free geoip

อหิวาต์แอฟฟริกา: เยียวยาอดีต-แก้ไขปัจจุบัน-รับมืออนาคต

[ เยียวยาอดีต – แก้ไขปัจจุบัน – รับมือวิกฤตการณ์ในอนาคต เสนอญัตติด่วน ตั้ง กมธ.ศึกษาการระบาด ASF หมู ]

 
“โรคระบาดสัตว์ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ถ้ายังปกปิดแบบนี้ สิ่งที่เตรียมตัวเจอได้เลยคือ ไข้หวัดนก H5N6 ที่พบการเสียชีวิตแล้วที่ประเทศจีน หลับตามอง คิดว่ามีเวลาแค่หลักเดือน อาจต้องเจอกับการอพยพของนก การขนส่ง รวมถึงนักท่องเที่ยวที่อาจเข้ามา ในโลกาภิวัตน์ที่ยังต้องติดต่อสัมพันธ์กันแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไทยจะต้องเจอโรคอุบัติใหม่ แต่ความกล้าหาญตรงไปตรงมาเท่านั้น ที่จะทำให้เราเผชิญหน้ากับมันได้”
 
ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พิษณุโลก พรรคก้าวไกล อภิปรายในการเสนอญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและศึกษาแนวทางช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น
 
 
“ปัญหานี้เรื้อรังมานาน เฉพาะเอาแค่ยอมรับว่ามีการระบาดของ ASF ก็ยังช้าไป 2-3 ปี จากการสำรวจปัญหาด้วยตัวเองในหลายพื้นพบว่าได้รับผลกระทบหนักมาก อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม เกษตรกรฟาร์มหนึ่ง เล่าว่าในพื้นที่มีความตื่นตระหนกต่อโรคอหิวาห์หมูหรือ ASF เมื่อมีหมูตายจะต้องรีบขายออกไปแม้ว่าจะถูกกดราคาอย่างหนัก และเนื่องจากหมูในฟาร์มเสียหายทั้งหมด บิดาเกิดความเครียดจนเส้นเลือดในสมองแตกและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เช่นเดียวกับที่ จังหวัดพิษณุโลก มีเกษตรกรที่ตรอมใจจนน้ำหนักเหลือเพียง 35 กิโลกรัม เพราะถูกทำลายสุกรตั้งแต่ปี 63 ถึงตอนนี้ยังไม่เงินเยียวยาประมาณ 100,000 บาท”
 
 
 
 
*** ปศุสัตว์ยังไม่ยอมเปิดข้อมูล
แผงหมูในตลาดจังหวัดพิษณุโลกทุกตลาดมีราคาแพงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สาเหตุสำคัญคือความขาดแคลนเนื้อหมูเพราะโรคระบาดใหญ่ที่มีมาแล้ว 3 ปี แต่กรมปศุสัตว์ยังไม่เปิดเผยข้อมูล จากที่ได้ไปขอข้อมูลถึงหน่วยงาน ตอนนี้เป็นเวลา 10 วันแล้วยังไม่ได้รับการตอบกลับมา
 
ไม่มีตัวเลขว่าสุกรไทยเหลือเท่าไหร่ มีแค่คำพูดนายกรัฐมนตรีออกมาบอกว่า หมูเสียหาย ร้อยละ 20 เท่านั้น แต่จากที่มีการประเมินความเสียจริงจากทั่วประเทศ คาดว่าอาจถึง ร้อยละ 60
ไม่ยอมเปิดเผยแม้แต่หมูที่ติดโรค PRRS ว่าทำลายไปกี่ตัว
 
 
“แม้แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าทำงานด้วยความกดดัน เนื่องจากไม่สามารถรายงานตามความจริงได้ มีคำสั่งว่านายจะเล่นงาน ซึ่งไม่รู้นายระดับไหน ระดับอธิบดี รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี การปกปิดทำให้ความเสียหายรุนแรงและลุกลาม กระทบถึงแหล่งโปรตีนอื่น เพราะเราบริโภคหมูมากสุด และเมื่อขาดแคลนก็ต้องไปหาจากแหล่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นไก่ ไข่ กุ้ง ปลา จึงไม่สามารถคุมราคาได้”
 
