมันให้ได้

ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ เราได้พยายามผลักดันนโยบายทางด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลายประการตามอำนาจหน้าที่ของนิติบัญญัติที่เรามี ทั้งในรูปแบบของการเสนอร่างกฎหมาย การเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญหรือเสนอเรื่องต่อคณะกรรมาธิการสามัญของสภา เพื่อให้การริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจักได้ยุติลง


ต่อจากนี้ ผมจะขอไล่เรียงถึงนโยบายด้านสิทธิเสรีภาพ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 เรื่องด้วยกันคือ

  1. เป็นนโยบายที่พรรคก้าวไกลได้เสนอ และสามารถบรรลุเป้าหมายได้ ซึ่งเรายังมีภารกิจในการผลักดันต่อไป เพื่อให้ปัญหาที่คั่งค้างอยู่ในสังคมได้ถูกคลี่คลาย
  2. เป็นนโยบายที่พรรคก้าวไกลได้เสนอ แต่ยังอยู่ในช่วงเวลาของการพิจารณาของสภา ซึ่งเราจะใช้โอกาสโค้งสุดท้ายของสภาในการผลักดัน หากไม่สำเร็จ พรรคก้าวไกลก็พร้อมที่จะนำไปขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต
  3. เป็นนโยบายที่พรรคก้าวไกลเคยได้เสนอแต่เราต้องพบกับความผิดหวัง ซึ่งอาจจะเพราะที่ผ่านมาเราเป็นฝ่ายค้าน เลยยังไม่สำเร็จ แต่เราก็ยืนยันเหมือนเดิมว่าจะผลักดันต่อหลังจากนี้
  4. เป็นนโยบายที่เป็นเรื่องใหม่ที่เราจะเสนอและผลักดันในอนาคต


เริ่มต้นกันที่นโยบายที่ทำสำเร็จและเตรียมรอลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมาย นั่นคือร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่ผมขอย้ำไว้ก่อนว่า จริงๆ แล้วผู้มีส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดกฎหมายนี้ขึ้นมาได้นั่นคือภาคประชาชนที่ได้ริเริ่มเสนอร่างเข้ามาผ่านกรรมาธิการของสภา อีกทั้งความร่วมมือของเพื่อน ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่ได้ร่วมกันพิจารณาและเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้กันทั้งสภา

ผมขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง แต่ยังมีอีกบุคคลหนึ่งที่ผมขอเอ่ยนามถึงเพราะนี่คือเครดิตที่เขาสมควรได้รับเช่นกัน นั่นคือ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล สมัยที่ยังเป็นประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายอยู่ในสภา ผู้เป็นตัวกลางประสานกับภาคประชาชนนำร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายมาเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงต่อให้ดียิ่งขึ้นไม่กี่วันก่อนที่อาจารย์จะต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.

พรรรคก้าวไกลจะขอร่วมช่วยเสริมสร้างและพัฒนาระบบป้องกันและปราบปรามการทรมานและการอุ้มหายที่ได้วางรากฐานไว้โดยกฎหมายฉบับนี้ให้ดียิ่งขึ้นไป โดยในมาตราสุดท้าย มาตรา 46 กำหนดให้นำกระบวนการสืบสวนหาข้อเท็จจริงมาใช้กับกรณีการอุ้มหายที่เกิดขึ้นในอดีตก่อนกฎหมายนี้ใช้บังคับด้วย ซึ่งพรรคก้าวไกลพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือครอบครัวของเหยื่อผู้ถูกอุ้มหายในอดีต เพื่อดำเนินค้นหาความจริงตามมาตรานี้ เราหวังว่านี่จะเป็นหมุดหมายสำคัญของการคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้สูญเสียที่ต้องอยู่กับความรู้สึกอันเจ็บปวดมาเป็นเวลานาน


เรื่องที่สอง มาต่อกันที่นโยบายที่พรรคก้าวไกลเคยได้เสนอเข้าสู่สภา และในปัจจุบันก็ยังคงรอถึงวาระพิจารณาในช่วงโค้งสุดท้ายของสภาชุดนี้ หากยังจำกันได้ พรรคก้าวไกลเคยได้เสนอ “ชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน” ที่ประกอบด้วยการแก้เนื้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ตามเจตนารมณ์ที่ควรเป็นของกฎหมายลักษณะนี้คือเพื่อป้องกันการแฮ็กข้อมูล การปลอมแปลงหรือหลอกลวงในระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในความเป็นจริงกลับเขียนขึ้นมาเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองจากการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์

การเพิ่มนิยามของ “คดีฟ้องปิดปาก” หรือคดีที่รัฐหรือกลุ่มทุนฟ้องกลั่นแกล้งผู้ที่ออกมาวิจารณ์หรือตรวจสอบการดำเนินงานเพื่อพิทักษ์ประโยชน์สาธารณะ เปิดโอกาสให้อัยการและศาลพิจารณาเพื่อยกฟ้องและสั่งจ่ายชดเชย ป้องกันมิให้ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเล่นงานกับคนตัวเล็กตัวน้อยที่มาขัดผลประโยชน์ตัวเองได้ การเพิ่มความผิดฐานบิดเบือนกฎหมายที่กระทำโดยเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษา ที่ใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงถึงขอบเขต นิติวิธี หลักการ เจตนารมณ์หรือคุณธรรมทางกฎหมาย เพื่อหวังเอื้อประโยชน์หรือกลั่นแกล้งคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เจ้าพนักงานยุติธรรมนั้นมีความผิดในฐานนี้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ ที่มุ่งให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึงยิ่งขึ้น ร่างแก้กฎหมายอาญามาตรา 116 ไม่ให้มาเอาผิดกับผู้ใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญหรือติชมโดยสุจริต ร่างแก้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ยกเลิกข้อจำกัดที่ไม่สอดคล้องกับหลักเสรีภาพในการจัดการชุมนุมโดยสันติ กฎหมาย 3 ฉบับหลังนี้ต้องขอยกความดีความชอบให้กับเพื่อน ส.ส. บัญชีรายชื่อ คุณวรภพ วิริยะโรจน์ ที่ได้ยกร่างขึ้นมาและนำเสนอเข้าสู่ระเบียบวาระของสภาแล้วด้วยเช่นกัน ร่างกฎหมายเหล่านี้พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่าจะเร่งพิจารณาในสภาโดยเร็วที่สุด และต่อให้ไม่ผ่านหรือไม่ทันสภาชุดนี้ ก็จะผลักดันต่อทั้งหมดในสภาชุดหน้าอย่างแน่นอน


