free geoip

‘พลเรือน’ ต้องไม่ถูกนำไปขึ้น ‘ศาลทหาร’


พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ฉบับปัจจุบัน มีเนื้อหาที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและสร้างความอยุติธรรมต่อประชาชนในหลายกรณี เช่น มาตรา 49 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า ถ้าทหารเป็นผู้ถูกกล่าวหา โจทย์ซึ่งเป็นพลเรือน จะต้องมอบให้อัยการทหารเป็นคนดำเนินการฟ้องเท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดข้อกังขาว่า จะสามารถเชื่อมั่นองค์กรของทหารในการสร้างความบริสุทธิ์ยุติธรรมต่อพี่น้องประชาชนได้จริงหรือ


รังสิมันต์ โรม อภิปรายสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ที่เสนอแก้ไขผ่านสภา ให้คดีที่ทหารกระทำผิดต่อพลเรือน ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร แต่จะต้องนำมาขึ้นศาลพลเรือน โดยให้เหตุผล ดังนี้

ประการที่หนึ่ง ธรรมนูญศาลทหาร ทำให้ศาลทหารเป็นกลไกหนึ่งในการปกป้องทหาร ภาพใหญ่ที่ชัดเจนสุด สะท้อนได้จากคำขวัญ “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” ที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง ดังนั้น เมื่อมีกรณีที่ทหารกระทำความผิดหรือความเสียหายหรือทำให้พลเรือนเสียชีวิต เราจะไว้วางใจได้อย่างไร

ประการที่สอง ตุลาการศาลทหารไม่จำเป็นต้องจบกฎหมาย ทำให้มีข้อกังขาถึงมาตรฐานในการพิจารณาคดี เพราะศาลทหารไม่มีความรู้ในเรื่องที่ควรต้องรู้

ประการที่สาม ศาลทหารไม่มีความจำเป็นต้องจบเนติบัณฑิต จึงเป็นศาลที่ไม่มีมาตรฐานเท่ากับศาลพลเรือน

“ตัวผมเองก็เคยได้ใช้บริการศาลทหารอยู่หลายครั้ง พบว่า ศาลทหารไม่มีความพร้อมในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการนัดที่กระชั้น หรือไปถึงแล้วห้องพิจารคดีไม่ว่าง หรือเมื่อต้องใช้พยานเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ สุดท้ายทหารชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ก็ไม่เคารพศาลทหารเอง เลื่อนไปเรื่อยๆ จนล่าช้า ส่งผลต่อความยุติธรรมที่พลเรือนคนนั้นควรได้รับ ยังไม่นับการสืบพยานในศาลทหารที่ไม่ต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ประชาชนต้องรอคอยความยุติธรรมต่อไปเรื่อยๆ”

“ยังมีหลายกรณีที่รอคอยความยุติธรรม อย่างกรณี ชัยภูมิ ป่าแส เราอาจจะเห็นการฟ้องร้องในทางแพ่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง แต่คดีอาญายังไปไม่ถึงไหน กรณีนี้เป็นกรณีที่ทหารกระทำความผิด สุดท้ายจึงอาจต้องมอบให้อัยการทหารดำเนินการ เหตุเกิดปี 60 ปัจจุบันปี 65 ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย เรามักจะพูดว่านักการเมืองเป็นพวกชอบช่วยเหลือกันเอง แต่นี่คือหลักฐานอันชัดเจนว่า ศาลทหารกำลังทำให้การปกป้องพวกพ้องคือสิ่งที่ถูกกฎหมาย และการถูกกฎหมายเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อปกป้องคนที่เป็นทหารเท่านั้น”





ขณะที่ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ อภิปรายว่า คนไทยไม่ควรขึ้นศาลทหารโดยเด็ดขาด ไม่ว่ากรณีใด ก็ตาม จะยึดอำนาจหรือจะรัฐประหาร แต่สิทธิพื้นฐานของปวงชนชาวไทยจะต้องขึ้นศาลพลเรือนเท่านั้น หรือถ้าทหารกระทำผิดกับพลเรือน ก็ต้องขึ้นศาลพลเรือนเช่นกัน

“ศาลทหารไม่มีอุทธรณ์ฎีกา คือการตัดสิทธิของปวงชนชาวไทย การสืบพยานก็ไม่ใช้การติดตามอย่างต่อเนื่องเหมือนศาลพลเรือน ตุลาการศาลทหารขาดองค์ความรู้ที่เป็นความรอบรู้ในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายอย่างชัดเจน จึงใช้อำนาจที่ยึดโยงกับรัฏฐาธิปัตย์ว่าชอบด้วยกฎหมาย นี่คือสิ่งที่ทำให้ประเทศตกอยู่ในห้วงเวลาที่อับจน มีแต่ความอยุติธรรม คนไทยที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญถูกยึดไปโดยใช้อำนาจดังกล่าวตลอดมา จึงขอสนับสนุนคณะผู้เสนอกฎหมายเพื่อไม่ให้มีการนำธรรมนูญศาลทหารมากดทับพลเรือนอีกต่อไป”





สุดท้าย ณัฐวุฒิ บัวประทุม อภิปรายว่า มีหลายครั้งที่ได้ทำประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพเด็กและสตรีที่ตกเป็นผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ พบว่า มีหลายครั้งผู้ที่กระทำความผิดเป็นทหาร จึงถูกนำไปพิจารณาคดีในศาลทหาร ทำให้มีข้อกังขาต่อความยุติธรรม โดยหลักการแล้ว ศาลทหารยังเป็นสิ่งที่จำเป็น ต้นเหตุของการเกิดศาลทหารเริ่มเกิดขึ้นจากกรณีที่ในสภาวะที่มีศึกสงคราม เป็นกรณีที่ใช้บังคับกับการธำรงวินัยการควบคุมบังคับบัญชาสำหรับทหารด้วยกันเอง แต่บริบทของศาลทหารในปัจจุบันเป็นการขยายมณฑล อาณาเขต มากินพื้นที่ของพลเรือน

“ไม่กี่เดือนมานี้ ศาลมณฑลทหารบก ที่ 15 จังหวัดเพชรบุรี มีการอ่านคำพิพากษาของศาลทหาร กรณีร้อยตรีท่านหนึ่งทำร้ายร่างกายภรรยาที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารเช่นเดียวกัน กรณีนี้เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นความรุนแรงในครอบครัวให้เกิดความอันตรายสาหัส สังคมตระหนักว่าต้องมีการชดเชยต่อผู้เสียหายเป็นอย่างยิ่ง และเราปฏิบัติเช่นนี้มาโดยตลอด แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2560 เกิดขึ้นในขณะที่มีประกาศกฎอัยการศึก จึงต้องขึ้นศาลทหาร ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่งผลให้ผู้เสียหายไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติได้เช่นเดิม มีความพิการ ทุพพลภาพ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ขณะที่ศาลทหารตัดสินให้ทหารที่กระทำความผิดได้รับโทษเพียงรอลงอาญา 2 ปี กับค่าปรับ 12,500 บาท ในความเป็นจริงเมื่อใครทราบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ประชาชนหรือแม้แต่ทหารด้วยกันเองก็ยังรับไม่ได้”

Login

สินค้าลอตใหม่จะทยอยเข้าตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป สามารถสอบถามก่อนได้ที่โทร 02 8215874 (10.00-18.00 น. จ-ศ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า