เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส. เขต 1 จ.เชียงราย พรรคก้าวไกล กล่าวถึงความหนักหน่วงของวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ดูท่าจะย่ำแย่ลงทุกวัน และหลังจากมีข่าวว่ารัฐบาลได้ประกาศให้ประชาชนอยู่ในบ้าน ไม่เดินทางออกไปข้างนอกเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยเอกภพเห็นด้วยว่า หากเราเริ่มพบผู้ติดเชื้อที่เป็นการติดจากคนประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาตรการ social distancing ในระดับต่อไปก็คือ การจำกัดการเดินทาง พบปะกัน เป็นระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้จะทำให้เกิดผลกระทบกับชีวิต และรายได้ของประชาชนเป็นจำนวนมาก การใช้มาตรการนี้ต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ไม่เสียเปล่า และมีประสิทธิภาพสูงสุด
ด้วยเหตุนี้ เอกภพได้เสนอการเตรียมการ 5 ข้อดังต่อไปนี้
1) ยกระดับการตรวจหาผู้ติดเชื้อให้มีความเป็นเชิงรุกด้วย checkpoint มากขึ้น ใช้โอกาสที่มีการล็อกดาวน์เพื่อระบุตัวผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด เพื่อให้สามารถติดตามเส้นทางการติดเชื้อให้ได้ในระหว่างนี้
ซึ่งต้องเพิ่มทั้งความสามารถในการตรวจต่อวัน(ซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบสถานะปัจจุบัน) นิยามผู้มีความเสี่ยงที่จะได้รับการตรวจให้กว้างเท่ากับองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เพื่อป้องกันความแออัดในโรงพยาบาลที่จะกลายเป็นจุดเสี่ยงของการแพร่ระบาด ควรมีการส่งหน่วยเคลื่อนที่ไปตรวจที่บ้านสำหรับผู้มีความเสี่ยง บริการ drive-through ด่านคัดกรองนอกโรงพยาบาล แก้ปัญหาน้ำยาขาดแคลนด่วน ให้ อย. เร่งอนุมัติชุดตรวจ (test kit) ที่กระบวนการล่าช้า เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนและเพิ่ม capacity
2) หากมีคนติดเชื้อมากขึ้นเราจำเป็นที่จะต้องให้มีการกักตัวที่บ้าน (home quarantine) ในคนที่มีอาการน้อย ซึ่งจะพบราว 80% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด เพื่อให้คนที่มีความจำเป็น 20% ได้รับการบริการในโรงพยาบาลตามที่จำเป็น โดยการให้มี home quarantine ก็จะมีการติดตามอาการทุกวันจนหายสนิท และเพื่อป้องกันความสับสน และคลายกังวลให้กับประชาชน เช่น แนวทางคำแนะนำในการรักษาตัวอยู่ที่บ้าน
รัฐต้องเตรียมสายด่วน Hotline หรือบริการแชทตอบคำถามในหน้าเว็บ(ที่แยกออกจาก 1669 เพื่อไม่ให้รบกวนกรณีฉุกเฉินจริง) ระบบการวินิจฉัยโรคทางไกลผ่านแอพพลิเคชั่น เพื่อบอกวิธีคัดกรองตัวเองเบื้องต้น ข้อปฏิบัติเมื่อติดเชื้อ วิธีการสำรวจอาการตนเอง และวิธีการกักตนเองที่บ้านเมื่อติดเชื้อแต่ไม่มีอาการรุนแรง
3) เตรียมความพร้อมในการรักษาพยาบาล ทั้งบุคลากร สถานพยาบาล และอุปกรณ์ทางการแพทย์ แน่นอนว่าผู้ติดเชื้ออีก 20% ที่เหลือจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาล จำนวนเตียงที่จะรองรับได้ในปัจจุบันนั้น อยู่ที่ราว 7,000 เตียงและส่วนหนึ่งใช้กับผู้ป่วยโรคอื่น ส่วนเครื่องช่วยหายใจนั้นยังไม่ทราบจำนวนที่แท้จริงว่าทั้งประเทศมีอยู่เท่าไหร่ ชุดป้องกัน PPE ก็กำลังจะไม่เพียงพอ
ที่สำคัญที่สุดคือบุคลากรทางการแพทย์ที่ตอนนี้ทำงานกันอย่างเต็มกำลังก็ยังไม่เพียงพอ ต้องระดมสรรพกำลังจากทั้งภาคเอกชน และโรงพยาบาลทหารเพื่อให้ระยะเวลาที่ล็อกดาวน์ไม่สูญเปล่า
4) ต้องคุมเข้มการเดินทางข้ามจังหวัด มาตรการทางสาธารณสุข ที่ผ่านมาได้มีการประกาศปิดสถานศึกษา และสถานประกอบการที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก 8 ประเภท เป็นเวลา 14 วัน แต่ไม่ได้มีการห้ามการเคลื่อนย้ายของมวลชน ทำให้มีนักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่หยุดเรียน หยุดงานและยังไม่ได้มีการคัดกรอง เดินทางข้ามจังหวัดเพื่อกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากผู้ที่เดินทางเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ จะยิ่งทำให้บริเวณที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ
5) มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบมีความจำเป็น ไม่ใช่ประชาชนทุกคนจะสามารถอยู่บ้านเฉยๆ ได้โดยไม่ต้องหาเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะคนที่หาเช้า กินค่ำ แรงงานนอกระบบ จำเป็นต้องมีเงินช่วยเหลือเพื่อให้ทุกคนสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่ผ่านมา หลังจากสั่งปิดสถานศึกษา และสถานบันเทิง ก็กระทบทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง พนักงานบริการ และศิลปิน นักดนตรี ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่มีมาตรการเยียวยาใดๆ จากทางรัฐบาล