เรื่องที่สาม ในบรรดานโยบายสิทธิเสรีภาพที่พรรคก้าวไกลได้เสนอเข้าสภาไปนั้น นอกเหนือไปจากที่ผ่านสภาแล้วและที่รอพิจารณาอยู่ ก็มีไม่น้อยที่ถูกฝ่ายรัฐบาลปัดตกไป หรือขัดขวางด้วยวิธีอื่นที่เห็นได้ชัดแล้วว่าทำให้ข้อเสนอของพวกเราไปต่อในสภาชุดนี้ไม่ได้ เช่นอีกหนึ่งใน “ชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพฯ” ที่มีความสำคัญยิ่งต่อวิกฤตทางการเมืองในปัจจุบัน นั่นคือการแก้ประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ซึ่งเราหวังว่าการเสนอแบบนี้จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่สุดที่น่าจะรับกันได้ในทุกฝ่าย เพื่อป้องกันการใช้กฎหมายในลักษณะของการกลั่นแกล้งในแบบที่ผ่านมา โดยปรับลดโทษเหลือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับในกรณีพระมหากษัตริย์ และจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาทในกรณีอื่น และย้ายออกจากหมวดความมั่นคงให้เป็นความผิดที่ยอมความได้โดยมีสำนักพระราชวังเป็นผู้แจ้งความเท่านั้น รวมถึงไม่ให้ใช้แก่กรณีวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต

น่าเสียดายที่สภากลับไม่บรรจุข้อเสนอนี้เข้าระเบียบวาระพิจารณา อ้างว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมขอยืนยันย้ำไว้ตรงนี้อีกครั้งว่าข้อเสนอแก้มาตรา 112 นั้นไม่ได้กระทบต่อรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้กษัตริย์อยู่ในสถานะอันล่วงละเมิดมิได้แต่อย่างใดเลย เพราะนั่นเป็นเพียงการกำหนดให้กษัตริย์ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เป็นผู้รับผิดชอบในการใช้อำนาจตัวจริงเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. และร่าง พ.ร.บ. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ผมมีส่วนในการยกร่างขึ้นมาเพื่อปรับให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและออกข้อกำหนดต่างๆ ของรัฐบาลที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น จะต้องมีการถ่วงดุลโดยสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่การเริ่มประกาศ ถ้าประกาศแล้วไม่เอามาผ่านความเห็นชอบจากสภาในเวลากำหนดก็ต้องยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นไป การจะปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารจะกระทำไม่ได้ และการใช้อำนาจใดๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐยังคงต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครองอยู่เสมอ

ร่างกฎหมายเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งในนโยบายของพรรคก้าวไกลที่ถูกฝ่ายรัฐบาลคว่ำลง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีสภาชุดหน้า ทั้งหมดนี้จะยังเป็นนโยบายที่พรรคก้าวไกลใช้ในการขับเคลื่อนต่อไปเช่นเดียวกัน 

เรื่องที่สี่ คือนโยบายที่พวกเราพรรคก้าวไกลจะนำเสนอเพิ่มเติมในสภาชุดหน้า เพื่อเป็นก้าวต่อไปของการยุติกระบวนการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร. ที่มาจากประชาชน พรรคก้าวไกลขอเสนอให้รัฐธรรมนูญนี้กำหนดที่มาของผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แม้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระแต่ก็ต้องยึดโยงกับประชาชน โดยจะต้องผ่านการเห็นชอบแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎร มีคณะผู้ตรวจการคอยตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ รวมถึงมีกลไกให้ประชาชนทบทวนการทำงานของศาลและถอดถอนผู้พิพากษาและตุลาการได้ ตลอดไปจนถึงกำหนดให้ผู้พิพากษาและตุลาการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลจะปรับปรุง พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก เพื่อปฏิรูปกฎหมายจำพวกที่ให้อำนาจพิเศษแก่ทหารและหน่วยความมั่นคง ดึงผู้ใช้อำนาจเหล่านี้ให้กลับมาอยู่ภายใต้การตรวจสอบของประชาชนต่อไป

มากไปกว่านั้น หนึ่งในประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ในช่วงนี้ พรรคก้าวไกลขอเสนอให้ประเทศไทยเข้าให้สัตยาบันในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ที่มักเกิดขึ้นภายใต้ระบอบเผด็จการรัฐประหารที่ผู้มีอำนาจกระทำต่อฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาเราได้เห็นแล้วว่ากลุ่มคนเหล่านั้นได้กระทำย่ำยีต่อประชาชนเพื่อนร่วมชาติอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตขนาดไหน แล้วกระบวนการยุติธรรมที่กลุ่มคนเหล่านั้นควบคุมไว้ก็ปล่อยให้ลอยนวลพ้นผิดอยู่ร่ำไป

ฉะนั้นในเมื่อกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าไร้ซึ่งศักยภาพและความแน่วแน่ที่จะเอาผิดกับความป่าเถื่อนที่เกิดขึ้น ไม่อาจเป็นที่เป็นที่พึ่งให้กับประชาชนชาวไทยกันเองได้ เหยื่อของโศกนาฏกรรมเหล่านั้นก็ควรมีสิทธิที่จะร้องขอความเป็นธรรมต่อสังคมโลกผ่านการพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศหรือ ICC ได้ นอกจากนี้พรรคก้าวไกลขอเสนอให้ประเทศไทยทำคำประกาศฝ่ายเดียวแสดงเจตจำนงเพื่อยอมรับเขตอำนาจของ ICC ในการพิจารณาคดีก่อนวันให้สัตยาบัน ตามช่องทางของธรรมนูญกรุงโรม มาตรา 12 อนุมาตรา 3 เพื่อให้พิจารณากรณีที่เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในอดีต ตัวอย่างสำคัญเช่นการสังหารหมู่ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ที่สร้างบาดแผลร้าวลึกในหมู่คนไทยมาจนทุกวันนี้ ผมขอยืนยันว่าการให้สัตยาบันและทำคำประกาศฝ่ายเดียวตามที่ได้กล่าวมานี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนใดๆ ต่อประมุขของราชอาณาจักร เนื่องจากรัฐบาลคือผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกอบกับราชอาณาจักรหลายประเทศในทวีปยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ก็ได้ให้สัตยาบันในธรรมนูญกรุงโรมเช่นกัน

และอีกหนึ่งนโยบายสำหรับวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในทุกวันนี้ นับตั้งแต่การยึดอำนาจที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2557 เป็นต้นมา เกิดการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างกว้างขวางโดยเห็นได้ชัดถึงการบิดเบือนกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเอามาเป็นเครื่องมือทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองด้วยเหตุเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ จนสังคมไทยเสื่อมความเชื่อมั่นศรัทธาต่อกฎหมายกระบวนการยุติธรรมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เพื่อที่จะระงับการปราบปรามอันมีต้นตอมาจากอำนาจเถื่อนนี้ไว้ในเบื้องต้น พรรคก้าวไกลขอเสนอให้มีการนิรโทษกรรมประชาชนทุกคนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วยการบิดเบือนกฎหมายของผู้มีอำนาจ โดยนับเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเป็นต้นไป และไม่มีผลรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใช้อำนาจภายใต้บังคับบัญชาของคณะผู้ก่อการ

