ไม่จบ! ส.ส. ก้าวไกล โชว์ผลแล็บจุฬาฯ พบซากหมูติด ASF อื้อ
หลังจากรอบเดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ราคาสินค้า โดยเฉพาะเนื้อหมู พืชผักและสินค้าทางการเกษตรต่างขยับขึ้นราคา จนทำให้มีการติดตามและสืบสาวหาต้นตอของปัญหาการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า พบว่า “เนื้อหมู” เนื้อสัตว์มื้อหลักของคนไทยเกิดปัญหาขาดแคลนอย่างหนัก เนื่องจากหมูที่เลี้ยงในฟาร์มของเกษตรกรพากันทยอยล้มตายตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ทั้งหมดจึงนำไปสู่ความพยายามค้นหาว่า เกิดอะไรขึ้นกับการตายที่ ‘ไม่ปกติ’ ครั้งนี้กันแน่?
“ASF” หรือ อหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นคำตอบของปัญหานี้
ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.จังหวัดพิษณุโลก เขต 1 ซึ่งเกาะติดประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องในฐานะอดีตสัตวแพทย์ ได้เริ่มต้นแถลงข่าว ณ อาคารรัฐสภา พร้อมกับโชว์ผลตรวจซากหมูตาย ที่ยืนยันว่า หมูเหล่านี้ติดเชื้อ ASF อย่างแน่นอน ผลตรวจนี้เป็นตัวอย่างจากฟาร์มแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม โดยมี สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม และ นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมเดินทางไปเก็บตัวอย่างและส่งตรวจไปยังแล็บมหาวิทยาลัยรัฐบาลหลายแห่งช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ผลแล็บดังกล่าวเป็นการยืนยันข้อพิสูจน์ที่ชี้ชัดว่า การระบาดของ ASF ในวงกว้างเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่จำนวนเล็กน้อยอย่างที่กรมปศุสัตว์อ้าง
จากวิกฤตการระบาดของโรค ASF และราคาสินค้าแพงในครั้งนี้ ส.ส. จากพรรคก้าวไกล มีความตั้งใจจะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระสำคัญที่ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทันทีที่เปิดประชุมสภาต้นปีที่ผ่านมา จึงมีการผลักดันให้ตั้ง กมธ. เพื่อศึกษากรณีโรคระบาดและหมูแพง ใช้ชื่อว่า “กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกรและศึกษาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น” โดย ปดิพัทธ์ นั่งเป็นประธานอนุกรรมการชุดหนึ่งใน กมธ. พร้อมด้วย ทนายเกรซ ชิษณุพงศ์ ตั้งเมธากุล ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. นครปฐม เขต 5 เป็นหนึ่งใน อนุ กมธ.เพื่อหาความจริงชุดนี้ด้วย เนื่องจาก อำเภอสามพราน คือ หนึ่งในแหล่งเกษตรกรเลี้ยงหมูรายย่อยที่หมูมีจำนวนมากล้มตายเป็นปริศนาในปีที่ผ่านมา
ไม่เพียงแต่เดินทางไปเก็บตัวอย่างซากสุกรที่ล้มตายเท่านั้น กลุ่ม ส.