พรรคก้าวไกลชวนอ่านเนื้อหาการเปิดนโยบาย “ราชการไทยก้าวหน้า” ที่จะปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงให้ระบบราชการเป็น “ราชการเพื่อราษฎร” ที่ทำงานเพื่อรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ปกป้องชีวิตผู้คน (คลิกแต่ละหัวข้อเพื่อข้่ามไปอ่านหัวข้อที่สนใจได้เลย)
“รัฐโปร่งใส ไร้กลโกง”
- เปิดข้อมูลรัฐทันที ประชาชนเป็นเจ้าของ
- ระบบจับโกงอัจฉริยะ
- โครงการ “คนโกงวงแตก” จูงใจให้คนที่คิดจะโกง ระแวงกันเอง
- โครงการ “แฉโกง ปลอดภัย ได้เงิน”
- ตัวแทนจับโกงจากประชาชน ในโครงการมูลค่าสูง
- ห้ามใช้เงินหลวง โปรโมทตัวเอง
- ป.ป.ช. ยึดโยงประชาชน
“ราชการทำงานฉับไว คุ้มค่าภาษีประชาชน”
- ทุกบริการภาครัฐ ผ่านมือถือ
- กิโยตินกฎหมาย ยกเลิกใบอนุญาต 50%
- รู้ผลใบอนุญาต ภายใน 15 วัน
“ตำรวจของประชาชน พิทักษ์สันติราษฎร์”
- ผบ.ตร. ยึดโยงประชาชน
- จังหวัด-ตำรวจ ร่วมรับใช้ประชาชน
- คืนผมให้ตำรวจ ไม่บังคับเกรียน
และรายละเอียดอื่นๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่าหากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เราจะเปลี่ยนระบบราชการอย่างไร ประเทศจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ประชาชนจะได้อะไร
ย้อนชม LIVE เปิดตัวนโยบายเต็มๆ:
ฟัง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวเปิดงาน:
คลิกที่นี่เพื่อรับชม Playlist ราชการไทยก้าวหน้า
สถานะ Roadmap นโยบาย ต้องก้าวไกล ให้ไทยก้าวหน้า
เปิดตัวนโยบายเอาชนะการทุจริต “รัฐโปร่งใส ไร้กลโกง” ให้ #ราชการไทยก้าวหน้า
ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ฉุดรั้งการพัฒนาของประเทศไทย ทำให้ภาษีที่เราจ่าย ไม่ถูกใช้มาพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเรา
ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลที่อ้างว่าให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริต สถานการณ์ความโปร่งใสของประเทศไทยตกลงอย่างต่อเนื่อง จาก 38 คะแนน มาเหลือ 35 คะแนน และจากอันดับ 85 ตกลงมาที่อันดับ 110 ของโลก
การทุจริตไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นปัญหาที่พรากโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนตั้งแต่เราเกิดจนแก่ – จะเข้าโรงเรียนดีๆ ก็ต้องจ่ายสินบน-เงินแป๊ะเจี๊ยะ จะขายของหาบเร่แผงลอยก็ต้องจ่ายส่วย จะเปิดร้านอาหารก็ต้องขอใบอนุญาตหลายสิบใบ มีค่าน้ำร้อนน้ำชาให้เจ้าหน้าที่ จะเปิดโรงงานต้องขอใบอนุญาตนับร้อยนับพันใบ จะสร้างหมู่บ้านสร้างคอนโดก็ต้องจ่ายใต้โต๊ะให้กับค่ารังวัดที่ดิน ค่าเชื่อมท่อน้ำทิ้ง ค่าปักเสาไฟฟ้า จะได้รับการดูแลจากรัฐตอนสูงวัยก็ต้องถูกแย่งชิงงบที่รั่วไหลไปหาคนทุจริตในอำนาจ
พรรคก้าวไกลเราเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ต้องไม่ใช่การหวังพึ่งแค่การปลูกฝังจิตสำนึก-จริยธรรมในการต่อต้านการโกง หรือ การมอบศรัทธาทั้งหมดไว้กับ “คนดี” มาปกครองบ้านเมือง เหมือนที่ผ่านมา แต่ต้องเป็นการทำให้รัฐโปร่งใสกว่าที่เคยเป็น ทุกคนตรวจสอบทุกคนได้ด้วยอาวุธใหม่ๆ ที่ประเทศไม่เคยมี เพื่อสร้าง “ระบบที่ดี” ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ประเทศไทยและระบบราชการภายใต้รัฐบาลก้าวไกล ต้องเป็น “ระบบ” ที่ใครที่คิดอยากจะโกง ก็โกงไม่ได้ เพราะข้อมูลของรัฐทั้งหมดถูกเปิดเผย (ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณทุกบาท หรือ ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการ) เสมือนเป็นกล่องใส ที่เปิดให้ประชาชนมาช่วยกันมุงดู ตรวจสอบ และเปิดให้เทคโนโลยีเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแจ้งเตือนหากมีโครงการที่ส่อทุจริต เพื่อให้ภาษีทุกบาทที่เราจ่ายเข้าไป ถูกนำไปใช้พัฒนาประเทศ ไม่ใช่ไปเพิ่มความร่ำรวยให้ผู้มีอำนาจ
ประเทศไทยและระบบราชการภายใต้รัฐบาลก้าวไกล ต้องเป็น “ระบบ” ที่ใครที่โกงแล้ว จะไม่มีทางรอด เพราะมีการวางกลไกที่จูงใจให้กลุ่มคนที่ร่วมกันโกง ฟ้องกันเอง จนเกิดความระแวงสำหรับใครที่คิดจะร่วมกันโกง มีกลไกที่รับประกันความปลอดภัยและความก้าวหน้าของผู้กล้าที่ออกมาแฉการทุจริต มีกลไกที่ลงทุนสร้างสังคมต้านโกงโดยมีเงินรางวัลให้ประชาชนที่แจ้งเบาะแส และ มีกลไกของ ป.ป.ช. ที่เป็นกลางและตรวจสอบทุกรัฐบาลและทุกหน่วยงานอย่างไร้ข้อยกเว้น
เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (9 ธันวาคมของทุกปี) พรรคก้าวไกลมีนโยบายเพื่อเอาชนะการทุจริต ด้วยการสร้าง “รัฐโปร่งใส ไร้กลโกง ทุกคนตรวจสอบได้” ดังต่อไปนี้