นี่คือการเริ่มต้นของการหาทางออกของประเทศ เพื่อให้เดินไปข้างหน้าอีกครั้ง ทั้งนี้ การพิจารณาถึงผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการนิรโทษกรรมจะต้องกระทำโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนภาคประชาชนและนักวิชาการด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน และผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับนิรโทษกรรมมีสิทธิที่จะเลือกไม่รับการนิรโทษกรรมได้ 

พี่น้องสื่อมวลชน และพี่น้องประชาชนที่เคารพ นอกจากการนิรโทษกรรมที่เป็นการคืนความยุติธรรมให้กับพี่น้องประชาชนตั้งแต่ปี 57 แล้วนั้น เราต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่านั่นเป็นแค่เพียงการเริ่มต้นเพื่อคลี่คลายปัญหาที่อยู่ในชาติของเราเท่านั้น หากแต่เราต้องยอมรับความจริงด้วยว่า ความอยุติธรรมได้ปรากฏในสังคมของเราก่อนหน้านั้น ถ้าเราจะสร้างประเทศชาติที่ประชาชนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เดินหน้าของประเทศอย่างไม่ต้องพะวงหลัง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องขยายการคืนความยุติธรรมไปก่อนหน้าปี 57 ด้วย นั่นหมายความว่าหมุดหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการคืนความยุติธรรม คือ ความอยุติธรรมใดๆที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมาด้วย

ทั้งหมดนี้คือนโยบายที่พรรคก้าวไกลมุ่งผลักดันเพื่อสิทธิในชีวิต สิทธิในเสรีภาพ สิทธิในการได้รับความยุติธรรมของประชาชนชาวไทย ซึ่งพี่น้องทุกท่านคงเห็นแล้วว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะผลักดันนโยบายเหล่านี้ให้ลุล่วงตลอดรอดฝั่งได้ในฐานะฝ่ายค้านภายใต้ระบอบที่สืบทอดมาจากเผด็จการ แต่มันจะเปลี่ยนไปหากพรรคก้าวไกลได้รับเลือกตั้งไปเป็นเสียงข้างมากในสภา มันจะเปลี่ยนไปหากพรรคก้าวไกลได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนให้เข้าไปบริหารประเทศ ข้อเสนอต่างๆ ที่ล้มลุกคลุกคลานอยู่ในวันนี้ เราผ่านให้เป็นกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ ส่งเสริมเสรีภาพแก่พี่น้องให้ได้ ดังนั้นในการเลือกตั้งที่จะถึงไม่ช้านี้ ผมขอฝากนโยบายเหล่านี้ไว้ให้พี่น้องพิจารณาด้วย

ณ วันนี้เราอาจโหยหารัฐบาลที่จะช่วยเติมเต็มปากท้อง พลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมามีความหวัง มีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งพรรคก้าวไกลเข้าใจและพร้อมที่จะตอบโจทย์ข้อนี้แก่พี่น้องเช่นกัน แต่ถึงอย่างไรอีกด้านหนึ่งของความเป็นมนุษย์นั้น เราอยู่อย่างไม่มีศักดิ์ศรีไม่ได้หรอกครับ

เพราะฉะนั้นผมและพรรคก้าวไกลขอเสียงแห่งเจตนารมณ์ของพี่น้องประชาชนอีกสักครั้ง
เพื่อไปปลดปล่อยอำนาจที่เป็นของพี่น้องประชาชนกลับคืนมา




พริษฐ์ วัชรสินธุ
ผู้จัดการการรณรงค์สื่อสารนโยบายพรรคก้าวไกล


หากพูดถึงวาระของการปักธงประชาธิปไตย ผมเชื่อว่าทุกท่านทราบดี ว่าการมีรัฐธรรมนูญที่ดีสมบูรณ์แบบแค่ไหน ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองได้ทั้งหมด

แต่เราปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกัน ว่าหลายปัญหาจะถูกแก้ไขได้ง่ายขึ้น หากเรามีกติกาสูงสุดของประเทศ ที่วางรากฐานประชาธิปไตยไว้อย่างมั่นคง

หากเราเขียนให้ชัดว่ากองทัพมีหน้าที่ทำอะไร และมีหน้าที่ไม่ทำอะไร เราจะไม่อยู่ในสังคม ที่ต้องมาคอยถาม ผบ.ทบ. ว่าจะทำรัฐประหารไหม

หากเราเขียนให้ชัดว่าคนทุกคนทุกเพศมีสิทธิเท่าเทียมกัน เราจะไม่ต้องอยู่ในสังคม ที่ต้องมานั่งลุ้นว่าสภาจะโหวตผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมไหม เพราะสิทธิสมรสจะเป็นสิ่งที่ถูกคุ้มครองสำหรับทุกคนตั้งแต่ต้นโดยอัตโนมัติ

หากเราเขียนให้ชัดว่าเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องถูกรับรอง เราจะไม่อยู่ในสังคม ที่ต้องมาทนเห็นเยาวชนเราถูกขังคุกหรือนักร้องศิลปินเราถูกฟ้อง เพียงเพราะเห็นต่างจากรัฐบาล

รัฐธรรมนูญจะเป็น “ต้นตอของปัญหา” หรือรัฐธรรมนูญจะเป็น “จุดเริ่มต้นของทางออก” ขึ้นอยู่กับ 3 คำถามใหญ่ๆ คือรัฐธรรมนูญเราเขียนว่าอะไร ได้มายังไง และใครเป็นคนเขียน

เมื่อพิจารณาจากทั้ง 3 คำถามนี้ พรรคก้าวไกลเรายืนยัน ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 60 เป็น “ต้นตอของปัญหา” เพราะไม่ได้มีที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ที่เป็นประชาธิปไตยบนฐานคิดว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน แต่กลับมีที่มา กระบวนการ และเนื้อหา เพื่อสืบทอดอำนาจให้กับคนไม่กี่คน

ที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าหลายฝ่ายเห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่นกัน แต่จากความพยายามแก้ไขประเด็นต่างๆ ถึง 4 ครั้ง รวม 25 ร่างที่ถูกเสนอเข้าสู่รัฐสภา กลับมีเพียงร่างเดียวที่รอดออกมาได้ คือการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ซึ่งคงไม่มีใครกล้าพูดว่าเรื่องนี้เป็นต้นตอของปัญหาการเมืองไทยปัจจุบันทั้งหมด

พรรคก้าวไกลจึงขอประกาศต่อประชาชน ว่าหากเราเป็นรัฐบาล เราจะแก้ปัญหาที่ต้นตอ โดยการจัดให้มีการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ และที่ถูกขีดเขียนโดยประชาชนทุกคน ผ่าน สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 100%


รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

แล้วรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรจะมีหน้าตาอย่างไร?

