free geoip

ย้อนเส้นทาง กว่า พ.ร.บ.ป้องกันทรมานและอุ้มหาย จะผ่าน!


ย้อนเส้นทางฝ่าขวากหนาม กว่าพ.ร.บ.ว่าด้วยการทรมานและบังคับสูญหาย จะได้เข้าสภา

23 กุมภาพันธ์ 2565 การประชุมรัฐสภา ได้พิจารณาเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … (ฉบับกระทรวงยุติธรรม) ในวาระ 3 หลังจากที่หลายฝ่ายได้ต่อสู้ผลักดันกฎหมายนี้มายาวนานกว่าสิบปี มีหลายครอบครัวต้องเจ็บปวดจากการที่บุคคลที่รักถูกซ้อมทรมานหรือบังคับสูญหาย แต่ไม่สามารถเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้เลย

เราจะมาย้อนดูเส้นทาง กว่าร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและบังคับสูญหาย จะผ่านมาถึงวาระ 3 ได้ว่าเต็มไปด้วยขวากหนามมากมายในการทำให้กระบวนการล่าช้า ตั้งแต่ขั้นตอนการร่างกฎหมาย การแก้ไข การนำเข้าสู่รัฐสภาเพื่อพิจารณาผ่านร่าง

ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เกิดมาจากการรวมเอากฎหมายที่ไทยควรต้องแก้ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ

ในความเป็นจริง ไทยให้สัตยาบันเป็นภาคีกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ตั้งแต่ตุลาคม 2550 และลงนามในอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญฯ ตั้งแต่มกราคม 2555 แล้ว แต่ไทยกลับใช้เวลายาวนานหลายปีในการร่างกฎหมาย อาจเรียกได้ว่านี่เป็นกฎหมายที่ใช้เวลาร่างนานที่สุด มีความพยายามแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาหลายรอบ แต่สหประชาชาติก็เห็นว่า กฎหมายยังไม่ครอบคลุม จึงนำกฎหมายว่าด้วยการทรมานและบังคับสูญหายมารวมกันเป็นร่างเดียว แต่ร่างกฎหมายของรัฐบาลก็ยังถูกส่งกลับไปกลับมาหลายรอบ

จนกระทั่งปี 2559 ที่จะมีการทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้วยระบบ Universal Periodic Review (UPR) คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติส่งร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการทรมานและการบังคับสูญหายให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 แต่หลังจากที่มีการรับหลักการในวาระ 1 ไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรคืบหน้านัก แม้ สนช. ที่จะมีมติให้พิจารณา พ.ร.บ. ให้แล้วเสร็จ ก่อนให้สัตยาบันอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ

แม้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติกว่า 10 ประเทศจะมีข้อเสนอแนะ ในการทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้วยระบบ UPR ช่วงปลายปี 2559 ให้ไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ รัฐบาลไทยก็ได้เพียงรับปากไปว่าจะให้กระทรวงยุติธรรมดูแลเรื่องนี้

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 สนช. ตีกลับร่าง พ.ร.บ. นี้โดยให้เหตุผลว่า ร่างกฎหมายที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรมฉบับนี้ยังไม่ผ่านการรับฟังความเห็นให้ครบถ้วน จึงเห็นว่าควรส่งกลับไปพิจารณาให้รอบคอบและรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย ทั้งจากมหาดไทย ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง ทหาร อัยการ เสียก่อน


ไม่กี่วันหลังจากที่ยูเอ็นแสดงความผิดหวังที่ไทยตีกลับร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว วันที่ 10 มีนาคม 2560 สนช. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย แต่กลับไม่มีกรอบเวลาส่งมอบสัตยาบันสารให้ยูเอ็น หรือกรอบเวลาในการผ่านพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเลย ทำให้จนถึงขณะนี้ ไทยก็ยังไม่ได้ให้สัตยาบันว่าด้วยคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหายเลย

พ.ร.บ. นี้เคยมีกำหนดจะเข้ารัฐสภาภายใน 8 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการพิจารณากฎหมาย ก่อนที่สนช. จะหมดวาระ แต่สุดท้ายก็มีการถอนวาระออก ทั้งที่เหลือเพียงขั้นตอนที่ สนช. พิจารณายื่นร่าง พ.ร.บ. นี้ไปลงพระปรมาภิไธย ทำให้ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ที่ขั้นตอนการรับฟังความเห็น จากนั้นก็ส่งให้ ครม. อนุมัติหลักการ ส่งให้กฤษฎีกาพิจารณาแล้วก็ส่งกลับมา ครม. อีกรอบ เพื่อส่งให้รัฐสภาพิจารณา

หลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว ครม. ก็เห็นชอบในร่างกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม เมื่อมิถุนายน 2563 แล้วส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา อีกด้านหนึ่ง คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ซึ่งขณะนั้นมี ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (ณ ช่วงเวลานั้น) เป็นประธาน ได้ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ซึ่งกำหนดความผิดและโทษครอบคลุมกว่าฉบับของกระทรวงยุติธรรม โดย กมธ. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 เพื่อส่งเข้าบรรจุระเบียบวาระเห็นชอบของสภาราษฎรอีกร่างหนึ่ง

จนกระทั่งวันที่ 16 กันยายน 2564 ร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 4 ฉบับ (เสนอโดย ครม. พรรคประชาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ และคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่มีภาคประชาชนเป็นผู้ผลักดัน) ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และมีการลงมติรับหลักการในวาระ 1 และให้ใช้ร่างของ ครม. เป็นร่างหลักในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ

เมื่อ กมธ. พิจารณาและปรับแก้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เสร็จทั้ง 34 มาตราแล้ว จึงได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระสองเมื่อวานนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2565) เพื่อลงมติรายมาตราที่มีการเสนอแก้ไขหรือคงไว้ในส่วนของกรรมาธิการ และต่อมา ได้จึงได้เปิดให้มีการลงมติในวาระ 3 ต่อ

ผลการลงมติวาระ 3 ออกมาว่า เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.นี้ 359-0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง ซึ่งจะมีการส่งไปให้วุฒิสภาพิจารณาเพื่อออกกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

Login

พรรคก้าวไกล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า