- เปิดข้อมูลรัฐทันที ประชาชนเป็นเจ้าของ
- ระบบจับโกงอัจฉริยะ
- โครงการ “คนโกงวงแตก” จูงใจให้คนที่คิดจะโกง ระแวงกันเอง
- โครงการ “แฉโกง ปลอดภัย ได้เงิน”
- ตัวแทนจับโกงจากประชาชน ในโครงการมูลค่าสูง
- ห้ามใช้เงินหลวง โปรโมทตัวเอง
- ป.ป.ช. ยึดโยงประชาชน
มาดูกันแบบละเอียดๆ ว่า นโยบายเอาชนะการทุจริต เพื่อสร้าง “ระบบราชการเพื่อราษฎร” มีอะไรบ้าง:
1. เปิดข้อมูลรัฐทันที ประชาชนเป็นเจ้าของ
รัฐบาลก้าวไกลจะเปิดเผยข้อมูลรัฐทั้งหมดทันที ไม่ว่าจะเป็นราคาอาวุธ สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า และข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งหมด โดยยึดหลักว่า:
- (i) ข้อมูลของรัฐ คือข้อมูลที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ รัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล
- (ii) ข้อมูลของรัฐ ต้อง “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” (Open by Default) โดยหากจะปกปิด ต้องร้องขอด้วยเหตุผลที่สมควรเท่านั้น (เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลที่ต้องลับ)
- (iii) ข้อมูลที่ถูกตีตราว่าเป็นข้อมูล “ความลับราชการ” จะต้องไม่ลับตลอดกาล โดยกำหนดระยะเวลาที่ข้อมูลจะต้องเป็นความลับ และถูกเปิดเผยทั้งหมดเมื่อระยะเวลาสิ้นสุดลง
- (iv) ข้อมูลจะต้องถูกเปิดในรูปแบบที่นำไปวิเคราะห์ต่อได้ (machine readable) เพื่อความสะดวกของประชาชนในการตรวจสอบ (เช่น ถ้าเป็นข้อมูลตัวเลข ก็ควรเป็นรูปแบบ Excel)
- (v) การประชุมกรรมาธิการทุกคณะของรัฐสภา ต้องมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าไปดูย้อนหลังได้ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าผู้แทนของพวกเขา เข้าไปพูดหรือทำอะไร
2. ระบบจับโกงอัจฉริยะ
รัฐบาลก้าวไกล จะนำระบบจับโกงอัจฉริยะมาใช้ในการแจ้งเตือนการทุจริตแบบอัตโนมัติ โดยจะเริ่มพัฒนาทันที เปิดใช้งานได้ภายใน 1 ปี และคาดว่าเสร็จสมบูรณ์ภายใน 2 ปี
ในเมื่อข้อมูลถูกเปิดเผยต่อสาธารณะและข้อมูลทุกฐานถูกเชื่อมโยงเข้าหากัน ระบบจะวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดแบบทันทีหรือ real-time และแจ้งเตือนหรือ “ปักธงแดง” เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบต่อ เมื่อมีความเสี่ยงว่าอาจเกิดการทุจริต เช่น
- โครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ส่อทุจริต เช่น มีผู้เข้าประมูลรายเดียว ระยะการเปิดประมูลสั้นกว่าปกติ งานที่จัดซื้อในราคาที่ใกล้เคียงกับราคากลางผิดปกติ หรือสูงกว่าราคากลาง
- นักการเมืองและข้าราชการระดับสูงที่อาจหลบเลี่ยงภาษี เช่น ค้นพบข้อมูลที่ไม่ตรงกันระหว่างทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. กับข้อมูลภาษีที่ยื่นต่อสรรพากร
3. โครงการ “คนโกงวงแตก” จูงใจให้คนที่คิดจะโกง ระแวงกันเอง
โดยปกติ การทุจริตคอร์รัปชัน ไม่สามารถกระทำได้ด้วยคนคนเดียว จะต้องมีผู้สมรู้ร่วมคิดเสมอ
“คนโกงวงแตก” คือระบบที่ทำให้คนที่คิดจะร่วมกันโกง (เช่น คนจ่ายกับคนรับสินบน บริษัทที่จะฮั้วประมูลกัน) ระแวงกันจนไม่มีใครกล้าร่วมกันโกง
กลไกที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น คือการออกกฎคุ้มครองใครที่ออกมาแฉหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมรู้ร่วมคิดก่อน (leniency programme) ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกใช้ในหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก บราซิล
เป้าหมายและความสำเร็จของกลไกนี้ ไม่ใช่การเห็นคนมามอบตัว แต่คือการทำให้การโกงไม่เกิดขึ้นเลยตั้งแต่ต้น เพราะคนที่คิดจะโกงก็ต้องหวาดระแวงกันตั้งแต่แรก ว่าถ้าโกงไปก็อาจถูกอีกฝ่ายเปิดโปงได้ ในเมื่อหากทั้งคู่ตัดสินใจร่วมกันโกงจริง ทั้งคู่จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ผลประโยชน์สูงสุด จะเป็นของคนที่ออกมาสารภาพก่อนทันที
4. โครงการ “แฉโกง ปลอดภัย ได้เงิน”
ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนไม่น้อย รับรู้ถึงการทุจริตที่เกิดขึ้นในหน่วยงานตนเอง แต่ต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างมากที่จะออกมาเปิดโปงการทุจริต เพราะความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของตนเอง หรือความก้าวหน้าทางอาชีพ เช่นเดียวกับประชาชนหลายคนที่เห็นการทุจริตแต่ไม่พร้อมจะเก็บหลักฐานมาเปิดโปง
โครงการ “แฉโกง ปลอดภัย ได้เงิน” คือการลดต้นทุนของประชาชนและเจ้าหน้าที่ในการเปิดโปงการทุจริต โดยการ
