คุณรู้สึกเจ็บแค้นไหม เมื่อเห็นคนรวยล้นฟ้าทำผิดกฎหมายแล้วจ่ายค่าปรับแค่ไม่กี่บาทก็กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ขนหน้าแข้งไม่ร่วง แต่เงินจำนวนเท่ากันนั้นกลับเป็นเงินก้อนใหญ่มากสำหรับคนจน หลายคนไม่มีเงินจ่ายค่าปรับจึงต้องยอมติดคุกไปตามระเบียบ
การคิดค่าปรับแบบคงที่ หรือ Fixed sum fine มีช่องโหว่ที่อาจก่อให้เกิด ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ระหว่างคนรวย-จน ในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการลงโทษ เพราะคนจนและคนรวยได้รับผลกระทบ หรือความรู้สึกหนักเบาจากการได้รับโทษไม่เท่ากัน ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนการคิดค่าปรับให้ยุติธรรมขึ้น
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.เขต 28 บางแค กทม. พรรคก้าวไกล อธิบายว่า ตนสนับสนุน พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. … ที่จะเปลี่ยนโทษปรับสถานเดียว ทั้งทางอาญาและทางปกครอง มาเป็นโทษทางพินัย เพื่อไม่ให้เกิดภาวะโทษทางอาญาเฟ้อเกินความจำเป็น และยังไม่ต้องถูกบันทึกโทษทางอาชญากรรม แต่ไม่เห็นด้วยกับระบบค่าปรับแบบคงที่ จึงอยากเสนอวิธีคิดค่าปรับตามรายได้ (Day-Fine) ไปใช้แทน ซึ่งเป็นระบบที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในยุโรป เช่น ฟินแลนด์ เยอรมนี และสวีเดน
การใช้วิธีการปรับตามรายได้จะทำให้คุกขังเฉพาะ ‘อาชญากร’ ที่แท้จริง ไม่ใช่ขัง ‘คนจน’ ที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับหรือไม่มีเงินประกันตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จริงในกระบวนการยุติธรรมปัจจุบัน
“ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. … ที่ต่อคณะกรรมาธิการ เป็นร่างที่ผมและทีมงานร่วมกันยกร่างขึ้นมาใหม่ กับนักวิชาการหลายท่าน โดยเฉพาะนักวิชาการด้านนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเมือง ได้แก่ อาจารย์อานนท์ มาเม้า และอาจารย์อิสร์กุล อุณหเกตุ โดยจะเริ่มตั้งแต่การปรับแก้ชื่อร่าง จาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. … เป็น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยค่าปรับพลเมือง เนื่องจากคำว่า พินัย เป็นคำที่แทบจะตายไปจากระบบกฎหมายไทยและเข้าใจยาก การเสนอใช้คำว่าค่าปรับพลเมืองจึงเป็นชื่อที่เข้าใจง่ายและเป็นมิตรมากขึ้นกว่าเดิม”
ระบบวันปรับ (Day-fine system) หรือการกำหนดโทษปรับตามรายได้ของผู้กระทำผิด จะเพิ่มบทบัญญัติรายละเอียดเข้าไปในหมวด 1/1 วิธีการคำนวณค่าปรับจะคำนวณจากจำนวนวันปรับคูณด้วยรายได้วันปรับ และรายได้นั้น มาจาก :
- รายได้ที่หักภาษี (ภ.ง.ด. ในปีล่าสุด) หารด้วย 365
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่จังหวัดที่ได้มีการกระทำความผิด
- รายได้วันปรับอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา
โดยใช้จำนวนที่สูงที่สุดเท่าที่สามารถสืบหาได้ และมีกระบวนการสืบที่เป็นธรรม ซึ่งหมายความว่าผู้ที่มีรายได้เยอะก็จะถูกปรับในจำนวนค่าปรับที่สูงกว่าผู้มีรายได้น้อย
“การกระทำแบบนี้จะเป็นการลงโทษทางจิตวิทยาที่ทำให้บุคคลผู้มีรายได้เยอะ รู้สึกเจ็บเท่ากับผู้ที่มีรายได้น้อย จะช่วยป้องปรามการกระทำผิดในความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวได้ โดยเรื่องนี้สามารถอ้างอิงจากผลวิจัยต่างๆที่ได้อภิปรายไปแล้วในวาระรับหลักการ เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรมเรื่องนี้ แม้จะเป็นมุมเล็กๆ แต่ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เคยเป็นช่องว่างในกระบวนการยุติธรรมได้ จึงอยากฝากให้ทุกฝ่ายช่วยกันติดตามผลักดัน รวมถึงคณะกรรมาธิการและเพื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่อยากชวนให้มาร่วมกันทำกฎหมายนี้ให้ดีที่สุด เพื่อเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ประชาชนจะจดจำผลงานของสภาชุดที่พวกเราทำงานได้”
ณัฐพงษ์ ระบุ