 
*** ‘วาระแห่งชาติ’ ที่ไม่เคยมีใครได้เห็นรายงาน
 
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรบอกกับสภาว่า ASF เป็นโรคใหม่ ซึ่งเป็นความจริง เพราะโรคนี้เป็นโรคระบาดจากแอฟริกา แต่เราก็เห็นมองเทรนด์ของมันได้ เพราะขณะนี้เราเจอโรคอุบัติใหม่ในสัตว์แล้ว 3 โรค คือ โรคในม้าที่เชื่อเป็นเพราะการลักลอบนำเข้าสัตว์ป่าจากแอฟริกาแน่นอน โรคลัมปีสกินในวัว และ ASF ในหมู การค้าที่เชื่อมกันทั้งโลกทำให้คาดการณ์สถานการณ์ได้ ทันที่เกิดโรคในจีน ซึ่งเชื่อมการค้ากับยุโรป แอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งที่จะเกิดกับไทยเป็นสิ่งที่ประเมินได้ไม่ยาก
 
 
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 62 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ คนก่อน ยังยกให้การควบคุมป้องกัน ASF เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ แต่พอมาเป็นรัฐมนตรีชุดนี้กลับทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น รายงานการประชุมที่เปิดเผยต่อสาธารณะก็หายากเหลือเกิน บอกแต่ว่าพบการป่วยตายของหมูที่นั่นที่นี่ หรือพบการเกิดโรคแต่หาหลักฐานไม่ได้ว่าโรคอะไร หรือบอกว่าเป็น PRRS พอขอข้อมูลไปที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เขาบอกว่ามีการระบาดของ ASF ตั้งแต่ปี 62 จริง แต่รายงานเอกสารหาไม่ได้ จึงสะท้อนว่ามีการปกปิดข้อมูล ซึ่งไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของประชาชนแน่ๆ
 
 
เข้าสู่ปี 63 พบการระบาดจากภาคเหนือมาภาคกลาง ซึ่งยังไม่ใช่ฟาร์มใหญ่ ตัวเลขที่หายไปยังอยู่ในหลักแสนที่ชดเชยได้ แต่พอปี 64 ASF เริ่มไปจู่โจมภาคตะวันออก เช่น ที่ฉะเชิงเทรา ต่อมาจึงเข้าเมืองหลวงของการเลี้ยงหมู ได้แก่ นครปฐมและราชบุรี คราวนี้จึงเป็นหายนะของการเลี้ยงหมูอย่างแท้จริง แต่ถึงพบ ASF เขาก็ไม่กล้าเปิดเผยข้อมูล ทุกคนมีคำพูดติดปากไม่ต่างกันว่า ‘กลัวมีเรื่องกับปศุสัตว์’ จึงต้องลงขันป้องกันเอง หรือพอมีคนกล้าเปิดเผยก็อย่างที่ได้เห็นในข่าว คนนั้นถูกขู่ฆ่าทันที
 
 
“สาเหตุที่ไม่เปิดเผย เพราะเขาไม่เชื่อว่าทางการจะชดเชยได้ เพราะสิ่งที่เกิดกับเขาไม่ใช่ความเสียหายหลักแสนเหมือนที่เกิดในเกษตรกรรายย่อยภาคเหนืออีกแล้ว เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นในภาคตะวันออก นครปฐม ราชบุรี การชดเชยขยับมาเป็นหลักร้อยล้าน เขาไม่เชื่อว่าจะชดเชยได้ อีกประการหนึ่งที่เกษตรกรไม่เปิดเผยข้อมูลคือ กลัวกระทบฟาร์มข้างเคียง เพราะถ้าฟาร์มหนึ่งประกาศ อีกฟาร์มก็ขายไม่ได้ กลัวราคาตก จึงกลายเป็นความขัดแย้งกันเองของเกษตรกรบนความยิ่งเฉยรัฐ”
 
 
การที่กรมปศุสัตว์ ออกมายอมรับเมื่อเดือน ม.ค. ปี 65 เป็นการยอมรับแบบน้ำท่วมปากเพราะหลักฐานเต็มไปหมด ปิดไม่ได้แล้ว ภาควิชาสัตวแพทย์ 14 มหาวิทยาลัยออกหนังสือแจ้งเตือน แต่แทนที่จะแก้ปัญหากลับไปตั้งกรรมการสอบว่า หนังสือออกมาได้อย่างไร ทำไมกรมปศุสัตว์จึงไม่ได้รับหนังสือ ส่วนนายกฯก็บอกไม่รู้ว่าหมูหายไปได้อย่างไร พอขอข้อมูลไปที่กรมปศุสัตว์ก็ไม่มีข้อมูล
 