- (i) ออกกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยและรับรองความก้าวหน้าในหน้าที่การงานให้กับเจ้าหน้าที่ ที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตในหน่วยงาน (whistleblower protection)
- (ii) เพิ่มรางวัลให้กับประชาชนทั่วไป ที่ชี้เบาะแสการทุจริต
5. ตัวแทนจับโกงจากประชาชน
รัฐบาลก้าวไกล จะเพิ่มพื้นที่ในกระบวนการการจัดซื้อของภาครัฐที่มีมูลค่าสูง ให้แก่ผู้สังเกตการณ์อิสระที่มีความเชี่ยวชาญในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนในการซักถาม ขอข้อมูล และดักทางการทุจริต
รูปแบบการทำงานเช่นนี้ (หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ข้อตกลงคุณธรรม” หรือ integrity pact) เคยถูกนำมาใช้ในบางโครงการและช่วยภาครัฐประหยัดงบประมาณจากโครงการเหล่านั้นถึง 20-30% แต่รูปแบบเช่นนี้จะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต่อเมื่องบประมาณสำหรับการดำเนินการมีความชัดเจนเพื่อป้องกันการแทรกแซงโดยรัฐ และต่อเมื่อ “ตัวแทนจับโกง” สามารถสื่อสารกับสาธารณะได้ตลอดกระบวนการ
6. ห้ามใช้เงินหลวง โปรโมทตัวเอง
คำว่า “โกง” บางครั้ง ไม่ได้หมายถึงแค่การดึงเงินรัฐเข้ากระเป๋าตัวเองให้เกิดความร่ำรวย แต่ยังมีการโกงโดยใช้เงินรัฐเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น การใช้งบรัฐเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวเอง
รัฐบาลก้าวไกล จะตรวจสอบการใช้งบประชาสัมพันธ์ภาครัฐอย่างเข้มข้น และกำหนดว่าการใช้งบจะต้องเป็นการโฆษณาโครงการหรือผลงานของหน่วยงานเท่านั้น โดยห้ามไม่ให้ใช้เพื่อโฆษณาตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี อธิบดี หรือหัวหน้าหน่วยงาน ที่ไม่ได้ควักเงินตัวเองมาทำโครงการ
7. ป.ป.ช. ยึดโยงประชาชน
ต่อให้คนที่โกงรอดพ้นจากทุกระบบมาได้ ที่พึ่งสุดท้ายก็คือองค์กรอิสระที่ควรทำหน้าที่ปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มแข็ง อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
แต่ ป.ป.ช. จะทำงานอย่างเข้มข้นได้ในการตรวจสอบทุกรัฐบาล ทุกหน่วยงาน ทุกบุคคล อย่างไร้ข้อยกเว้น ต่อเมื่อมีกระบวนการคัดเลือกที่รับประกันและไม่บั่นทอนการทำหน้าที่อย่างเป็นกลางของผู้ดำรงตำแหน่งใน ป.ป.ช. ไม่ใช่ผูกขาดการแต่งตั้งไว้กับฝ่ายเดียวอย่างในปัจจุบัน (กรรมการ ป.ป.ช. ต้องถูกรับรองโดย ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.) ซึ่งทำให้ประชาชนเคลือบแคลงใจถึงความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
รัฐบาลก้าวไกล จะทำให้ ป.ป.ช. ทำงานเป็นกลาง และประชาชนตรวจสอบได้ โดย
- (i) ปรับกระบวนการสรรหาให้ กรรมการ ป.ป.ช. 9 คน มีที่มาที่หลากหลาย ยึดโยงกับประชาชน และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย โดยผ่านการเสนอชื่อจากทั้งผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล ผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน และจากที่ประชุมศาล โดยทุกคนที่จะรับตำแหน่ง ต้องผ่านการรับรองโดยเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เป็นคนที่ทุกฝ่ายยอมรับ
- (ii) เพิ่มกลไกให้ประชาชนริเริ่มกระบวนการถอดถอน ป.ป.ช. ได้ ผ่านการเข้าชื่อ 20,000 รายชื่อ ซึ่งคล้ายกับกลไกที่เคยมีในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550
หากเราต้องการลดการทุจริต เราก็ต้องการองค์กรปราบปรามการทุจริตที่เข้มแข็ง และเป็นองค์กรที่มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะทำงานเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนอย่างแท้จริง
นโยบายปฏิรูประบบราชการ: ราชการทำงานฉับไว คุ้มค่าภาษีประชาชน
ข้อมูลของธนาคารโลกชี้ให้เห็นว่า ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ในช่วงที่ภาครัฐมีขนาดใหญ่ขึ้น ประสิทธิภาพของภาครัฐกลับลดลง
แน่นอนว่าโจทย์เรื่อง “ขนาด” ของระบบราชการที่เหมาะสม เป็นคำถามที่ทุกฝ่ายต้องถกกันในอนาคต แต่คำถามที่เร่งด่วนเช่นกัน คือระบบราชการในปัจจุบันของเรา มี “ประสิทธิภาพ” ดีพอหรือยัง ในการแปรจำนวนเงินและจำนวนคนที่เราใส่เข้าไปมหาศาล เพื่อออกมาเป็นประโยชน์สูงสุดของประชาชน
หรือหากเทียบระบบราชการเป็นเหมือนบริษัทขนาดใหญ่บริษัทหนึ่ง ที่มีพนักงาน 2 ล้านคน และคนไทยทั้งประเทศเป็นเจ้าของ เราคิดว่าบริษัทนี้ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับประชาชนทั่วประเทศแล้วหรือไม่?