ในขั้นพื้นฐานที่สุด รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องเป็น “ประชาธิปไตยเต็มใบ” ที่ได้อย่างน้อย 3 อย่าง หรือ 3 ป.

ป 1 ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำให้ได้ คือ “ปิดช่องรัฐประหาร”

รัฐธรรมนูญใหม่ จะมีความหมาย ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญไม่สามารถถูกฉีกได้ง่ายโดยคณะรัฐประหาร

แม้การป้องกันรัฐประหารในทางปฏิบัติต้องอาศัยมาตรการอื่นๆ นอกเหนือมาตรการทางรัฐธรรมนูญ แต่การวาง “ล็อก” เพื่อปิดทุกช่องของรัฐประหารในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ผ่านมาตรการดังต่อไปนี้

ล็อกชั้นที่ 1 คือการเพิ่มพลังต่อต้านของพวกเราทุกคน ผ่านการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการต่อต้านรัฐประหาร และกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง” ของผู้บังคับบัญชาที่วางแผนยึดอำนาจ โดยจะมาอ้างทำตาม “คำสั่งนาย” ไม่ได้

ล็อกชั้นที่ 2 คือการเพิ่มความรับผิดชอบของทุกสถาบันการเมือง โดยรัฐธรรมนูญต้องเขียนห้าม ไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวงรับรองรัฐประหาร และ กำหนดให้ทุกสถาบันทางการเมืองใต้รัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ร่วมกันปกป้องประชาธิปไตย

ล็อกชั้นที่ 3 คือการเพิ่มราคาที่ผู้ก่อรัฐประหารต้องชดใช้ โดยรัฐธรรมนูญต้องเขียนห้ามไม่ให้มีการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร และกำหนดให้ประชาชนที่เป็นผู้เสียหาย ที่ฟ้องผู้ก่อรัฐประหารในความผิดฐานกบฏได้ โดยปราศจากอายุความ และโดยศาลต้องตัดสินภายใน 24 ชั่วโมง

แต่การป้องกันรัฐประหารอย่างเดียว ไม่เพียงพอ


ป 2 ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำให้ได้ คือ “ปกป้องเสียงของประชาชน” 

ผมเชื่อว่าตลอดหลายปีที่เราต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจประชาชน คือความรู้สึกว่า “เสียงของเราไม่มีความหมาย” 

ที่เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะ คสช. และระบอบประยุทธ์ได้ฝังอาวุธ 3 อย่างไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่พวกเขาสามารถหยิบมาใช้ได้ทุกเมื่อ เพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง และกดทับเสียงของประชาชน

อาวุธชิ้นที่ 1 ที่ถูกใช้อย่างโจ่งแจ้งที่สุด คือ วุฒิสภา ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. แต่มีอำนาจล้นฟ้าในการขัดขวางประชาธิปไตย ตั้งแต่การร่วมเลือกนายกฯ และ ผลงานในการปัดตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 24/25 ฉบับ 

อาวุธชิ้นที่ 2 ที่ถูกใช้อย่างแนบเนียนกว่า คือ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่ควรถูกออบแบบ ให้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง แต่กลับถูกแต่งตั้งโดย ส.ว. ที่มาจาก คสช. ฝ่ายเดียว 

ที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่ประชาชนรู้สึกเคลือบแคลงใจในความเป็นกลางการทำหน้าที่ขององค์กรดังกล่าว

ไม่ว่าจะเป็น

  • ตอน กกต. คำนวณสูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ จนพลิกผลเลือกตั้งจากหน้ามือเป็นหลังมือ 
  • ตอน ป.ป.ช. มีความล่าช้า ในการดำเนินการสืบสวนบางข้อกล่าวหาเกี่ยวกับบางคนในรัฐบาล
  • หรือล่าสุด ตอนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระ 8 ปี ของประยุทธ์ ที่ต่อลมหายใจให้ พล.อ. ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งได้เกิน 8 ปี


แม้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ กรรมการองค์กรอิสระ คงพร้อมออกมายืนยันว่าท่านทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง แต่เป็นเรื่องยากครับ ที่ประชาชนจะยอมรับในความเป็นกลางของท่าน จากเพียงคำพูดของท่าน

ตราบใดที่ผู้มีอำนาจชี้ขาดว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ ยังเป็นวุฒิสภาของ คสช. 

อาวุธชิ้นที่ 3 ที่ยังถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก แต่อาจถูกหยิบขึ้นมาใช้กำจัดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต คือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

เมื่อพูดถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หลายคนมักตั้งคำถามถึงประโยชน์ของมัน ในเมื่อการคาดการณ์อนาคตไปไกลเป็นเรื่องที่ยากจะทำ และในเมื่อแผนก็ไม่ได้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง การปฏิรูปประเทศที่จะต้องครบกำหนด 5 ปีในปีนี้ ก็คืบหน้าไปเพียง 18% / กฎหมายปฏิรูปประเทศประกาศใช้ไปแล้วแค่ 4-5%

แต่ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันมาตลอดว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นประโยชน์ เพียงแต่ไม่ได้เป็นประโยชน์สำหรับประชาชนในการพัฒนาประเทศ แต่เป็นประโยชน์สำหรับระบอบประยุทธ์ ในการใช้เป็นไพ่ใบสุดท้าย เพื่อล้มกระดานของประชาชน

เพราะแม้การเลือกตั้งที่จะมาถึง อาจทำให้เรามีรัฐบาลที่ได้เสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น จากนโยบายที่ถูกใจประชาชน แต่หากนโยบายนั้นที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ดันไม่ตรงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็มีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะถูกกลั่นแกล้งให้พ้นจากตำแหน่งได้ ผ่านกระบวนการฟ้องร้อง-วินิจฉัยโดยตัวละครเดิมๆ อย่าง ส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ป.ป.ช.

