free geoip

เกษตร-พาณิชย์ ต้องใส่ใจปัญหาส่งออกผลไม้มากกว่านี้


ชะตากรรมชาวสวนผลไม้ไทย ปี 65 : รัฐลอยแพต้นทุนตรวจ GAP/GMP – จีนตรวจ ‘โควิด’ เข้มหลังตรุษจีน

ปี 2565 อาจไม่ใช่ปีที่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ไทยยิ้มได้ โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกที่ผลไม้ตามฤดูกาลกำลังจะออกสู่ตลาด ท่ามกลางความกังวลว่า จีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุด จะยอมผ่อนคลายให้ผลไม้ไทยผ่านด่านตรวจโควิดอันเข้มงวดก่อนการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงหรือไม่

แม้ว่าขณะนี้ ด่านของจีนทั้ง 4 แห่ง จะยอมเปิดให้สินค้าเกษตรของไทยผ่านได้อีกครั้ง แต่ก็ยังเป็นการอนุญาตเฉพาะสินค้าตกค้างจากการปิดด่านครั้งก่อนเท่านั้น ยังไม่มีความชัดเจนสำหรับสินค้าการเกษตรล็อตใหม่ที่จะเข้าไป ขณะที่ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป จะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลของทุเรียนภาคตะวันออก ซึ่งจะทำให้มีการส่งออกล็อตใหญ่ แต่หากเกิดเหตุเกินความคาดหมายที่ทำให้ผลไม้ไทยถูกกักไม่สามารถเข้าสู่ประเทศจีนได้ มูลค่าจากทุเรียนภาคคะวันออกที่อาจสูงถึงแสนล้านบาทก็อาจหายวับไปทันที

เท่านั้นยังไม่พอ ราคาสินค้าเกษตรแทบทุกชนิดตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นแทบทุกด้าน ล่าสุด เกษตรกรชาวสวนผลไม้ก็ต้องเตรียมตัวอ่วมกันอีกครั้ง เพราะในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลเตรียมตัดลดงบประมาณสนับสนุนการตรวจสินค้าเกษตรมาตรฐาน GAP และ GMP และจะส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที

ญาณธิชา บัวเผื่อน ในฐานะ ส.ส.จันทบุรี หรือดินแดนแห่งสวนผลไม้หลากชนิด ได้ติดตามประเด็นเหล่านี้อย่างใกล้ชิด รับฟังปัญหาโดยตรงจากเกษตรกร ล้ง และผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมส่งออกผลไม้ทั้งระบบ ทั้งเรื่องแนวทางมาตรการของรัฐและการจัดสรรงบประมาณ ดูเหมือนว่ารัฐไม่ได้ใส่ใจจริงหรือให้ความสำคัญกับภาคเกษตรมากพอที่อย่างอ้างบ่อยๆ

“กลไกการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรตามระบบการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี หรือ ที่ชาวสวนเรียกกันสั้นๆ ว่าการตรวจรับรอง GAP เป็นเรื่องที่ดี เพราะประเทศนำเข้าก็อยากได้สินค้าเกษตรที่ผลิตจากแปลงเกษตรที่มี GAP หรืออยากได้สินค้าเกษตรที่ผ่านล้ง หรือโรงงานที่มี GMP เช่นกัน แต่ภาครัฐกลับตัดลดงบประมาณในการตรวจ GAP ลงถึง 24% และเมื่อไปดูเฉพาะกรมวิชาการเกษตรก็ถูกตัดลดงบไปเกือบครึ่งจาก 188 ล้านบาท เหลือแค่ 100 ล้านบาท จึงเกิดคำถามว่าตกลงแล้วภาครัฐอยากจะสนับสนุน อยากจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรหรือผลไม้จริงๆหรือไม่”

สาเหตุที่มีมาตรการออกมาเป็นแบบนี้ เพราะมีการถ่ายโอนภารกิจการตรวจรับรอง GAP และ GMP ไปให้หน่วยงานเอกชนเป็นผู้ออกใบรับรองให้แทน ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 เพื่อลดภาระงบประมาณของภาครัฐ