พรรคก้าวไกลเห็นว่าประสิทธิภาพภาครัฐ เป็นหัวใจที่สำคัญมากในการทำให้ทุกนโยบายของพรรคก้าวไกลกลายเป็นจริง โดยประสิทธิภาพดังกล่าว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ข้าราชการ” คนใดเป็นรายบุคคล แต่ขึ้นอยู่กับการออกแบบ “ระบบราชการ” ที่ทำให้ข้าราชการทุกคนทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ และ เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ตามแนวคิด “ราชการเพื่อราษฎร”
พรรคก้าวไกลเราเชื่อ ว่าการปฏิรูประบบราชการให้ทำงานฉับไว คุ้มค่าภาษีประชาชน มี 4 องค์ประกอบหลัก เสมือนการผ่าตัด ‘หัวใจสี่ห้อง’ ที่ประกอบไปด้วยนโยบายดังต่อไปนี้
ห้องที่ 1 = ประชาชน เข้าถึงบริการภาครัฐอย่างสะดวกรวดเร็ว ผ่านรัฐบาลดิจิทัล
2. ร้องเรียนไป ต้องไม่เงียบ อัปเดตทุกขั้นตอน
3. สวัสดิการโอนเข้าอัตโนมัติ ไม่ต้องรอ ไม่ต้องลงทะเบียน
ห้องที่ 2 = ผู้ประกอบการ ไม่เจออุปสรรคเรื่องกฎระเบียบที่เทอะทะ-ล้าสมัย
4. ยกเลิกใบอนุญาต 50% ยกเลิกทุกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค
ห้องที่ 3 = ข้าราชการ มีแรงจูงใจในการทำงาน ก้าวหน้าไปพร้อมกับประชาชน
6. ยกเครื่องประเมินข้าราชการ ทำงานดี ข้าราชการได้ดี ประชาชนได้ดี
ห้องที่ 4 = โครงสร้างรัฐมีความยืดหยุ่น เท่าทันโลก ขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางเดียวกัน
7. ปลดล็อกส่วนกลาง ข้าราชการทีมไทยแลนด์ ทลายกำแพงระหว่างกระทรวง-กรม
8. งบประมาณปรับทันใจ จัดทำใหม่จากศูนย์ในทุกๆปี (zero-based budgeting)
แต่ละนโยบาย จะทำให้ประสบการณ์การรับบริการจากภาครัฐของประชาชนเปลี่ยนไปแค่ไหน จะช่วยให้ข้าราชการมีขวัญกำลังใจที่ดีในการทำงานผ่านวิธีใด และจะช่วยส่งเสริมศักยภาพของประเทศไทยให้ก้าวหน้า-ก้าวไกลกว่าเดิมอย่างไร มาดูรายละเอียดกัน
1. ทุกบริการภาครัฐ ผ่านมือถือ
คนไทยทุกคน ต้องเสียเวลาในชีวิตไปเยอะมากกับการทำธุรกรรมภาครัฐ ทั้งเดินทางไปที่สำนักงาน กรอกฟอร์ม ถ่ายเอกสาร รอคิว ซึ่งหลายครั้งกินเวลาเกือบทั้งวัน และบางครั้งก็ต้องไปหลายรอบ ถึงจะสำเร็จ
หากทุกครั้งที่ไปรับบริการจากภาครัฐ คนไทยต้องเสียเวลากรอกแบบฟอร์มคนละ 30 นาที (เฉลี่ยจากการกรอก 3 ครั้ง ครั้งละ 10 นาที) เท่ากับในแต่ละปี คนไทย 70 ล้านคน จะเสียเวลากรอกแบบฟอร์มเป็นเวลารวมราว 4,000 ปีต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (หากคิดคำนวณด้วยค่าแรงขั้นต่ำ) ประมาณ 511 ล้านบาท
พรรคก้าวไกลต้องการคืนเวลาดังกล่าวทั้งหมดให้กับประชาชนทุกคน โดยการทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐได้ผ่านมือถือ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ไม่ต้องเสียเวลารอคิว
โดยเป้าหมายขั้นต่ำในอนาคตที่พรรคก้าวไกลตั้งไว้ คือ 99% ของธุรกรรมภาครัฐที่ให้บริการแก่ประชาชน ต้องทำได้ผ่านแอปในมือถือ ที่รวบรวมบริการภาครัฐของทุกหน่วยงานในที่เดียว ไม่ว่าจะเป็น
- การแจ้งเกิด การย้ายทะเบียนบ้าน
- การขอรับสวัสดิการต่าง ๆ
- การประกอบธุรกิจ เช่น การจดแจ้ง หรือการขออนุญาตประกอบกิจการ
- การเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล
2. ข้อร้องเรียนไม่เงียบหาย อัปเดตความคืบหน้าทุกขั้นตอน
เคยไหม? ถอดใจหรือล้มเลิกความตั้งใจที่จะร้องเรียน แจ้งปัญหา เพื่อให้หน่วยงานรัฐเข้ามาแก้ไข เพราะคิดว่าร้องไปก็เท่านั้น แจ้งไปเขาก็ไม่ทำ หรือร้องไปเรื่องก็เงียบ
แม้ในโลกความเป็นจริง ไม่ใช่ปัญหาทุกเรื่อง จะดำเนินการแก้ไขได้ในทันที แต่ระบบราชการที่ ‘เงียบหาย’ ทำให้ประชาชนอาจรู้สึกเหนื่อยที่จะส่งเสียง จนล้มเลิกความตั้งใจ และยอมละเลยปัญหาที่อยู่ตรงหน้าไปเสียเอง
พรรคก้าวไกล ต้องการจะเปิดเผยทุกกระบวนงาน โดยมีช่องทาง ‘กลาง’ ที่ใช้ติดตามสถานะของทุกเรื่องร้องเรียน และทุกกระบวนงานของภาครัฐที่ให้บริการประชาชน เพื่อให้ประชาชนทราบและเข้ามาเช็กได้ตลอดว่า:
- เรื่องของพวกเขากำลังอยู่ในขั้นตอนใด
- หากเกิดความล่าช้า เป็นความล่าช้าที่อยู่ในขั้นตอนใด
- เรื่องตอนนี้อยู่ที่หน่วยงานใด
- ผลการพิจารณาในแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไร
- ปัญหาจะถูกแก้ไขเสร็จสิ้นเมื่อไร
เช่นเดียวกับแอปสั่งอาหารบนมือถือ ที่คอยบอกสถานะผู้ใช้งานอยู่ตลอด
การอัปเดตสถานะ นอกจากจะทำให้เกิดความชัดเจนโปร่งใส ยังเป็นการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่รัฐในแต่ละหน่วยงาน ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด
3. สวัสดิการโอนเข้าอัตโนมัติ ไม่ต้องรอ ไม่ต้องลงทะเบียน
ทุกวันนี้ ประชาชนจะรับสวัสดิการแต่ละอย่างจากรัฐ ยังต้องลงทะเบียน ลงทะเบียน แล้วก็ลงทะเบียน
ยกตัวอย่าง กระบวนการขอรับเบี้ยยังชีพผู้พิการ ที่ ‘งานทะเบียน’ ในระบบราชการ สร้างภาระแก่ประชาชน
- ขั้นที่ 1: ซึ่งเป็นกระบวนการที่จำเป็น คือการตรวจร่างกาย ขอใบรับรองแพทย์ ยืนยันความพิการของร่างกายจากโรงพยาบาลของรัฐ
- ขั้นที่ 2: ลำพังแค่มีใบรับรองแพทย์อย่างเดียวไม่พอ ต้องไป ‘จดทะเบียนความพิการ’ เพื่อขอรับบัตรคนพิการ ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ประจำจังหวัด
- ขั้นที่ 3: มีบัตรคนพิการแล้วไม่พอ ต้องไปบอกเทศบาลหรือบอกสำนักงานเขต ยืนยันว่าเราเป็นคนพิการ มีความต้องการ ‘ขอเงิน’ จากรัฐ ทั้ง ๆ ที่เบี้ยผู้พิการนี้ เป็นสวัสดิการที่รัฐต้องให้ประชาชน
พรรคก้าวไกลต้องการลดภาระการลงทะเบียนของประชาชนในการได้รับสวัสดิการ โดยการให้รัฐจ่ายสวัสดิการให้ประชาชนที่คุณสมบัติครบถ้วนทันทีแบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องลงทะเบียน เช่น
- เงินเด็กเล็ก: ที่ควรจ่ายให้พ่อ-แม่ทันที เมื่อแจ้งเกิด
- เงินผู้สูงวัย: ที่ควรจ่ายให้ผู้สูงอายุทันที เมื่ออายุครบ 60 ปี
- เงินคนพิการ: ที่ควรจ่ายให้คนพิการทันที เมื่อมีใบรับรองแพทย์
- ค่าทำศพ: ที่ควรจ่ายให้ครอบครัวหรือญาติผู้เสียชีวิตทันที เมื่อแจ้งตาย
- เงินประกันสังคม: ที่ควรจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ประกันตนทันที เมื่อเข้าเงื่อนไข
ทั้งหมดนี้ ทำได้ผ่านการวางระบบให้ประชาชนทุกคนมีบัตรประชาชนดิจิทัล (Digital ID) และให้มีการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ในเมื่อรัฐมีข้อมูลอยู่ในมืออยู่แล้ว
4. ยกเลิกใบอนุญาต 50% ยกเลิกทุกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค
การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เกี่ยวกับ 1,000 กระบวนงานที่ภาครัฐออกกฎระเบียบให้ประชาชนผู้ประกอบธุรกิจต้องมีการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ค้นพบว่าราว 85% ของกระบวนงานเหล่านั้น เป็นขั้นตอนที่ไม่จำเป็น หรือล้าสมัยไปแล้ว และผลกระทบที่เกิดขึ้น คือการเพิ่มต้นทุนแก่ผู้ประกอบการ รวมกว่า 133,000 ล้านบาทต่อปี หรือมากกว่ากำไรสุทธิของทุกบริษัทในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่จดทะเบียนรวมกันถึง 2.5 เท่า
พรรคก้าวไกลต้องการลด ‘ต้นทุน’ ที่ไม่จำเป็นดังกล่าว ด้วยการทบทวนหรือ ‘กิโยติน’ กฎหมายและใบอนุญาตทั้งหมดที่เป็นอุปสรรค (เช่น ขนส่งไข่ต้องขออนุญาต, ส่งออกข้าวต้องเป็นนายทุนใหญ่, นำเข้าปุ๋ยต้องรอรัฐตรวจสอบนานเป็นเดือนๆ) ผ่านกระบวนการที่ประชาชนและภาคเอกชนมีส่วนร่วมและบทบาทนำ โดยตั้งเป้าหมายว่า
- ยกเลิกใบอนุญาต 50%
- ยกเลิกทุกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค
เพื่อให้เหลือเพียงใบอนุญาตหรือกฎระเบียบที่รัฐสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีความจำเป็นในการคงไว้จริงๆ
5. รู้ผลใบอนุญาตใน 15 วัน
การขออนุญาตในเรื่องใดๆ จากรัฐ นอกจากจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน ในหลายกรณี ความล่าช้ายังถูกใช้เป็นช่องทางในการทุจริต เรียกสินบนใต้โต๊ะ ชนิดที่ว่า ‘หากเงินไม่มา งานก็ไม่ไป’
วิธีที่จะจัดการกับปัญหานี้อย่างเห็นผล คือการรับประกันความเร็วในการพิจารณาออกใบอนุญาต โดยการทำให้กระบวนการดังกล่าว เหมือนกับการสั่งพิซซ่า ที่ประชาชนจะได้กินพิซซ่าฟรี หากไม่ได้รับการจัดส่งภายในเวลาที่กำหนด
พรรคก้าวไกลจะผลักดันให้มีการออกกฎหมายเพื่อรับประกันกรอบระยะเวลาความรวดเร็วขั้นต่ำของกระบวนการพิจารณาใบอนุญาต ไว้ที่ 15 วัน – หากหน่วยงานของรัฐ พิจารณาใบอนุญาตเสร็จไม่ทันภายใน 15 วัน ให้ถือว่าคำขออนุญาตนั้น มีผลบังคับใช้เหมือนใบอนุญาตทันที (โดยอาจยกเว้นไว้บางใบอนุญาต ‘เท่าที่จำเป็น’ ที่กระบวนการการพิจารณา มีความซับซ้อนหรือความจำเป็นพิเศษที่ต้องดำเนินการด้วยระยะเวลานานกว่านั้น)
นอกจากจะเป็นการลดภาระที่เกิดขึ้นกับภาคเอกชนและประชาชนผู้ประกอบธุรกิจ ยังเป็นการอุดช่องว่างการทุจริต และกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่รัฐ มีความกระตือรือร้นในการพิจารณาออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจอย่างรวดเร็วอีกด้วย
6. ยกเครื่องประเมินข้าราชการ ทำงานดี ข้าราชการได้ดี ประชาชนได้ดี