 
*** แฉด่านกักกันสัตว์รวยบนคราบน้ำตาคนเลี้ยงหมู
 
การแก้ไขปัญหาจะต้องทำอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้รู้ว่าจะต้องชดเชยใครบ้าง ต้องทำให้อดีตได้รับความเป็นธรรม ปัจจุบันได้รับการแก้ไข ไม่ใช่ยังทำหมือนไม่มี ASF รวมถึงเพื่อรับมือสถานการณ์ในอนาคต เพราะเกษตรกรที่ทำลายหมูไปตอนนี้ยังไม่รู้จะกลับมาได้อย่างไร นอกจากกลายไปเป็นฟาร์มลูกเล้า
 
 
“การปกปิดมีคนมั่งคั่งขึ้นเพราะฟาร์มเจอชะตากรรมเดียวกัน ต้นทุนสูงแต่ถูกกดราคาหน้าฟาร์ม ถ้าไม่ขายราคาต่ำๆ เขาก็ไม่ยอมจับหมูปล่อยให้กินค่าอาหารแบกต้นทุนไปอย่างนั้น ตอน ASF ระบาดหนัก เขาขายในราคากิโลกรัมละ 10 บาทก็มี ส่วนต่างจากราคาขายที่สูงโบรกเกอร์เอาไปกินหมด ถามว่าผิดไหมก็อาจจะไม่เสียทีเดียว แต่ปัญหามาจากช่องว่าง มาจากความกลัว มาจากโรคระบาดที่ปล่อยให้บางคนตักตวงผลประโยชน์ได้ ตรงนี้ต่างหากที่ยอมรับไม่ได้ และถ้ายังเพิกเฉยก็ไม่รู้จะมีรัฐบาลไปทำไม”
 
 
“อีกกลุ่มได้ประโยชน์มหาศาลคือ ‘ด่านกักสัตว์’ การเคลื่อนย้ายสัตว์จากพื้นที่ติดโรคไปพื้นที่อื่นจะต้องตรวจเลือดจนมีผลยืนยันก่อน แต่ในการปฏิบัติจริงใช้เวลาแค่สิบนาทีก็จบ แค่จ่ายคันละ 1,000-10,000 บาท สิ่งนี้เกิดต่อเนื่องมาแล้ว 3 ปี ด่านเหล่านี้คือใคร ก็คือเจ้าหน้าที่ มีทั้งด่านชายแดนและด่านประจำจังหวัด เป็นปัจจัยที่ทำให้โรคกระจายเร็วที่สุดและคือต้นทุนที่เกษตรต้องแบกรับ ไม่งั้นเขาก็กักไว้อย่างนั้น เกิดความเสียหาย การตักตวงแบบนี้ ถ้ามีหมูในห้องเย็นก็เหมือนเล่นหุ้นปั่นราคาตามใจชอบได้ เพราะเดิมราคาหมูขึ้นไม่ได้ตามใจชอบ กลุ่มผู้เลี้ยงหมูจะคานกันเองไม่มีใครกล้าขึ้นราคาเร็ว โดยจะประชุมกันทุกวันพระ แต่ตอนนี้ราคาขึ้นเร็วมากเพราะเหลือผู้เลี้ยงกลุ่มเดียว การกักตุนมหาศาลมีแน่ และถ้าหมูจะราคาถูกหลังตรุษจีนก็ไม่ต้องแปลกใจเพราะโกยไปเรียนร้อยแล้ว หมูจะถูกปล่อยมาหลังจากนั้น”
 
 
*** ตั้ง กมธ. ศึกษา คือ ทางออก
 
สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาคือข้อมูลชุดเดียวกัน เพราะตอนนี้ แม้แต่รัฐมนตรีเกษตรฯ ก็อ้างว่ามีข้อมูลคนละชุด ถ้าเป็นแบบนี้จึงจำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้น เพื่อให้สามารถเรียกข้อมูลที่มีจำนวนมากและกระจัดกระจายเข้ามาได้ จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งเกิดขึ้น คนตัดสินใจเรื่องนี้ 3 ปีที่ผ่านมา จะลอยตัวไม่ได้ และต้องใช้ กมธ. นี้หามาตรการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เพราะมาตรการที่ออกมาตอนนี้ล้มเหลวทั้งสิน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งร้านธงฟ้าขายหมูราคาถูกที่เป็นการทำลายกลไกราคา ทำให้เขียงหมูที่ขายยากอยู่แล้วขายไม่ได้เลย
 