ทุกท่านครับ ผมเข้าใจ ว่าหลายคนมักกังวลว่าประเทศเราจะเกิดการรัฐประหารอีกไหม แต่สิ่งที่น่ากังวลไม่น้อยไปกว่ารัฐประหาร ก็คือรัฐธรรมนูญที่ฝัง จุดมุ่งหมาย ของคณะรัฐประหารเข้าไปในตัวบทกฎหมาย ผ่านการวางกลไกที่ควบคุมอำนาจรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จ จนทำให้การรัฐประหารที่ใช้กองกำลังทหาร เป็นสิ่งที่พวกเขาแทบจะไม่จำเป็นต้องทำอีกต่อไปเพื่อยึดอำนาจจากประชาชน  

ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะสร้างประชาธิปไตยเต็มใบ จึงต้องเป็นรัฐธรรมนูญ ที่ปลด 3 อาวุธเหล่านี้ เพื่อยุติการสืบทอดอำนาจ ถอนอาวุธของคณะรัฐประหาร และปกป้องเสียงของประชาชน 


ป 3 ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำให้ได้ คือ “ปลดล็อกท้องถิ่น”

เรามักได้ยินหลายฝ่ายพูดอยู่เสมอ ว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญ แต่หากไปเปิดดูรัฐธรรมนูญ 2560 เราจะไม่เห็นคำว่า “กระจายอำนาจ” แม้แต่ครั้งเดียว ในขณะที่เนื้อหาเกี่ยวกับการสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่าที่มี ก็ถดถอยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด 

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะสร้างประชาธิปไตยเต็มใบ จึงต้องวางหลักประกันให้ชัด ว่าอำนาจในการกำหนดอนาคตของทุกพื้นที่ทุกจังหวัดในประเทศไทย อยู่ในมือของประชาชนผู้เกิด-ผู้อาศัย-ผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่นั้น มิใช่อยู่ในมือของคนจากส่วนกลาง ที่อาจไม่เคยแม้แต่ได้ยินชื่อหมู่บ้านของท่าน หรือ ไม่เคยรู้ว่าคนในตำบลของท่านมีความเป็นอยู่อย่างไร แต่กลับมีอำนาจตัดสินใจเรื่องสำคัญๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของท่าน

โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องปลดล็อกท้องถิ่นใน 2 เรื่อง 

  1. ปลดล็อกอำนาจ ให้ท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดการบริการสาธารณะทั้งหมดในพื้นที่
  2. ปลดล็อกงบประมาณ ให้ท้องถิ่นมีเงินเพียงพอในการแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ 
  3. ปลดล็อกทุกจังหวัด ให้ผุ้บริหารสูงสุดของทุกจังหวัด มาจากการเลือกตั้งได้


โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหมด จะต้องเลือกตั้งได้ล่วงหน้า นอกเขต และนอกราชอาณาจักร เหมือนการเลือกตั้งทั่วไป รวมถึงจะต้องมีระบบที่เพิ่มทางเลือกให้ประชาชน ใช้สิทธิลงคแนนเสียงตามพื้นที่ ที่ตนเองอาศัยหรือทำงานอยู่จริงได้ แทนพื้นที่ถูกระบุในที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน

จริงอยู่ครับ ที่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เป็นวาระที่ต้องอาศัยอีกหลายปัจจัยเพื่อขับเคลื่อนให้สำเร็จ (ซึ่งเราจะเปิดทั้งในงานเปิดตัวนโยบาย “ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า” ในเดือนหน้า แต่การวางหลักประกันเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเพิ่มความมั่นใจแก่ประชาชน และเพื่อความกระตือรือร้นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการผลักดันการกระจายอำนาจอย่างไม่ล่าช้าถดถอยเหมือนที่ผ่านมา


รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ขีดเขียนโดยประชาชน

ทุกท่านครับ พรรคก้าวไกลเราเชื่อ ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะปลดล็อกประเทศไทยได้ ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ปิดช่องรัฐประหาร ปกป้องเสียงของประชาชน และปลดล็อกท้องถิ่น

แต่เราก็เชื่อเช่นกัน ว่าคนที่จะรู้ดีที่สุด ว่ารัฐธรรมนูญ ต้องคุ้มครองสิทธิใดที่ยังตกหล่น หรือออกแบบสถาบันทางการเมืองอื่นใดให้ตอบโจทย์กว่าเดิม คือประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ

พรรคก้าวไกลเราจึงปักธงมาตลอด และขอตอกย้ำในวันนี้ ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 100% และต้องมีอำนาจพิจารณาแก้ไขทั้งฉบับ ทุกหมวดทุกมาตรา

เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สามารถโอบรับความฝันของคนทุกคนอย่างแท้จริง โดยมี สสร. เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนพูดคุยทุกประเด็นอย่างเปิดเผย บนพื้นฐานของเหตุและผล ให้สังคมหาฉันทามติในเรื่องนั้นๆ ได้อย่างสันติวิธี 

เพราะเราต้องยอมรับครับ ว่าเสรีภาพอย่างหนึ่ง ที่รัฐไม่มีทางควบคุมได้ คือเสรีภาพในความคิด 

ในวันที่ผู้คนมีความคิดความเชื่อที่แตกต่างหลากหลาย การพยายามบังคับให้ทุกคนคิดเหมือนกัน หรือบังคับให้พวกเขาหยุดคิด เป็นสิ่งที่ทั้งฝืนธรรมชาติ และ ฝืนความก้าวหน้าของสังคม 

ทางออกของรัฐที่มีวุฒิภาวะ จึงไม่ใช่การปิดประตูไล่ ให้คนแต่ละกลุ่ม ต้องไประบายความคับข้องใจของเขา บนเวทีชุมนุมอย่างเดียว หรือบีบพื้นที่ของสังคมให้หดแคบ จนประชาชนทำได้แค่เพียงครุ่นคิด ในพื้นที่ส่วนตัว 

แต่ทางออกของรัฐที่มีวุฒิภาวะ ต้องเป็นการเปิดประตูให้ทุกความใฝ่ฝัน และทุกความกังวลได้ ถูกพิจารณาในพื้นที่ปลอดภัย ผ่านกลไกของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวแทนของประชาชน


ประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ ทำทันที

ทุกท่าน แต่แม้เราอาจเห็นตรงกัน ว่าเป้าหมายปลายทางคือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน แต่ต้องยอมรับว่าเส้นทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ไม่ง่ายนัก

เพราะหากเรายึดกติกาของรัฐธรรมนูญ 2560 และการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาที่ผ่านมา จะเท่ากับประชาชนต้องเข้าคูหาถึง 4 ครั้ง เปรียบเสมือนขึ้นบันได 4 ขั้น กว่าจะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

  • ขั้นที่หนึ่ง คือการทำประชามติว่าควรมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
  • ขั้นที่สอง คือทำประชามติอีกรอบ เกี่ยวกับรายละเอียดของ สสร. และการแก้มาตรา 256 ที่รัฐธรรมนูญ 60 กำหนดว่าต้องทำ
  • ขั้นที่สาม คือการเลือกตัวแทนที่จะไปทำหน้าที่ใน สสร.
  • ขั้นที่สี่ คือการทำประชามติรอบสุดท้าย เพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