ระบบการประเมินข้าราชการที่ดี คือระบบที่:
- สร้างแรงจูงใจให้ข้าราชการทำผลงาน (ไม่ใช่ระบบที่จะทำผลงานดีหรือไม่ดี ก็ได้รับการประเมินที่ไม่ต่างกัน)
- ทำให้ข้าราชการก้าวหน้าไปพร้อมประชาชน (ไม่ใช่ข้าราชการได้รับการประเมินดี แม้จะไม่ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน)
พรรคก้าวไกลต้องการยกเครื่องระบบประเมินข้าราชการ เพื่อให้ข้าราชการที่ทำงานดี ได้รับการประเมินและความก้าวหน้าทางอาชีพที่ดี ควบคู่กับการสร้างประโยชน์ให้ประชาชน เช่น
- การทำให้ดัชนี ‘ตัวชี้วัดผลสำเร็จของงาน’ (KPI) ของบรรดากระทรวงและกรมต่าง ๆ มีความยึดโยงกับคุณภาพชีวิตและสิ่งที่ประชาชนจะได้รับโดยตรงมากขึ้น
- ปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง เพื่อให้น้ำหนักกับ ‘ผลสำเร็จ’ ของงาน มากกว่า ‘อายุงาน’
ทั้งนี้ เพื่อทำให้ข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถ ยังคงมีแรงจูงใจ สามารถก้าวหน้าเติบโตได้ในสายอาชีพ ไม่ถูกกดทับอยู่ภายใต้โครงสร้างองค์กรที่ไม่เป็นธรรม และไม่ถอดใจในการสร้างประโยชน์ให้ประเทศ ผ่านการทำงานในระบบราชการที่รับใช้ประชาชน
ท้ายที่สุด เมื่อประชาชนได้ดี ข้าราชการก็ได้ดี และเมื่อข้าราชการได้ดี ประชาชนก็ได้ดีไปด้วย
7. ข้าราชการทีมไทยแลนด์ กระทรวง-กรมยืดหยุ่น ไร้กำแพงระหว่างหน่วยงาน
ระบบราชการไทยมักถูกวิจารณ์ว่าแม้จะรวมศูนย์ แต่เป็นการรวมศูนย์ที่ “แตกกระจาย” การทำงานระหว่างหน่วยงานมีความซ้ำซ้อนและขาดการประสานงาน
สถานการณ์โรคระบาดในช่วงที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นชัด ว่าระบบราชการปัจจุบันมีความเป็น “ไซโล” (silo) หน่วยงานมีกำแพงระหว่างกัน แบ่งทีม แบ่งเงิน แบ่งคน แบ่งกระเป๋า จึงทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ
ก้าวไกลต้องการปลดล็อกระบบราชการส่วนกลาง โดยการทลายกำแพงระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง เพื่อสร้าง ‘ข้าราชการทีมไทยแลนด์’ – ไม่ว่าคุณจะเป็นอธิบดีกรมไหน คุณจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใด หรือคุณจะเป็นข้าราชการหน่วยงานอะไร ทุกคนคือทีมเดียวกัน
ในทางปฏิบัติ การทลายกำแพงดังกล่าวต้องอาศัยการ ‘ควบรวม’ บรรดากระทรวงและกรมต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้นิติบุคคลเดียวกัน – เมื่อไร้ซึ่งสถานะความเป็นนิติบุคคลที่แยกจากกัน ก็ไร้ซึ่ง ‘กำแพง’ ในการแบ่งสรรปันส่วนทรัพยากรระหว่างหน่วยงาน
เราจะไม่มีคำว่า งบประมาณ ‘ของฉัน’ ตึกอาคาร-ที่ดิน ‘ของเธอ’ อีกต่อไป จะมีแต่คำว่า งบประมาณ-ตึกอาคาร-ที่ดิน ‘ของเรา’ ที่พร้อมแบ่งสรรปันส่วนทรัพยากรและภารกิจระหว่างกันในทีม โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อสร้างความสุขสมบูรณ์ให้ประชาชนทุกคน
8. งบประมาณปรับทันใจ จัดทำใหม่จากศูนย์ในทุกๆปี
เป็นเรื่องจริงที่น่าแปลกและน่ากังวลใจ ที่หน้าตาของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ ของประเทศไทยในภาพรวม แทบจะเหมือนเดิม ในทุก ๆ ปี
ยกตัวอย่าง ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 งบประมาณกระทรวงสาธารณสุข เคยได้อยู่เท่าไหร่ ในช่วงวิกฤตโควิด งบประมาณกระทรวงสาธารณสุข เมื่อคิดคำนวณเป็นสัดส่วนต่องบประมาณทั้งหมดแล้ว แทบจะได้ไม่ต่างจากเดิมนัก
พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้ปรับกระบวนการจัดทำงบประมาณในแต่ละปี โดยยึดหลัก zero-based budgeting หรือ ‘งบประมาณแบบฐานศูนย์’ ที่ไม่ได้จัดทำงบโดยอ้างอิงจากการจัดงบในอดีตเป็นหลัก แต่อ้างอิงจากความเร่งด่วนและขนาดของปัญหาที่ประเทศเผชิญในแต่ละปีเป็นหลัก
ทั้งหมดนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายและสามารถบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนได้อย่างทันท่วงที
นโยบายปฏิรูปตำรวจ: ตำรวจพิทักษ์สันติราษฎร์
พรรคก้าวไกลเชื่อว่าประชาชนทุกคน ต้องการเห็นองค์กรตำรวจเป็นด่านหน้าสุดของกระบวนการยุติธรรม ที่คอยปัดเป่าภยันตรายจากโจรผู้ร้ายรอบตัว ให้สมกับชื่อผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
ทุกวันนี้ เราอาจรู้สึกว่าตำรวจเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมาก เรามีสถานีตำรวจ 1,484 แห่งทั่วประเทศ กระจายอยู่ทุกจังหวัดทุกอำเภอของไทยให้ได้เข้าไปแจ้งความร้องทุกข์เมื่อได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจ
แต่ในขณะเดียวกันตำรวจก็กลับดูห่างเหิน ดูตัดขาดจากประชาชน ราวกับเป็นอีกอาณาจักรหนึ่งของคนบางกลุ่มที่ต้องการขึ้นเป็นใหญ่เป็นโต สร้างกันเป็นระบบเส้นสาย ตั๋วตำรวจ ตั๋วช้าง ซึ่งตำรวจแทบทุกคนถ้าอยากอยู่ในระบบแบบนี้ได้ ก็ต้องเอาเงินมาจ่าย หรือไม่ก็ต้องฝากตัวรับใช้นายในเรื่องตั้งแต่สีเทาๆ ไปจนถึงดำสนิท
เมื่อระบบเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ประชาชนต้องเจอจึงเป็นการที่พวกเขาไปแจ้งความกับตำรวจทีไร คดีกลับถูกดอง ถูกเพิกเฉย ตำรวจบางคนไม่ได้สนใจที่จะสืบสวนคดีดังกล่าวหรือทำงานที่เป็นงานของตำรวจจริงๆ เพราะกิจกรรมที่สมประโยชน์พวกเขามากกว่าคือการเก็บส่วย รีดไถชาวบ้าน รับสินบนค่าหลับหูหลับตา เดินยา คุมบ่อน ค้ามนุษย์อาบอบนวดในเมือง ค้ามนุษย์โรฮิงญาในชายแดน ตลอดไปจนถึงการเกี่ยวข้องกับทุนต่างชาติสีเทา
สภาวะแบบนี้ เป็นสิ่งที่น่าผิดหวังสำหรับทั้งประชาชนเอง และสำหรับตำรวจหลายคนที่พยายามปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริตมาโดยตลอด
เพื่อทำให้ตำรวจเป็น “ตำรวจของประชาชน” ที่พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างแท้จริง พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้มีการปฏิรูปตำรวจตามนโยบายดังต่อไปนี้ ที่สามารถแบ่งออกเป็น 4 องค์ประกอบหลัก
องค์ประกอบที่ 1 = ทำให้โครงสร้างตำรวจต้องยึดโยงประชาชน
2. จังหวัด-ตำรวจ ร่วมรับใช้ประชาชน
องค์ประกอบที่ 2 = หยุดหลุมดำของการตรวจสอบกันเองแล้วเงียบหาย
3. ผู้ตรวจการตำรวจ ประชาชนมีช่องทางร้องเรียนตำรวจ
องค์ประกอบที่ 3 = สร้างวัฒนธรรมตำรวจมืออาชีพที่เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของประชาชน
4. คืนผมให้ตำรวจ ไม่บังคับเกรียน
องค์ประกอบที่ 4 = สร้างระบบที่สนับสนุนให้ตำรวจที่ผลงานดี เติบโตได้อย่างก้าวหน้า
5. เติบโต-โยกย้ายเป็นธรรม ปราศจากตั๋ว-เส้นสาย
6. ตำรวจหญิงทุกสถานี เติบโตเป็น ผบ.ตร. ได้
7. ลดภาระพนักงานสอบสวน แบ่งงานให้ตำรวจสายอื่น
ไปดูแต่ละรายละเอียดของนโยบายกันได้ในภาพถัดๆ ไป
1. ผบ.ตร. ยึดโยงประชาชน
การบริหารงานบุคคลของตำรวจทั่วประเทศ รวมถึงอำนาจในการแต่งตั้ง ผบ.ตร. อยู่ที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)
แต่ปัจจุบัน ก.ตร. ประกอบไปด้วยตัวแทนจากฝ่ายบริหาร ข้าราชการประจำ ข้าราชการตำรวจ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากฝ่ายบริหารเท่านั้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. จะถูกบีบให้กลายเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาล
พรรคก้าวไกลต้องการให้ ผบ.ตร. มีความยึดโยงกับประชาชนและเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ด้วยการปรับให้ ก.ตร. มีที่มาผ่านผู้แทนประชาชนทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อป้องกันการใช้เส้นสายและตั๋วตำรวจ และให้นายตำรวจระดับสูงทำงานอยู่ในสายตาประชาชนและถูกถอดถอนได้หากยังปล่อยให้มีการวิ่งเต้น
2. จังหวัด-ตำรวจ ร่วมรับใช้ประชาชน
ภารกิจดูแลรักษาความปลอดภัยสาธารณะในแต่ละจังหวัดมีบริบทที่แตกต่างกันไป – จังหวัดหนึ่งอาจมีปัญหายาเสพติดมาก อีกจังหวัดหนึ่งอาจมีปัญหาทุนสีดำเป็นพิเศษ เป็นต้น
แต่ปัจจุบัน การกำหนดบุคลากรและทิศทางการทำงานของตำรวจในแต่ละจังหวัด ขึ้นอยู่กับส่วนกลางเป็นหลัก
พรรคก้าวไกลต้องการให้ตำรวจในแต่ละจังหวัดทำงานโดยยึดโยงกับประชาชนในจังหวัดนั้นๆ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆในพื้นที่ จึงเสนอให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการนโยบายความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด” ที่มีทั้งตัวแทน อบจ.-ท้องถิ่นต่างๆ ส่วนราชการในจังหวัด และภาคประชาชนเข้าร่วม โดยมีอำนาจหน้าที่ในการ
- (1) ช่วยประเมินคุณภาพของนายตำรวจในพื้นที่ เพื่อให้ตำรวจคนใดที่ทำงานมีประสิทธิภาพ ไม่ทิ้งหรือดองคดี ก็จะได้ช่วยส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
- (2) ถ่วงดุลการแต่งตั้งนายตำรวจจากส่วนกลาง โดยมีอำนาจอนุมัติ-ไม่อนุมัติการแต่งตั้งผู้บังคับการจังหวัด เพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมจริงๆ มาทำงานในพื้นที่
3. ผู้ตรวจการตำรวจ ประชาชนมีช่องทางร้องเรียนตำรวจ
ปัจจุบัน หลายครั้งที่ข้อร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการใช้อำนาจโดยมิชอบของตำรวจ ไม่นำไปสู่การปฏิรูปองค์กรหรือความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