 
“นอกจากธงฟ้า ห้างก็ราคาถูกกว่า เขียงหมูยังต้องไปแข่งกับทหารอีก หมูมาจากไหนก็ไม่รู้มีใครรู้ ถ้าเอาบิลมาดู ดีไม่ดีก็มาจากแหล่งเดียวกันหมด ถามว่าใช่หน้าที่ของทหารหรือไม่ วันก่อนขายผัก วันนี้ขายหมู ต่อไปจะขายอะไรอีก เอามาเพ่อสร้างความนิยมให้ทหารแต่ทำลายผู้ค้ารายย่อยไปหมด ตอนนี้เขาขาดทุนวันละ 30,000 -50,000 บาท ถ้าเป็นแบบนี้อีกเดือนเดียวบอกได้เลยว่าเขียงหมูเจ๊งหมดทั้งพิษณุโลก”
 
 
มาตรการต่อมา การออกเงินกู้จาก ธกส. 100,000 บาท เพื่อให้กลับมาเลี้ยงใหม่ นี่คือกระทรวงเกษตรฯ ที่ล้มเหลวที่สุดที่เคยเห็น การสนับสนุนให้เลี้ยงหมูใหม่ในขณะที่โรคระบาดยังมีเท่ากลับการฝังกลบรอบสอง แทนที่จะพักหนี้ แต่ให้กู้เงินไปเลี้ยงหมูในภาวะที่โรคยังไม่สงบและไม่มีวัคซีน
 
 
ประการต่อมา คือให้ไปตั้งความหวังที่วัคซีน ไม่ใช่บอกว่าไม่ต้องทำ แต่ขอบอกว่า โรคนี้พบมาเป็นร้อยปีแล้ว จีนที่ก้าวหน้ากว่าเราไม่รู้กี่เท่าก็ยังไม่มีวัคซีน ที่ออกมามีแต่วัคซีนเถื่อนเต็มไปหมด ผลคือเจ๊งเพราะเกษตรกรวิ่งเข้าหาวัคซีนเถื่อนและกลับกลายเป็นแพร่โรคอีกแบบ โรคอย่าง PRRS วัคซีนเราก็นำเข้า โรคอย่างลัมปีสกินเราก็นำเข้า แต่โรคนี้ซึ่งยากที่สุดกลับจะให้รอผลิตเอง เกษตรกรมองไปที่ท่านแล้วน้ำตาไหลเลยเพราะคือหายนะจริงๆ
 
 
“เราต้องยอมรับและเผชิญโรคระบาดนี้อย่างจริงจัง เราจึงจะถอดความสำเร็จจากประเทศอื่นได้ จะทำวัคซีนได้ด้วยการออกแบบงบที่เพียงพอ เพราะการทำวัคซีนต้องใช้เงินมาก ไม่ใช่ไปแอบทำในห้องแล็บเล็กๆ เราต้องมี กมธ.เพื่อตรวจสอบมาตรการรัฐ เพราะตอนนี้มีแต่มาตรการระยะสั้น แต่ละกระทรวงก็ออกมาตรการมาเต็มไปหมด แต่เราจะรวมสิ่งเหล่านี้มาจัดทำเป็นมาตรการที่แข็งแรงได้ในกลไกคณะกรรมาธิการ”
 
 
“ตอนนี้เราพูดถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกษตรกรรายย่อยล่มสลาย เราต้องไปพูดเรื่องต้นทุนอาหาร เช่น กระทรวงศึกษาธิการจะเอาอย่างไร เพราะให้งบขึ้นค่าอาหารบาทเดียว จะมีหมูให้นักเรียนทานในวันที่เปิดเรียนอีกครั้งหรือไม่ และตอนนี้ ไข่ ไก่ ผักก็แพงเหมือนกัน เด็กจะกินอะไร ต้องแก้ปัญหานี้ให้สมกับที่เป็น ‘วาระแห่งชาติ’
 
 
“สิ่งที่น่ากังวลมากในอนาคตคือ ถ้ายังปล่อยให้ประชาชนไปแก้ปัญหากันเอง รัฐบาลไม่เปิดเผยข้อมูล หมูจะเป็นโปรตีนสุดท้ายที่ทุนใหญ่เอาไปได้ ต่อไปจะไม่มีอนาคตสำหรับผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อยอีกแล้ว จากเดิมส่วนแบ่งผู้เลี้ยงหมูรายย่อยอยู่ที่ร้อยละ 30 จะเหลือไม่เกินร้อยละ 10 และไปกระจุกตัวที่ฟาร์มใหญ่เท่านั้น ถ้าปล่อยตามยถากรรม นี่ก็คืออนาคตของประเทศ เราจึงต้องมาร่วมกันเผชิญปัญหานี้อย่างตรงไปตรงมา ถ้ายังไม่ยอมรับและบอกว่าไม่ได้ปกปิด นี่ก็คือคำโกหกที่มีให้กับประชาชนของเรา”

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า