2 ปี 5 เดือน คือเวลาที่ครอบครัวของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ และสังคมไทยรอคอยคำตอบว่า เกิดอะไรกับเขาในค่ายอิงคยุทธกันแน่?
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 อับดุลเลาะ อีซอมูซอถูกควบคุมตัวไปซักถามในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี จากนั้น เขาอยู่ตกอยู่ในอาการโคม่านาน 1 เดือน ก่อนจะเสียชีวิตลง
ความไม่ชอบมาพากลในคดีนี้เป็นผลให้ศาลวินิจฉัยให้มีการชันสูตรไต่สวนหาความจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ และ DSI ก็ได้รับคดีนี้ไปเป็นคดีพิเศษ แต่กระบวนการนี้กลับดำเนินไปอย่างเลื่อนลอยและล่าช้า
จนวันที่ 11 มกราคม 2565 กองคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ส่งหนังสือไปยัง ซูไมยะห์ มิงกะ ภรรยาของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ เพื่อแจ้งว่า อธิบดี DSI ได้สั่งให้ยุติการสืบสวนคดีคุณอับดุลเลาะ และให้ส่งสำนวนการสืบสวนไปยังสถานีตำรวจในท้องที่เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษก็ได้มีมติรับทราบผลการดำเนินการแล้ว
เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ ดำเนินการไปโดยที่ DSI ไม่เคยมีการแถลงผลเลยว่าดำเนินการสืบสวนอย่างไร อาศัยเบาะแสและพยานหลักฐานอะไรบ้าง และสรุปแล้วความตายของ อับดุลเลาะ นั้นเกิดจากอะไร และใครบ้างคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้
“DSI ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหน่วยงานกลางที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบสวนสอบสวนคดีที่กระทบอย่างรุนแรงต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่มีผู้ทรงอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพัน สุดท้ายแล้วเมื่อย่างเท้าเข้าสู่เขตอิทธิพลของทหารอย่างจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็สิ้นกระบวนท่า ไม่อาจเป็นที่พึ่งในการแสวงหาความยุติธรรมได้ อย่างนั้นหรือ?”
รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และโฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน กล่าว
“ผมเห็นข่าวคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำโดยอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และบรรดาผู้นำทหารจากกองทัพภาคที่ 4 จัดแถลงข่าวผลการประชุมร่วมกับกลุ่ม BRN ฟังดูเหมือนจะมีความหวังไปในทางที่ดี แต่เมื่อหันกลับมามองคดีการบาดเจ็บเสียชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ทหารมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างคดีคุณอับดุลเลาะ ที่ดำเนินไปอย่างมีเงื่อนงำเช่นนี้แล้ว แล้วจะให้เราเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าสันติสุขจะเกิดขึ้นได้จริง ในเมื่อปัญหาความยุติธรรมยังไม่ได้รับการสะสางอย่างตรงไปตรงมา”
ทั้งนี้ กรณีของคุณอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เคยอยู่ในวาระการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ของสภาผู้แทนราษฎรมาก่อน ซึ่งหากมีการประชุมขึ้น รังสิมันต์ จะเสนอให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาอีกครั้ง
“ผมจะเชิญตัวแทนจาก DSI เข้าไปชี้แจงด้วย เพื่อให้หลักประกันความเชื่อมั่นแก่ประชาชนได้ว่าหน่วยงานนี้จะเป็นผู้ที่ใช้อำนาจหน้าที่ที่ตนมีอย่างถูกต้องเหมาะสม คอยอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนในคดีสำคัญ มิใช่เป็นเสือกระดาษที่พร้อมจะปลิดปลิวไปตามกระแสอิทธิพลของผู้ที่มีอำนาจรัฐและกำลังอาวุธ อย่างที่สังคมกำลังตั้งข้อกังขาอยู่ทุกวันนี้”
รังสิมันต์ ทิ้งท้าย
ด้าน รอมฎอน ปันจอร์ นักวิชาการสถาบันเฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า คดีนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของญาติผู้เสียชีวิตเท่านั้น แต่เป็นประเด็นสาธารณะที่ทั้งคนในพื้นที่และคนทั่วประเทศให้ความสนใจว่า เจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานก่อนที่อับดุลเลาะจะเสียชีวิตหรือไม่ เรื่องนี้จึงเป็ยเรื่องที่อ่อนไหว โดยเฉพาะฝนพื้นที่ความขัดแย้ง รัฐจึงมีหน้าที่ทำให้ความจริงให้กระจ่าง แต่กระบวนการการสืบสวนกลับล่าช้ามาก ไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ ที่ถูกเปิดเผยออกมาจากการสืบสวนเลย อีกทั้งยังไม่มีการชี้แจงเหตุผลว่าทำไม DSI จึงถอนคดีนี้ออกจากคดีพิเศษ
“กรณีของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถือว่าเป็นกรณีแรกหลังการเลือกตั้ง 2562 ที่บรรดา ส.ส. ทุกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ออกมาแถลงร่วมกัน เพื่อติดตามสถานการณ์และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งคลี่คลายความสงสัย และความกังวลของญาติผู้เสียชีวิต อีกทั้งยังเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจ ดังนั้น รัฐก็ควรทำให้เรื่องนี้กระจ่าง คลายข้อสงสัยว่าตกลง อับดุลเลาะเสียชีวิตโดยใคร ใครต้องรับผิดชอบ และกระบวนยุติธรรมก็ต้องมาคลี่ข้อเท็จจริงตรงนี้ หาคนผิดมาลงโทษให้ได้”