ส. พรรคก้าวไกล ยังได้เดินทางไปพูดคุยและหารือถึงแนวทางจัดการการระบาดของ ASF กับปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม โดยทางปศุสัตว์แจ้งว่า ที่ผ่านมาได้ทำการตรวจสอบผ่านวิธี Active Surveillance หรือ การเฝ้าระวังเชิงรุก มีการสุ่มตรวจตัวอย่างเพื่อหาโรค แต่การเฝ้าระวังรูปแบบนี้ยังมีความเสี่ยงที่อาจไม่พบหมูที่ติดเชื้อ เพราะหมูที่มีการติดเชื้อจะติดและตายเลยในระยะเวลาไม่นาน ส่งผลให้ค่าที่ได้ไม่แม่นยำ ขณะที่ ปดิพัทธ์ เองก็มองว่า การเฝ้าระวังของกรมปศุสัตว์ยังไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์หาแนวโน้มการระบาดของโรคได้ และหลังจากได้ผลตรวจมาเมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ ยิ่งสะท้อนว่าความแม่นยำของระบบสุ่มตรวจกรมปศุสัตว์ยังมีปัญหา และการตรวจสอบด้วยการเฝ้าระวังเชิงรุกยังมีช่องโหว่ ทำให้ไม่สามารถพบโรคระบาดและสะกัดพื้นที่การระบาดได้ทันท่วงที
สำหรับการส่งตรวจซากหมูจากฟาร์มที่ติดโรคครั้งนี้ ได้ทำการตรวจด้วยเทคนิค PCR ซึ่งจะสามารถพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่ยากจะทำลาย ปรากฏอยู่บนซากหมูที่ตายแล้ว เนื้อเยื้อ ไขกระดูก ฯลฯ ทำให้สามารถสามารถพบเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ง่าย แม้จะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม
แต่ ASF อาจไม่ใช่โรคระบาดในสัตว์โรคเดียวที่น่ากังวลหลังจากนี้ ด้วยระบบป้องกันที่หละหลวมมีช่องโหว่มากมาย อาจทำให้สถานการณ์แบบเดิมเกิดขึ้นได้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังที่ นิติพล ผิวเหมาะ สะท้อนไว้ในการอภิปรายเพื่อเสนอตั้ง กมธ.ว่า ยังมีโรคระบาดในสัตว์อีกอย่างน้อยอีก 3 โรค ที่เราอาจต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้ คือ โรคไข้หวัดนก, โรคปากเท้าเปื่อยในวัว และโรคบลูทังในแพะและแกะ (Blue tongue) โดยปัญหาสำคัญที่สุดคือ หากกรมปศุสัตว์และหน่วยงานอื่นๆของรัฐยังปกปิดข้อมูล ไม่ป้องกันและควบคุมโรคระบาดในระบบปศุสัตว์ด้วยความตรงไปตรงมา ท้ายที่สุดผลกระทบก็จะวนกับมาหาประชาชนอีกครั้งในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำมาหากินหรือความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยที่จะสูญเสียไปอย่างไม่มีวันกลับ
จากนี้ไป ภารกิจเร่งด่วนของ กมธ. หมูแพง ที่จะต้องดำเนินการต่ออย่างรวดเร็วคือ การตรวจสอบความแม่นยำของแล็บกรมปศุสัตว์และเสนอแนะวิธีการป้องกันโรคระบาดในสัตว์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง พร้อมทั้งติดตามปัญหาราคาสินค้าเกษตรและสินค้าอื่นที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ รวมถึงหาวิธีป้องกันการนำเข้าเนื้อหมู หรือถ้าต้องนำเข้าจริงก็จะต้องมีมาตรการที่รัดกุมพอ เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมเกษตรกรรายย่อย นอกจากนี้ จะต้องหาทางสนับสนุนให้พวกเขาสามารถกลับมามีโอกาสเลี้ยงหมูได้อีกในอนาคต จะต้องมีการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ตรงจุด
เพราะขณะนี้วงเงินกู้ของรัฐบาลผ่านธนาคารเกษตรฯที่ออกมาเป็นมาตรการเร่งด่วน ยังไม่ใช่คำตอบเฉพาะหน้าที่เหมาะสม ทั้งยังอาจทำให้เรื่องยุ่งยากมากขึ้น ด้วยการนำพาเกษตรกรให้ไปติดกับดักหนี้สินไม่รู้จบภายใต้สถานการณ์การระบาดของ ASF ที่ยังไม่สงบ ซึ่งหากภาครัฐยังไม่ยอมรับว่ามีการระบาดของ ASF เกิดขึ้นจริงและตั้งต้นแก้ไขจากจุดนี้ ก็เท่ากับเกษตรกรรายย่อยจะยังไม่สามารถนับหนึ่งใหม่เพื่อกลับมาเริ่มต้นเลี้ยงหมูได้เลย