แม้จะมีหลายขั้นที่ต้องก้าว แต่พรรคก้าวไกลยืนยันว่า หากเราเป็นรัฐบาล เราจะเร่งกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เร็วที่สุด เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึง เป็นครั้งสุดท้ายภายใต้รัฐธรรมนูญ คสช. และเพื่อให้เรามีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมาใช้ ก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไปในปี 2570

และเพื่อให้เราไปถึงได้เร็วที่สุด ผมต้องขอขอบคุณประชาชนทุกคน ที่ร่วมกันแสดงพลังจากทั่วประเทศ จนทำให้เรารวบรวมรายชื่อเกิน 50,000+ ชื่อ ตามที่กฎหมายกำหนดในเวลาเพียง 1 เดือนเศษ เพื่อยื่นข้อเสนอตรงไปที่ คณะรัฐมนตรี ให้จัดประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้ง เพื่อถามประชาชน 1 คำถามง่ายๆ สั้นๆ ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ” ซึ่งจะทำให้ในบันได 4 ขั้น เราจะทำขั้นที่หนึ่งเสร็จสิ้นตั้งแต่วันเลือกตั้ง

เรามั่นใจว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นสิ่งที่ ครม.หาข้ออ้างในการปฏิเสธได้ยาก ในเมื่อสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เคยลงมติเห็นชอบกับหลักการดังกล่าวกว่า 647 คนเมื่อปลายปี 2563 และในเมื่อ ส.ส. พรรครัฐบาล เพิ่งอภิปรายสนับสนุนญัตติที่มีเนื้อหาสาระเดียวกันนี้ เมื่อเดือนที่ผ่านมา 

แต่แม้รัฐบาลปัดตกข้อเสนอนี้ ทั้งที่ตัวเองเคยสัญญากับประชาชน พรรคก้าวไกลก็ยืนยันครับ ว่าหากได้เป็นรัฐบาล เราจะจัดประชามติดังกล่าวภายใน 100 วันแรกแน่นอน

ผมเข้าใจ ว่าหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา อาจทำให้หลายคนรู้สึกท้อ ว่าต่อให้เราเสนออะไรเข้าสู่ระบบ ก็จะถูกอาวุธของ คสช. ขัดแข้งขัดขา

แต่ผมและพรรคก้าวไกลเชื่อนะครับ ว่าถ้าประชาชน ออกมาส่งเสียงอย่างท่วมท้น ผ่านคูหาเลือกตั้ง หรือ คูหาประชามติ ว่าต้องการเห็นการเขียนกติกาใหม่ที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย เสียงของประชาชนหลายล้านเสียงจากทุกทิศทั่วประเทศ จะเป็นอาวุธอันทรงพลังที่เรามี ในการทลายทุกอุปสรรคและทุกข้ออ้าง และทำให้การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ และที่ประชาชนร่วมขีดเขียน เป็นสิ่งที่เป็นไปได้


ใครที่ฟังมาถึงตรงนี้ และยังคัดค้านการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมขออนุญาตลองเดาดูนะครับว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะท่านชื่นชอบหรือศรัทธาในตัวบุคคล ที่ถูกคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ไม่เป็นไรครับ – เป็นเรื่องปกติที่คนเราจะชื่นชอบคนต่างกัน

แต่ผมอยากให้ท่านลองมองครับ

ว่า “ระบบ” หรือ “กติกา” ที่ดี มันต้องไม่ถูกคิด บนพื้นฐานของการมีคนที่ท่านคิดว่า “ดีที่สุด” หรือ “ไว้ใจได้มากที่สุด” อยู่ในอำนาจ

แต่ “ระบบ” หรือ “กติกา” ที่ดี ต้องถูกคิดบนพื้นฐานของการมีคนที่ท่านคิดว่า “เลวที่สุด” หรือ “ไว้ใจได้น้อยที่สุด” อยู่ในอำนาจ

ผมอยากให้ท่านลองคิดถึงบุคคลที่ท่านคิดว่าเป็น “คนที่เลวที่สุด” คนนั้น

จะเป็นผมหรือใครจากก้าวไกล ก็ไม่ว่า

และลองถามตัวเองดูครับ ว่าท่านต้องการหรือไม่ ที่จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ถูกเขียนโดยคนไม่กี่คนที่ “คนเลว” คนนั้นเป็นคนแต่งตั้ง

อยู่ภายใต้กติกาที่อนุญาตให้ “คนเลว” คนนั้น แต่งตั้ง ส.ว. 250 คน กลับมาเลือกเขาเป็นนายกฯ

อยู่ภายใต้ระบบการตรวจสอบของศาลและองค์กรอิสระ ที่ “คนเลว” คนนั้นคุมได้ทั้งหมด

และอยู่ในประเทศที่อนุญาตให้ “คนเลว” คนนั้น กุมทั้งอำนาจรัฐ อำนาจปืน และอำนาจทุน

ในเมื่อ “คนดี” ที่สมบูรณ์แบบนั้น คงไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ และในเมื่อคนทุกคน ก็ล้วนมีโอกาสที่จะกระทำสิ่งที่ไม่ดีได้

รัฐธรรมนูญ หรือ กติกาสูงสุดของประเทศ จึงไม่ควรถูกออกแบบบนพื้นฐาน ของการผูกขาดอำนาจไว้กับใครคนใดคนหนึ่ง แต่ควรถูกออกแบบบนพื้นฐาน ของการป้องกันไม่ให้คนที่มีอำนาจ – ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร – สามารถสร้างความเสียหายแก่ประเทศ แก่ประชาชน และหลักการประชาธิปไตย ได้

ผมมั่นใจครับ ว่าหากท่านนึกถึง “คนเลว” ของท่าน และจินตนาการถึงสิ่งเลวร้ายที่เขาทำได้ หากเขามีอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมหวังว่าท่านจะพร้อมมาร่วมกับผมและพรรคก้าวไกล ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นกลางกับทุกความฝัน เป็นธรรมกับทุกความคิด และไม่ไว้ใจใครนอกจากประชาชนด้วยกัน


ถึงเวลาแล้วครับ ที่เราจะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อปลดล็อกประเทศไทย และสร้างการเมืองไทยที่ก้าวหน้า



ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ (ทนายแจม)
ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขตสายไหม กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล


ดิฉัน ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อทนายแจม ดิฉันมีหลายบทบาทค่ะ เป็นทนายความสิทธิมนุษยชน และเป็นคุณแม่ของลูก 2 คน ที่อยากเห็นลูก ๆ โตมาในสังคมที่คนเท่ากัน

ทุกท่านคะ พอพูดถึงคำว่าคนเท่ากัน หลายคนอาจเข้าใจผิดนะคะ บางคนเข้าใจว่า คนเท่ากันคือฐานะเท่ากัน ความสูงเท่ากัน สวยหล่อหน้าตาดีเหมือนกัน 