ปัจจุบัน อัตราค่าตรวจโดย บริษัทเซ็นทรัลแล็บ ที่กระทรวงการคลัง และ สสว. ถือหุ้น คือ ค่าตรวจรับรองพื้นที่ 20 ไร่ขึ้นไปอยู่ที่ 12,500 – 27,500 บาท เป็นอัตราที่รวมค่าตรวจแปลง ค่าใบรับรอง ค่าตรวจสารกำจัดศัตรูพืช และโลหะหนักตกค้าง ส่วนผู้ประกอบการส่งออกหรือล้งก็มีปัญหา ล้งแต่ละรายต้องจ่ายค่าตรวจ GMP ตั้งแต่ 30,000 – 80,000 บาท ล้งเล็กๆ ที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยก็มีมาก ถ้าต้องจ่ายเงินเกือบแสน สุดท้ายอาจต้องผลักภาระมาที่เกษตรกรโดยการกดราคารับซื้อ ส่งผลกระทบกันไปเป็นทอดๆ

“เกษตรกรชาวสวนบางส่วนไม่มั่นใจว่า สุดท้ายค่าใช้จ่ายที่ถูกกำหนดโดยบริษัทเอกชนเพียงแค่ไม่กี่ราย ที่สามารถออกใบรับรอง GAP/GMP ได้ จะเกิดการการฮั้วราคาจนทำให้เกษตรกรต้องจ่ายเงินเพิ่มสูงขึ้นมากหรือไม่ คุณภาพจะเป็นอย่างไร มีใครมากำกับดูแลหรือไม่ จึงอยากเสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐบาลจะเลื่อนการโอนภารกิจการตรวจรับรอง GAP โดยเอกชนออกไปก่อน หรืออย่างน้อยก็มีทางเลือกให้กับเกษตรกรว่าจะตรวจกับรัฐ หรือ กับเอกชนก็ได้ เพื่อให้สามารถคุมค่าใช้จ่ายการตรวจรับรองให้ไม่สูงเกินไป และเกษตรกรได้มีเวลาปรับตัว

“หากรัฐบาลออกค่าตรวจรับรองแค่ปีละหลักร้อยล้าน แต่ทำให้เราส่งออกได้มูลค่ากว่าแสนล้านบาท แถมยังช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรของไทยและเกษตรกรได้ประโยชน์ คิดว่าเป็นเรื่องที่คุ้มค่า ในอนาคตก็อาจจะเป็นการอุดหนุนค่าตรวจรับรองบางส่วนสำหรับเกษตรกรรายย่อย หรือล้งรายย่อยก็ยังดี”

ญาณธิชา ระบุ

นอกจากนี้ ปัญหาการส่งออกทุเรียนกับการปิดด่านของจีนยิ่งเป็นเรื่องน่ากังวลมาก จากที่ ญาณธิชา ได้ตั้งกระทู้สดถาม ​จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิช ในวันที่​16​ ธันวาคม​ 2564​ ปัจจุบันก็ยังไม่พบการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมจากรัฐบาลและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

“หนึ่งเดือนที่ผ่านมา​ยังคงเป็นเรื่องของหน่วยงานรัฐในพื้นที่ เอกชน​ สมาคมต่างๆ​ โรงคัดบรรจุ​ ผู้ประกอบการส่งออก​และเกษตรกรในพื้นที่​ ทำกันเอง ร่วมกันหามาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19​ ทั้งเชื้อเป็นและเชื้อตาย​ ตั้งแต่กระบวนการผลิต​แปลงปลูก​ การบรรจุ ไปจนถึงการขนส่ง​ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพร้อมทำตามมาตรฐาน​ GAP+/GMP+

“ในพื้นที่ยังไม่ได้รับทราบอะไรที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมว่าเรื่องนี้จะแก้ปัญหาไปในทิศทางใด​รัฐบาลคงได้แต่ฝากความหวังไว้ว่าหลังจากจีนผ่านพ้นช่วงโอลิมปิกฤดูหนาวในช่วงปลายเดือน​กุมภาพันธ์ 2565​ ไปแล้ว​ เขาจะผ่อนคลายมาตรการการตรวจโควิดลง​สถานการณ์การปิดด่านก็ดีขึ้น​ ประเด็นก็คือแล้วถ้าไม่เป็นไปตามนั้นจะรับมือกันอย่างไร เรื่องนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล มีคนจำนวนมากที่เกี่ยวข้องและอาจได้รับความเสียหาย

“ในฐานะผู้แทนราษฎร​ใน​จังหวัดจันทบุรี​ ได้เตือนปัญหานี้กับรัฐมนตรีมาหลายเดือนล่วงหน้าแล้ว​ และจะติดตามการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่องแน่นอน เพราะในพื้นที่ยังกังวลอย่างมากต่อความไม่ชัดเจน จึงต้องขอเตือนอีกครั้งว่าอย่าต้องให้วิกฤตเกิดขึ้นก่อน แล้วรัฐเร่งแก้ไข เพราะเมื่อถึงเวลานั้นคนที่เดือดร้อน รับกรรม คือประชาชน”

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า