พรรคก้าวไกลเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนตำรวจที่เป็นอิสระแยกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อย่างเด็ดขาด ขึ้นตรงต่อรัฐสภา มีสำนักงานและบุคลากรของตัวเอง เนื่องจากการแยกองค์กรตรวจสอบจะทำให้ปราศจากประโยชน์ทับซ้อนที่ตำรวจผู้ตรวจสอบอาจช่วยเหลือตำรวจผู้กระทำผิดกันเอง
กลไกดังกล่าวจะไม่ได้เป็นประโยชน์กับแค่ประชาชนทั่วไปที่ได้รับความเป็นธรรม แต่ยังเป็นประโยชน์กับตำรวจ “น้ำดี” ภายใน สตช. เองที่เคยต้องทนอยู่กับความไม่ถูกต้อง เนื่องจากคณะกรรมการนี้จะเป็นช่องทางให้ประชาชนและตำรวจน้ำดีได้ร่วมมือกันแจ้งเบาะแสการทุจริตประพฤติมิชอบได้อย่างปลอดภัย เพื่อนำไปสู่การช่วยบำบัดน้ำเสียออกไปจากวงการตำรวจที่มีหน้าที่ปกป้องประชาชน
4. คืนผมให้ตำรวจ ไม่บังคับเกรียน
พรรคก้าวไกลต้องการสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้ตำรวจทุกคนเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีของประชาชน โดยเราเชื่อว่าต้องทำผ่านหลายมาตรการ เช่น
- (1) ยกเลิกการบังคับตัดผมเกรียน เพราะการคืนทรงผมให้ตำรวจ จะเท่ากับการคืนความตระหนักรู้ถึงสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของนายตำรวจแต่ละคน
- (2) อบรมบ่มเพาะสิทธิมนุษยชนและและคุณค่าของการอยู่ร่วมกันในสังคมเพื่อให้นายตำรวจทุกคนปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักเหล่านั้นไว้จนขึ้นใจ
- (3) ปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาและค่านิยมเดิมที่ฝึกสอนข้าราชการตำรวจ โดยเพิ่มความสำคัญที่ให้กับวิชาพลเรือนและการเรียนร่วมกับพลเรือนทั่วไป
5. เติบโต-โยกย้ายเป็นธรรม ปราศจากตั๋ว-เส้นสาย
ความก้าวหน้าทางอาชีพของตำรวจทุกคน ต้องขึ้นอยู่กับผลงาน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตั๋วหรือเส้นสาย
พรรคก้าวไกลต้องการทำให้องค์กรตำรวจเป็นพื้นที่แห่งโอกาสให้กับนายตำรวจที่มีความสามารถและซื่อสัตย์สุจริตได้เติบโตอย่างเสมอหน้า
นอกจากการปรับที่มาของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อทลายระบบตั๋วไม่ให้กำเนิดตั้งแต่ระดับผู้บังคับบัญชาสูงสุด พรรคก้าวไกลต้องการทลายกำแพงแห่งชั้นยศ โดยการเปิดให้นายตำรวจชั้นประทวนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปได้รับสิทธิในการเลื่อนยศสู่ระดับสัญญาบัตรก่อน แทนที่จะรับจากบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นชั้นสัญญาบัตรทันที เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความต้องการรับบุคคลมาเป็นตำรวจสัญญาบัตรเพิ่ม
ทั้งหมดนี้จะเป็นการส่งเสริมตำรวจชั้นผู้น้อยที่ทำงานดี ซึ่งเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของราชการตำรวจ ที่ผ่านประสบการณ์งานตำรวจมาอย่างโชกโชน และมีศักยภาพเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาตำรวจรุ่นหลังได้
6. ตำรวจหญิงทุกสถานี เติบโตเป็น ผบ.ตร. ได้
ปัจจุบันมีตำรวจหญิงใน สตช. คิดเป็นเพียงแค่ 9% ของตำรวจทั้งหมด
พรรคก้าวไกลต้องการทำให้อาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่ทุกเพศได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันผ่านการ:
- (1) เปิดรับให้ทุกเพศสามารถสมัครเข้าเรียนนายร้อยตำรวจได้
- (2) ผลักดันให้มีตำรวจหญิงประจำทุกสถานี เพื่อให้เหยื่อผู้ถูกคุกคามทางเพศรู้สึกอุ่นใจในการเข้ามาแจ้งความมากขึ้น
- (3) รับประกันว่าตำรวจทุกเพศจะได้รับที่ทางและโอกาสในการเลื่อนขั้นตำแหน่งได้อย่างเท่าเทียมในทุกสายงาน (งานสืบสวนสอบสวน งานกฎหมาย งานอาชญวิทยา งานปราบปราม)
7. ลดภาระพนักงานสอบสวน แบ่งงานให้ตำรวจสายอื่น
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การพิจารณาคดีของประชาชนมีความล่าช้า เพราะภาระงานหลายส่วนไปกองอยู่ที่พนักงานสอบสวน
พรรคก้าวไกลต้องการเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการพิจารณาคดีโดย:
- (1) เพิ่มอำนาจให้ตำรวจสายป้องกันและปราบปรามสามารถยุติคดีเล็กน้อยได้ โดยไม่ต้องส่งต่อให้พนักงานสอบสวน เนื่องจากปัจจุบันตำรวจสายป้องกันและปราบปรามทำได้แค่การลาดตระเวนและตรวจตราทั่วไป โดยไม่สามารถยุติคดีอาญาได้
- (2) ปรับลดการใช้เอกสารเพื่อประสิทธิภาพของการทำงานของพนักงานสอบสวน
- (3) ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวและง่ายขึ้น