แต่แท้จริงแล้วนั้น คำว่าคนเท่ากันในนิยามของพรรคก้าวไกล คือการที่ทุกคนเกิดมาและเติบโตในสังคมที่พวกเขามีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ถูกจำกัดด้วยเพศ ศาสนา ความบกพร่องทางร่างกาย 


วันนี้ดิฉันและพรรคก้าวไกล ขอเสนอ นโยบาย 5 ข้อ เพื่อคนเท่ากัน เพื่อความเท่าเทียม ดังนี้ค่ะ

รับรองทุกเพศสภาพ ใช้คำนำหน้าตามความสมัครใจ

หากทุกท่านได้ติดตามการทำงานของพรรคก้าวไกลใน การผลักดันในเรื่อง “สมรสเท่าเทียม” ทุกท่านคงได้เห็นถึงความตั้งใจของพรรค ที่ต้องการสร้างสังคมที่รองรับความหลากหลาย  ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านไปได้ด้วยดี 

ทุกท่านคะ ในปัจจุบัน มีการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ว่าไม่ใช่ความป่วยไข้  ไม่ใช่ความผิดปกติ หรือเป็นเวรเป็นกรรม แต่ “การรับรองเพศสภาพ” และ“คำนำหน้านาม” กลับไม่ตรงกับเพศสภาพและการแสดงออกทางเพศ 

พรรคก้าวไกลเราต้องยืนยันหลักการสิทธิมนุษยชนการนิยามตน ด้วยการให้ประชาชนสามารถใช้คำนำหน้านามตามความสมัครใจ การมีกฏหมายรับรองเพศจะลดการเลือกปฏิบัติสู่การยอมรับในสังคม

ผ่านการดำเนินนโยบาย แก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างระบบสองเพศด้วยการ “รับรองเพศภาพและใช้คำนำหน้าตามความสมัครใจ” เพื่อให้ทุกๆ เพศมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันค่ะ

ตำรวจหญิงทุกสถานี

ข้อมูลสถิติจากกระทรวงยุติธรรมพบว่าผู้หญิงไทยไม่ต่ำกว่า 75% เคยถูกคุกคามทางเพศและเลือกที่จะไม่แจ้งเหตุ 

และไม่กล้าที่จะเดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อแจ้งความ 

โดยให้เหตุผลในเรื่อง ‘ความไม่สบายใจ’ เนื่องจากผู้เสียหายสะดวกใจกับพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้หญิง แต่สถานีตำรวจจำนวนมากกลับไม่มีพนักงานสอบสวนหญิงผู้หญิงที่จะเป็นผู้ดำเนินคดีได้

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีพนักงานสอบสวนทั้งหมดจำนวน 11,607 คน แบ่งเป็นพนักงานสอบสวนหญิงจำนวน 763 คน หรือเท่ากับร้อยละ 6.6 ของพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ 

ถือว่ายังมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนสถานีตำรวจทั่วประเทศ 1,482 แห่ง เห็นได้ชัดเจนว่า จำนวนพนักงานสอบสวนหญิงที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอกับสถานีตำรวจทุกแห่งด้วยซ้ำ 

ผู้เสียหายต้องใช้ความกล้าอย่างมาก ในคดีที่เกี่ยวกับการละเมิดทางเพศ ในการที่จะออกมาเพื่อป้องกันสิทธิของตัวเอง และมีอีกจำนวนมาก ที่รู้สึกไม่ปลอดภัย ในการเล่าเรื่อง และเหตุการณ์ต่างๆ   การที่มีตำรวจ และพนักงานสอบสวน ที่เป็นผู้หญิงช่วยทำให้เกิด  “พื้นที่ปลอดภัย” ในการให้ข้อมูล” ในการกระบวนการยุติธรรม

พรรคก้าวไกล เสนอนโยบายให้เพิ่มจำนวนตำรวจหญิง และมีตำรวจหญิงประจำทุกสถานีตำรวจ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยและตำรวจได้อำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม

พระเลือกตั้งได้

อีกไม่นาน ประเทศเราก็จะมีการเลือกตั้งแล้วใช่หรือไม่คะ

แต่เชื่อหรือไม่คะว่า ยังมีประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนไม่น้อยถูกละเลยสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ เพียงเพราะว่าบุคคลเหล่านั้นถูกเรียกว่า “พระสงฆ์” 

ทุกท่านคะ พระสงฆ์คือประชาชนคนนึง ที่มีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 

กระทรวงกลาโหม กำหนดให้พระสงฆ์ซึ่งเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา มีหน้าที่ต้องไปเกณฑ์ทหารในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง 

แต่กระทรวงมหาดไทย กลับปฏิเสธสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งของพระสงฆ์ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน 

การเลือกตั้ง ที่ครอบคลุมไปถึงพระสงฆ์จึงมีความสำคัญ จากการศึกษาเชิงข้อมูล ประเทศไทยนั้น ให้สิทธิการเลือกตั้งกับนักบวชทุกศาสนา เว้นแต่ศาสนาพุทธ ทั้งๆที่พระและนักบวชทุกคน ต้องเกี่ยวข้องและผูกพันตามกฎหมายเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ยังคงเข้ารับการเกณฑ์ทหารไม่ต่างบุคคลทั่วไป แต่กลับไม่มีสิทธิเลือกตั้งเหมือนบุคคลอื่นๆ 

พรรคก้าวไกล เรามีนโยบายทางการเมืองเพื่อคนเท่ากัน ทวงคืนสิทธิเลือกตั้งให้กับพระและนักบวชในศาสนาพุทธ เพื่อความเท่าเทียมกันทุกศาสนาและประชาชนทุกคนค่ะ

รัฐจ้างงานคนพิการ 20,000 คน

กลุ่มคนพิการใช้ชีวิตในประเทศนี้อย่างยากลำบาก คนพิการนั้น ไม่ได้ต้องการความเห็นใจ ไม่ได้เรียกร้องความสงสาร แต่พวกเขาต้องการการใช้ชีวิตอย่างคนปกติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพของตนเองและครอบครัวค่ะ

ความย้อนแย้งที่เกิดขึ้น คือ รัฐออกนโยบายการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ แต่รัฐกลับมิได้ทำตัวเป็นแบบอย่างของเอกชน ด้วยสถิติการจ้างงานของหน่วยงานรัฐที่มีเพียง ร้อยละ 13.23 เท่านัั้น ในขณะที่เอกชนมีการจ้างงานคนกลุ่มนี้ถึง ร้อยละ 54.46 ของเป้าหมาย

ตัวเลขที่หายไปแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของรัฐ ในการสร้างสังคมให้มีความเท่าเทียมอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ การจ้างงานทำให้พนักงานของรัฐเข้าใจผู้พิการมากขึ้น เพื่อในอนาคตสามารถกำหนดวิธีปฏิบัติต่างๆได้ดีมากขึ้น

หากเราเป็นรัฐบาล พรรคก้าวไกลพร้อมผลักดันนโยบายที่จะกำหนดให้

“รัฐต้องจ้างงานคนพิการ” ตามเป้าหมาย ๒๐,๐๐๐ อัตรา 

เพื่อเปิดโอกาส ให้พวกเขา สามารถใช้ชีวิต มีศักดิ์ศรี เท่าเทียมกับทุกคน

สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้

เรื่องที่สำคัญไม่ต่างจากทุกเรื่องก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่ติดค้างในใจของดิฉันมาตลอดหลายปีตลอดจนเป็นแรงผลักให้ดิฉันต้องออกเดินทางกับพรรคก้าวไกลเพื่อการผลักดันนโยบายเหล่านี้

ทุกท่านคะ เราเห็นปัญหามากมายในสังคมปัจจุบัน ปัญหายาเสพติด ปัญหาเรื่องสุขภาพจิต ปัญหาความรุนแรงต่างๆ เราต่างรู้ดีค่ะว่า “สถาบันครอบครัว” เป็นปราการด่านแรกของการแก้ปัญหาสังคมแทบทุกเรื่องในปัจจุบัน 

แต่ทุกท่านคะ รัฐกลับละเลยความสำคัญกับการสร้างครอบครัวของประชาชน และผลักภาระทุกอย่างกลับมาที่ประชาชน 

เด็กคนนึงที่เกิดมา เขามิใช่เป็นเพียงสมาชิกของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่เขาคือหนึ่งหน่วยในสังคม เป็นบุคลากรหนึ่งคนของประเทศที่ต้องเสียภาษี 

เป็นหนึ่งฟันเฟือง หนึ่งสติปัญญาในการขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้า

หากต้องการจะพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน นอกจากพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว การพัฒนาบุคลากรของประเทศนั้น มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และฉุกเฉินเร่งด่วนไปน้อยไปกว่ากันเลย

สิทธิลาคลอดและลาเลี้ยงบุตร เป็นสิทธิที่ในนานาอารยประเทศ ต่างเห็นถึงความสำคัญ ว่าการพัฒนาประเทศนั้น ทุนมนุษย์มีความสำคัญมากที่สุด การลงทุนที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด

และการเลี้ยงบุตรมิได้หมายถึงแค่แม่เท่านั้น แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งสองบทบาทคือพ่อและแม่

พรรคก้าวไกลพร้อมผลักดันนโยบายสิทธิลาคลอด 180 วัน ซึ่งใน 180 วันนี้ พ่อแม่สามารถแบ่งกันได้ หรือใช้ร่วมกันได้  เช่น แม่ลา 5 เดือน พ่อสามารถใช้อีก 1 เดือน เพื่อมาช่วยแบ่งเบา และทำหน้าที่ของตนเองในสามสิบวันแรกของชีวิตน้อยๆนั้นด้วย

นับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

และการให้โอกาสคุณพ่อในประเทศไทยได้ใช้เวลาดูแลลูกน้อยที่บ้านในช่วงเวลาสำคัญนี้ด้วย

“สวีเดน” ถือเป็นประเทศที่มีสวัสดิการด้านการเลี้ยงดูบุตรที่ดีที่สุดในโลก พ่อแม่ลางานเลี้ยงลูกได้ 480 วัน หรือ 16 เดือน “ฟินแลนด์” เพิ่มวันลาคุณพ่อ เพื่อให้ใช้เวลาอยู่กับลูกมากขึ้น โดยได้รับค่าจ้างเป็นประมาณ 164 วัน เท่ากับวันลาคุณแม่
ไต้หวัน”  ลาคลอด 2 เดือน ลาเลี้ยงบุตรได้ 2 ปี ทั้งชายและหญิง

อีกเรื่องที่สำคัญ และเป็นกลุ่มคนที่ถูกหลงลืมจากรัฐเสมอมา นั่นคือ “แม่ให้นม”

นมแม่มีความสำคัญต่อเด็ก ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ตลอดจนทางเศรษฐกิจ

รัฐสนับสนุนให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ไม่มีสถานที่เพียงพอให้แม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้

ห้องให้นม ห้องปั๊มนม (Breastfeeding room) เป็นสิ่งที่ช่วยให้การใช้ชีวิตของแม่ในประเทศนี้ มีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกันมากขึ้น ไม่ต้องถูกผลักให้ไปอยู่แต่ในห้าง หรืออยู่ได้แต่ในบ้าน อันก่อให้เกิดปัญหา ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ 

การที่รัฐจัดหาห้องให้นมให้กับแม่ให้นม ในสถานที่ราชการต่างๆ หรือสถานที่สาธารณะ ตลอดจนการกำหนดนโยบายที่สนับสนุนให้เอกชนจัดหาห้องให้นมให้กับพนักงาน ถือเป็นสิ่งที่ทำได้และช่วยยกระดับความเท่าเทียมให้กับทุกคนในสังคมได้เป็นอย่างดี พรรคก้าวไกลเห็นถึงปัญหานี้ และจะมีนโยบายที่จะแถลงต่อไปในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐสวัสดิการค่ะ


สุดท้ายนี้ ดิฉัน ในฐานะของแม่คนนึง ทุกครั้งที่ดิฉันมองลงไปในตาของลูกๆ ทุกวันที่เห็นลูกๆเติบโต ดิฉันรู้ดีว่า ไม่ว่าดิฉันจะบ่มเพาะ ทะนุถนอมลูกๆ ให้ดีได้อย่างไร ตราบใดที่ สังคมยังไม่เปลี่ยนแปลง กฎหมายยังไม่ปรับปรุง ก็แทบไม่มีประโยชน์ใดๆเลย การทำเพื่อลูก และทำเพื่อประเทศนี้ไปด้วย สร้างลูก และสร้างสังคมของลูกไปด้วย เป็นวิธีการที่ดีที่สุด 

ดิฉันวาดหวังไว้ว่าพวกเขาจะเติบโตในประเทศนี้อย่างงดงาม มีอิสระ มีความฝัน และมีความหวัง เติบโตในประเทศที่คนเท่ากัน 

เพื่อลูกๆ เพื่อเด็กๆอีกหลายคนที่จะเกิดมา ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร นับถือศาสนาอะไร หรือมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงหรือไม่  ทุกคนต้องสามารถใช้ชีวิตในประเทศนี้ได้ มีสิทธิ เสรีภาพ อย่างเท่าเทียมกันทุกคน

ต้องก้าวไกล ให้ไทยก้าวหน้า เพื่อความเท่าเทียมและคนเท่ากัน

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า